จากการสำรวจของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) เมื่อปี พ.ศ. 2549 มีคนไทยที่อายุเกิน 15 ปี สูบบุหรี่อยู่มากถึง 11 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ประมาณ 2.5 ล้านคน โดยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อน อายุ 65 ปี และอีกครึ่งหนึ่งเสียชีวิตหลังอายุ 65 ปี
สารบัญ
สารพิษในควันบุหรี่
ในควันบุหรี่มีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่ากายมนุษย์อยู่มากกว่า 4,000 ชนิด ในจำนวนนี้ มีประมาณ 60 ชนิดที่มีหลักฐานทางการแพทย์ชัดเจนว่าเป็นสารก่อมะเร็ง เราสามารถแบ่งสารพิษในควันบุหรี่ได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่
- กลุ่มอัลดีไฮด์และสารพิษขนาดเล็กที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะโครลีน ฟอร์มัลดีไฮด์ อะเซตัลดีไฮด์ ยูรีเทน ไวนิลคลอไรด์ เป็นต้น สารในกลุ่มนี้จัดเป็นตัวการหลักในการก่อโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ
- กลุ่มโลหะหนัก เช่น สารหนู นิเกิ้ล ตะกั่ว แคดเมียม เป็นต้น สารเหล่านี้เป็นจัดเป็นสารก่อมะเร็งด้วยเช่นกัน
- กลุ่มไนโตรซามีน เช่น N-nitrosodiumethylamine (NDMA),2-naphthylamine, nitrosopyrrolidine,N-nitrosodiethylamine(NDEA)
- กลุ่ม Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAH) เช่น เบนซีน, benzo(a)pyrene , chrysene, benz(a)anthracene เป็นต้น
- สารพิษกลุ่มอื่นๆ เช่น ดีดีที, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ไซยาไนด์, นิโคตีน, hydrazine, 4-aminobiphenyl เป็นต้น
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ : สารพิษในควันบุหรี่
สารพิษที่สำคัญและมีข้อมูลรายละเอียดชัดเจนว่ามีก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในมนุษย์ มีดังนี้
-
นิโคติน (nicotine)
พบได้มากถึง 1,000-2,000 ไมโครกรัมต่อควันบุหรี่ 1 มวน นิโคตินในควันบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 6 วินาทีเท่านั้น หลังจากนั้นจะเดินทางไปจับกับตัวรับในสมอง ที่มีชื่อว่า แอลฟ่า 4 เบต้า 2 นิโคตินิก รีเซ็บเตอร์ ( alpha-4 beta-2 nicotinic receptor )ก่อให้กระแสประสาทส่งไปที่สมอง ส่วน nucleus accumbens กระตุ้นให้หลั่งสารก่อความสุข เช่น เอ็นดอร์ฟิน (endorphin ) และ โดปามีน (dopamine)
กลไกดังกล่าวทำให้เกิดการเสพติดขึ้น เพราะสารนิโคตินจะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับตอนดูดซึม ทำให้ผู้สูบบุหรี่รู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่สบายตัว
สารนิโคติน มีลักษณะคล้ายน้ำมันไม่มีสี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเมตาบอไลซ์หรือถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ โดยเอนไซม์ cytochrome P-450 และ aldehyde oxidase เปลี่ยนสภาพไปเป็น สารที่เรียกว่า โคตินีน (cotinine)แทน
นิโคตินมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจดังนี้
- ทำให้เลือดในร่างกายหนืด เกิดลิ่มเลือดได้ง่ายขึ้น
- ทำให้ไขมันที่ดี (HDL) ลดน้อยลงและไขมันไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสเกิดหลอดเลือดแดงตีบ
- ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดขาดสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยง
-
น้ำมันดิน (tar)
เป็นสารพิษในกลุ่ม PAH (polycyclic aromatic hydrocarbon) เกิดจากการเผาไหม้ของใบยาสูบและกระดาษที่ใช้มวน
ลักษณะเป็นละอองเหนียว สีน้ำตาล เป็นสารในควันบุหรี่ที่จะไปตกค้างในปอดและทางเดินหายใจ
-
เบนซีน , benzo(a)pyrene
เป็นสารพิษกลุ่ม PAH เช่นกัน ในบุหรี่ 1 มวน พบสารพิษ 2 ตัวนี้ประมาณ 20-70 ng. มันจะไปรบกวนการทำงานของเอนไซม์ 2 ตัวที่ทำหน้าที่ซ่อมแซม ยีน (DNA ) ที่สึกหรอของเซลล์ต่างในร่างกาย เอนไซม์นี้มีชื่อว่า glutathione S-transferase (GST) และ 8-oxoguanine-DNA-N-glycolase
ส่งผลให้เอนไซม์ทั้ง 2 ทำงานไม่ได้ จึงเกิดยีนหรือดีเอ็นเอที่ผิดปกติขึ้นในร่างกาย มีการถอดรหัสกรดอะมิโนและโปตีนที่ผิดพลาด เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติที่เรียกว่า MUTATION ของเซลล์ต่างๆ และกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด
-
คาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide)
เป็นก๊าซชนิดเดียวกับที่พ่นออกจากท่อไอเสียรถยนต์ เป็นก๊าซที่พบได้มากที่สุดในควันบุหรี่ ใน บุหรี่ 1 มวนมีมากถึง 10,000-20,000 ไมโครกรัม เกิดขึ้นได้จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของใบยาสูบและกระดาษที่ใช้มวน
มีคุณสมบัติสำคัญคือ สามารถจับกับฮีโมโกลบินได้ดีกว่าออกซิเจน 200 เท่า จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจนได้
-
ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (hydrogen sulfide)
ในบุหรี่ 1 มวน พบได้ประมาณ 10-90 ไมโครกรัม เป็นก๊าซที่มีผลระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอและหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้
-
ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide)
ในบุหรี่ 1 มวน พบได้ประมาณ 400-500 ไมโครกรัม เป็นก๊าซที่มีฤทธิ์ทำลายขนพัดโบก cilia ในเยื่อบุทางเดินหายใจ ที่ทำหน้าที่คอยช่วยขับเสมหะออกจากหลอดลม จึงทำให้เสมหะคั่งค้างภายในปอดมากขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้
-
ไนโตรเจนไดออกไซด์ (nitrogen dioxide)
เป็นก๊าซทีระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจและถุงลมปอด ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองได้
-
แอมโมเนีย (ammonia)
ในบุหรี่ 1 มวน มีแอมโมเนียประมาณ 50-130 ไมโครกรัม มีคุณสมบัติเป็นด่าง ทำให้นิโคตินถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้มากขึ้น ตัวของมันเองก็ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้แสบจมูก หลอดลมอักเสบละ ไอ และแสบตาได้
-
อะโครลีน (acrolein)
ในบุหรี่ 1 มวน พบสารตัวนี้ได้ประมาณ 60-140 ไมโครกรัม เป็นก๊าซไม่มีสี กลิ่นเหม็น มีความเป็นพิษสูง ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจได้สูงแม้ในปริมาณต่ำๆ สามารถทำให้เสียชีวิตได้
-
สารกัมมันตรังสี
เช่น โคบอลต์ โปโลเนียม20 เป็นพิษต่อเซลล์ ทำให้เซลล์เปลี่ยนสภาพและกลายเป็นมะเร็งปอดได้
-
โลหะหนัก
เช่น ตะกั่ว สารหนู แคดเมี่ยม นิคเกิ้ล สังกะสี และโครเมียม เป็นสารเคมีที่มีหลักฐานยืนยันหนักแน่นว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์
ในปัจจุบัน เริ่มมีการกล่าวถึงบุหรี่ไฟฟ้า หรือบุหรี่อิเลคโทรนิกส์ ซึ่งเป็นบุหรี่ชนิดใหม่ที่ไม่มีควันไม่มีใบยาสูบ ผลิตในรูปแท่ง ควบคุมการเผาไหม้ด้วยระบบอิเล็กโทรนิกส์และเทคโนโลยีอะตอม มีแบตเตอรี่สำหรับอัดไฟเก็บไว้ในเครื่องเพื่อใช้งานได้เลยเมื่อต้องการสูบ
ในแต่ละแท่งแม้จะไม่มีใบยาสูบแต่ก็มีสารนิโคตินและสารโพรไพลีนไกลคอลที่มีลักษณะเดียวกับควันบุหรี่ ในแต่ละแท่งจะมีสารนิโคตินอยู่มากถึง 18 มิลลิกรัม ในขณะที่บุหรี่ทั่วไป ใน 1 มวนมีสารนิโคตินเพียง 1-2 มิลลิกรัมเท่านั้น ซึ่งในบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินมากกว่าถึง 16-18 เท่าในบุหรี่ธรรมดา ซึ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า น่าจะมีพิษภัยไม่น้อยเช่นเดียวกัน
โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่นอกจากจะมีผลต่อสุขภาพผู้สูบโดยตรงแล้ว ควันบุหรี่ยังส่งผลกระทบต่อผู้อื่นที่ได้สูดดมควันบุหรี่เข้าไปอีกด้วย
ร่างกายคนเราเมื่อได้รับสารพิษจากควันบุหรี่เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย โรคหลักๆ ที่เกิดจากบุหรี่และทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิต มี 3 โรคคือ
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- โรคมะเร็งปอด
- โรคถุงลมโป่งพอง
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวจากไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดไหลผ่านได้น้อยลง ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและอาจตายได้
ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2-4 เท่า เนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้
- นิโคตินในบุหรี่ ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้น เกล็ดเลือดเกาะตัวกันง่ายขึ้น
- นิโคติน ทำให้ระดับไขมันชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น และไขมันชนิดดี (HDL) ลดลง
- นิโคตินทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ที่ทำให้เส้นเลือดแดงอักเสบและแข็งตัว
- ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่ จะแย่งจับกับออกซิเจนในเลือด ทำให้เม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนได้น้อยลง ส่งผลให้หัวใจขาดออกซิเจน และเสียชีวิตได้
อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
- ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างมาก เหมือนมีอะไรกดทับหน้าอก อาจเจ็บร้าวขึ้นไปถึงคางหรือร้าวลงแขนซ้าย
- หายใจหอบเหนื่อย เหงื่อแตก ใจสั่น
- หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตทันที
การรักษา
- การขยายเส้นเลือดด้วยบอลลูนละใส่ขดลวด
- การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (BYPASS)
- การรับประทานยา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคมะเร็งปอด
เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบเมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆของร่างกาย
มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer)
พบได้ประมาณ 10-15% ของมะเร็งปอดทั้งหมด เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็ว และอาจสร้างสารเคมีทำให้เกิดการผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว การรักษาประคับประคองจะใช้วิธีฉายรังสีและให้ยาเคมีบำบัด
- มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ( non-small cell lung cancer)
พบได้ประมาณ 75-90 % ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีการดำเนินโรคที่ช้ากว่า มีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก สามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออก
ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10-30 เท่า เนื่องจากสารเคมีในควันบุหรี่ทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนบุหรี่และจำนวนปีที่สูบบุหรี่
อาการของโรคมะเร็งปอด
- ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด
- น้ำหนักลด
- หอบเหนื่อย
- ปวดกระดูก
- บวมบริเวณหน้า คอ แขนและอกส่วนบน เนืองจากก้อนมะเร็งกดทับเส้นเลือดใหญ่
การรักษาโรคมะเร็งปอด
สิ่งสำคัญของการรักษามะเร็งปอด คือ การพิจารณาตำแหน่ง ขนาด และระยะของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย
- การผ่าตัด (surgery)
ใช้สำหรับการรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่แพร่กระจาย ขนาดก้อนที่ไม่ใหญ่หรือมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ และไม่มีการยึดติดกับอวัยวะสำคัญ เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้
- การฉายรังสี (radiotherapy)
เป็นวิธีการรักษาเฉพาะที่เช่นเดียวกับการผ่าตัด คือการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น อาจมีผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี
- การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy)
โดยให้ยาหยดเข้าทางหลอดเลือด เพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็ง มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด
- การให้เคมีบำบัด ( chemotherapy)
เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยการฉีดหรือผสมหยดยาเข้าไปทางหลอดเลือด ซึ่งตัวยาจะผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดและเข้าสู่เซลล์มะเร็งทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง
- การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy)
เป็นวิธีการที่มีเป้าหมายเพื่อยับยั้งโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมกลไกการเกิดมะเร็ง โดยการรับประทานยา มีผลข้างเคียงน้อยและได้ผลดีในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษา
- การรักษาแบบผสมผสาน
เป็นการใช้หลายๆวิธีร่วมกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีแรก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : โรคมะเร็งปอด
โรคถุงลมโป่งพอง
เป็นโรคที่เนื้อปอดค่อยๆเสื่อมสมรรถภาพ จากการได้รับควันบุหรี่ โดยปกติพื้นที่ปอดจะมีถุงลมเล็กๆกระจายอยู่เต็มทั่วปอด เพื่อทำหน้าที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย
ในควันบุหรี่มีก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อในปอดและถุงลมให้ฉีกขาดที่ละน้อยและรวมตัวกันเป็นถุงลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้พื้นผิวที่จะรับออกซิเจนน้อยลง จึงต้องหายใจเร็วขึ้นเพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพียงพอ เกิดเป็นโรคถุงลมโป่งพอง
ในรายที่เป็นมากจะไม่สามารถทำงานได้หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติเพราะเหนื่อยมาก จนต้องนอนอยู่กับที่และรับออกซิเจนช่วยตลอดเวลา และจะทรมานจากการเหนื่อยหอบจนกว่าจะเสียชีวิต เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานเป็นเวลานานกว่าจะเสียชีวิต
อาการของโรคถุงลมโป่งพอง
- มีอาการเหนื่อยเวลาออกแรงทำงานหนัก ถ้าเป็นมากในขณะพักก็มีอาการเหนื่อยได้
- มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะหรือไม่มีก็ได้ มักมีอาการตอนเช้า
สาเหตุหลักๆของโรคนี้คือ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังเกิดจากการสูดดมสิ่งที่เป็นพิษ เช่น ไอเสีย ฝุ่น สารเคมี เป็นระยะเวลานานๆ
การรักษาโรคถุงลมโป่งพอง
เนื่องจากโรคเกิดจากการมีหดเกร็งของกล้ามเนื้อเยื่อบุหลอดลม และ เสมหะในหลอดลม ยาที่ใช้มี 5 ประเภทได้แก่
- ยาลดการอักเสบ
- ยาขยายหลอดลม
- ยาละลายเสมหะ
- ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ
- การให้ออกซิเจนที่บ้านตามความจำเป็น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : โรคถุงลมโป่งพอง
ผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆ
การสูบบุหรี่อาจมีผลต่อสุขภาพด้านอื่นๆได้อีกด้วย เช่น
- ผมร่วง มีแผลในปาก
- ผื่นขึ้นที่ใบหน้า หนังศีรษะและมือ
- ต้อกระจก คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นต้อกระจกมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 40 เท่า
- ผลต่อสุขภาพช่องปาก มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งในช่องปากและเหงือก โดยควันบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อที่ยึดระหว่างเหงือกและฟัน ทำให้เหงือกร่น และเกิดการเสียวฟันได้ นอกจากนี้จะเกิดกลิ่นปาก มีคราบบุหรี่ติดที่เหงือกและฟัน
- เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ติดเชื้อโรคที่ชื่อ pyroli ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะ
- ผิวหนังเหี่ยวย่น เนื่องจากการขาดวิตามิน และการสูบบุหรี่ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ผิวหนังลดลง ผิวจึงแห้ง หยาบ และมีริ้วรอย
- กระดูกพรุน การสูบบุหรี่ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลงและหักง่าย
- มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ การสูบบุหรี่ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงองคชาติได้น้อยลง เกิดความบกพร่องด้านการแข็งตัวได้ นอกจากนี้ยังทำให้เชื้อสุจิผิดปกติได้
- ในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาการมีบุตรยาก เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้
สรุป
บุหรี่ นับเป็นสิ่งเสพติดเพียงชนิดเดียวในปัจจุบันที่ยังมีการซื้อขายและเสพกันอย่างถูกกฎหมาย คนไทยจำนวนมากยังคงสูบบุหรี่แม้จะทราบดีถึงพิษภัยอันสืบเนื่องมาจากบุหรี่เป็นอย่างดี ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ถึงวันละ 13,700 คนหรือชั่วโมงละ 570 คน สำหรับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่วันละ 142 คน ถึงแม้ว่าเราจะมีการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่กันอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ยังไม่ประสพผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
คอมบิฟ เออาร์ (หนัก 40 กรัม)
ฟิกซูโมลใสกันน้ำ (หนัก 60 กรัม)
ไบโอซิงค์ (หนัก 150 กรัม)
459 บาท399 บาทหน้ากาก 3M (หนัก 10 กรัม)
แคปซูลฟ้าทะลายโจร (หนัก 10-160 กรัม)
แนคลอง
กระชายขาวแคปซูล (หนัก 50 กรัม)
ยาเบญจกูล (หนัก 50 กรัม)
สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูก (หนัก 90-150 กรัม)
อินอควา (หนัก 10กรัม)
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา