ขมิ้นชัน
ชื่ออื่นๆ : ขมิ้น , ขมิ้นแดง , ขมิ้นหยวก , ขมิ้นหัว ,ขมิ้นแกง (เชียงใหม่) , ขี้มิ้น (ภาคใต้) , ตายอด (กะเหรี่ยงกำแพงเพชร) ,สะยอ (แม่ฮ่องสอน) หมิ้น (ตรัง)
ชื่อสามัญ : Turmeric
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longa Linn
วงศ์ : ZINGIBERACEAE
รูปแบบและขนาดวิธีการใช้ขมิ้นชัน
ใช้ภายใน(ยารับประทาน):
• ยาแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันแห้ง 250 มิลลิกรัม รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน อาจปั้นเป็นลูกกลอนกับน้ำผึ้ง
• เหง้าแก่สดยาวประมาณ 2 นิ้ว ขูดเปลือก ล้างน้ำให้สะอาดตำให้ละเอียด เติมน้ำ คั้นเอาแต่น้ำ รับประทานครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ วันละ 3-4 ครั้ง
ใช้ภายนอก:
• ใช้เหง้าขมิ้นแก่สดฝนกับน้ำสุก หรือผงขมิ้นชันทาบริเวณที่เป็นฝี แผลพุพอง หรืออักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย
• เหง้าแก่แห้ง บดเป็นผงละเอียด ทาบริเวณที่เป็นเม็ดผื่นคัน
• เหง้าแห้งบดเป็นผง นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด
• เหง้าแก่ 1 หัวแม่มือ ล้างสะอาดบดละเอียด เติมสารส้มเล็กน้อย และน้ำมันมะพร้าวพอแฉะๆใช้ทาบริเวณที่เป็นแผลพุพอง ที่หนังศีรษะ
ขนาดที่ใช้ในการรักษาอาการ dyspepsia
รับประทานผงขมิ้นชันในขนาด 1.5 - 4 กรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 - 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน หรือรับประทานขมิ้นชันในรูปแบบแคปซูลที่มีผงเหง้าขมิ้นชันอบแห้ง 250 มก. รับประทานครั้งละ 2 – 4แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
องค์ประกอบทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอาการ dyspepsia
ประกอบด้วยสารสําคัญ 2 กลุ่มคือ
- curcuminoids ซึ่งเป็นกลุ่มสารที่ให้สีเหลืองส้ม มีประมาณ 1.8 – 5.4% ประกอบด้วย curcumin และสารอนุพันธ์ของ curcumin ได้แก่ desmethoxycurcumin และ bisdesmethoxycurcumin
- น้ำมันหอมระเหย (volatile oils) สีเหลืองอ่อน ที่มีอยู่ประมาณ 2 – 6% ประกอบด้วยสารประกอบmonoterpenes และ sesquiterpenes เช่น turmerone, zingeberene, curcumene, borneol
- การวิจัยฤทธิ์ของขมิ้นชันต่อการต้านไวรัส พบสารเคอร์คูมิน และเคอร์คูมินโบรอนคอมเพล็กซ์คลอไรด์ สามารถยับยั้งเอนไซม์เอช ไอ วี โปรทีเอส 1 และ 2 (HIV-1 protease,HIV-2 protease) และพบสารเคอร์คูมินอยด์สามารถยับยั้งเอนไซม์เอช ไอ วี อินทิเกรส 1 (HIV-1 integrase) เอนไซน์โทโพไอโซเมอเรส 1 และ 2 (topoisomerase I,II)
- การวิจัยฤทธิ์ของขมิ้นชันกับหนูที่เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ด้วยการให้หนูกินน้ำมันขมิ้นชัน 25% และ 5% พบว่า ขมิ้นชันสามารถยังยั้งการเกิดของเซลล์มะเร็งได้ ด้วยการลดจำนวนเซลล์ และขนาดของเซลล์มะเร็ง
- การวิจัยฤทธิ์ผลของขมิ้นชันแคปซูลในการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร และลําไส้เล็กดูโอดีนัมที่มีอาการปวดท้อง โดยให้ขมิ้นชันในรูปแคปซูลขนาด 250 มก. รับประทานครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง ก่อนอาหารครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงและก่อนนอน ทําการส่องกล้องตรวจตั้งแต่เริ่มการรักษาและเมื่อครบ 4, 8 และ 12 สัปดาห์หลังการรักษา ผลการศึกษาพบว่าสามารถทำให้แผลในกระเพาะและลำไส้เล็กลงได้อย่างมีนัยสำคัญ
ขมิ้นชันกับกรดไหลย้อน
ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรไทย ที่ใช้หัวเหง้าทำเป็นยารักษา ซึ่งจะมีสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ที่สำคัญคือ มีงานวิจัยศึกษารองรับว่าขมิ้นชัน ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ดังนี้
- กระตุ้นการหลั่งเมือก (Mucin) มาเคลือบที่กระเพาะ
- มีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยสารสำคัญ ชื่อ เคอร์คิวมิน (Curcumin) มีฤทธื์ต้านการอักเสบได้ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปวด หรือลดไข้
- มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร (Wound healing) โดยมีน้ำมันหอมระเหย ชื่อ เทอเมอร์ริก (Turmeric) เป็นสารออกฤทธิ์ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีการทดลองทางคลินิกในผู้ที่มีอาการปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหาร โดยให้ขมิ้นชันเทียบกับยาลดกรด รวมถึงอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร พบว่าขมิ้นชันสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการไม่สบายท้องต่างๆ ได้
- มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย จากน้ำมันหอมระเหยของขมิ้นชัน
- มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผล สามารถช่วยไม่ให้แผลในทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น
การรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและสมุนไพรทางเลือก
ในการแพทย์แผนปัจจุบันจะใช้การรักษาโรคกรดไหลย้อน ด้วยการรับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหาร หรือยาลดกรดเพื่อรักษาแผลในกระเพาะร่วมกับการปรับพฤติกรรมต่างๆ ส่วนในกรณีที่ใช้ยาสมุนไพร “ขมิ้นชัน” ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้รักษาแทนยาแผนปัจจุบันได้ และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน โรคแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการ ท้องอืด จุกเสียด ได้ แต่ต้องควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย
ขนาดและวิธีรับประทานยาขมิ้นชัน
รูปแบบยา: ยาเม็ด ยาแคปซูล
ขนาดและวิธีใช้: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ถึง 1 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ขมิ้นชัน
ยา ไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบัน สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ได้ทั้งสิ้น ซึ่งหากเกิดอาการผิวหนังอักเสบจากการแพ้ หลังรับประทานยาขมิ้นชัน ควรหยุดรับประทาน และเข้าพบแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์แผนไทย เพื่อประเมินอาการ และรับการรักษาใหม่ที่เหมาะสมต่อไป
ข้อห้ามในการใช้ยาขมิ้นชัน
- ห้ามใช้ในผู้ที่ท่อน้ำดีอุดตัน หรือผู้ที่ไวต่อยานี้
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
- ควรระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
- ควรระวังการใช้ในเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผล และความปลอดภัย
- ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีกระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น doxorubicin, chlormethine, cyclophosphamide และ camptothecin เนื่องจาก curcumin อาจมีผลต้านฤทธิ์ยาดังกล่าว
สรุป นับว่าขมิ้นชันเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน เมื่อใช้ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตั้งแต่การควบคุมน้ำหนัก งดดื่มสุราและสูบบุหรี่ ไม่รับประทานอาหารเย็นในปริมาณมาก และไม่นอนทันทีหลังมื้ออาหาร และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะช่วยให้ลดปัจจัยเสี่ยงในการกำเริบของโรคกรดไหลย้อนอย่างเห็นผลชัดเจน