เด็ก
ครอบครัว

แสดงทั้งหมด 3 ผลลัพท์

ผลิตภัณฑ์เสริมภูมิต้านทาน

ระบบภูมิคุ้มกันประกอบขึ้นด้วยสารเคมีที่สร้างขึ้นภายในร่างกายเพื่อใช้ต่อสู้กับการติดเชื้อ และเซลล์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เช่นเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ถูกสร้างขึ้นภายในไขกระดูก

 

290 บาท
This product has multiple variants. The options may be chosen on the product page

วิตามินซี/สังกะสี

วิตามินซี คือ

          ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับวิตามินซีกันก่อน “วิตามินซี” หรือ กรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) เป็นวิตามินชนิดละลายน้ำ วิตามินซีมีประโยชน์มากมาย เช่นใช้รักษาและป้องกันโรคลักปิดลักเปิด และวิตามินซียังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ หรือ antioxidant มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย  นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในการซ่อมแซมและการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อในร่างกาย   ช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น และมีส่วนช่วยในการสร้างคอลลาเจน แต่ประโยชน์ของวิตามินซีที่กล่าวถึงกันมากคือป้องกันหวัด

วิตามินซีป้องกันหวัดได้จริงหรือ?

          จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันไม่สามารถป้องกันหวัดได้ และไม่มีผลลดความเสี่ยงในการเป็นหวัด ยกเว้นผู้ที่ออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ จะสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดได้ถึง 50% ย่างไรก็ตามพบว่าการรับประทานวิตามินซีเป็นประจำทุกวันจะสามารถช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดได้

ขนาดวิตามินซีที่แนะนำให้รับประทานเพื่อลดความรุนแรงและระยะเวลาในการเป็นหวัดคือ 1-3 กรัมต่อวัน และในผู้ที่ไม่เคยรับประทานวิตามินซีมาก่อน หากเป็นหวัดแล้วจึงเริ่มรับประทานวิตามินซี จะไม่สามารถช่วยลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดได้เลย

การดูดซึมวิตามินซี

          การดูดซึมของวิตามิซีขึ้นอยู่กับปริมาณที่รับประทานเข้าไปในแต่ละครั้ง แต่การดูดซึมวิตามินซีมีจุดอิ่มตัวในการดูดซึม กล่าวคือการรับประทานวิตามินซีปริมาณมากเกินจุดอิ่มตัวของการดูดซึม ร่างกายจะไม่สามารถดูดซึมวิตามินซีไปใช้ได้เพิ่มขึ้น

 การรับประทานวิตามินซีครั้งละ1,000-1,500 มิลลิกรัม พบว่าร่างกายจะดูดซึมวิตามินซีได้เพียง 50% นอกจากนี้ยังพบว่าขนาดของวิตามินซีที่รับประทานต่อครั้งมีผลต่อการดูดซึม คือการรับประทานวิตามินซีขนาดสูงร่างกายจะดูดซึมวิตามินได้น้อยกว่าการรับประทานวิตามินซีขนาดต่ำ 

การรับประทานวิตามินซีวันละหลายครั้งในขนาดที่ต่ำกว่า 1 กรัม จนครบขนาดที่แนะนำต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมวิตามินซีได้มากกว่าการรับประทานทั้งหมดในครั้งเดียว

นอกจากนี้ปริมาณการดูดซึมวิตามินซียังอาจแตกต่างกันไปขึ้นกับรูปแบบและส่วนประกอบอื่นๆ ในผลิตภัณฑ์

ผลิตภัณฑ์วิตามินซีในท้องตลาดมีอะไรบ้าง?

          เนื่องจากร่างกายไม่สามารถสร้างวิตามินซีได้เอง ส่วนใหญ่ร่างกายได้รับจากการรับประทานผักและผลไม้ แต่ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์วิตามินซีวางจำหน่ายอยู่หลากหลายขนาดและรูปแบบ ได้แก่

1. รูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน: มีขนาดตั้งแต่ 25 ถึง 1,000 มิลลิกรัม แต่วิตามินซีสำหรับผู้ใหญ่ที่นิยมมี 2 ขนาดคือ 500 และ 1,000 มิลลิกรัม โดยขนาด 500 มิลลิกรัม บางบริษัทจะทำให้อยู่ในรูปแบบ buffered ซึ่งแตกต่างจากรูปแบบทั่วไปคือ วิตามินซีจะถูกปลดปล่อยออกจากเม็ดยาอย่างช้าๆ แต่ระดับวิตามินซีในกระแสเลือดเมื่อรับประทานรูปแบบ buffered ไม่แตกต่างจากรูปแบบเม็ดทั่วไปที่มีการปลดปล่อยทันที อย่างไรก็ตามรูปแบบ buffered จะระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ารูปแบบเม็ดที่มีการปลดปล่อยทันที จึงอาจเป็นผลดีต่อผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร ข้อเสียของรูปแบบเม็ดแบบนี้คือเม็ดยามีขนาดใหญ่ กลืนลำบาก

2. รูปแบบเม็ดอม: มีขนาด 25, 50, 100 และ 500 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยา แต่เนื่องจากวิตามินซีเป็นกรดเมื่ออมบ่อยๆ อาจทำให้ฟันกร่อนได้ เนื่องจากกรดทำให้เคลือบฟันบางลง

3. รูปแบบเม็ดเคี้ยว: มีขนาด 30 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับเด็ก ซึ่งมีการแต่งสีและรสของวิตามินซีให้น่ารับประทาน หากรับประทานในปริมาณมากๆ อาจทำให้ฟันผุได้ เนื่องจากวิตามินซีในรูปแบบนี้มีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง

4. รูปแบบเม็ดฟู่: มีขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม จะแตกต่างจากรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทานทั่วไปคือ ต้องนำเม็ดยาไปละลายน้ำก่อน เมื่อเม็ดยาสัมผัสกับน้ำ จะเกิดเป็นฟองฟู่ ก่อนรับประทานจึงควรรอให้ฟองหมดก่อน เนื่องจากฟองแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น เมื่อรับประทานเข้าไปอาจทำให้อืดแน่นท้อง ซึ่งรูปแบบเม็ดฟู่นี้เป็นรูปแบบที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการกลืนเม็ดยาหรือไม่สามารถกลืนเม็ดยาขนาดใหญ่ได้

5. รูปแบบแคปซูล: มีขนาด 500 มิลลิกรัม ซึ่งมีทั้งชนิดแคปซูลแข็งและแคปซูลนิ่ม โดยส่วนใหญ่การกลืนเม็ดแคปซูลทำได้ง่ายกว่ารูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน

6. รูปแบบสารละลายสำหรับฉีด: มีขนาด 500 มิลลิกรัม เป็นรูปแบบที่ไม่เหมาะสำหรับการใช้เป็นประจำทุกวันหรือเพื่อป้องกันหวัด เพราะต้องให้แพทย์หรือพยาบาลฉีดยาให้  

วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid) และ เกลือของกรดแอสคอร์บิก (mineral ascobate)

          เกลือของกรดแอสคอร์บิกมีสมบัติเป็น buffered มีความเป็นกรดน้อยกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก จึงมีผลระคายเคืองกระเพาะอาหารน้อยกว่ากรดแอสคอร์บิก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เช่น เคยมีอาการมวนท้องทั้งก่อนและหลังรับประทานวิตามินซี หรือท้องเสีย เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีผลช่วยเพิ่มการดูดซึมและความคงตัวของวิตามินซี เกลือของกรดแอสคอร์บิกที่มีวางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ โซเดียม แอสคอร์เบท (sodium ascorbate) แคลเซียม แอสคอร์เบท (calcium ascorbate) โพแทสเซียม แอสคอร์เบท (potassium ascorbate) แมกนีเซียม แอสคอร์เบท (magnesium ascorbate) ซิงค์ แอสคอร์เบท (zinc ascorbate) โมลิบดินัม แอสคอร์เบท (molybdenum ascorbate) โครเมียม แอสคอร์เบท (chromium ascorbate) และ แมงกานีส แอสคอร์เบท (manganese ascorbate) เป็นต้น

แต่การเลือกใช้ควรคำนึงถึงสภาวะหรือโรคประจำตัวของผู้บริโภค เนื่องจากเกลือต่างๆ นี้จะถูกดูดซึมไปพร้อมกับวิตามินซีด้วย ดังนั้นอาจต้องระมัดระวังในการรับประทาน เช่น โซเดียม แอสคอร์เบท ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงหรือต้องจำกัดปริมาณโซเดียม หรือกรณี โพแทสเซียม แอสคอร์เบท ควรระมัดระวังในผู้ที่มีภาวะไตวาย เป็นต้น

วิตามินซีและไบโอฟลาโวนอยด์ (bioflavonoids)

           ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่อ้างว่าเป็นวิตามินซีจากธรรมชาติ นอกจากวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกแล้ว ในผลิตภัณฑ์ยังมีส่วนผสมของสารประกอบจากธรรมชาติอื่นคือ ไบโอฟลาโวนอยด์ จากการศึกษาพบว่าไบโอฟลาโวนอยด์มีผลเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี อย่างไรก็ตามบางการศึกษายังไม่พบประโยชน์ของไบโอฟลาโวนอยด์ในการช่วยเพิ่มการดูดซึมของวิตามินซี

ความแตกต่างระหว่างวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกและวิตามินซีเอสเทอร์

          วิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิกโดยทั่วไปมีสมบัติเป็นวิตามินที่ละลายน้ำ ส่วนวิตามินซีเอสเทอร์ เช่น แอสคอร์บิล ปาล์มิเตต (ascorbyl palmitate) เป็นรูปแบบที่ละลายในไขมัน ซึ่งมีข้อดีคือทำให้วิตามินซีดูดซึมทั้งในลำไส้และซึมผ่านผิวหนังได้ดี นอกจากนี้ยังมีความคงตัวดีกว่าวิตามินซีในรูปกรดแอสคอร์บิก  ปัจจุบันนิยมใช้เตรียมเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ภายนอกทั้งบริเวณผิวหนังและใบหน้า

เอสเทอร์-ซี (Ester-C®) และวิตามินซีเอสเทอร์

          หลายคนคงอาจสับสนว่า Ester-C® และวิตามินซีเอสเทอร์ เป็นวิตามินซีรูปแบบเดียวกัน แต่ที่จริงแล้ว Ester-C® คือผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ประกอบด้วย แคลเซียม แอสคอร์เบท เป็นส่วนใหญ่ในตำรับ ซึ่งวิตามินซีในผลิตภัณฑ์ Ester-C® จัดว่าเป็นวิตามินซีชนิดละลายน้ำ แต่วิตามินซีเอสเทอร์เป็นวิตามินซีละลายในไขมันและมีสมบัติดังที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อข้างต้น

สรุป  จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์วิตามินซีมีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่นิยมใช้สำหรับลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัด คือรูปแบบเม็ดสำหรับรับประทาน แคปซูล และเม็ดฟู่ ที่มีปริมาณวิตามินซีขนาด 500 และ 1,000 มิลลิกรัม ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบหรือขนาดอื่นอาจไม่สะดวกต่อการรับประทาน 

นอกจากนี้ขนาดวิตามินซีที่เหมาะสำหรับลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดเป็นขนาดที่ค่อนข้างสูงคือ 1-3 กรัมต่อวัน ถ้าเลือกผลิตภัณฑ์วิตามินซีที่มีปริมาณวิตามินซีน้อยอาจต้องรับประทานผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นการเลือกรับประทานวิตามินซีควรพิจารณาให้เหมาะสมกับความต้องการแต่ละบุคคลและวัตถุประสงค์ของการรับประทาน

สังกะสี

เป็นแร่ธาตุที่ร่างกายไม่สามารถสร้างได้เอง และเก็บสะสมไว้เผื่อใช้ไม่ได้ ต้องได้รับจากอาหาร จัดอยู่ในกลุ่มแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการปริมาณน้อย (Trace Minerals) คือร่างกายต้องการน้อยกว่าวันละ 100 มิลลิกรัม แต่มีบทบาทสำคัญหลากหลายต่อร่างกาย

ในร่างกายมีสังกะสีประมาณ 1 – 2.5 กรัม พบได้มากในกระดูก ฟัน เส้นผม ผิวหนัง ตับ กล้ามเนื้อ และอัณฑะ สังกะสีเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ในร่างกายมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การสร้างโปรตีน การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การเจริญของระบบสืบพันธุ์ การมองเห็น การหายของบาดแผล และป้องกันเซลล์จากการทำลายโดยอนุมูลอิสระ

แร่ธาตุชนิดนี้มีมากในอาหารโปรตีน เช่นเนื้อสัตว์และปลา ร่างกายเราไม่สามารถผลิตหรือเก็บสะสมสังกะสีไว้ จึงต้องรับให้เพียงพออยู่เสมอ

ส่วนใหญ่ของสังกะสีที่รับประทานเข้าไป แล้วไม่ถูกดูดซึม จะถูกขับถ่ายออกทางอุจจาระและปัสสาวะซึ่งคนปกติจะขับถ่ายสังกะสีออกประมาณวันละ 300 – 600 ไมโครกรัม

ความสำคัญของสังกะสี

ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2506 โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์อนันดา เอส.ประสาด ผู้ศึกษาพบความสำคัญของธาตุสังกะสีต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของร่างกาย โดยได้ตรวจพบผู้ป่วยขาดธาตุสังกะสีมีร่างกายแคระแกร็น มีการพัฒนาการในด้านต่างๆ รวมทั้งพัฒนาการทางเพศที่ล่าช้า พัฒนาการของกระดูกผิดปกติ โลหิตจาง ตับและม้ามโต เมื่อรักษาโดยการเสริมธาตุสังกะสีแล้ว ผู้ป่วยมีการเติบโตและพัฒนาการกลับมาดีขึ้น ทั้งในด้านความสูง น้ำหนัก พัฒนาการของกระดูกและพัฒนาการทางเพศ และยังพบว่าการขาดธาตุสังกะสีทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงเนื่องจากร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวลดลง

ประโยชน์ต่อสุขภาพ

1. การเจริญเติบโตและการแบ่งเซลล์ : ธาตุสังกะสีมีความสำคัญเป็นพิเศษต่อทารกในครรภ์ที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ธาตุสังกะสีมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นการเติบโต การพัฒนาส่วนสูง น้ำหนักและกระดูกในทารก เด็กและวัยรุ่น ในสตรีมีครรภ์ควรได้รับสังกะสี เพิ่มให้เพียงพอตั้งแต่เดือนที่ 5 ของครรภ์ และช่วงให้นมบุตร เพื่อให้ทารกสมบูรณ์แข็งแรง ไม่เกิดภาวะแคระแกร็น น้ำหนักน้อย กระดูกผิดปกติ ตับม้ามโต โลหิตจาง

RDA ที่กำหนดไว้คือ 25 มก.ในระยะให้นม ตลอดจนการเสริมอาหารแร่ธาตุสังกะสีในเด็ก เพื่อป้องกันและลดโรคข้างต้น

2. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย ช่วยต้านหวัด ไข้หวัดใหญ่ และเชื้อโรคอื่นๆ สังกะสีมีบทบาทมากมายในการร่วมกับ functional food อื่นๆ

  • ร่วมกับวิตามินซี สร้างคอลลาเจน สร้างผิวที่สวยงาม
  • ร่วมกับน้ำมันปลา กลูต้าไทโอน ป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อม
  • ร่วมกับซีลีเนียม วิตามินซี ต้านมะเร็ง
  • ร่วมกับวิตามินอี ฯลฯ เสริมสร้างภูมิต้านทาน
  • ร่วมกับแคลเซียม แมกนีเซียม แก้โรคกระดูกพรุน
  • ร่วมกับอินซูลิน แก้เบาหวาน

สังกะสีจำเป็นต่อภูมิคุ้มกัน เพราะมีบทบาทพิเศษในทีเซลล์ (T–cell) ระดับธาตุสังกะสีที่ต่ำกว่าปกติ ทำให้ทีเซลล์มีจำนวนลดลงและอ่อนแอ ส่งผลให้ไม่สามารถแยกแยะและต่อสู้กับโรคติดเชื้อบางชนิด

การเพิ่มระดับธาตุสังกะสีในอาหารได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการต่อต้านโรคปอดบวมและท้องเสีย ตลอดจนโรคติดเชื้ออื่นๆ

ข้อมูลล่าสุด จากการศึกษาโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์เคนเนท เอช.บราวน์ และศาสตราจารย์นายแพทย์โรเบิร์ท อี.แบล็ค ร่วมกับแพทย์ท่านอื่นๆ อันเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2553 พบว่าการให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็กสามารถช่วยลดความรุนแรงและป้องกันการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงและโรคปอดบวม

รวมทั้งการให้ธาตุสังกะสีเสริมขณะที่มารดาตั้งครรภ์จะทำให้เด็กทารกเกิดโรคอุจจาระร่วงลดลง ธาตุสังกะสียังสามารถลดระยะเวลาและความรุนแรงของไข้หวัด การให้สังกะสีเสริมในมารดาที่ตั้งครรภ์ ช่วยให้เด็กทารกเกิดอุจจาระร่วงลดลง แม้กระทั่งการให้สารนี้เสริมในเด็กขณะมีอาการท้องเดินเฉียบพลัน หรือปอดบวม ก็ช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

ครีมที่มีส่วนผสมของแร่ธาตุสังกะสี นอกจากดีกับสิว หรือบาดแผลเรื้อรังแล้ว ยังใช้กับผื่นผ้าอ้อม อุจจาระกัดก้นได้อีก 

ช่วยรักษาแผลในปากและอาการเจ็บคอหายเร็วขึ้น

พบว่าการเพิ่มสังกะสีในอาหารเพียงเล็กน้อย จะช่วยป้องกันโรคท้องร่วง ปอดบวม และมาลาเรียได้ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา สังกะสีจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน จึงช่วยป้องกันโรคท้องร่วงได้ถึง 38% ลดการติดเชื้อเฉียบพลันในระบบทางเดินหายใจ ได้ 45% และลดการเป็นโรคมาเลเรียได้ถึง 35%

นอกจากนี้การเสริมธาตุสังกะสีจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันและการเยียวยาตัวเองของร่างกาย เพื่อต่อสู้โรคร้าย เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ ลูปัส อ่อนเพลียเรื้อรัง รวมถึงโรคระบบประสาทส่วนกลางเสื่อม และเอดส์

3. ป้องกันมะเร็ง พบว่าผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหาร หลอดลม ต่อมลูกหมากจะมีปริมาณสังกะสีต่ำกว่าคนปกติ ส่วนผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีธาตุสังกะสีและซีลีเนียมต่ำกว่าปกติ

4. ป้องกันตาบอดในผู้สูงอายุ พบธาตุสังกะสีอยู่ในปริมาณมากในเรตินา การสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุที่เรียกว่า macular degeneration (AMD) นอกจากขาดโอเมก้า3 แล้ว พบว่าเกิดจากขาดธาตุสังกะสีด้วย นอกจากนี้ ธาตุสังกะสียังอาจจะมีคุณสมบัติในการป้องกันโรคตาบอดกลางคืนและต้อกระจก

5. ป้องกันผมร่วง สังกะสีช่วยป้องกันและรักษาผมร่วงได้กรณีขาดแร่ธาตุนี้ เนื่องจากเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเส้นผม โดยเฉพาะมีส่วนสำคัญต่อการแบ่งเซลล์ผมใหม่ ซ่อมแซมผมที่อ่อนแอให้แข็งแรงมากขึ้น ช่วยควบคุมการทำงานของต่อมน้ำมันบนหนังศีรษะ นอกจากนี้ยังมีผลช่วยกระตุ้นการสร้างโปรตีนและคอลลาเจนอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของเส้นผม โดยปริมาณที่แนะนำคือ 11 มิลลิกรัมต่อวันเป็นเวลา 3 – 4 สัปดาห์

6. จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและการเจริญของระบบสืบพันธุ์ ในเพศชาย ธาตุสังกะสีช่วยปกป้องต่อมลูกหมากจากการติดเชื้อ และจากภาวะต่อมลูกหมากโต ธาตุสังกะสีช่วยรักษาปริมาณและความแข็งแรงของสเปิร์ม และระดับปกติของฮอร์โมนเพศชาย ในเพศหญิง ธาตุสังกะสีช่วยรักษาปัญหาระดูผิดปกติและบรรเทาอาการปวดเกร็งอย่างผิดปกติของมดลูกก่อนมีประจำเดือน

7. สำคัญต่อการรับรู้รส กลิ่นและความรู้สึกอยากอาหาร:ธาตุสังกะสีทำหน้าที่กระตุ้นสมองส่วนที่รับและประมวลผลข้อมูลจากประสาทรับรสและกลิ่น นอกจากนี้ยังใช้ธาตุสังกะสีรักษาโรคประสาทเบื่ออาหาร (anorexia) อีกด้วย

8. กระตุ้นให้ร่างกายรักษาแผลและการระคายเคืองผิวหนัง คนที่เป็นแผลต่างๆ หรือแผลในกระเพาะอาหาร การให้ธาตุสังกะสี จะทำให้แผลหายเร็วขึ้นกว่าผู้ที่ไม่ได้รับธาตุสังกะสีนี้ เพราะสังกะสีช่วยกระตุ้นการผลัดเปลี่ยนเซลล์ผิว มีการใช้ครีมที่มีส่วนผสมของธาตุสังกะสีกับเด็กทารกเพื่อบรรเทาอาการผื่นผ้าอ้อม และใช้รักษาบาดแผลจากของมีคม

9. เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน การค้นคว้าจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่าโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อาจจะเกิดจากโปรตีนที่ชื่อว่าอะไมลินจับตัวกันเป็นกลุ่มก้อนและไปหยุดเซลล์ที่มีหน้าที่ในการผลิตอินซูลินทำให้อินซูลินไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน ปัจจัยหนึ่งที่สามารถหยุดการโจมตีของอะไมลินต่อเซลล์ผลิตอินซูลิน ก็คือ สังกะสี โดยสังกะสีจะป้องกันการจับตัวเป็นกลุ่มก้อนของอะไมลินในคนปกติ แต่สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 นักวิจัยยังไม่แน่ใจว่าสังกะสีจะมีผลต่ออะไมลินอย่างไร อีกทั้งในเซลล์ผลิตอินซูลินของผู้ป่วยเบาหวานยังขาดแคลนสังกะสีอีกด้วย หรือกรณีที่ ผู้ป่วยเบาหวานมักเป็นแผลจะติดเชื้อง่าย สังกะสีจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น

10. รักษาสิว มีการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่า อาการสิวกำเริบอาจบรรเทาเมื่อกินสังกะสี โดยเชื่อว่ามีส่วนบรรเทาอาการอักเสบ และยังเกี่ยวข้องกับการรักษาสมดุลของปริมาณไขมันในผิวหนัง ควบคุมปัญหาการเกิดสิวจากการอุดตันไขมัน

11. ชะลอความเสื่อมของเซลล์และบำรุงสมอง สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่มีคุณสมบัติโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งและเป็นที่สนใจโดยเฉพาะผู้ที่รักสวยรักงามก็คือ ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์ผิวหนัง สังกะสีจะเข้าไปช่วยยืดอายุผิวที่อ่อนเยาว์ไร้ริ้วรอยให้อยู่กับคุณยาวนานขึ้น นอกจากนี้สังกะสียังช่วยในเรื่องของความจำ ระบบประสาทและระบบทางเดินอาหารให้ทำงานเป็นปกติได้อีกด้วย

ปริมาณเท่าไรเหมาะสม

ในคนไทยทั่วไป RDA คือ 10 – 15 มก./วัน การได้รับเกินวันละ 100 มก.ติดต่อกันนานจะทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง และลดเอชดีแอลคอเลสเตอรอล (HDL) ซึ่งเป็นไขมันดีลง
ปริมาณที่อาจเป็นพิษ คือ 2 กรัม/วัน ซึ่งอาจเกิดคลื่นไส้อาเจียน วิงเวียน ปวดท้อง ท้องเสียได้
การกินสังกะสีติดต่อกันเกิน 1 เดือน อาจรบกวนการดูดซึมธาตุทองแดง ดังนั้นในผลิตภัณฑ์ 30 มก. จึงควรมีทองแดง 2 มก.

อาหารที่ให้สังกะสี

สังกะสีมีมากในอาหารโปรตีนสูง เช่นเนื้อวัว เนื้อหมู ตับ สัตว์ปีก (โดยเฉพาะเนื้อสีเข้มเช่นเนื้อเป็ด) และอาหารทะเล (โดยเฉพาะหอยนางรม) เนยแข็ง ถั่ว และถั่วเปลือกแข็ง จมูกข้าวสาลี เมล็ดฟักทอง ไข่และนมสด แต่สังกะสีจากพืชจะดูดซึมได้ยากกว่าสังกะสีในเนื้อสัตว์

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีสังกะสีมีหลายรูปแบบ แต่ควรเลือกชนิด ซิงค์พิโคลิเนต (Zinc picolinate) อะซิเตท (acetate) ซิเตรท (citrate) กรดอะมิโนคีเลต (aminoacid chelate) หรือแอสปาร์เทต (aspartate) ซึ่งดูดซึมง่าย ไม่ระคายกระเพาะ

กระเทียม

กระเทียม

ชื่ออื่น : หัวเทียม (ภาคใต้) กะเที้ยม (อีสาน) กระเทียม (ภาคกลาง) หอมขาว กระเทียมขาว (อุดรธานี) กระเทียมจีน (ทั่วไป) ปะเซ้วา (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) หอมเทียม (เหนือ) เทียม หัวเทียม (คาบสมุทร)

ชื่อวิทยาศาสตร์ :Allium sativum L.

ชื่อพ้อง : Allium controversum Schrad. ex Willd., Allium longicuspis Regel, Allium ophioscorodon Link, Allium pekinense Prokh., Allium scorodoprasum Regel, Porrum ophioscorodon (Link) Rchb.

ชื่อวงศ์ : Alliaceae

สรรพคุณ:

            บัญชียาจากสมุนไพร:  ตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ระบุการใช้กระเทียมใน

  • ตำรับ “ยาแก้ลมอัมพฤกษ์” มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตามเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ มือ เท้า ตึงหรือชา
  • ตำรับ "ยาประสะไพล" มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณรักษาระดูมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ บรรเทาอาการปวดประจำเดือน  และขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอดบุตร
  • ตำรับ "ยาเลือดงาม" มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ แก้มุตกิด
  • ตำรับ”ยาเหลืองปิดสมุทร” มีส่วนประกอบของหัวกระเทียมคั่ว ร่วมกับสมุนไพรอื่นๆ ในตำรับ มีสรรพคุณบรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่น อุจจาระไม่เป็นมูก หรือมีเลือดปนและท้องเสียชนิดที่ไม่มีไข้

รูปแบบและขนาดวิธีใช้ยา:   

  •  ขนาดและวิธีใช้สำหรับอาการท้องอืดท้องเฟ้อแน่นจุกเสียด:
                       ใช้กระเทียม  5-10  กลีบ ซอยละเอียด  รับประทานหลังอาหาร หรือพร้อมอาหาร
  •  ขนาดและวิธีใช้สำหรับรักษากลากเกลื้อน:
                       ฝานกระเทียมถูบ่อย ๆ บริเวณที่เป็น  หรือตำแล้วขยี้ทาบริเวณที่เป็น  วันละ 2 ครั้ง ก่อนจะทายาใช้ไม้บาง ๆ เล็ก ๆ ที่ได้ฆ่าเชื้อโรคแล้ว (โดยการแช่ในแอลกอฮอล์ 70%  หรือต้มในน้ำเดือด 10-15 นาที) ขูดบริเวณที่เป็น ให้ผิวหนังแดง ๆ  ก่อนทา เพื่อให้ตัวยาซึมลงไปได้ดีขึ้น เมื่อหายแล้วให้ทายาต่ออีก 7-10 วัน
  •   ขนาดและวิธีใช้สำหรับแก้ไอ:
                       ตำรายาไทยให้ใช้กระเทียม และขิงสดอย่างละเท่ากันตำละเอียด ละลายน้ำอ้อยสด คั้นเอาน้ำจิบแก้ไอ กัดเสมหะ ทำให้เสมหะแห้ง ตำรายาไทยบางตำรับให้คั้นกระเทียมกับน้ำมะนาวเติมเกลือใช้จิดหรือกวาดคอ

องค์ประกอบทางเคมี:     

  •  น้ำมันหอมระเหย ประมาณ 0.1-0.4% มีองค์ประกอบหลักคือ allicin  ajoene  alliin  allyldisulfide diallyldisulfide ซึ่งเป็นสารประกอบกลุ่มกลุ่ม organosulfur  สารในกลุ่มนี้ที่พบในกระเทียมเช่น  สารกลุ่ม S-(+)-alkyl-L-cysteine sulfoxides , alliin 1% , methiin 0.2% , isoalliin 0.06% และ cycloalliin 0.1% 
  • สารที่ไม่ระเหยคือ สารกลุ่ม gamma-L-glutamyl-S-alkyl-L-cysteines , gamma-glutamyl-S-trans-1-propenylcysteine 0.6% และ gamma-glutamyl-S-allylcysteine รวมประมาณ 82% ของสารกลุ่ม organosulpur ทั้งหมด
  • สารกลุ่มsulfides เป็นสารที่ไม่ได้พบในธรรมชาติแต่เกิดจากการสลายตัวของสาร allin ซึ่งถูกย่อยสลายด้วยเอนไซม์ alliinase หลังจากนั้นจึงเกิดการรวมตัวกันใหม่ได้สารที่ไม่เสถียร สลายตัวได้ sulfides 

กระเทียมที่ผ่านกระบวนการสกัดด้วยความร้อน สารประกอบส่วนใหญ่ที่พบเป็นสารกลุ่ม sulfide

ส่วนกระเทียมที่ผ่านกระบวนการหมักในน้ำมัน สารประกอบที่พบส่วนใหญ่เป็น 2-vinyl-(4H)-1,3-dithiin , 3-vinyl-(4H)1,2-dithiin , E-ajoene และ Z-ajoene ป

  • สารกลุ่มอื่นๆ ที่พบ เช่น สารเมือก และ albumin, scordinins, saponins 0.07% , beta-sitosterol 0.0015%, steroids, triterpenoids และ flavonoids

การศึกษาทางเภสัชวิทยา:   

 1.ฤทธิ์ปกป้องตับจากสารพิษ

      การทดลองป้อนสาร diallyl disulfide (DADS) จากกระเทียมให้แก่หนูขาว ขนาดวันละ 50 และ 100 มก./กก. น้ำหนักตัว ในหนูแต่ละกลุ่ม นานติดต่อกัน 5 วัน ก่อนเหนี่ยวนำให้ตับเกิดการเสียหายด้วยสาร carbon tetrachloride (CCl4) พบว่า DADS ทั้งสองขนาดสามารถป้องกันตับเป็นพิษได้

 

โดยกลไกกระตุ้นการทำงานของโปรตีนที่ควบคุมการแสดงออกของยีนที่ทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ และเนื้อเยื่อจากอนุมูลออกซิเจนที่ว่องไวต่อปฏิกิริยา การกระตุ้น Nrf2 มีผลเหนี่ยวนำการสร้างเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ และสร้างเอนไซม์ในระบบการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายในขั้นตอนที่ 2 (detoxifying Phase II  enzyme) และยับยั้ง nuclear factor-kappa B มีผลให้ลดการสร้างสารที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบลง และปกป้องตับจากสารพิษได้ (Lee, et al, 2014)

2.ฤทธิ์ต้านการอักเสบ

      ศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบของสารสกัดน้ำโดยไม่ผ่านความร้อน  และสารสกัดกระเทียมที่ผ่านการต้มแล้ว นำมาทดสอบในหลอดทดลอง โดยใช้เนื้อเยื่อของกระต่าย พบว่า raw garlic สามารถยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (ที่ทำให้เกิดการสร้างสารอักเสบ) 

พบว่าสารสกัดน้ำที่ไม่ผ่านความร้อน  สามารถยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase ได้  ในขณะที่กระเทียมที่ต้มแล้วมีฤทธิ์ยับยั้ง cyclooxygenase ได้เล็กน้อย เนื่องจากส่วนประกอบสำคัญในกระเทียมนั้นถูกทำลายในขณะที่ให้ความร้อน จากผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่ากระเทียมน่าจะมีประโยชน์ในการป้องกันโรคหลอดเลือดอุดตันได้    

3.ฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย 

      การทดสอบความสามารถในการต้านเชื้อ Escherichia coli ซึ่งป็นเชื้อก่อโรคทางเดินอาหาร ของสารสกัดหัวกระเทียมด้วย เอทานอล เมทานอล  อะซิโตน  และการสกัดสดโดยวิธีบีบคั้นแบบเย็น โดยใช้วิธี microdilution broth susceptibility test

พบว่าสารสกัดสดมีสมบัติในการยับยั้ง และฆ่าเชื้อแบคทีเรียดีที่สุด เนื่องจากในกระเทียมสดมี allicin ซึ่งเป็นสารที่มีความสามารถในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ (ภรภัทร และรังสินี, 2554)

4.ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ

       การทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพของสารสกัดน้ำที่ได้จากหัวกระเทียม  ผลการทดสอบ พบว่าสารสกัดน้ำจากหัวกระเทียมสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อ  E. coli, K. pneumonia, P. aeruginosa, S. aureus และ S. typhi   (Lawal, et al., 2016)

5.ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

         เมื่อนำสารสกัดกระเทียมที่ได้จากการบ่มสกัด (AGE) นำมาทดสอบการต่อต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไลโปโปรตีนชนิดความหนาแน่นต่ำ หรือต้านการเกิด oxidized LDL (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว)

ผลการทดสอบพบว่า AGE มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยลดการสร้าง superoxide ion (อนุมูลอิสระของออกซิเจน) และลดการเกิด lipid peroxide (ออกซิเดชันของไขมัน) ดังนั้น AGE จึงอาจมีบทบาทในการป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งตัว (atherosclerotic disease) ได้ (Dillon, et al, 2003)      

การศึกษาทางคลินิก: ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

      ศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระโดยให้ผงกระเทียม อัดเม็ดเคลือบ ขนาด 900 mg (เทียบเท่ากับปริมาณของ alliin 1.3% และ allicin 0.6%) ต่อวัน เป็นเวลา 2 เดือน ศึกษาผลต่อระดับสาร  malondialdehyde (MDA) ซึ่งเป็นสารที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันของไขมัน (lipid peroxidation) และวัดระดับความเข้มข้นของ reduced (GSH) ซึ่งเป็นเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ และ oxidized (GSSG) glutathione คือ GSH ที่เกิดขึ้นหลังถูกออกซิไดส์

 พบว่าระดับ MDA ลดลง 60% จากค่าเริ่มต้น ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งการศึกษานี้ทำกับคน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มคนอายุน้อยกว่า 30 ปี และกลุ่มคนอายุมากกว่า 40 ปี และพบว่าความเข้มข้นของระดับเอนไซม์ต้านอนุมูลอิสระ GSH ในเม็ดเลือดแดงมีค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ 40% นขณะที่ความเข้มข้นของ GSSG เปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ  (Grune, et al, 1996)

ปฏิกิริยาระหว่างยา:
             กระเทียมในปริมาณมากทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง จะต้องระวังในการใช้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น  warfarin , NSAIDs สมุนไพร หรือยาที่ทำให้เกล็ดเลือดต่ำ ยาลดความดันโลหิต ยาลดน้ำตาลในเลือด

อาการไม่พึงประสงค์:
             อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ หรือมีอาการทางเดินอาหารไม่ปกติ หากรับประทานกระเทียมขณะท้องว่าง เช่น เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เป็นต้น และกลิ่นกระเทียมจะติดที่ผิวหนัง และลมหายใจ บางกรณีอาจจะเกิดอาการหอบหืดได้ และทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้าทำให้เสี่ยงต่อภาวะเลือดหยุดไหลยากหลังผ่าตัด จึงไม่ควรรับประทานกระเทียมก่อนการผ่าตัด เพราะจะทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้าลง

 

 

บทความล่าสุด

อาการตกขาวจากช่องคลอดอักเสบ

ตกขาวหรือระดูขาว มีลักษณะเป็นของเหลว ใสหรือขุ่นก็ได้ อาจคล้ายน้ำแป้ง หรือ แป้งเปียก ปกติไม่มีกลิ่น

อาการวิงเวียนศีรษะและยารักษา

อาการวิงเวียนศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อย แต่ถ้ามีร่วมกับอาการบ้านหมุน คลื่นไส้อาเจียน ควรพบแพทย์

ยาพ่นช่องปากและคอ

การเลือกใช้ยาพ่นคอ ควรพิจารณาความรุนแรงของอาการที่เป็น ถ้ามีอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง การใช้สปรย์พ่นคอ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า