เกร็ดความรู้เรื่องอาหารทางการแพทย์
การเลือกอาหารเสริมสำหรับผู้สูงอายุ
ปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ คือการบริโภคอาหารได้น้อยลง ไม่เพียงพอกับความต้องการพลังงานและสารอาหารต่อวัน ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะขาดสารอาหารมากขึ้น การใช้อาหารทางการแพทย์เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับพลังงานและสารอาหารที่จำเป็นมากขึ้นได้
อาหารทางการแพทย์คืออะไร ?
อาหารทางการแพทย์ คืออาหารประเภทหนึ่ง ที่ถูกพัฒนาเพื่อการบริโภคทางปาก หรือการให้ผ่านทางสายให้อาหาร ภายใต้คำแนะนำและการดูแลของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ โดยอาหารเหล่านี้จะมีสัดส่วนของสารอาหารที่เหมาะสม และมีวิตามินแร่ธาตุครบถ้วน สามารถใช้แทนอาหารทั่วไปสำหรับผู้ที่ไม่สามารถบริโภคอาหารทางปากได้ (ใส่สายให้อาหาร)หรือบริโภคอาหารทางปากได้ไม่เพียงพอ
ประเภทของอาหารทางการแพทย์
อาหารทางการแพทย์ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คืออาหารทางการแพทย์สูตรทั่วไป และอาหารทางการแพทย์สูตรเฉพาะโรค เช่น เบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง เป็นต้น ในบทความนี้จะกล่าวถึงอาหารทางการแพทย์สูตรทั่วไปเท่านั้น อาหารทางการแพทย์สูตรทั่วไป โดยมากจะมีสัดส่วนของสารอาหาร คือ คาร์โบไฮเดรต ประมาณ 40 – 60% ของพลังงานรวม โปรตีน ประมาณ 15 – 25% ของพลังงานรวม และไขมัน 15 – 35% ของพลังงานรวม นอกจากนี้ยังมีการผสมวิตามินและแร่ธาตุด้วย ทำให้เมื่อบริโภคอาหารทางการแพทย์ จะได้รับวิตามินและแร่ธาตุเพียงพอต่อความต้องการต่อวัน
ลักษณะทั่วไปของอาหารทางการแพทย์จะเป็นผงคล้ายนมผง อาหารทางการแพทย์เกือบทั้งหมดปราศจากน้ำตาลแลกโตส จึงไม่ทำให้เกิดอาการไม่สบายท้องในผู้ที่มีปัญหาไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลกโตสในนมได้