สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มียุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ในโรงพยาบาล จึงจัดทำโครงการรับยาใกล้บ้านขึ้น ชื่อเต็มๆ ของโครงการนี้คือ โครงการลดความแออัดของโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ขย.1)
เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการนำร้านยาเข้าสู่ ระบบหน่วยร่วมบริการระดับปฐมภูมิ สืบเนื่องมาจากแนวคิดเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้สามารถเชื่อมโยงภาคเอกชนและภาครัฐเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ
โครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน คือ โครงการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ต้องการลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาในโรงพยาบาล โดยให้มารับยาที่ร้านขายยาประเภท 1 และมี 3 หน่วยงานร่วมขับเคลื่อนนโยบายคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สภาเภสัชกรรม และ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน และเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562
ความเป็นมาของโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน
มีข้อมูลชัดเจนว่า ปัญหายาเหลือใช้ที่บ้าน เกิดขึ้นมากที่สุดในผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล รับยาใกล้บ้าน เพราะกลุ่มนี้จะมีนัดพบแพทย์และรับยาที่โรงพยาบาลครั้งละ 4-6 เดือน เพราะฉะนั้นไปแต่ละครั้งจึงได้รับยาจำนวนมาก ผู้ป่วยมักใช้ยาไม่ถูกวิธี ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง อาการของโรคก็จะไม่ดีขึ้น นำมาซึ่งการหยุดใช้ยากลายเป็นยาเหลือทิ้งที่บ้าน
ที่ห้องรับยา ในโรงพยาบาล เภสัชกรมีเวลาในการดูแลหรือพูดคุยกับผู้ป่วยจำกัด เพราะเวลาไม่พอ เนื่องจากการจะอธิบายและสอน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจทั้งเรื่องโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ การใช้ยามีประโยชน์อย่างไร การดูแลตัวเอง และอื่นๆจิปาถะ ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ป่วยแต่ละคนก็มีพื้นฐานทั้งด้านการศึกษา สถานะความเป็นอยู่ ความเชื่อ ทัศนคติ ที่หลากหลาย เภสัชกรต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วยจึงจะสามารถปรับการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลผล
บ่อยๆครั้งที่ผู้ป่วยเองก็มีข้อจำกัดในการเรียนรู้ เพราะทั้งอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อยจากการรอพบพทย์ รอตรวจ การเดินทาง อีกทั้งไม่คุ้นเคยกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน เห็นได้ชัดเลยว่า เวลา 10-15 นาที ที่พบเภสัชกรที่ห้องยาไม่เพียงพอแน่นอนต่อการสอนและโน้มน้าวให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญของการใช้ยาที่ถูกต้อง สมเหตุสมผล
มีการศึกษาพบว่า สาเหตุที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกมาซื้อยาที่ร้านยามากกว่าไปโรงพยาบาล คือ ไม่อยากเสียเวลาไป ไม่สะดวกในการเดินทาง ไม่มีคนช่วยพาไป และไม่มีค่าเดินทางไปโรงพยาบาล
มีหลักฐานชัดเจนว่า ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 40 มีปัญหาการใช้ยาที่บ้าน ปัญหาที่พบได้แก่ การใช้ยาไม่ถูกต้องตามแพทย์สั่ง ไม่สามารถใช้ยาที่มีเทคนิคการใช้ยุ่งยากให้วิธีด้วยตนเอง เช่น ยาฉีด ยาพ่น ผู้ป่วยมีการครอบครองยาเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดยาเหลือใช้ ยาเสื่อมสภาพ และยาหมดอายุที่บ้านจำนวนมาก จากการประมาณการในระดับประเทศพบว่ามีมูลค่ายาเหลือใช้ที่บ้านเกิน 2,000 พันล้านบาท
ด้วยปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลสะสมดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายต้องการลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล โดยให้มารับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันชั้น 1 คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงเห็นชอบด้วย และขับเคลื่อนนโยบายนี้โดยร่วมกับ สภาเภสัชกรรม และ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)
ข้อดีของการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน
- สะดวกไม่ต้องรอนาน
- เภสัชกรมีเวลาให้คำแนะนำ
- เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างถูกต้อง
- เภสัชกรช่วยติดตามผลการรักษาได้ใกล้ชิดขึ้น
- เภสัชกรช่วยส่งเสริมความรู้ดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
- มีเภสัชประจำครอบครัว
คุณค่าของร้านยาต่อระบบสุขภาพ
- เพิ่มความปลอดภัยด้านยาให้ผู้ป่วย
- ส่งเสริมการทำงานเชิงสหวิชาชีพ
- แพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยมากขึ้น
- เพิ่มความพึงพอใจคนไข้ผู้มารับบริการ
- เพิ่มความพึงพอใจให้กลุ่มผู้ให้บริการ (บุคลากรสาธารณสุข)
เป้าหมายและรายละเอียดของโครงการรับยาใกล้บ้าน
นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาที่โรงพยาบาล โดยให้มารับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภทที่ 1 ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาจากการใช้ยาที่บ้าน เช่นการใช้ยาไม่ถูกต้องตามแพทย์สั่ง การบริหารยาฉีด ยาพ่นด้วยตนเองไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยมีการครอบครองยาเกินความจำเป็น กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงมีความเห็นชอบด้วย และได้ดำเนินการจัดตั้ง โครงการรับยาที่ร้านยาใกล่บ้านขึ้น
เป้าหมายของโครงการ
- เพิ่มความสะดวกแก่คนไข้ไม่ต้องเสียเวลารอคอยรับยาที่โรงพยาบาล
- ลดความแออัดในโรงพยาบาล
- ผู้ป่วยมีเวลาพูดคุยกับเภสัชกรมากขึ้น ทำให้มีความร่วมมือในการใช้ยาเพิ่มขึ้น
- เพิ่มการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ลดจำนวนยาเหลือใช้ที่บ้าน
- เพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของผู้ป่วยอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ
เงื่อนไขด้านกลุ่มเป้าหมายที่สามารถใช้บริการได้
- ใช้สิทธิบัตรทอง
- ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช
- แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาได้
- ผู้ป่วยสมัครใจยินดีไปรับยาที่ร้านยาได้
เงื่อนไขด้านร้านยาที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้
- เป็นร้านยา ขย.1 ที่ผ่าน GPP หรือร้านยาคุณภาพ สภาเภสัชกรรม
- เปิดบริการไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง และมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติการตลอดเวลาทำการ
- เภสัชกรสมัครใจและพร้อมทำงานร่วมกับหน่วยบริการ
ขั้นตอนการรับยาใกล้บ้าน
ขั้นตอนที่ 1 . พบแพทย์ ตรวจวินิจฉัยโรค ประเมินความเหมาะสมในการรับยาที่ร้านยา
ขั้นตอนที่ 2. แจ้งความประสงค์ขอรับยาที่ร้านยา กรอกแสดงความยินยอมและเลือกร้านยาที่สะดวกไปรับยา
ขั้นตอนที่ 3. รับใบนัดหรือใบสั่งยา เพื่อนำไปรับยาที่ร้านยา
ขั้นตอนที่4. รับยาที่ร้านยาที่เลือก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : คู่มือลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยา ขย.1
ความสัมพันธ์ของปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลกับโครงการรับยาใกล้บ้าน
ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดตั้งองค์กร เพื่อจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล รับยาใกล้บ้าน เป็นกลไกเล็กๆส่วนหนึ่งที่ใช้จัดการปัญหานี้
องค์การอนามัยโลกระบุว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม และมีนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ( rational drug use) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 โดยได้ให้คำจัดความว่า ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพ โดยใช้ยาในขนาดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ด้วยระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสม และมีค่าใช้จ่ายต่อชุมชนและผู้ป่วยน้อยที่สุด
“Patients receive medications appropriate to their clinical needs , in dose that meet their own individual requirements, for an adequate period of time , and at the lowest cost to them and their community.”
สำหรับในประเทศไทยได้นำมาดำเนินการภายใต้ ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาแห่งชาติปี พ.ศ. 2551 แต่เริ่มอย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง ในปี พ.ศ. 2555 และได้ขยายความการใช้ยาสมเหตุสมผลเพิ่มเติม และนิยามใหม่ดังนี้
- การใช้ยาโดยมีข้อบ่งชี้ เป็นยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิผลจริง สนับสนุนด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้
- ให้ประโยชน์ทางคลินิกเหนือกว่าความเสี่ยงจากการใช้ยาอย่างชัดเจน
- มีราคาเหมาะสม คุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
- ไม่เป็นการใช้ยาซ้ำซ้อน คำนึงถึงปัญหาเชื้อดื้อยา
- เป็นการใช้ยาในกรอบบัญชียาอย่างเป็นขั้นตอนตามแนวทางพิจารณาการใช้ยา
- โดยใช้ยาในขนาดที่พอเหมาะกับผู้รับบริการในแต่ละกรณี ด้วยวิธีการให้ยาและความถี่ในการให้ยาที่ถูกต้องตามหลักเภสัชคลินิก ด้วยระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสม
- ผู้รับบริการให้การยอมรับและสามารถใช้ยาดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง
- กองทุนในระบบประกันสุขภาพหรือระบบสวัสดิการสามารถเบิกจ่ายยานั้นได้อย่างยั่งยืน
- เป็นการใช้ยาที่ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้รับบริการทุกคนสามารถใช้ยานั้นได้อย่างเท่าเทียมกันและไม่ถูกปฏิเสธยาที่สมควรได้รับ
ซึ่งการให้คำจำกัดความนี้สอดคล้องกับหลักการสาธารณสุขมูลฐานและนโยบายด้านระบบสุขภาพของไทย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : บทบาทเภสัชกรกับระบบสุขภาพของประเทศไทย
กลยุทธการแก้ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล
การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ให้เกิดผลสำเร็จในวงกว้างจำเป็นต้องดำเนินการใน 3 ส่วนไปพร้อมๆกัน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
ต้นน้ำ คือ บริษัทยา หรือผู้ผลิตยา
กลางน้ำ คือ สถานบริการสุขภาพและผู้สั่งใช้ยา ได้แก่ แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล และ สัตว์แพทย์
ปลายน้ำ คือ ภาคประชาสังคม
โดยได้กำหนดกลยุทธการดำเนินงานไว้ 7 ด้าน
- พัฒนาระบบการกำกับดูแลให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
- พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ
- พัฒนากลไกและเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
- สร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
- การส่งเสริมการผลิตและประกันคุณภาพยาชื่อสามัญ
- การพัฒนาระบบและกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาต้านจุลชีพและการดื้อยาของเชื้อก่อโรค
- การส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาและยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม
การดำเนินงานจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มโรค 6 ประเภทที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติคือ
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคเบาหวาน
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคข้อเสื่อม/เกาต์
- โรคไตเรื้อรัง
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคหืด
นอกจากนี้ การดำเนินงานยังเน้นการดูแลการใช้ยาในประชาชนกลุ่มเปราะบาง 6 กลุ่ม
- ผู้สูงอายุ
- สตรีตั้งครรภ์
- สตรีให้นมบุตร
- ผู้ป่วยเด็ก
- ผู้ป่วยโรคตับ
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล
สรุป
ปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ที่รักษาในโรงพยาบาลภาครัฐและไม่สามารถควบคุมอาการได้ เป็นเพราะผู้ป่วยเหล่านี้ต้องอาศัยการสื่อสารเป็นตัวกลางในการปรับพฤติกรรมสุขภาพร่วมด้วย จึงจะสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการรักษา ดังนั้นเห็นได้ชัดว่าการจัดระบบให้ผู้ป่วยมารับยาที่ร้านยาใกล้บ้านเป็นคำตอบที่ตรงจุด เพราะการแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จในอนาคตอันใกล้
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
fixomull
INNAQUA
เซรั่มแก้ผมร่วงฮีรูดอยด์
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา