เหงือกปลาหมอ
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น : แก้มหมอ (สตูล) , อีเกร็ง (ภาคกลาง) , แก้มหมอเล (กระบี่) , นางเกร็ง,จะเกร็ง ฯลฯ
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acanthus ebracteatus Vahl. (เหงือกปลาหมอดอกสีขาว) Acanthus ilicifolius L. var. ilicifolius (เหงือกปลาหมอดอกสีม่วง)
ชื่อสามัญ :Sea Holly.
วงศ์ : ACANTHACEAE
ถิ่นกำเนิดเหงือกปลาหมอ
เหงือกปลาหมอนับว่าเป็นสมุนไพรพื้นถิ่นของไทยเราเพราะมีประวัติในการนำมาใช้เป็นยาสมุนไพรมาตั้งแต่โบราณแล้ว ซึ่งเหงือกปลาหมอนี้เป็นพรรณไม้ที่มักขึ้นกลางแจ้งและมักจะพบมากในบริเวณป่าชายเลน หรือตามพื้นที่ชายน้ำริมฝั่งคลอง เจริญเติบโตได้ดีในที่ร่มและมีความชื้นสูง หรือในแถบที่ดินเค็มและไม่ชอบที่ดอน แถบภาคอีสารก็มีรายงายว่าปลูกได้เช่นกัน เหงือกปลาหมอ พบอยู่ 2 พันธุ์ คือ
- ชนิดดอกสีขาว Acanthus ebracteatus Vahl พบมากในภาคกลางและภาคตะวันออก
- ชนิดดอกสีม่วง Acanthus ilicifolius L. พบทางภาคใต้ อีกทั้งเหงือกปลาหมอยังเป็นพันธุ์ไม้ขึ้นชื่อของจังหวัดสมุทรปราการอีกด้วย
องค์ประกอบทางเคมี
ในใบพบสาร : alpha-amyrin , beta-amyrin , ursolic acid apigenin-7-O-beta-D-glucuronide ,methyl apigenin-7-O-beta-glucuronate campesterol, 28-isofucosterol, beta-sitosterol
ในรากพบสาร : benzoxazoline-2-one, daucosterol , octacosan-1-ol , stigmasterol
ทั้งต้นพบสาร : acanthicifoline , lupeol , oleanolic acid , quercetin , isoquercetin , trigon
ต้นทั้งสดและแห้ง - แก้แผลพุพอง น้ำเหลืองเสีย เป็นฝีบ่อยๆ
ใบ - เป็นยาประคบแก้ไขข้ออักเสบ แก้ปวดต่าง ๆ รักษาโรคผิวหนัง ขับน้ำเหลืองเสีย
ราก - ขับเสมหะ บำรุงประสาท แก้ไอ แก้หืด รักษามุตกิดระดูขาว
เมล็ด - ปิดพอกฝี ต้มดื่มแก้ไอ ขับพยาธิ ขับน้ำเหลืองเสีย
การศึกษาทางเภสัชวิทยา
- ฤทธิ์ลดการอักเสบ : มีการวิเคราะห์สารสำคัญของเหงือกปลาหมอดอกม่วงที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ พบว่าสารนั้นเป็นพวก dimeric oxazolinone ที่มีสูตรโครงสร้างเป็น 5,5¢-bis-benzoxazoline-2,2¢-dione โดยไปยับยั้งการสร้าง leukotriene B-4
- ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย : การทดสอบเมล็ดเหงือกปลาหมอ พบว่ามีฤทธิ์ต้านเชื้อ S. aureus
- ฤทธิ์ต้านการเกิดออกซิเดชั่น : มีการทดสอบสารสกัดจากใบของเหงือกปลาหมอดอกม่วงและผล พบว่าสารสกัดนี้มีฤทธิ์ต้านการเกิดอนุมูลอิสระหลายชนิด เช่น superoxide radical, hydroxyl radical, nitric oxide radical และ lipid peroxide เป็นต้น
- ฤทธิ์การเพิ่มภูมิต้านทาน : พบว่าสารสกัดกึ่งบริสุทธิ์ของเหงือกปลาหมอดอกม่วง สามารถกระตุ้นการแบ่งตัวของ lymphocytes ได้
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
แม้ในการศึกษาทางด้านพิษวิทยาและการทดสอบความเป็นพิษของเหงือกปลาหมอทั้งชนิดดอกสีม่วงและชนิดดอกสีขาว จะมีผลการศึกษาบ่งชี้ว่า ไม่มีพิษแต่อย่างไรก็ตาม การใช้สมุนไพรเหงือกปลาหมอก็คล้ายกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นนั้นก็คือ ไม่ควรใช้ในขนาดและปริมาณที่สูง และใช้เป็นระยะเวลานาน เพราะอาจจะก่อให้เกิดความผิดปกติหรือผลข้างเคียงต่อระบบต่างๆของร่างกายได้