ของใช้
ใช้ภายนอก

สินค้าเวชภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอก

เหตุไม่คาดฝันต่าง ๆ ในชีวิตคนเรามีทั้งที่ป้องกันได้ และป้องกันไม่ได้ ทางที่ดีคือการเตรียมรับมือล่วงหน้า ในบ้านควรมีของใช้จำเป็นติดบ้านไว้เสมอเพื่อช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้

 


เกร็ดความรู้เรื่องเวชภัณฑ์ใช้ภายนอก

คนตั้งครรภ์ใช้กระเป๋าน้ำร้อนได้หรือไม่

การใช้แผ่นประคบร้อนหรือกระเป๋าน้ำร้อนระหว่างตั้งครรภ์เพื่อบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดตามข้อ เป็นการรักษาที่ง่ายและค่อนข้างปลอดภัย ไม่ส่งผลเสียหรือเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในครรภ์ 

การประคบร้อนจะช่วยให้ระบบไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อที่ปวดดีขึ้น ช่วยเพิ่มออกซิเจนและสารอาหารเข้าสู่กล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัวและลดการเกิดตะคริวให้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้

วิธีประคบร้อนระหว่างตั้งครรภ์
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจใช้อุปกรณ์ประคบร้อนไฟฟ้าหรือกระเป๋าน้ำร้อนก็ได้ โดยพันผ้ารอบตัวประคบร้อนเพื่อไม่ให้ความร้อนสัมผัสผิวหนังโดยตรง ระยะเวลาประคบไม่ควรเกิน 20 นาที ถ้าอุปกรณ์ประคบร้อนปรับอุณหภูมิได้ แนะนำให้ปรับอุณหภูมิในจุดที่รู้สึกสบาย และหลีกเลี่ยงการนอนหลับโดยมีอุปกรณ์ประคบร้อนวางอยู่บนร่างกาย

สิ่งที่ไม่นะนำให้คุณแม่ตั้งครรภ์ทำ คือแช่ตัวในอ่างน้ำร้อนหรืออบซาวน่าเป็นเวลานาน (หรือหากอยากทำจริงๆ ต้องมีการจำกัดระยะเวลาไม่เกิน 10 นาที ที่อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส) เนื่องจากการแช่น้ำร้อนหรืออบซาวน่าจะเพิ่มอุณหภูมิของร่างกายให้สูงขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแท้งบุตร หรือทารกแรกเกิดพิการได้

ส่วนเรื่องสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น คอมพิวเตอร์ เตาไมโครเวฟ โทรศัพท์มือถือ เครื่องตรวจจับโลหะหรืออาวุธในสนามบิน หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ในปัจจุบันยังไม่พบหลักฐานว่ามีความเชื่อมโยงหรือเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์แต่อย่างใด

หลังคลอดใช้กระเป๋าน้ำร้อนได้หรือไม่

หลังคลอดลูกแล้วร่างกายก็จะผลิตน้ำนม เพื่อที่จะให้ลูกดื่มแต่ว่าในตอนแรกน้ำนมจะยังไม่ไหลออกมา ต้องใช้เวลาประมาณ 2 - 4 วัน ในระหว่างนี้น้ำนมผลิตมาเยอะมากพร้อมที่จะให้ลูกดื่มแล้วแต่ยังหาทางออกไม่ได้ หน้าอกก็จะตึงและใหญ่ขึ้น ๆ จะทำให้เกิดอาการตึง คัด ปวดร้าว มีไข้ได้ เพราะท่อน้ำนมขยาย

ถ้ามีอาการปวดไม่มาก ให้ประคบด้วยความร้อน อาจใช้กระเป๋าน้ำร้อนอังประคบแต่ต้องมีผ้ารอง อย่าให้สัมผัสโดยตรงกับผิวหน้าอก ใช้เวลาประคบ 10-15 นาทีต่อวัน

แต่ถ้ามีอาการปวดมาก อาจเปลี่ยนมาประคบเย็นแทน ด้วยการใส่น้ำเย็นหรือน้ำแข็งในกระเป๋าน้ำร้อนแทน ใช้เวลาประคบ 10-15 นาทีต่อวัน

 

ลักษณะเล็บบอกบ่งบอกสุขภาพได้

เล็บที่มีสุขภาพดี จะมีสีออกชมพูจางๆ จากสีผิวของเนื้อข้างใต้เล็บ มีพื้นผิวเรียบ ผิวหนังรอบเล็บมีความแข็งแรงและเล็บมีความหนาไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป ถ้าเล็บมีความแตกต่างไปจากนี้ ถือว่าเป็นเล็บที่ไม่ปกติจะเป็นสัญญาณบอกโรคได้

เล็บที่มีลักษณะผิดปกติ เช่น

1. เล็บที่มีความหนาหรือบางผิดปกติ 

  • โรคที่ทำให้เล็บหนาขึ้น เช่น โรคเชื้อรา ที่นอกจากเล็บจะหนาขึ้นแล้ว อาจมีสีเปลี่ยนไปเป็นสีเหลืองหรือขาว ผิวเล็บและส่วนปลายเล็บอาจขรุขระ โรคสะเก็ดเงินมักจะมีอาการเล็บหนาหลายๆ เล็บ 
  • ผู้ที่เป็นโรคเลือดจางจากการขาดธาตุเหล็ก เล็บจะมีลักษณะบางและแอ่นคล้ายช้อน

2. เล็บเปลี่ยนสี

  • เล็บที่มีสีขาวครึ่งเล็บพบได้ในคนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง
  • เล็บที่มีสีขาว 2 ใน 3 ของเล็บพบได้ในคนเป็นโรคเบาหวาน โรคตับแข็งและโรคหัวใจวาย
  • เล็บที่มีสีขาวเป็นแถบขวางอาจเป็นโรคโปรตีนในร่างกายต่ำ

3. ผิวหนังรอบเล็บบวมแดง คนที่สัมผัสกับน้ำบ่อยๆ ผิวหนังรอบเล็บอาจมีการเปื่อยยุ่ย หรือเกิดการระคายเคืองจากสารเคมี เช่น น้ำยาล้างจานและน้ำยาทำความสะอาด บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อราเนื่องจากไม่รักษาความสะอาด ผู้ป่วยบางรายที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง รอบเล็บอาจบวมแดงและมีหนองร่วมด้วย

4. ปลายเล็บร่น ปกติแล้วผิวหนังส่วนปลายจะติดกับเล็บ แต่หากมีโรคบางอย่าง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคไทรอยด์ โรคเชื้อราและโรคผื่นผิวหนังอักเสบ รวมถึงการใช้ยาบางชนิด อาจทำให้ขอบของผิวหนังที่ติดกับเล็บมีการร่นลง

5. เล็บที่มีพื้นผิวขรุขระเป็นอาการที่พบได้บ่อย ผิวเล็บอาจเป็นหลุมเล็กๆ ถ้าเป็นหลายเล็บ อาจบ่งบอกถึงโรคสะเก็ดเงินหรือโรคภูมิแพ้ แต่อาจพบได้ในเด็กบางคนโดยที่ไม่มีสาเหตุ บางกรณีผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง อาจพบเล็บเป็นร่องลึกตามแนวขวางจากการที่มีการสร้างเล็บผิดปกติ

การดูแลรักษาเล็บ ควรหลีกเลี่ยงการทาเล็บเป็นประจำ เพราะจะทำให้เล็บเปราะปลายเล็บเผยอ เล็บบุ๋มมีลูกคลื่น ควรหมั่นดูแลรักษาความสะอาดเล็บ โดยเมื่อตัดเล็บ ไม่แคะซอกเล็บมากจนเกินไป เพราะอาจทำให้เล็บฉีกขาด เกิดแผล ทำให้เชื้อโรคเข้า ควรสวมถุงมือขณะทำงานบ้าน หรือเมื่อต้องใช้สารเคมี นอกจากนี้ หมั่นทาโลชั่นเพื่อถนอมผิวที่มือและเล็บเป็นประจำ จะช่วยให้เล็บแข็งแรง เงางาม เรียบเนียน มีสุขภาพ เล็บที่ดี

 

ยากันยุงใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ปัจจุบันยากันยุงมักเป็นชนิดทาหรือฉีดพ่นตามร่างกาย เพราะหาซื้อได้ง่าย สะดวกต่อการใช้งาน และมีอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นครีม โลชั่น หรือสเปรย์ แต่ส่วนประกอบหลักในยากันยุงแต่ละชนิดมักไม่แตกต่างกันมากนัก

โดยส่วนประกอบหลักที่มักพบในยากันยุง ได้แก่

  • ดีอีอีที (DEET) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ประสิทธิภาพสูงที่นิยมใช้ป้องกันยุงกันมาอย่างยาวนาน มักผสมอยู่ในยากันยุงตั้งแต่ 4-100 เปอร์เซ็นต์ แต่สารดีอีอีทีที่มีความเข้มข้นสูงก็อาจเสี่ยงทำให้เกิดการระคายเคืองทางผิวหนัง ชัก และมีอาการทางระบบประสาทอื่น ๆ โดยเฉพาะในทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือนและหญิงตั้งครรภ์
  • อิคาริดิน (Icaridin) หรือพิคาริดิน (Picaridin) เป็นสารสังเคราะห์ที่มีประสิทธิภาพป้องกันยุงเทียบเท่าสารดีอีอีที แต่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่าและกลิ่นไม่แรง มักผสมอยู่ในยากันยุงตั้งแต่ 5-20 เปอร์เซ็นต์
  • เพอร์เมทริน (Permethrin) เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่ใช้ชุบหรือฉีดพ่นตามเสื้อผ้า ไม่สามารถใช้กับผิวหนังได้โดยตรง
  • เอธิล บิวทิลอะเซทิลอะมิโน โปรปิโอเนท (Ethyl Butylacetylamino Propionate: IR3535) เป็นสารสังเคราะห์ที่พบอยู่ในยากันยุงหลายชนิด
  • น้ำมันตะไคร้หอม เป็นสารสกัดจากธรรมชาติที่มีงานวิจัยระบุว่าช่วยป้องกันยุงได้เหมือนกับสารดีอีอีทีที่มีความเข้มข้นต่ำ
  • น้ำมันยูคาลิปตัส เป็นสารสกัดจากธรรมชาติอีกชนิดที่ช่วยป้องกันยุง แต่ควรมีความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ จึงจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันยุงได้ดี

ใช้ยากันยุงอย่างไรให้ปลอดภัยกับทารกและเด็กเล็ก 

  1. สำหรับทารกอายุต่ำกว่า 2 เดือน พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากันยุงทุกประเภทกับเด็ก โดยเฉพาะชนิดที่เป็นสารเคมีสังเคราะห์ เพราะอาจเสี่ยงเกิดการระคายเคืองต่อผิวเด็ก แต่ควรป้องกันยุงกัดด้วยวิธีอื่นแทน เช่น ให้เด็กอยู่ในห้องที่มีมุ้งลวดกั้น นอนเปลที่มีมุ้งผ้า ใช้รถเข็นที่มีตาข่ายกันยุง สวมเสื้อผ้ามิดชิด เป็นต้น
  2. โดยทั่วไป สามารถใช้ยากันยุงกับทารกที่มีอายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไปได้ แต่ไม่ควรใช้ยากันยุงที่มีส่วนผสมของน้ำมันยูคาลิปตัส เลม่อนแบบเข้มข้นกับเด็กอายุน้อยกว่า 3 ขวบ และไม่ควรใช้ยากันยุงที่มีสารดีอีอีทีที่มีความเข้มข้นเกิน 30 เปอร์เซ็นต์กับเด็กเล็กเช่นกัน ซึ่งการใช้ยากันยุงกับเด็กนั้น ผู้ปกครองควรพิจารณาจากระยะเวลาที่เด็กต้องเสี่ยงกับยุงกัดด้วย เช่น เมื่ออยู่ข้างนอกไม่เกิน 1-2 ชั่วโมงก็ควรใช้ชนิดที่มีความเข้มข้นน้อย แต่ถ้าระยะเวลานานกว่านั้นก็อาจเลือกชนิดที่ผสมสารกันยุงความเข้มข้นสูงขึ้น เป็นต้น
  3. ยากันยุงชนิดพ่นหรือทาควรใช้เฉพาะบริเวณผิวหนังส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า ซึ่งสามารถทาหรือพ่นซ้ำได้เมื่อต้องอยู่ในบริเวณที่เสี่ยงต่อการถูกยุงกัด เพราะประสิทธิภาพในการป้องกันยุงจะคงอยู่ได้ไม่กี่ชั่วโมง ยกเว้นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเพอร์เมทริน ซึ่งไม่ควรนำมาใช้กับผิวหนังโดยตรง
  4. ใช้ยากันยุงตามปริมาณที่ระบุบนฉลากผลิตภัณฑ์ ไม่ควรทาหนาหรือนำมาใช้โดยไม่จำเป็น เพราะยากันยุงปริมาณมากไม่ได้ช่วยป้องกันยุงได้ดีไปกว่าปริมาณปกติ
  5. เมื่อกลับเข้าบ้านควรล้างทำความสะอาดผิวของเด็กบริเวณที่ใช้ยากันยุงด้วยสบู่และน้ำสะอาด เพื่อล้างเอาสารไล่ยุงที่เคลือบผิวอยู่ออกไป สำหรับเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ควรซักให้สะอาดก่อนนำกลับมาใส่ใหม่อีกครั้ง
  6. ไม่ควรพ่นยากันยุงแบบสเปรย์ที่ใบหน้าของเด็กโดยตรง แต่ให้ฉีดใส่มือในปริมาณเล็กน้อยก่อนนำไปทาบริเวณหน้า หรือทาตามส่วนอื่นของร่างกาย โดยต้องไม่ทายากันยุงบริเวณรอบดวงตาหรือปากของเด็ก
  7. หลีกเลี่ยงการใช้ยากันยุงกับบริเวณที่มีบาดแผล ผิวหนังฉีกขาด หรือเกิดการระคายเคือง
  8. ไม่ควรใช้ยากันยุงที่ผสมดีอีอีทีร่วมกับการใช้ครีมกันแดดเพราะอาจทำให้ประสิทธิภาพในการป้องกันแสงแดดลดลง และเสี่ยงต่อการได้รับสารดีอีอีทีมากขึ้นจากการทาครีมกันแดดซ้ำ ในกรณีที่จำเป็นควรทาครีมกันแดดก่อนเป็นอันดับแรก

บทความล่าสุด

อาการวิงเวียนศีรษะและยารักษา

อาการวิงเวียนศีรษะ เป็นอาการที่แทบทุกคนเคยเป็นกับตัวเองมาบ้างแล้ว แต่ถ้ามีร่วมกับ อาการบ้านหมุน คลื่

ยาพ่นช่องปากและคอ

การเลือกใช้ยาพ่นคอ ควรพิจารณาความรุนแรงของอาการที่เป็น ถ้ามีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง การใช้สปรย์พ่นคอ

ยาอมแก้ไอ แก้เจ็บคอ

ยาอมที่มีจำหน่ายในร้านยา จะมีสรรพคุณทั้งแก้ไอและเจ็บคอได้ในเม็ดเดียวกัน แต่มีฤทธิ์เด่นที่ต่างกันไปตา

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า