ไอ ..... ใช้ยาอะไรดี
บุคคลส่วนใหญ่เข้าใจว่า “ไอ” เป็นสิ่งที่ไม่ดี การไอมีประโยชน์ เพราะ เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน เกสรดอกไม้ อากาศที่แห้ง การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของอุณหภูมิ มีการติดเชื้อในทางเดินหายใจ สูดแก๊สที่มีฤทธิ์ระคายเคือง เป็นต้น ซึ่งสาเหตุเหล่านี้มักทำให้เกิด การไอแบบเฉียบพลัน (มีระยะเวลาของอาการไอน้อยกว่า 3 สัปดาห์)
แต่ถ้าเกิดการไอเรื้อรัง (มีระยะเวลาของอาการไอมากกว่า 3 สัปดาห์ ถึง 8 สัปดาห์) บ่งบอกว่าอาจมีพยาธิสภาพบางอย่างในทางเดินหายใจ เช่น โรควัณโรคปอด โรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง สายเสียงอักเสบเรื้อรัง หรืออาจมีพยาธิสภาพที่ร้ายแรงกว่านั้น คือ ปอดอักเสบ มีเนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียงหรือหลอดลม โรคของสมองอาจเป็นผลจากการรับประทานยาบางชนิดเช่น ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACEI (angiotensin-converting-enzyme inhibitor)
ผลเสียของการไอคือ รบกวนการนอนหลับ/การทำงาน ทำให้อ่อนเพลีย-หมดแรง ปวดศีรษะ ถ้าเด็กติดเชื้อไอกรน อาจไอมากจนหยุดหายใจได้ การไออย่างรุนแรง อาจส่งผลให้กระดูกอ่อนซี่โครงหัก หรือทำให้ถุงลมหรือเส้นเลือดฝอยในปอดแตก แผลที่เพิ่งหายปริ และอาจทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การไอแบ่งเป็น 2 แบบ คือ
- ไอมีเสมหะ
- ไอไม่มีเสมหะ
ยาบรรเทาอาการไอ
-
ชนิดที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการไอ (Antitussive)
เป็นยาที่กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง แม้ว่ายา กลุ่มนี้จะมีประสิทธิภาพดีในการทำให้อาการไอลดลง แต่ยาบางตัวในกลุ่มนี้ เมื่อใช้ติดต่อกันนานๆจะทำให้เสพติดได้ เช่น codeine, hydrocodone dextromethophan
อาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา dextromethophan เนื่องจากยามีฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงนอน
สำหรับเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 4 ปี) ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้บรรเทาอาการไอ ห้ามใช้ยานี้ในคนที่ไอมีเสมหะเหนียว เพราะจะทำให้เสมหะเหนียวข้นและเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจ ทำให้เป็นอันตรายได้ ยากลุ่มนี้จึงใช้ในกรณีของการไอที่ไม่มีเสมหะ แต่ยานี้ ไม่สามารถใช้รักษาอาการไอจากการสูบบุหรี่ ไอจากโรคหืด หรือไอจากถุงลมโป่งพอง
2.ชนิดที่มีฤทธิ์ขับเสมหะเสมหะ
ยากลุ่มนี้เป็นยาแก้ไอที่ใช้กันมานาน ยาจะไปทำให้เกิดการระคายกระเพาะอาหาร แล้วส่งผลให้เพิ่มการสร้างสารหลั่งที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบ จึงทำให้เสมหะที่เดิมมีความเหนียวข้น ถูกสารน้ำทำให้มีความหนืดลดลง ยาในกลุ่มนี้ เช่น Guaifenesin, ammonium chloride, ammonia, senega, sodium citrate, ipecacuanh อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากยา คือ คลื้นไส้ อาเจียน ปั่นป่วนไม่สบายกระเพาะอาหาร
3.ชนิดที่มีฤทธิ์ละลายเสมหะ
ยากลุ่มนี้ไปทำลายโครงสร้างของเสมหะส่วนที่ทำให้เสมหะเหนียว ตัวอย่างของยาละลายเสมหะ คือ acetylcysteine , carbocisteine, erdosteine, bromhexine
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ถ้าอาการไอเกิดร่วมกับ ไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ แสดงว่ามีการติดเชื้อร่วมด้วย ต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพ จึงจะได้ผล และมีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ต้องรีบไปพบแพทย์
หากหลังจากรับประทานยาแก้ไอแล้ว 2 สัปดาห์ อาการไอยังไม่บรรเทาลง ต้องไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยว่า มีความผิดปกติอะไรแฝงอยู่หรือไม่