รู้จักรางจืด
รางจืด เป็นพืชสมุนไพรที่อยู่ในวงศ์เหงือกปลาหมอ (Acanthaceae) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า "Thunbergia laurifolia Lindl." และยังมีอีกหลายชื่อ เช่น กำลังช้างเผือก ขอบชะนาง
ยาเขียว น้ำแน่ รางเย็น ดุเหว่า ทิดพุด น้ำนอง
สารสำคัญในรางจืด : สารสำคัญที่พบในรางจืดประกอบด้วย
- กลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenol) ได้แก่ กรดฟีนอลิค (Phenolic acid) เช่น Gallic acid และ Caffeic acid ซึ่งมีฤทธิ์อนุมูลอิสระ protocatechuic acid
- กลุ่มฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ได้แก่ apigenin และ apigenin glucoside โดยเฉพาะ apigenin ซึ่งเป็นสารสำคัญในรางจืดที่สามารถยับยั้งพิษของสารหนู
สรรพคุณของรางจืดที่อาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
-บำบัดอาการติดยาเสพติด : รางจืดเป็นสมุนไพรอีกชนิดที่นิยมใช้รักษาอาการติดสุราและสารเสพติดต่าง ๆ มีงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากรางจืดช่วยกระตุ้นการปล่อยสารโดปามีน ซึ่งเป็นสารกระตุ้นประสาท เช่นเดียวกับยาเสพติด แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า
ด้วยผลการวิจัยที่พบว่ารางจืดมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งสารโดปามีนในสมอง ซึ่งเป็นกลไกที่มีบทบาทต่อการติดยา จึงมีการศึกษาพิสูจน์ว่าการบำบัดอาการติดยาด้วยรางจืดเป็นระยะเวลานานนั้นทำให้เสพติดเช่นเดียวกับการใช้ยาเสพติดหรือไม่ พบว่าการได้รับสารสกัดรางจืดไม่มีอาการเสพติดแสดงให้เห็น รางจืดจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับการบำบัดการติดยาเสพติด
นอกจากนี้ ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากการดื่มเหล้าได้อีกด้วย โดยจากการศึกษาพบเพิ่มเติมอีกว่า รางจืด มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยรางจืดจะมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ทำให้ผู้ป่วยสามารถค่อยๆ ถอนพิษสุราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าการหักดิบ งดสุราเลยทันทีซึ่งจะส่งผลไม่ดีต่อผู้ป่วยโดยตรง
-ช่วยรักษาโรคผิวหนัง :ในปัจจุบัน ได้มีการยืนยันจากรายงานการศึกษาที่ระบุว่า รางจืด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและสามารถต้านไวรัสโรคเริมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ได้มีการออกมาสนับสนุนให้มีการใช้รางจืดในการรักษาผดผื่นคัน เริม งูสวัด หรืออาการผิวหนังอักเสบอื่นๆ
ข้อแนะนำในการใช้รางจืดสำหรับล้างพิษ : เพื่อการล้างพิษควรรับประทานติดต่อกัน 7 - 10 วัน
ข้อควรระวัง :
ไม่ควรดื่มน้ำที่คั้นจากรางจืดนานติดต่อกันเกิน 30 วัน
หลักการรับประทานอย่างถูกต้องปลอดภัย :
เมื่อสรรพคุณของรางจืด คือ ยาถอนพิษ ตามคำแนะนำของแพทย์แผนไทยควรดื่มในความเข้มข้นน้อย และหลีกเลี่ยงการดื่มติดต่อกันทุกวัน ส่วนในกลุ่มที่รับประทานรางจืดแบบสกัดออกมาเป็นผงแคปซูล ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนาน 1 เดือน
หากมีโรคประจำตัว ก็ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันหรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาจากยาตีกัน
วิธีการรับประทาน :
-กรณียาชง รับประทานครั้งละ 2 - 3 กรัม โดยชงกับน้ำร้อน 100-200 ซีซี วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารหรือเมื่อมีอาการ
-นำใบรางจืดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไปจำนวน 5-7 ใบ โขลกให้ละเอียดผสมกับน้ำดื่ม หรือน้ำซาวข้าว จำนวน 250 ซีซี หรือคั้นน้ำรางจืด ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานเมื่อมีอาการ
-นำรากที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ขนาดรากเท่านิ้วก้อย ตัดความยาวเท่าที่มือจับ โขลกหรือฝนผสมกับน้ำสะอาด หรือน้ำซาวข้าว รับประทานครั้งละ 1 แก้ว (250 ซีซี) วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานเมื่อมีอาการ