- ยาระบายกลุ่มเส้นใยหรือไฟเบอร์ (Fiber Supplements) จะช่วยเพิ่มปริมาตรในอุจจาระให้มีมากขึ้นและบางตัวมีสารที่มีคุณสมบัติในการดูดน้ำได้ดี อุจจาระจึงนิ่มและถ่ายออกได้ง่าย เช่น ยาไซเลียม (Psyllium) ยาพอลิคาร์บอฟิล (Calcium Polycarbophil) ยาเมทิล เซลลูโลส (Methylcellulose Fiber)
- ยาระบายกลุ่มกระตุ้น (Stimulants) จะช่วยกระตุ้นจังหวะการบีบตัวของลำไส้ให้ทำงานดีขึ้น เช่น ยาดัลโคแลค (Dulcolax) ยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) ยาเซนโนไซด์ (Sennosides)
- ยาระบายกลุ่มออสโมซิส (Osmotic Laxatives) จะออกฤทธิ์ดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ลำไส้ใหญ่มากขึ้น ทำให้อุจจาระไม่แห้งและแข็งจนถ่ายออกลำบาก เช่น ยาแมกนิเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide) ยาแลคตูโลส (Lactulose) ยาแมกนีเซียม ซิเตรท (Magnesium Citrate) ยาโพลีเอทิลีน ไกลคอล (Polyethylene Glycol: PEG)
- ยาช่วยหล่อลื่นอุจจาระ (Lubricant) เป็นยาที่ช่วยเพิ่มความลื่นให้กับลำไส้ อุจจาระจึงเคลื่อนตัวได้ง่ายขึ้น เช่น มิเนอรอล ออยด์ (Mineral Oils)
- ยาที่ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว (Stool Softeners) มีฤทธิ์ช่วยให้อุจจาระนิ่มจนง่ายต่อการเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ เช่น ยาในกลุ่มด๊อกคิวเซท (Docusate Sodium/Docusate Calcium)
- ยาเหน็บและการสวนอุจจาระ (Suppositories/Enemas) ยาเหน็บช่วยทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มลงและเพิ่มการเคลื่อนไหวของลำไส้ในการขับอุจจาระมากขึ้น เช่น โซเดียม ฟอสเฟต (Sodium Phosphate) แต่ในกรณีที่อุจจาระแข็งมากอาจแนะนำให้มีการสวนอุจจาระที่อุดตันออกก่อน อาจเป็นการสวนด้วยน้ำเปล่า น้ำสบู่ หรือชุดสวนอุจจาระสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของยาบิซาโคดิล (Bisacodyl) หรือกลีเซอรีน (Glycerin) จากนั้นจึงค่อยรักษาด้วยยาในกลุ่มรับประทานยาต่อ
การรักษาด้วยซินไบโอติก (Synbiotic)
ถือเป็นการรักษาทางเลือกที่เกิดจากการนำจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อย่างโพรไบโอติก และอาหารของจุลินทรีย์อย่างพรีไบโอติกมารวมเข้าด้วยกันเป็นซินไบโอติก เพราะซินไบโอติกบางชนิดอาจช่วยเสริมสร้างระบบทางเดินอาหารให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น โดยช่วยบรรเทาอาการท้องผูก ท้องเสีย หรือลำไส้แปรปรวนได้
จากงานวิจัยที่ศึกษาประสิทธิภาพของซินไบโอติกชนิดหนึ่งเปรียบเทียบกับยาหลอกในผู้ป่วยที่มีอาการท้องผูก 100 คน โดยให้ผู้ป่วยรับประทานซินไบโอติกหรือยาหลอกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ผลพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานซินไบโอติกมีอุจจาระอ่อนนุ่มลง และอุจจาระถูกขับออกมาจากลำไส้ได้เร็วกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก การรับประทานซินไบโอติกจึงอาจช่วยบรรเทาอาการท้องผูกได้
อย่างไรก็ตาม มีเพียงซินไบโอติกบางชนิดเท่านั้นที่ช่วยในการรักษาท้องผูกโดยตรง โดยในปัจจุบันซินไบโอติกถูกพัฒนามาอยู่ในรูปแบบที่หาซื้อและรับประทานได้ง่าย อีกทั้งยังไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงหลังจากการบริโภค จึงอาจใช้เป็นหนึ่งในการรักษาทางเลือกเพื่อส่งเสริมสุขภาพลำไส้ แต่สำหรับผู้ที่ต้องการใช้ซินไบโอติกในการรักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเกี่ยวกับความปลอดภัยและปริมาณที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือสตรีมีครรภ์