อาการปวด จำแนกประเภทตามสาเหตุของอาการปวดแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1.Nociceptive pain
เป็นความปวดที่มีสาเหตุจากการบาดเจ็บและ/หรือมีการทําลายของเนื้อเยื่อ ส่วนใหญ่เป็นผลจากการที่มีพยาธิสภาพของโรค หรือการแพร่กระจายของโรคไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะภายใน เช่น ปวดกระดูก, เอ็นอักเสบ, กล้ามเนื้ออักเสบ ปวดจากก้อนมะเร็ง, ปวดจากลำไส้อุดตัน เป็นต้น
2. Neuropathic pain
การบาดเจ็บของเส้นประสาท ส่วนใหญ่มักจะเรื้อรัง neuropathic pain มีอาการปวดได้หลายลักษณะ เช่น ปวดเสียวแปลบเหมือนไฟช็อต แสบร้อน รู้สึกยิบๆคัน ชา
มาทำความรู้ยานวดบรรเทาปวดแบบร้อน-เย็น
1.ยานวดบรรเทาปวดแบบร้อน คือ ยานวดประเภทที่ทาแล้วรู้สึกร้อนวูบวาบตรงบริเวณที่ทา มีสารสำคัญที่เป็นสารออกฤทธิ์ อยู่สามตัวคือ
- เมทธิลซาลิไซเลท (Methyl Salicylate)
- เมนทอล (Menthol)
- ยูจีนอล (Eugenol)
ซึ่งสารทั้งสามตัวนั้น เป็นสารสำคัญที่มีคุณสมบัติในการลดอาการปวดเมื่อย กล้ามเนื้อ ลดอาการเจ็บปวดภายนอก ซึ่งยานวดสูตรร้อนจะมีสารเมทธิลซาลิไซเลทเป็นส่วนสำคัญในการออกฤทธิ์ต้านอักเสบ เมื่อถูกผิวจะทำให้ร้อนแดง และบรรเทาอาการปวดเมื่อยได้
ยานวดบรรเทาปวดแบบร้อน เหมาะกับอาการปวดแบบไม่กระทันหัน คือ เริ่มใช้หลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง ซึ่งอาจเกิดจากการปวดเรื้อรัง ปวดตึงกล้ามเนื้อ เนื่องจากยานวดบรรเทาปวดแบบร้อน จะทำให้หลอดเลือดขยายตัว จึงทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น และช่วยลดการวดตึงของกล้ามเนื้อ
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ไม่ทาบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออก เพราะจะยิ่งทำให้มีการอักเสบเพิ่มมากขึ้น จะทาได้ก็ต่อเมื่อการอักเสบน้อยลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากไม่มีอาการบวม แดง ร้อน
2.ยานวดบรรเทาปวดแบบเย็น คือ ยานวดประเภทที่ทาแล้วรู้สึกเย็นตรงบริเวณที่ทา มีเมนทอลเป็นสารสำคัญ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากการพลิกหรือเคล็ด การช้ำบวมจากการกระแทกหรือบาดเจ็บระหว่างการออกกำลังกาย
ยานวดบรรเทาปวดแบบเย็นเหมาะกับการบาดเจ็บแบบเฉียบพลัน คือ เริ่มใช้ภายใน 24-48 ชั่วโมง ร่วมกับมีอาการปวดบวม อักเสบ ควรเลือกใช้ยาบรรเทาอาการปวด แบบเย็น เพราะความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือกออกน้อยลง และช่วยลดกการปวดบวมได้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ไม่ทาบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออก และอย่าให้เข้าตาเช่นเดียวกันกับยานวดบรรเทาปวดแบบร้อน
การปฎิบัติตัวเมื่อเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ
ปวดเมื่อย (ไม่มีอาการอักเสบ)สามารถบรรเทาอาการด้วยการ “นวด” เพื่อให้กล้ามเนื้อได้ผ่อนคลายจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ แต่หากอาการปวดส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันก็สามารถใช้ “ยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ” แต่ก็ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง
ปวดล้าหรือระบมจากการออกกำลังกาย(มีการอักเสบ)
หากมีอาการอักเสบของกล้ามเนื้อไม่มาก ควรใช้ยา “บรรเทาอาการปวดอักเสบกล้ามเนื้อ” ชนิดสเปรย์ หรือ เจล เนื่องจากตัวยาจะซึมซับผ่านผิวหนัง และทำให้เราไม่ต้องสัมผัส หรือนวดบริเวณที่มีการอักเสบโดยตรง เพื่อลดความเสี่ยงที่จะมีการอักเสบเพิ่ม
รู้ได้อย่างไรว่าจะต้องประคบร้อนหรือเย็น
การประคบร้อนหรือเย็นเป็นวิธีหนึ่งในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบ การจะเลือกใช้ความร้อนหรือเย็นนั้นมีข้อที่ต้องพิจารณาเบื้องต้น คือ
- ถ้าเกิดการบาดเจ็บเฉียบพลันร่วมกับมีการบวม ควรเลือกใช้ความเย็น เพราะความเย็นจะทำให้เส้นเลือดหดตัว ทำให้เลือดออกน้อยลงและช่วยลดบวมได้
- ถ้าเป็นการปวดแบบเป็นๆหายๆ มีอาการมานานหรือเรื้อรัง หรือปวดร่วมกับมีอาการตึงกล้ามเนื้อ ควรใช้ความร้อน เพราะความร้อนจะทำให้หลอดเลือดขยายตัว การไหลเวียนเลือดดีขึ้นจึงลดอาการปวดและตึงกล้ามเนื้อได้
ประคบเย็น เมื่อ...
หากมีอาการปวดหรือได้รับบาดเจ็บควรประคบด้วยน้ำแข็งหรือน้ำเย็นทันที (ภายใน 24-48 ชั่วโมง) ประคบนาน 20-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง อาการที่ควรประคบเย็น เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ ปวดบวมบริเวณอื่นๆ ที่เกิดจากการได้รับบาดเจ็บหรือเพิ่งมีอาการใหม่ๆ
อาจใช้เจลสำหรับประคบร้อนเย็นแบบสำเร็จรูปหรือทำถุงน้ำแข็งขึ้นใช้เอง โดยการใช้ถุงพลาสติกขนาดพอเหมาะแล้วเติมน้ำเปล่าผสมน้ำแข็งอย่างละครึ่งลงไปในถุง ตรวจสอบว่าไม่เย็นเกินไปโดยการนำมาประคบผิวหนัง ถ้าบริเวณที่มีอาการเป็นบริเวณมือ แขน ขา หรือเท้า อาจใช้การแช่ในภาชนะที่บรรจุน้ำเย็นแทน โดยแช่นานประมาณ 15-20 นาที
ประคบร้อน เมื่อ...
การประคบร้อนจะเริ่มใช้หลังจากมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง ให้ประคบครั้งละ 15-20 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดอาการปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ อาการที่ควรประคบร้อน เช่น ปวดตึงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลัง น่อง ปวดประจำเดือน อาจใช้เจลสำหรับประคบร้อนเย็นแบบสำเร็จรูป ใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรืออาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน โดยอุณหภูมิที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 45 องศาเซลเซียส
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ ไม่ควรประคบด้วยความร้อนที่มากเกินไป เพราะจะทำให้รู้สึกแสบร้อนบริเวณที่ประคบ ไม่ควรประคบนานหรือถี่เกินไป และต้องไม่ประคบร้อนในบริเวณที่มีบาดแผลเปิดหรือมีเลือดออก เพราะจะยิ่งทำให้มีการอักเสบเพิ่มมากขึ้น จะประคบร้อนได้ก็ต่อเมื่อการอักเสบน้อยลงแล้ว ซึ่งสังเกตได้จากไม่มีอาการบวม แดง ร้อน