กวาวเครือขาว
เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มี 2 พันธุ์ คือ
- Pueraria candollei Graham ex Benth. var. mirifica (Airy Shew Savat.) พบมากในจังหวัดสระบุรี โดยฝักจะมีขนยาว
- Pueraria candollei Graham ex Benth. var. candollei พบมากในจังหวัดกาญจนบุรีและลำปาง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์โดยทั่วไปคล้ายคลึงกันคือ เป็นไม้เถา เนื้อแข็ง เลื้อยพันตามไม้ใหญ่ ดอกคล้ายดอกแคขนาดเล็กออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง สีน้ำเงินอมม่วง ฝักเล็กแบนบาง มีหัวใต้ดินคล้ายมันแกวขนาดใหญ่ เนื้อในสีขาว
หัวใต้ดินถูกนำมาใช้ประโยชน์ โดยมีสรรพคุณแผนโบราณ ใช้เป็นตัวยาหนึ่งในตำรับยาบำรุงร่างกาย บำรุงเนื้อหนังให้เต่งตึง บำรุงอวัยวะสืบพันธุ์และมดลูก
วิธีการใช้ตามตำรายาของหลวงอนุสารสุนทร ใช้กวาวเครือขาวผสมกับน้ำผึ้ง ตรีผลา หรือนมสด ปั้นเป็นยาเม็ดขนาดเท่าเม็ดพริกไทย แต่มีข้อห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาวรับประทานและหากรับประทานในปริมาณสูงหรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเป็นอันตรายได้
กวาวเครือขาวจัดเป็นสมุนไพรควบคุม (รวมทั้งกวาวเครือแดงและกวาวเครือดำ) มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้รับความสนใจเนื่องจากมีสารที่มีโครงสร้างทางเคมีและออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเพศหญิง เรียกว่า phytoestrogen ได้แก่ deoxymiroestrol และ miroestrol
มีการวิจัยถึงฤทธิ์ของกวาวเครือขาวต่อสุขภาพของสตรี
ซึ่งเน้นประโยชน์เพื่อช่วยลดอาการของสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยมีการศึกษาฤทธิ์ของกวาวเครือขาวต่ออาการต่อไปนี้
- ลดอาการร้อนวูบวาบ
- ลดภาวะกระดูกพรุน
- มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและช่วยในเรื่องของความจำและการเรียนรู้ และมี
- ผลช่วยลดอาการช่องคลอดแห้งในสตรีวัยหมดประจำเดือนได้
แต่งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองเท่านั้น ซึ่งงานวิจัยทางคลินิกยังมีน้อยมาก
อีกทั้งยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงขนาดที่ใช้ อาการข้างเคียง และความเป็นพิษ เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้เอง
จากโครงสร้างของสารสำคัญในกวาวเครือขาวที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังนั้นอาจไปรบกวนระบบฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
สำหรับการใช้กวาวเครือขาวในรูปแบบครีมทาภายนอกเพื่อขยายหน้าอก ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าช่วยเพิ่มขนาดได้
นอกจากนี้ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของกวาวเครือขาวยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายๆ อย่างในกระบวนการผลิต เช่น ส่วนผสม สารสำคัญในการนำพาสารเข้าสู่เซลล์ และความคงตัวของสาร เป็นต้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
วิธีใช้ และวิธีรับประทานกวาวเครือขาว
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แนะนำและกำหนดวิธีรับประทานกวาวเครือขาว เพื่อให้เหมาะสมและเกิดความปลอดภัยในการรับประทาน คือ ไม่ควรเกิน 1,00 มิลลิกรัมต่อวัน
หากเป็นแคปซูล คือ วันละ 2 ครั้ง เวลาเช้าและเย็น ก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง งดเว้นการทานช่วงที่มีประจำเดือน ควรรอให้ประจำเดือนหมดแล้วค่อยทาน
สำหรับวิธีการรับประทานเป็นสมุนไพรจะใช้ผงกวาวเครือขาวผสมกับน้ำผึ้ง จากนั้นปั้นเป็นลูกกลอนขนาดเท่าเมล็ดพริกไทยแล้วรับประทานวันละ 1 เม็ด นอกจากนี้ไม่ควรรับประทานยากวาวเครือขาวพร้อมๆ กับยาคุมกำเนิด
ข้อควรระวังการใช้กวาวเครือขาว
- ไม่ควรใช้กวาวเครือขาวกับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี
- คุณแม่ตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร
- ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง เนื้องอก
- ผู้ป่วยโรคต่อมไทรอยด์โต
- ผู้ป่วยที่มีซีสต์
- ผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวกับมดลูกและรังไข่
- ผู้ที่ดื่มสุราหรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับ
- ผู้ที่มีอาการม้ามโต
ควรรับประทานกวาวเครือขาวในปริมาณที่กำหนด และไม่รับประทานติดต่อกันนานเกิน 6 เดือน เพราะอาจทำให้เยื่อหุ้มอัณฑะหนา หรือเต้านมแข็งเป็นก้อน ทำให้มีอาการม้ามโต อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรืออาการท้องอืดได้
การนำกวาวเครือขาวมารับประทานเพื่อใช้บำบัดโรคเป็นครั้งคราวอาจไม่มีอันตรายใดๆ แต่ควรรับประทานตามขนาดอย่างเคร่งครัด เนื่องจากตำรายาไทยแผนโบราณมีข้อห้ามบางประการ ถึงแม้ว่ากวาวเครือขาวจะมีคุณประโยชน์มากก็ตาม
ดังนั้น หากไม่แน่ใจ หรือมีโรคประจำตัวก็ควรปรึกษาแพทย์ หรือแพทย์แผนไทยก่อน ก็จะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยที่สุด
ตามประกาศของกระทรวงสาธาณสุข
ระบุว่า ให้ใช้กวาวเครือขาวเป็นตัวยาหนึ่งในตำรับยาสมุนไพรเพื่อใช้บำรุงร่างกายและไม่ควรรับประทานเกินวันละ 100 มก./วัน ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งมดลูกและมะเร็งเต้านมหรือเนื้องอกที่ไวต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่ควรใช้กวาวเครือขาว
สำหรับสรรพคุณในการบรรเทาอาการวัยหมดประจำเดือนและเพื่อความงามในการขยายหน้าอกในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ยังต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประสิทธิผลและความปลอดภัยต่อร่างกาย