มะรุม เป็นพืชพื้นบ้านที่มีประโยชน์มากมาย รับประทานได้แทบทุกส่วน เช่น ยอดอ่อน ใบ ฝัก ดอก เมล็ด ราก จึงไม่แปลกที่คนโบราณจะนำมาประกอบอาหาร
รู้จักมะรุม
มะรุม (Moringa) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Moringa oleifera Lam. เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปเอเชีย เจริญเติบโตได้ง่าย และทนทานต่อความแห้งแล้ง มีลำต้นตั้งตรงสีน้ำตาล มีกิ่งก้าน ใบรูปไข่ความยาวประมาณ 1-3 เซนติเมตร เรียงกันแบบสลับ ออกดอกสีขาวเป็นช่อในช่วงฤดูหนาว แต่บางพันธุ์ก็ออกดอกได้หลายครั้งในรอบปี ผลมีลักษณะเป็นฝักสีเขียว ยาวประมาณ 20-50 เซนติเมตร ฝักมีรสชาติหวาน เมล็ดรูปสามเหลี่ยมขนาดเล็ก
ข้อควรระวัง
- หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะจะทำให้เสี่ยงต่อการแท้งลูกได้สูง
- ผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเพราะอาจก่อให้เกิดผลเสียได้
- สำหรับผู้ที่รับประทานมะรุมต่อเนื่องเป็นเวลาควรตรวจการทำงานของตับ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายที่ใช้มะรุมติดต่อกันเป็นระยะเวลานานพบเอนไซม์เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นควรใส่ใจกับข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัยของตัวคุณด้วย ควรเลือกใบที่ไม่แก่หรือไม่อ่อนเกินไป รับประทานสดๆ และไม่ถูกความร้อนมากเกินไปเพื่อให้ได้ประโยชน์จากสารอาหารเต็มที่
มะรุมกับการลดระดับน้ำตาลในเลือด
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน และอาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ จึงจำเป็นต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป มีหลายการศึกษาชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมะรุมที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นโดยให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 10 คนรับประทานผงใบมะรุมชนิดแคปซูล พบว่าการรับประทานผงมะรุมชนิดแคปซูลขนาด 4 กรัมส่งผลให้อาสาสมัครมีการหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงแม้ว่าจะไม่พบความแตกต่างของค่าน้ำตาลเฉลี่ยในเลือดก็ตาม และจากผลการทดลองได้แนะนำว่าใบมะรุมอาจมีศักยภาพในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2
ความปลอดภัยของการรับประทานมะรุม
การรับประทานมะรุมทั้งส่วนใบ ฝัก และเมล็ดค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานเป็นอาหารในปริมาณที่เหมาะสม แต่ไม่ควรรับประทานรากและสารสกัดจากรากของต้นมะรุมเพราะอาจมีสารพิษซึ่งเป็นสาเหตุของอัมพาตหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยหากรับประทานมะรุมเพื่อเป็นยารักษาโรค
เนื่องจากสารเคมีที่อยู่ในราก เปลือก และดอกของมะรุมอาจไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ อาจทำให้มดลูกหดตัวและเป็นสาเหตุให้แท้ง อีกทั้งงานวิจัยบางชิ้นได้แนะนำว่าการรับประทานมะรุมในช่วงนี้อาจทำให้คุณแม่ผลิตน้ำนมออกมามาก แต่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับความปลอดภัยของการรับประทานมะรุมในช่วงนี้ ทางที่ดีจึงไม่ควรรับประทานมะรุมหากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร