การดูแลบาดแผลให้หายเร็ว ไม่ทิ้งรอยแผลเป็น

การดูแลบาดแผล

ในปัจจุบันองค์ความรู้เรื่องการดูแลแผลมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การทำแผลแบบดั้งเดิม ที่มีการดูแลแผล คือ ล้างแผล ใส่ยาฆ่าเชื้อ ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ ห้ามแผลถูกน้ำ และ ทำแผลวันละ 1 ครั้ง  วิธีการแบบนี้เรียกว่า การทำแผลแบบแห้ง โดยตั้งอยู่ในหลักการที่ว่า สภาพแผลที่แห้งจะช่วยให้แผลหายเร็ว แต่วิธีนี้แผลจะหายช้าและมักทิ้งรอยแผลเป็นไว้นาน

สนใจเกี่ยวกับแผลเป็นแนะนำอ่านรายละเอียดที่ : การดูแลรักษาแผลเป็น

ในปี ค.ศ. 1960 องค์ความรู้เรื่องวิธีการดูแลแผลได้มีการเปลี่ยนแปลงไป โดย ดร.จอร์จ วินเทอร์ (Dr. George Winter) นำเสนอหลักการ การดูแลบาดแผลให้อยู่ในสภาวะชุ่มชื้นที่เหมาะสม จะช่วยให้แผลหายเร็วกว่าและไม่ทิ้งรอยแผลเป็น

การหายของแผลจะแตกต่างกัน กล่าวคือ การหายของแผลโดยวิธีการดูแลแผลแบบให้ความชุ่มชื้น จะไม่มีสะเก็ดแผลเกิดขึ้นเหมือนวิธีการดูแลแผลแบบแห้ง  เนื้อเยื่อแผลจะมีสีแดงสด และมีการงอกขยายและเคลื่อนที่ของเซลล์มาสมานแผลได้เร็วกว่า

ทำแผล

ชนิดของบาดแผล

บาดแผล คือ การบาดเจ็บทุกชนิดที่ก่อให้เกิดการแตกสลายของผิวหนัง หรือเยื่อบุส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมทั้งการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นแก่เนื้อเยื่อที่อยู่ส่วนล่างลงไปจากผิวหนัง โดยการเกิดแผลจะหมายความรวมถึงทั้งกรณีมีเลือดไหลออกมา และ ไม่ไหลออกมา แต่คั่งอยู่ใต้ผิวหนัง

ผิวหนังเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคจากภายนอกเข้าสู่ร่างกาย ผิวหนังจะประกอบด้วยกัน 3 ชั้น ดังนี้

  • ชั้นหนังกำพร้า (epidermis)
  • ชั้นหนังแท้ (dermis)
  • ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง ( subcutaneous fat)

เราสามารถจำแนกชนิดของบาดแผลตามลักษณะการทำลายผิวหนัง ได้ดังนี้

  1. แผลปิด (closed wound) หมายถึง บาดแผลที่ผิวหนังหรือเยื่อบุไม่ฉีกขาดออกจากกัน แต่เนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ มักเกิดจากของไม่มีคม แบ่งเป็น
  • แผลฟกช้ำ (contusion/bruise) เป็นการฉีกขาดของกล้ามเนื้อใต้ผิวหนัง พบรอยฟกช้ำ เส้นเลือดแตก เลือดออกแทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อ อาจรวมเป็นก้อนเลือด หากก้อนเล็กร่างกายสามารถดูดซึมเลือดที่คั่งให้หายไปได้เอง
  • แผลกระทบกระเทือน(concussion) เป็นแผลที่มีการกระทบกระเทือนระบบประสาท
  • แผลแตก (rupture) เป็นการแตก ฉีกขาดของอวัยวะภายในร่างกาย
  • แผลผ่าตัด (surgical incision) เป็นแผลที่ขอบเรียบ กล้ามเนื้อและผิวหนังถูกเย็บปิด

แผลปิด

  1. แผลเปิด (opened wound) หมายถึงแผลที่มีการฉีกขาดหรือทำลายผิวหนังให้แยกออกจากกัน แบ่งเป็น
  • แผลถลอก(abrasion wound) เป็นแผลที่มีการทำลายของผิวหนังชั้นนอก มีเลือดซึมออกเล็กน้อย
  • แผลฉีกขาด (laceration wound) ลักษณะของผิวหนังบริเวณขอบแผลที่ฉีกขาดจะกะรุ่งกะริ่ง และมีการทำลายของเนื้อเยื่อมาก แผลอาจลึก เสี่ยงต่อการติดเชื้อ สาเหตุเกิดจากของมีคมหรือไม่มีคมก็ได้
  • แผลตัด (incision wound/cut wound) เป็นแผลที่เกิดจากวัตถุมีคม ขอบแผลเรียบ แต่มีการฉีกขาดของเส้นเลือด เช่น แผลถูกมีดบาด
  • แผลทะลุ (penetration wound) เป็นแผลที่มีความลึกมากว่าความกว้าง และความนยาว ได้แก่แผลถูกแทงด้วยของแหลม แผลถูกยิง
  • แผลที่มีเนื้อเยื่อขาดหรือหลุดออกจากร่างกาย (avulsion wound) เป็นแผลที่มีการตัดขาดของเส้นเลือดเส้นประสาทร่วมด้วย แผลชนิดนี้ทำให้เสียเลือดมาก และมักมีการปนเปื้อนเชื้อมาก
  • แผลถูกระเบิด (explosive wound) เป็นบาดแผลถูกสะเก็ดระเบิด

แผลเปิด

เหตุผลที่การรักษาของแผลให้ชุ่มชื้นทำให้แผลหายเร็วกว่า

การดูแลบาดแผลให้อยู่ในสภาวะชุ่มชื้นที่เหมาะสม จะช่วยให้แผลหายเร็วกว่าและไม่ทิ้งรอยแผลเป็น

  1. สภาพความชุ่มชื้นจะทำให้แผลมีอุณหภูมิที่ใกล้เคียงกับร่างกาย ทำให้เซลล์ผิวหนังแบ่งตัวได้เต็มที่
  2. มีการเคลื่อนที่ของเซลล์ผิวหนังเพื่อให้เกิดการสมานแผลทำได้ง่ายขึ้น เนื่องจากไม่มีสะเก็ดแผลเป็นตัวขัดขวางการหายของแผลเหมือนในสภาพแผลแห้ง
  3. สภาพความชุ่มชื้นที่มีน้ำเหลืองเคลือบอยู่บนแผลแบบพอเหมาะ จะช่วยให้มีการงอกขยายตัวของเซลล์เกิดขึ้นได้ดี เพราะในน้ำเหลืองมีสารอาหารและอากาศที่ช่วยส่งเสริมการแบ่งตัวของเซลล์
  4. เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ปกป้องเซลล์และทำลายเชื้อโรคอยู่บริเวณแผลสามารถทำหน้าที่และมีชีวิตอยู่ได้นานกว่าในสภาพแบบแผลแห้ง เพราะในน้ำเหลืองมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของเม็ดเลือดขาว
  5. ปลายประสาทรับความรู้สึกบริเวณแผลที่แช่อยู่ในน้ำเหลืองในสภาพแผลชุ่มชื้น จะช่วยลดความรู้สึกเจ็บปวดที่แผลได้ดีกว่า เพราะไม่สัมผัสอากาศโดยตรง
หัวข้อที่ 3

กระบวนการหายของแผล (Phase of wound healing)

กระบวนการหายของแผลแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้

1.ระยะการอักเสบ (Inflamatory phase)

เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นทันทีหลังมีบาดแผล ร่างกายจะเกิดกระบวนการห้ามเลือด (platelet coagulation) โดยเกล็ดเลือดจะมารวมตัวกันบริเวณบาดแผล และเกล็ดเลือดจะกระตุ้นให้เม็ดเลือดขาว (macrophage) มารวมตัวกันที่บาดแผล โดยเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคแบคทีเรีย ไวรัส และเซลล์ที่ตายแล้ว ซึ่งถ้ามีจำนวนมากจะระบายออกสู่ภายนอกในลักษณะหนอง
ระยะนี้แผลจะมีลักษณะ ปวด บวม แดง ร้อน ซึ่งเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือดและสารเคมีที่เม็ดเลือดขาวหลั่งออกมา เช่น ฮีสตามีน (histamine) พรอสตาแกลนดิน (plostaglandin)  แผลจะอยู่ในระยะนี้ 2-3 วัน

บาดแผลระยะเริ่มต้น
บาดแผลระยะที่1

2.ระยะการสร้างเนื้อเยื่อ (Proliferative phase)

จะเริ่มเกิดขึ้นในวันที่ 4-12 หลังจากเกิดบาดแผล เป็นช่วงที่มีการสร้างเนื้อเยื่อใหม่ทดแทนเซลล์ที่ตายไปแล้ว ซึ่งจะประกอบด้วย คอลลาเจน หลอดเลือดฝอย เส้นใย และ เซลล์อักเสบ
ระยะนี้แผล จะมีลักษณะเป็นสีแดงสด เป็นมัน คอลลาเจนจะเป็นตัวช่วยยึดขอบแผลให้ติดกันและทำให้แผลหายเร็วขึ้น
ระยะนี้ร่างกายต้องการสารอาหารที่มีประโยชน์เพื่อช่วยในการหายของแผล หากช่วงนี้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จะทำให้กระบวนการนี้ใช้เวลานานขึ้น แผลจะหายช้ากว่าที่ควรจะเป็น

กระบวนการหายของแผล
กระบวนการหายของแผล

3.ระยะจัดเรียงเนื้อเยื่อ (Remodeling phase)

เป็นระยะสุดท้ายของการหายของแผล ใช้เวลานานที่สุด 6 เดือน-1 ปี ในขั้นตอนนี้จะมีการปรับโครงสร้างจัดเรียงคอลลาเจนใหม่ เพื่อให้แผลมีความแข็งแรงขึ้น

ขั้นตอนการหายของแผล

สนใจเกี่ยวกับกระบวนการหายของแผลอย่างละเอียด แนะนำอ่านเพิ่มเติมที่ : แนวทางการรักษาแผลคีลอยด์ในปัจจุบัน

การหายของแผล (Wound healing)

เมื่อร่างกายเกิดบาดแผลขึ้น โดยธรรมชาติร่างกายจะมีกลไกทำให้เกิดการหายของแผล ซึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการหายของแผล ได้แก่ อายุ ความอ้วน โรคประจำตัว ภาวะโภชนการ ระบบไหลเวียนเลือด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การสูบบุหรี่ และความเครียด
การหายของแผล มี 3 ลักษณะ

1.การหายแบบปฐมภูมิ

เป็นการหายของแผลที่เกิดจากการซ่อมแซมผิวหนังบริเวณปากแผลอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดรอยแผลเป็นน้อยมาก

แผลที่หายดีแล้ว

2.การหายแบบทุติยภูมิ

เป็นการหายของแผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเคมี เช่น มีการทำลายเนื้อเยื่อคอลลาเจน มีการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อมากเกินความจำเป็น ซึ่งทำให้เกิดรอยแผลเป็นชัดเจน

แผลเป็น

3.การหายแบบตติยภูมิ

เป็นการหายของแผลที่มีการติดเชื้อเกิดขึ้น การหายเกิดขึ้นหลังการกำจัดการติดเชื้อ การเกิดรอยแผลเป็นชัดเจนมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับการดูแลแผล

หลักการรักษาแผลที่ถูกต้อง

การดูแลแผลที่ถูกต้องตามหลักการรักษาความชุ่มชื้นให้แผล มีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  1. ล้างแผลให้สะอาดด้วยน้ำเกลือล้างแผล หากมีสิ่งสกปรก เศษหิน ดิน ต้องดำออกจากแผลให้หมด มิฉะนั้นจะเกิดรอยดำในแผลเมื่อแผลหาย
    และหากเป็นแผลติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ควรใส่ยาฆ่าเชื้อ และให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
  2. เช็ดรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ เพื่อเช็ดเอาคราบไขมันออกซึ่งจะทำให้วัสดุปิดแผลยึดติดผิวหนังได้ดีขึ้น
  3. ปิดแผลด้วยวัสดุปิดแผลที่เหมาะสม ควรเป็นวัสดุปิดแผลที่ให้ความชุ่มชื้นกับแผล เช่น แผ่นไฮโดรเจล
  4. ควบคุมการติดเชื้อ หากแผลมีการติดเชื้อ ให้พบแพทย์หรือเภสัชกรทันที เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่แผลโดยเร็วที่สุด
  5. การกำจัดเนื้อตาย เนื้อตายจะมี 2 สี สีเหลือง เรียกว่า slough สีดำ เรียกว่า eschar ซึ่งเป็นตัวขัดขวางการหายของแผล หากพบเนื้อตายที่เป็นสีเหลือง slough สามารถกำจัดเองได้โดยการใช้เจลกำจัดเนื้อตายที่มีจำหน่ายตามร้านยาทั่วไป เช่น DUODERM GEL™ , INTRASITE GEL™
    เจลเหล่านี้จะทำให้เนื้อตายนิ่มลงและหลุดออกได้เองโดยขบวนการกำจัดเนื้อตายของร่างกาย แผลที่มีเนื้อตาย

6. การควบคุมความชุ่มชื้นให้แผล โดยเลือกใช้วัสดุปิดแผลรุ่นใหม่ที่มีการพัฒนา เช่น Innaqua® ซึ่งนอกจากจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นแล้ว ยังช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็นอีกด้วย

7. พิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักในแผลที่มีความเสี่ยง โดยถ้าฉีดครบ 3 เข็มจะป้องกันโรคได้นาน 10 ปี และ ถ้าได้ฉีดกระตุ้นด้วย จะอยู่ได้นานเกินกว่า 10 ปี

วัสดุปิดแผลที่ให้ความชุ่มชื้นแก่บาดแผล

โดยทั่วไปจะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • ดูดซึมและเก็บกักสารคัดหลั่ง(exudate) ที่ออกมาจากแผลได้
  • ไม่ทิ้งเศษวัสดุตกค้างภายในแผล
  • น้ำสามารถซึมผ่านออกมาได้
  • ไม่ทำให้เกิดการบาดเจ็บเมื่อทำการเปลี่ยนวัสดุปิดแผล
  • ไม่ต้องทำแผลบ่อย
  • ลดความเจ็บปวดให้ผู้ป่วย
  • กระตุ้นการหายของแผล

ในปัจจุบันที่มีจำหน่ายตามร้านยา ได้แก่

1.พลาสเตอร์ฟิล์มใส

มีความบาง ยืดหยุ่นได้ดี มีคุณสมบัติยอมให้อากาศและความชื้นผ่านเข้า-ออกได้ ทำให้ผิวหนังใต้แผ่นฟิล์มไม่หมักหมม ให้ความชุ่มชื้นแก่แผลได้ดี ใช้ปิดกับแผลได้โดยตรง นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันน้ำและเชื้อโรคได้อีกด้วย

2.พลาสเตอร์ไฮโดรคอลลอยด์และโฮโดรเซลลูลาร์

เป็นแผ่นปิดแผลเพื่อดูดซับน้ำเหลืองและป้องกันการติดเชื้อ มีความหนาประมาณ 2-3 มิลลิเมตร ทำจากโฟมโพลียูริเทรน ไฮโดรเจลไบโอเซลลูโลส เหมาะสำหรับแผลที่มีการสูญเสียเนื้อเยื่อจำนวนมาก  ถ้าใช้กับแผลติดเชื้อ ต้องได้รับการดูแลภายใต้มาตรฐานแผลติดเชื้อ

3. ก๊อซสังเคราะห์ชนิดไม่ติดแผล

เป็นแผ่นปิดแผลที่ดูดซับของเหลวได้ดี หรือ แผ่นฟิล์มเคลือบขี้ผึ้งป้องกันการติดแผล เช่น Bactigras

 

4. เจลใส่แผลกำจัดเนื้อตาย

เป็นเจลใสประกอบด้วยโพลิเมอร์ของแป้งและน้ำ การล้างเจลออกทำได้โดยการใช้น้ำเกลือชะล้างลงไปบนบาดแผล กรณีที่แผลมีเนื้อตายอยู่ควรเปลี่ยนเจลทุกวัน แต่หากเป็นแผลที่ไม่มีเนื้อตาย สามารถทิ้งช่วงของการทำแผลได้นานขึ้น แต่ไม่ควรเกิน 3 วัน

เจลที่ใช้กำจัดเนื้อตาย ที่เป็นที่นิยมใช้และจำหน่ายอยู่ตามร้านยา ได้แก ดูโอเดิมเจล,อินทราไซต์เจล

สรุป

เป้าหมายหลักของการดูแลแผลคือ ทำให้แผลหายเร็วที่สุด เพื่อลดผลไม่พึงประสงค์ เช่น แผลเป็น หรือการติดเชื้อ   ดังนั้นการเลือกใช้วัสดุในการทำแผลให้เหมาะสมกับสภาวะของบาดแผล มีความสำคัญมาก เพราะวัสดุปิดแผลสมัยใหม่จะมีราคาค่อนข้างสูงพอสมควร แต่ให้ประโยชน์คุ้มค่า ถ้าเราใช้อย่างถูกวิธี

เอกสารอ้างอิง

  1. ภก. สมบัติ แก้วจินดา, ศ.เกียรติคุณ นพ.จอมจักร จันทรสกุล, นพ. ธรรมนูญ พนมธรรม และ นพ.สมบูรณื ทรัพย์วงศ์เจรฺญ : สาระน่ารู้เรื่องแผล
  2. ภก.กิติยศ ยศสมบัติ : กระบวนการหายของแผล
  3. กิรนา สีนิล, การดูแลแผลขั้นสูง , ปีที่ 22 ฉบับที่ 1 ,พศ.2563 หน้า 105-115
  4. นพ.อรรถ นิติพน และ พญ.สุธาทิพย์ เวชวิทย์วรากุล  ุศูนย์การรักษาแผล : bangkokhospital.com/center-clinic/surgery/wound-care-clinic?info=overview
  5. ผศ.ทพญ. สุมิตร พงษ์ศิริ, บาดแผลและการหายของบาดแผล 

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า