ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น : ผักมิ, ผักหมี่ หยดน้ำตา (ทั่วไป), พรมลี (ชุมพร) , Brahmi (ฮินดู-อินเดีย)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Bacopa monnieri Wettst
ชื่อสามัญ : Indian pennywort , Brahmi
วงศ์ : Schrophulariaceae
พรมมิเป็นผักพื้นบ้านที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย มีต้นกำเนิดมาจากทางเนปาลและอินเดีย ชอบขึ้นตามพื้นดินที่ชุ่มชื้นหรือมีน้ำขัง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น ผักมิ ผักหมี่ นมมิ พรมลี เป็นต้น ในภาษาฮินดูเรียกว่า Brahmi มีชื่อสามัญว่า Thyme-leaf Gratiola และชื่ออังกฤษว่า Dwarf bacopa พรมมิจัดอยู่ในวงศ์ Scrophulariaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bacopa monnieri Wettst
องค์ประกอบทางเคมี
จากการศึกษาสารที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพรมมิคือสารกลุ่ม saponinglyclosides ซึ่งแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- jujubogenin glycosides เช่น bacoside A3 และ becopaside X
- pseudojujubogenin glycosides เช่น bacopaside L II และ becopasaponin C
นอกจากนี้ ยังพบสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์ ได้แก่ apigenin และ luteolin
ส่วนสารออกฤทธิ์สำคัญที่มีผลต่อระบบประสาทที่พบในต้นพรมมิเป็นสารในกลุ่ม triterpenoid saponin ที่ชื่อว่า bacoside ซึ่งชนิดที่มีรายงานการศึกษามากที่สุดได้แก่ bacoside A และ bacoside B รวมถึงยังมีสารกลุ่มอัลคาลอยด์ brahmine อีกด้วย
งานวิจัยและการศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของ พรมมิ
อันเนื่องมาจากสรรพคุณทางด้านความจำและสมองของพรมมิดังนั้นจึงมีงานศึกษาวิจัยอยู่มากเกี่ยวกับเรื่องและสรรพคุณของพรมมิ ในพรมมิมีสารสำคัญในกลุ่มแอลคาลอยด์ เช่น บรามิน (brahmine), นิโคติน และสารกลุ่มซาโปนิน มีคุณสมบัติช่วยในการเรียนรู้และจดจำ ช่วยลดอาการวิตกกังวล ลดอาการซึมเศร้า และต้านอาการชัก ซึ่งมีการทดลองที่สำคัญที่พอสรุปได้ดังนี้
การออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาต่อระบบประสาทส่วนกลาง
1) ผลจากการเรียนรู้และการจดจำ (Beneficial effects on learning and memory, nootropic action) จากรายงานการวิจัยพบว่า การทดสอบความสามารถในการเรียนรู้และการจดจำ สรุปได้ว่าพรมมิมีผลเพิ่มการเรียนรู้และการจดจำได้เป็นอย่างดี และมีฤทธิ์ต้านการสูญเสียความจำได้ดี มีการทดลองใช้ทั้ง พรมมิทั้งที่เป็นพืชสด, สารสกัดหยาบ และพวกที่สกัดแยกออกเอาเฉพาะสารที่สำคัญคือ bacoside ซึ่งได้ผลเหมือนกัน
2) มีฤทธิ์ลดอาการวิตกกังวล (Anxiolytic effect) จากการศึกษาโดยการใช้สารสกัดพรมมิ ซึ่งสกัดจากเอทานอล 50% พบว่ามีผลทำให้ลดอาการวิตกกังวลลงอย่างมาก มากกว่ายามาตรฐาน LZP และที่สำคัญสารสกัดพรมมิไม่มีผลข้างเคียงเหมือนยา LZP
3) ฤทธิ์ต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressant activity) ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดพรมมิมีผลลดอาการ ซึมเศร้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่ายามาตรฐาน imipramine โดยให้ผลแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ
4) ฤทธิ์ต้านอาการชัก (Anticonvulsive action)การแพทย์แผนไทย มีการนำพรมมิมาใช้เป็นสมุนไพรแก้ลมบ้าหมู ซึ่งในปัจจุบัน มีการนำพรมมิมาทดสอบในสัตว์ทดลอง เช่น หนูตะเภา หนูถีบจักร เป็นต้น พบว่า สารสกัดน้ำจากพรมมิขนาด 1-30 กรัม/กิโลกรัม สามารถควบคุมอาการลมชัก (epilepsy) ได้เป็นอย่างดีโดยออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง
ผลการศึกษาในคนสูงอายุ
การศึกษาผลของการรับประทานสารสกัดพรมมิต่อการฟื้นฟูความจำในอาสาสมัครที่มีภาวะสูญเสียความจำเนื่องจากอายุมาก (อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป) โดยให้อาสาสมัครรับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิขนาดวันละ 300-450 มก. (ประกอบด้วยสารสกัด bacosides อย่างน้อย 40%) พบว่า อาสาสมัครมีทักษะในการเรียนรู้เกี่ยวกับการทดสอบความจำดีขึ้น
ผลการศึกษาในเด็ก
การศึกษาในเด็กที่มีอายุระหว่าง 4-18 ปี โดยให้รับประทานแคปซูลสารสกัดพรมมิวันละ 1 แคปซูล (ประกอบด้วยสารสกัดพรมมิมาตรฐาน 225 มก.) นาน 4 เดือนพบว่า พรมมิมีผลช่วยเพิ่มพัฒนาการในการเรียนรู้ของเด็กได้เมื่อเทียบกับเด็กกลุ่มที่ได้รับยาหลอก นอกจากนี้ยังพบว่าการให้เด็กสมาธิสั้น (attention deficit hyperactivity disorder) รับประทานสารสกัดพรมมิ ขนาด 50 มก. (ประกอบด้วย bacosides 20%) วันละ 2 ครั้ง มีผลช่วยให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้ดีขึ้น
อันเนื่องจากสรรพคุณของพรมมิที่มีประสิทธิภาพต่อระบบประสาทความจำและอื่นๆ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สนับสนุนนักวิจัยคณะนักวิจัยไทย พัฒนาสารสกัดจาก สมุนไพรพรมมิ ที่ให้สรรพคุณในการบำรุงสมองและเพิ่มความจำ ประสิทธิภาพเทียบเท่าแปะก๊วยและโสมจากต่างประเทศ
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับตับและไต ควรระมัดระวังในการใช้พรมมิ และควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ
- ในการใช้พรมมิอาจพบอาการข้างเคียงในบางราย เช่น ระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น
แม้ว่าพรมมิจะไม่มีความเป็นพิษ แต่ในการใช้ควรใช้แต่พอดีและไม่ควรบริโภคติดต่อกันนานเกินไป