จันทน์ลีลา
ชะเอม

แสดง %d รายการ

ยาสมุนไพรบรรเทาอาการไอ

อาการไอเป็นกระบวนการที่ร่างกายมีการตอบสนองและกำจัดสิ่งที่กีดขวางระบบทางเดินหายใจ อย่างมูก เสมหะ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองภายในลำคอ อย่างละอองฝุ่นหรือควัน

 


มะแว้งต้น

มะแว้ง

ชื่ออื่น : มะแคว้ง มะแคว้งขม มะแคว้งคม มะแคว้งดำ (ภาคเหนือ) แว้งคม (สงขลา, สุราษฎร์ธานี) สะกั้งแค (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) หมากแฮ้งคง (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum indicum L.

วงศ์ : Solanaceae

นิยมนำมารับประทาน เนื่องจากมีความเชื่อว่าอาจมีสรรพคุณทางยา เช่น มีฤทธิ์บรรเทาอาการไอ ป้องกันอาหารเป็นพิษ รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และรักษาโรคเบาหวานได้ เป็นต้น

โดยทั่วไป คนนิยมรับประทานมะแว้งสดเป็นผักเคียงกับน้ำพริกหรือนำไปตำกับน้ำพริก จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยในปีงบประมาณ 2560 เผยว่ามะแว้งเป็น 1 ใน 10 ยาสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมากที่สุด ทั้งในรูปแบบยาเม็ดและยาอม เนื่องจากมะแว้งอุดมไปด้วยสารให้คุณประโยชน์ เช่น สารโซลานีน (Solanine) สารโซลานิดีน (Solanidine) สารโซลามารีน (Solamarine) และสารโซลาโซดีน (Solasodine) ที่อาจมีฤทธิ์บรรเทาอาการไอ และละลายเสมหะได้

ในปัจจุบัน มีมะแว้งหลากหลายสายพันธุ์ถูกนำมาใช้ในรูปแบบของยา ซึ่งมีข้อพิสูจน์และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บางส่วนได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของมะแว้งต้น (Solanum Indicum) มะแว้งเครือ (Solanum Trilobatum) และมะแว้งนก (Solanum Nigrum) ไว้ ดังต่อไปนี้

บรรเทาอาการไอ อาการไออาจเกิดจากสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ลำคอระคายเคืองหรือเป็นอาการของโรคเรื้อรัง หลายคนพยายามรักษาบรรเทาอาการด้วยตนเอง รวมถึงการใช้ยารักษาทางเลือกต่าง ๆ ซึ่งในขณะนี้มีผลิตภัณฑ์ยาอมสมุนไพรมะแว้งวางขายมากมายตามท้องตลาด มีงานวิจัยบางส่วนศึกษาในด้านนี้แล้วพบว่าสารอัลคาลอยด์ในมะแว้ง เช่น สารโซลาโซดีน อาจมีฤทธิ์ช่วยแก้ไอและขับเสมหะได้

แม้ว่ามะแว้งอาจมีสรรพคุณช่วยทำให้ชุ่มคอและบรรเทาอาการไอได้ แต่การรักษาด้วยมะแว้งอยู่ในตำรายาสมุนไพรไทยเป็นหลัก ไม่ได้ถูกนำมาใช้รักษาอาการป่วยอย่างเป็นทางการ จึงควรมีการศึกษาวิจัยต่อไป เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

ป้องกันอาหารเป็นพิษ ภาวะอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่เกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น เชื้ออีโคไล (E. Coli) เชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส (Staphylococcus Aureus) และเชื้อซาลโมเนลลา ไทฟี (Salmonella Typhi) เป็นต้น ซึ่งมีงานวิจัยบางส่วนพบว่ามะแว้งอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวได้

มีงานวิจัยหนึ่งใช้สารสกัดจากผลของมะแว้งนกทดลองกับเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรารวม 11 ชนิด พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อราและแบคทีเรียทั้งหมด 9 ชนิดด้วยกัน ซึ่งรวมถึงเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส เชื้อซาลโมเนลลา ไทฟี และเชื้ออีโคไลที่มักปนเปื้อนในอาหารจนก่อให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ เช่นเดียวกับอีกงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาในลักษณะเดียวกันโดยใช้สารสกัดจากมะแว้งเครือ พบว่าสารสกัดดังกล่าวอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส และเชื้ออีโคไลได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนอีกงานวิจัยหนึ่งที่ใช้สารสกัดจากใบของมะแว้งต้นทดลองกับเชื้อสแตฟิโลค็อกคัส ออเรียส เชื้อบาซิลลัส ซีเรียส (Bacillus Cereus) และเชื้ออีโคไล พบว่าสารสกัดจากมะแว้งต้นอาจมีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียข้างต้นทั้ง 3 ชนิดได้

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในห้องทดลองเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามะแว้งจะช่วยป้องกันภาวะอาหารเป็นพิษในมนุษย์ได้จริงหรือไม่และปลอดภัยเพียงใด ดังนั้น ควรศึกษาโดยใช้มะแว้งทดลองในมนุษย์เพิ่มเติมต่อไป เพื่อประโยชน์ในการนำมะแว้งไปปรับใช้เป็นยาในอนาคต

บริโภคมะแว้งอย่างไรให้ปลอดภัย 

การบริโภคมะแว้งในรูปแบบอาหารอาจไม่ก่อให้เกิดอันตรายใด ๆ หากรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม ส่วนการบริโภคมะแว้งเพื่อหวังสรรพคุณทางยานั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขไทย ได้แนะนำวิธีการบริโภคมะแว้งในรูปแบบยาไว้ดังนี้

วิธีที่ 1 นำผลของมะแว้งเครือ หรือมะแว้งต้นแบบผลสดจำนวน 5-6 ผลมาล้างให้สะอาด ก่อนนำมาเคี้ยวและกลืนเข้าไปเฉพาะน้ำของมะแว้ง โดยอาจเคี้ยวจนหมดรสขมก่อนแล้วจึงคายทิ้ง

วิธีที่ 2 นำผลของมะแว้งเครือ หรือมะแว้งต้นแบบผลสดจำนวน 5-10 ผล มาโขลกให้พอแตก คั้นเอาแต่น้ำมาปรุงรสด้วยเกลือเพียงเล็กน้อย ก่อนนำมาจิบบ่อย ๆ เมื่อมีอาการไอ

นอกจากนี้ ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์มะแว้งในรูปแบบต่าง ๆ ที่วางขายตามท้องตลาดอาจไม่ได้มาตรฐานตามคู่มือการใช้ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ และยาสมุนไพรมะแว้งบางชนิดอาจมีส่วนประกอบของเกลือแกง หรือน้ำมะนาวแทรกเกลือ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ที่ต้องจำกัดปริมาณเกลือในร่างกาย ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือ อ่านฉลากการใช้ยาอย่างละเอียด และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ผลิตภัณฑ์จากมะแว้งทุกครั้ง

มะขามป้อม

มะขามป้อม

ชื่ออื่นๆ ชื่อพื้นเมือง : กันโตด (เขมร) กำทวด (ราชบุรี) มิ่งลู่ สันยาส่า (กะเหรี่ยมแม่ฮ่องสอน) อะมะลา (ฮินดู เปอร์เซีย)

ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus emblica Linn.

ชื่อสามัญ Emblic myrabolan , Malacca tree , Indian gooseberry.

ชื่อวงศ์ Euphorbiaceae

มะขามป้อมเป็นสมุนไพรที่ชาวอินเดียใช้มาหลายพันปีแล้ว เพราะเป็นยาอายุวัฒนะซึ่งชาวอินเดียเรียกสมุนไพรหรือผลไม้ชนิดนี้ว่า Amalaka แปลว่า "พยาบาล"

มะขามป้อมเป็นผลไม้ที่มีรสชาติเปรี้ยว มีประโยชน์กับสุขภาพในหลายด้าน ช่วยบำรุงอวัยวะได้เกือบทุกส่วน ส่งเสริมความงาม และทำให้เส้นผมดกดำ เนื่องจากมะขามป้อมเป็นแหล่งวิตามินซีสูง หากใครอยากได้วิตามินซีเพิ่มเติม ลองหันมารับประทานมะขามป้อมดูก็ดีไม่น้อย แต่ในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค ควรระมัดระวังในการรับประทานและเลือกรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ

เนื่องจากมะขามป้อมมีรสเปรี้ยว รสฝาด อาจจะรับประทานยากสักหน่อยสำหรับบางคน การรับประทานมะขามป้อมนั้นควรปรุงรสให้อร่อยด้วยการนำมะขามป้อมมาผ่าเอาเมล็ดออกให้เหลือแต่เนื้อ แล้วนำมาใส่ พริก เกลือ น้ำตาล นำมาตำพอแหลกก็ใช้ได้ แต่ทั้งนี้ควรรับประทานก่อนนอนหรือช่วงตื่นนอนใหม่ ๆ หรือขณะที่ท้องว่าง

สำหรับวิธีลดความฝาดของมะขามป้อมนั้นทำได้โดยการนำไปแช่น้ำเกลือ ด้วยการนำมะขามป้อมมาล้างให้สะอาดและลวกด้วยน้ำร้อน แล้วนำไปแช่ในน้ำเกลือที่เค็มจัด ทิ้งไว้ประมาณ 2 วัน รสฝาดก็จะหายไป

องค์ประกอบทางเคมีของมะขามป้อม

  • มีวิตามินสูง (ในผลมะขามป้อม 1 ผลมีปริมาณวิตามินซีเทียบเท่ากันส้ม 2 ลูก)
  • rutin, mucic acid, gallic acid, phyllemblic, acid ascorbic acid, furanoloatones, sterols, carbohydratas
  • สารกลุ่มแทนนิน เบนซินอยด์ เทอร์ปีน ฟลาโวนอยด อัลคาลอยด์ คูมาริน เป็นต้น

ข้อแนะนำ ข้อควรระวัง

การใช้มะขามป้อม จัดเป็นยารสเปรี้ยว ฝาด เย็น ผู้ที่หนาวเย็นง่าย ไม่ควรกินมะขามป้อมมาก ต่อเนื่อง เกินจำเป็น ผู้ที่มีปัญหาเลือดจาง ใส เหลวกว่าปกติ ก็ไม่ควรทานมากทานประจำ ผู้ที่แน่นท้องแบบไฟธาตุน้อย ก็ระวังปริมาณในการทาน หรือ ให้ปรับธาตุอาหารสมุนไพรที่ทาน ให้มีความอุ่นร้อนเพิ่มขึ้น สำหรับยาน้ำแก้ไอสูตรผสมผงมะขามป้อม ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ผู้ป่วยที่ท้องเสียง่าย เนื่องจากมะขามป้อมมีฤทธิ์เป็นยาระบาย

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ :

# แก้ไอ ช่วยกระตุ้นให้น้ำลายออก ช่วยละลายเสมหะ มีวิธีใช้ดังนี้

  1. ใช้เนื้อผงสด ครั้งละ 2-5 ผล โขลกพอแหลก แทรกเกลือเล็กน้อย อม หรือ เดี่ยว วันละ 3-4 ครั้ง

 

2.ผลมะขามป้อมสดฝนกับน้ำแทรกเกลือจิบบ่อยๆ หรือใช้ผลมะขามป้อมสดจิ้มเกลือรับประทาน

3.ผลสดตำคั้นเอาน้ำดื่ม หรือผลแห้ง 6-12 กรัม (ผลสด 10-30 ผล) คั้นน้ำดื่มหรือเคี้ยวอมบ่อยๆ

# ท้องผูก : นำมะขามป้อมมาผ่าแคะเม็ดออก (กินแต่เนื้อ) ประมาณ 10 ลูก ใส่พริก เกลือ น้ำตาล ตำพอแหลก กินต่างผลไม้ แต่ควรกินก่อนนอน หรือตอนตื่นนอนใหม่ๆ ในขณะที่ท้องว่าง

ข้อควรระวังในการรับประทานมะขามป้อม

  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ควรระมัดระวังการรับประทานมะขามป้อม
  • ผู้ที่ท้องเสียง่ายควรระวังการรับประทานมะขามป้อม เนื่องจากมะขามป้อมมีฤทธิ์เป็นยาระบายด้วย

ไอเดียการรับประทานมะขามป้อมเพื่อสุขภาพ

น้ำพริกมะขามป้อม

  • โขลกเนื้อมะขามป้อมให้ละเอียด ทิ้งไว้
  • นำหอมแดง กระเทียม มาโขลกให้ละเอียด ใส่กะปิลงไป ตามด้วยเนื้อมะขามป้อมที่เตรียมไว้ และพริกขี้หนูโขลกแล้ว
  • ปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊ป น้ำปลา
    เสิร์ฟกับไข่เค็ม ปลาสลิดทอด พร้อมผักเคียงตามใจชอบ

ยำกุนเชียงมะขามป้อม

  • นำกุนเชียงมาหั่นบางๆ จากนั้นนำไปทอดในกระทะให้สุกแล้วพักไว้ 
  • เริ่มทำเครื่องยำ โดยการผสมน้ำผึ้ง หอมหัวใหญ่ น้ำมะนาว น้ำปลา ตามด้วยมะขามป้อม ใส่มะม่วง แครอท ใส่พริกป่นเพื่อเพิ่มความเผ็ดร้
  • ราดน้ำยำลงบนกุนเชียง แล้วยกขึ้นเสิร์ฟได้เลย

แยมมะขามป้อม

  • นำมะขามป้อมไปต้ม 15 นาที จากนั้นจึงเอาเม็ดข้างในออก นำไปปั่นจนเนื้อละเอียด 
  • ตั้งกระทะ เทมะขามป้อมที่ปั่นเอาไว้ลงไป ใส่น้ำตาลทรายแดง เคี่ยวจนเริ่มกลายเป็นยาง หากอยากเก็บไว้นาน ให้เคี่ยวจนแห้ง 
  • พักไว้ให้เย็น ตักใส่โถเก็บใส่ตู้เย็นเอาไว้ นำออกมารับประทานกับขนมปังเป็นของว่าง

น้ำมะขามป้อม

  • นำมะขามป้อมไปต้มจนสุก 
  • แกะเมล็ดข้างในออก ใส่มะขามป้อมลงไปในเครื่องปั่น เติมน้ำต้มสุกลงไป ปั่นให้ละเอียด แล้วนำมากรองด้วยผ้าเอาเฉพาะน้ำ
  •  ใส่น้ำมะขามป้อมลงไปในแก้ว ใส่น้ำเชื่อม มะนาว เกลือป่น ผสมทุกอย่างให้เข้ากัน ใส่น้ำแข็ง ปรุงรสชาติตามใจชอบ 

น้ำมะขามป้อมสามารถนำมาใส่โถเก็บไว้ในตู้เย็น เอามาดื่มในยามว่างได้ แต่เพื่อให้ได้สารอาหารที่ดี ควรดื่มทันทีหลังจากทำเสร็จใหม่ๆ น้ำมะขามป้อมช่วยระบายท้องได้เป็นอย่างดีจึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการท้องผูกบ่อยๆ แถมยังช่วยสร้างความสดชื่นและเสริมภูมิต้านทานให้ร่างกายได้ดีอีกด้วย

บทความล่าสุด

อาการตกขาวจากช่องคลอดอักเสบ

ตกขาวหรือระดูขาว มีลักษณะเป็นของเหลว ใสหรือขุ่นก็ได้ อาจคล้ายน้ำแป้ง หรือ แป้งเปียก ปกติไม่มีกลิ่น

อาการวิงเวียนศีรษะและยารักษา

อาการวิงเวียนศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่ถ้ามีร่วมกับอาการบ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน ควรพบแพทย์

ยาพ่นช่องปากและคอ

การเลือกใช้ยาพ่นคอ ควรพิจารณาความรุนแรงของอาการที่เป็น ถ้ามีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง การใช้สปรย์พ่นคอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า