ท้องอืด

แสดง %d รายการ

ยาแก้ปวดท้อง

ปวดท้องส่วนบน บริเวณเหนือสะดือมักเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ตับ ถุงน้ำดี ม้าม ตับอ่อน ปวดท้องส่วนล่างบริเวณต่ำกว่าสะดือจะเกี่ยวข้องกับลำไส้ ไต มดลูก

 


ยาลดกรด

ยาลดกรด

สำหรับคนที่มีนิสัยรับประทานรสจัด รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ชอบรับประทานกาแฟรับประทานยาแก้ปวดชนิดกัดกระเพาะตอนท้องว่างอยู่บ่อยๆ สูบบุหรี่ดื่มน้ำอัดลม มีความเครียดสะสมวิตกกังวลเป็นประจำ อาการหนึ่งที่คนกลุ่มนี้มักจะพบ คือ อาการปวดท้องจากกรดเกินที่กระเพาะอาหาร

ซึ่งอาจนำไปสู่โรคแผลในกระเพาะอาหาร แผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น หรือกรดไหลย้อนได้ในอนาคต โดยยาที่ใช้บรรเทาอาการดังกล่าว หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นยาในกลุ่ม “ยาลดกรด”

ยาลดกรดออกฤทธิ์อย่างไร

กลไกในการออกฤทธิ์ของยาลดกรดคือการนำความเป็นด่างของยาสะเทินกับกรดในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เพื่อลดความเป็นกรด เมื่อความเป็นกรดลดลงการกัดกร่อนของกรดที่จะทำให้เกิดแผลหรือการทำให้แผลที่มีอยู่ระคายเคืองจึงลดลงและให้ผลในการบรรเทาอาการ

ชนิดของยาดกรด
ยาลดกรดที่มีในท้องตลาดมีหลากหลายชนิดซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติเด่นและด้อยแตกต่างกันออกไป ดังนี้

  1. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide, AlOH3)
  2. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide, MgOH2)  แมกนีเซียมไตรซิลิเกต (magnesium trisilicate) หรือแมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium  carbonate, MgCO3)

ยาสองชนิดนี้มักใช้เป็นสูตรผสมคู่กัน โดยจัดเป็นยาลดกรดที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้น้อย ออกฤทธิ์เฉพาะที่กระเพาะอาหารจึงไม่รบกวนสมดุลกรด-ด่างในร่างกาย โดยอลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์มีผลทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ดังนั้นเมื่อใช้เป็นสูตรผสมรับประทานร่วมกันจึงมีผลต่อระบบขับถ่ายน้อย

อลูมิเนียมไฮดรอกไซด์อาจนำมาใช้ในการลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดในผู้ป่วยโรคไตในขณะที่แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคไต ดังนั้นยาที่เป็นสูตรผสมของยาสองชนิดนี้จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไต ยาในกลุ่มนี้เช่น แอนตาซิล (Antacil) มาล็อกซ์ (Maalox) อะลัมมิลค์ (Alum milk)

3. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบโซเดียมไบคาร์บอเนต (sodium bicarbonate, NaHCO3) หรือโซดามินท์ (sodamint) โซเดียมไบคาร์บอเนตเป็นยาลดกรดชนิดออกฤทธิ์เร็ว แต่มีฤทธิ์ในการรักษาสั้น

 

การใช้ยานี้สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ คุณสมบัติของยาที่สามารถดูดซึมผ่านกระเพาะอาหารเข้าสู่กระแสเลือดได้จึงอาจทำให้เลือดและปัสสาวะเกิดสภาวะเป็นด่างมากกว่าปกติ รวมไปถึงการมีโซเดียมมากเกิดในกระแสเลือดได้ จึงเหมาะที่จะใช้ในการบรรเทาอาการกรดเกินหรือการระคายเคืองทางเดินอาหารเมื่ออาการกำเริบ แต่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำเพื่อควบคุมภาวะความเป็นกรด

นอกจากยานี้จะใช้ในการลดกรดในทางเดินอาหารแล้ว ยังอาจพบการใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตในการควบคุมความสภาวะความเป็นกรดในเลือดในผู้ป่วยโรคไตอีกด้วย ยาในกลุ่มนี้ เช่น อีโน (ENO)

4. ยาที่มีส่วนผสมของสารประกอบแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate, CaCO3) แคลเซียมคาร์บอเนตให้ฤทธิ์ในการรักษาและออกฤทธิ์ได้เร็วระดับปานกลาง ยานี้อาจมีผลทำให้ท้องผูกได้

ยาที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพของยาลดกรด

นอกจากตัวยาที่มีฤทธิ์ในการลดกรดแล้ว ยาที่วางขายในท้องตลาดมักผสมตัวยาชนิดอื่นเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาและบรรเทาอาการอันเนื่องมาจากกรดอีกด้วย ยาดังกล่าว ได้แก่

1. ไซเม็ททิโคน (simethicone) หรือไดเมทิลโพลีไซโลเซน (dimethyl polysiloxane, MPS)   เป็นสารลดแรงตึงผิวที่ทำให้ฟองและแก๊สในกระเพาะอาหารสามารถระบายออกจากอาหารที่กำลังถูกย่อยได้ จึงใช้บรรเทาอาการท้องอืด เนื่องจากมีแก๊สมากในกระเพาะและลำไส้ ยาในกลุ่มนี้เช่น แอร์เอ็กซ์ (Air-X)

2. บิสมัท ซับซาลิไซเลต (bismuth subsalicylate)  เป็นยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในการรักษาการติดเชื้อที่ทำให้เกิดภาวะกรดเกินในกระเพาะอาหารโดยตัวยามีความสามารถในการลดกรดอย่างอ่อนๆ ยาในกลุ่มนี้เช่น แกสโตร-บิสมอล (Gastro-bismol)

3. กรดอัลจินิก (algenic acid) หรือ โซเดียมแอลจิเนต (sodium alginate)เป็นสารกลุ่มเดียวกับแป้งที่เมื่อสัมผัสกับกรดจะพองตัวเป็นเจลที่มีความสามารถในการจับกับแก๊ส คาร์บอนไดออกไซด์เกิดเป็นโฟม โดยโฟมที่เกิดขึ้นจะมีความหนืดและลอยตัวเป็นแพอยู่บนผิวของอาหาร ที่ถูกย่อยอยู่ในกระเพาะอาหาร ยาจึงช่วยลดการระเหยของไอกรดไปที่ยังหลอดอาหาร ลดการระคาย เคืองจากกรดในกระเพาะ มักใช้ร่วมกับยาลดกรดประเภทโซเดียมไบคาร์บอเนต ยาในกลุ่มนี้เช่น กาวิสคอน (Gaviscon)

หมายเหตุ  Gaviscon เป็นยาที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไบคาร์บอเนต แคลเซียมคาร์บอเนต และโซเดียมแอลจิเนต โดย Gaviscon dual action จะมีปริมาณตัวยาที่ใช้ในการลดกรดมากกว่า Gaviscon สูตรปกติ

อาการปวดท้อง

การบรรเทาอาการปวดท้องด้วยยา

  1. อาการปวดท้องหลังรับประทานอาหาร
    หากเป็นการปวดท้องหลังรับประทานอาหารได้สักครู่ อาจเป็นไปได้ว่า อาการปวดท้องนั้นเกิดจากกรดเกินในกระเพาะอาหาร

ยาที่บรรเทาอาการกรดเกิน คือ ยากลุ่มยาลดกรด ที่จะช่วยสะเทินกรดในกระเพาะให้อยู่ในสภาวะกรดด่างที่เป็นกลาง  และไม่ควรใช้ยาลดกรดต่อเนื่องนานเกิน 2 สัปดาห์

หากเป็นการปวดท้องที่เกิดจากความรู้สึกท้องอืด แน่นท้องเหมือนมีลมอยู่ในท้อง ยากลุ่มไซเมธิโคน(simethicone) จะช่วยลดแรงตึงผิวของแก๊ส ทำให้แก๊สที่รวมตัวกันในท้องกระจายตัวจากแรงบีบของกระเพาะอาหารและขับออกง่ายขึ้น โดยปกติไม่ค่อยพบอาการข้างเคียงของการใช้ยาในกลุ่มนี้

2.อาการปวดท้องจากท้องผูก
การสะสมของอุจจาระในทางเดินอาหารอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการปวดท้องได้  ยาที่ใช้สำหรับอาการท้องผูกคือกลุ่มยาระบาย (laxative) ซึ่งมีหลายกลุ่มตามกลไกการออกฤทธิ์

ยาที่ค่อนข้างปลอดภัยในการใช้คือ ยาระบายกลุ่ม bulk laxative ซึ่งเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับบรรเทาอาการท้องผูกในขั้นต้น เนื่องจากยาไม่ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายและมีผลข้างเคียงของการใช้ยาต่ำ สามารถใช้ยาได้ในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ยาจะช่วยให้เกิดการดูดน้ำในลำไส้และขับอุจจาระออกมาได้ง่ายขึ้น ยาในกลุ่มนี้เช่น มูซิลิน (mucilin)

ไม่ควรใช้ยาระบายกลุ่มกระตุ้นระบบทางเดินอาหาร (stimulant) เช่น เซนนา (senna) มะขามแขก น้ำมันละหุ่ง ไบซะโคดิล (bisacodyl) เมื่อท้องผูกที่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย

3. อาการปวดท้องจากการติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เชื้อที่ติดมีความแตกต่างกันในแต่ละแหล่งที่มาของโรค ดังนั้นแล้วหากอาการปวดท้องมีอาการท้องเสียร่วมด้วย

 

สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำคือการรับประทานเกลือแร่ชนิดผงผสมน้ำสำหรับอาการท้องเสียเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่

ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะหรือยาหยุดถ่ายมารับประทานเพื่อรักษาอาการด้วยตัวเอง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อให้คำแนะนำในการรักษาอย่างเหมาะสม ถ้าหากมีอาการเหลวถ่ายเป็นเลือดควรปรึกษาแพทย์ทันที

สาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดอาการปวดท้อง

  •  การอักเสบของระบบอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ
  • เลือดเป็นกรดจากกรดแลคติก (lactic acidosis) หรือแบบเรื้อรัง เช่น
  • กระเพาะอาหารอักเสบ แผลในกระเพาะอาหาร
  • โรคกรดไหลย้อน
  • ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome)
  • ซิสที่รังไข่
  • เกิดก้อนนิ่ว

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

  • อาการปวดท้องอย่างรุนแรง
  • มีไข้
  • ท้องเสีย หรือท้องผูกต่อเนื่อง
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • คลื่นไส้ อาเจียนต่อเนื่อง อาเจียนเป็นเลือด
  • น้ำหนักลด
  • ผิวเหลืองต่างจากสีผิวปกติ (สัญญาณบ่งบอกของดีซ่าน)
  • มีอาการเจ็บรุนแรงเมื่อเอามือกดที่ช่องท้อง ท้องโตกว่าปกติ

บทความล่าสุด

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า