ผลกระทบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่

โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) เมื่อปี พ.ศ. 2549 มีคนไทยที่อายุเกิน 15 ปี สูบบุหรี่อยู่มากถึง 11 ล้านคน  และในจำนวนนี้มีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ประมาณ 2.5 ล้านคน  โดยครึ่งหนึ่งเสียชีวิตก่อน อายุ 65 ปี  และอีกครึ่งหนึ่งเสียชีวิตหลังอายุ 65 ปี

สารบัญ

สารพิษในควันบุหรี่

ในควันบุหรี่มีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่ากายมนุษย์อยู่มากกว่า 4,000 ชนิด ในจำนวนนี้ มีประมาณ 60 ชนิดที่มีหลักฐานทางการแพทย์ชัดเจนว่าเป็นสารก่อมะเร็ง  เราสามารถแบ่งสารพิษในควันบุหรี่ได้เป็น 5 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. กลุ่มอัลดีไฮด์และสารพิษขนาดเล็กที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น อะโครลีน ฟอร์มัลดีไฮด์ อะเซตัลดีไฮด์ ยูรีเทน ไวนิลคลอไรด์ เป็นต้น สารในกลุ่มนี้จัดเป็นตัวการหลักในการก่อโรคมะเร็งและโรคทางเดินหายใจ
  2. กลุ่มโลหะหนัก เช่น สารหนู นิเกิ้ล ตะกั่ว แคดเมียม เป็นต้น สารเหล่านี้เป็นจัดเป็นสารก่อมะเร็งด้วยเช่นกัน
  3. กลุ่มไนโตรซามีน เช่น N-nitrosodiumethylamine (NDMA),2-naphthylamine, nitrosopyrrolidine,N-nitrosodiethylamine(NDEA)
  1. กลุ่ม Polycyclic aromatic hydrocarbons (PAH) เช่น เบนซีน, benzo(a)pyrene , chrysene, benz(a)anthracene เป็นต้น
  2. สารพิษกลุ่มอื่นๆ เช่น ดีดีที, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ไซยาไนด์, นิโคตีน, hydrazine, 4-aminobiphenyl เป็นต้น

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ : สารพิษในควันบุหรี่

สารพิษที่สำคัญและมีข้อมูลรายละเอียดชัดเจนว่ามีก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในมนุษย์ มีดังนี้

  • นิโคติน (nicotine)

พบได้มากถึง 1,000-2,000 ไมโครกรัมต่อควันบุหรี่ 1 มวน นิโคตินในควันบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 6 วินาทีเท่านั้น หลังจากนั้นจะเดินทางไปจับกับตัวรับในสมอง ที่มีชื่อว่า แอลฟ่า 4  เบต้า 2 นิโคตินิก รีเซ็บเตอร์  ( alpha-4 beta-2 nicotinic receptor )ก่อให้กระแสประสาทส่งไปที่สมอง ส่วน nucleus accumbens กระตุ้นให้หลั่งสารก่อความสุข เช่น เอ็นดอร์ฟิน (endorphin ) และ โดปามีน (dopamine)

กลไกดังกล่าวทำให้เกิดการเสพติดขึ้น เพราะสารนิโคตินจะลดลงอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับตอนดูดซึม ทำให้ผู้สูบบุหรี่รู้สึกหงุดหงิด กระสับกระส่าย ไม่สบายตัว

ใบยาสูบ

สารนิโคติน มีลักษณะคล้ายน้ำมันไม่มีสี เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะถูกเมตาบอไลซ์หรือถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับ โดยเอนไซม์ cytochrome P-450 และ aldehyde oxidase เปลี่ยนสภาพไปเป็น สารที่เรียกว่า โคตินีน (cotinine)แทน

นิโคตินมีผลต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจดังนี้

  1. ทำให้เลือดในร่างกายหนืด เกิดลิ่มเลือดได้ง่ายขึ้น
  2. ทำให้ไขมันที่ดี (HDL) ลดน้อยลงและไขมันไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีโอกาสเกิดหลอดเลือดแดงตีบ
  3. ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดขาดสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยง
  • น้ำมันดิน (tar)

เป็นสารพิษในกลุ่ม PAH (polycyclic aromatic hydrocarbon) เกิดจากการเผาไหม้ของใบยาสูบและกระดาษที่ใช้มวน
ลักษณะเป็นละอองเหนียว สีน้ำตาล  เป็นสารในควันบุหรี่ที่จะไปตกค้างในปอดและทางเดินหายใจ

น้ำมันดิน

  • เบนซีน , benzo(a)pyrene

เป็นสารพิษกลุ่ม PAH เช่นกัน  ในบุหรี่ 1 มวน พบสารพิษ 2 ตัวนี้ประมาณ 20-70 ng.  มันจะไปรบกวนการทำงานของเอนไซม์ 2 ตัวที่ทำหน้าที่ซ่อมแซม ยีน (DNA ) ที่สึกหรอของเซลล์ต่างในร่างกาย  เอนไซม์นี้มีชื่อว่า glutathione S-transferase  (GST) และ 8-oxoguanine-DNA-N-glycolase

ส่งผลให้เอนไซม์ทั้ง 2 ทำงานไม่ได้ จึงเกิดยีนหรือดีเอ็นเอที่ผิดปกติขึ้นในร่างกาย  มีการถอดรหัสกรดอะมิโนและโปตีนที่ผิดพลาด เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติที่เรียกว่า MUTATION ของเซลล์ต่างๆ และกลายเป็นมะเร็งได้ในที่สุด

  • คาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide)

เป็นก๊าซชนิดเดียวกับที่พ่นออกจากท่อไอเสียรถยนต์ เป็นก๊าซที่พบได้มากที่สุดในควันบุหรี่  ใน บุหรี่ 1 มวนมีมากถึง 10,000-20,000 ไมโครกรัม  เกิดขึ้นได้จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของใบยาสูบและกระดาษที่ใช้มวน

มีคุณสมบัติสำคัญคือ สามารถจับกับฮีโมโกลบินได้ดีกว่าออกซิเจน 200 เท่า  จึงทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจนได้

คาร์บอนมอนอกไซด์

  • ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (hydrogen sulfide)

ในบุหรี่ 1 มวน พบได้ประมาณ 10-90 ไมโครกรัม เป็นก๊าซที่มีผลระคายเคืองเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการไอและหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้

  • ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (hydrogen cyanide)

ในบุหรี่ 1 มวน พบได้ประมาณ 400-500 ไมโครกรัม เป็นก๊าซที่มีฤทธิ์ทำลายขนพัดโบก cilia ในเยื่อบุทางเดินหายใจ ที่ทำหน้าที่คอยช่วยขับเสมหะออกจากหลอดลม  จึงทำให้เสมหะคั่งค้างภายในปอดมากขึ้น    เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆตามมาได้

  • ไนโตรเจนไดออกไซด์ (nitrogen dioxide)

เป็นก๊าซทีระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจและถุงลมปอด ทำให้เป็นโรคถุงลมโป่งพองได้

  • แอมโมเนีย (ammonia)

ในบุหรี่ 1 มวน มีแอมโมเนียประมาณ 50-130 ไมโครกรัม มีคุณสมบัติเป็นด่าง ทำให้นิโคตินถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้มากขึ้น  ตัวของมันเองก็ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้แสบจมูก หลอดลมอักเสบละ ไอ  และแสบตาได้

  • อะโครลีน (acrolein)

ในบุหรี่ 1 มวน พบสารตัวนี้ได้ประมาณ 60-140 ไมโครกรัม เป็นก๊าซไม่มีสี กลิ่นเหม็น มีความเป็นพิษสูง ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจได้สูงแม้ในปริมาณต่ำๆ  สามารถทำให้เสียชีวิตได้

  • สารกัมมันตรังสี

เช่น โคบอลต์ โปโลเนียม20  เป็นพิษต่อเซลล์ ทำให้เซลล์เปลี่ยนสภาพและกลายเป็นมะเร็งปอดได้

กัมมันตภาพรังสี

  • โลหะหนัก

เช่น ตะกั่ว สารหนู แคดเมี่ยม นิคเกิ้ล สังกะสี และโครเมียม  เป็นสารเคมีที่มีหลักฐานยืนยันหนักแน่นว่าเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์

ยาช่วยเลิกบุหรี่

ในปัจจุบัน เริ่มมีการกล่าวถึงบุหรี่ไฟฟ้า หรือบุหรี่อิเลคโทรนิกส์ ซึ่งเป็นบุหรี่ชนิดใหม่ที่ไม่มีควันไม่มีใบยาสูบ ผลิตในรูปแท่ง ควบคุมการเผาไหม้ด้วยระบบอิเล็กโทรนิกส์และเทคโนโลยีอะตอม มีแบตเตอรี่สำหรับอัดไฟเก็บไว้ในเครื่องเพื่อใช้งานได้เลยเมื่อต้องการสูบ

บุหรี่ไฟฟ้า

ในแต่ละแท่งแม้จะไม่มีใบยาสูบแต่ก็มีสารนิโคตินและสารโพรไพลีนไกลคอลที่มีลักษณะเดียวกับควันบุหรี่  ในแต่ละแท่งจะมีสารนิโคตินอยู่มากถึง 18 มิลลิกรัม ในขณะที่บุหรี่ทั่วไป ใน 1 มวนมีสารนิโคตินเพียง 1-2 มิลลิกรัมเท่านั้น  ซึ่งในบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินมากกว่าถึง 16-18 เท่าในบุหรี่ธรรมดา  ซึ่งยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า น่าจะมีพิษภัยไม่น้อยเช่นเดียวกัน

โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่

การสูบบุหรี่นอกจากจะมีผลต่อสุขภาพผู้สูบโดยตรงแล้ว ควันบุหรี่ยังส่งผลกระทบต่อผู้อื่นที่ได้สูดดมควันบุหรี่เข้าไปอีกด้วย

ร่างกายคนเราเมื่อได้รับสารพิษจากควันบุหรี่เป็นเวลานาน จะทำให้เกิดโรคต่างๆมากมาย  โรคหลักๆ ที่เกิดจากบุหรี่และทำให้ส่งผลกระทบต่อชีวิต มี 3 โรคคือ

  • โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
  • โรคมะเร็งปอด
  • โรคถุงลมโป่งพอง

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คือ โรคที่เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัวจากไขมันไปเกาะผนังของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดตีบแคบลง ส่งผลให้ปริมาณเลือดไหลผ่านได้น้อยลง ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและอาจตายได้

ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2-4 เท่า  เนื่องจากสาเหตุต่อไปนี้

  • นิโคตินในบุหรี่ ทำให้เลือดมีความหนืดเพิ่มขึ้น เกล็ดเลือดเกาะตัวกันง่ายขึ้น
  • นิโคติน ทำให้ระดับไขมันชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น และไขมันชนิดดี (HDL) ลดลง
  • นิโคตินทำให้เกิดอนุมูลอิสระ ที่ทำให้เส้นเลือดแดงอักเสบและแข็งตัว
  • ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในควันบุหรี่ จะแย่งจับกับออกซิเจนในเลือด ทำให้เม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนได้น้อยลง ส่งผลให้หัวใจขาดออกซิเจน และเสียชีวิตได้

หัวใจขาดเลือด

อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

  • ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างมาก เหมือนมีอะไรกดทับหน้าอก อาจเจ็บร้าวขึ้นไปถึงคางหรือร้าวลงแขนซ้าย
  • หายใจหอบเหนื่อย เหงื่อแตก ใจสั่น
  • หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตทันที

การรักษา

  1. การขยายเส้นเลือดด้วยบอลลูนละใส่ขดลวด
  2. การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (BYPASS)
  3. การรับประทานยา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

โรคมะเร็งปอด

เกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบเมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมาก และแพร่ไปตามบริเวณต่างๆของร่างกาย

มะเร็งปอดจะทำลายชีวิตของผู้ป่วยได้รวดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง  มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer)

พบได้ประมาณ 10-15% ของมะเร็งปอดทั้งหมด เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็ว และอาจสร้างสารเคมีทำให้เกิดการผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ ผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว การรักษาประคับประคองจะใช้วิธีฉายรังสีและให้ยาเคมีบำบัด

  1. มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ( non-small cell lung cancer)

พบได้ประมาณ 75-90 % ของมะเร็งปอดทั้งหมด มีการดำเนินโรคที่ช้ากว่า มีโอกาสตรวจพบโรคในระยะต้นได้มากกว่ามะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก  สามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองออก

ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 10-30 เท่า เนื่องจากสารเคมีในควันบุหรี่ทำลายเซลล์ปอด  ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์  ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนบุหรี่และจำนวนปีที่สูบบุหรี่

อาการของโรคมะเร็งปอด

  • ไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด
  • น้ำหนักลด
  • หอบเหนื่อย
  • ปวดกระดูก
  • บวมบริเวณหน้า คอ แขนและอกส่วนบน เนืองจากก้อนมะเร็งกดทับเส้นเลือดใหญ่

ไอเป็นเลือด

การรักษาโรคมะเร็งปอด

สิ่งสำคัญของการรักษามะเร็งปอด คือ การพิจารณาตำแหน่ง ขนาด และระยะของเซลล์มะเร็ง รวมถึงสภาพร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย

  1. การผ่าตัด (surgery)

ใช้สำหรับการรักษามะเร็งในระยะแรกที่ยังไม่แพร่กระจาย ขนาดก้อนที่ไม่ใหญ่หรือมีการกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองใกล้ๆ และไม่มีการยึดติดกับอวัยวะสำคัญ  เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากโรคได้

  1. การฉายรังสี (radiotherapy)

เป็นวิธีการรักษาเฉพาะที่เช่นเดียวกับการผ่าตัด คือการใช้พลังงานรังสีที่มีความเข้มข้นฉายไปยังตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น  อาจมีผลข้างเคียง เช่น กลืนลำบาก อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี

มะเร็งปอด

  1. การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy)

โดยให้ยาหยดเข้าทางหลอดเลือด เพื่อกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้ตรวจจับและทำลายเซลล์มะเร็ง มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาเคมีบำบัด

  1. การให้เคมีบำบัด ( chemotherapy)

เป็นการใช้ยากำจัดและยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ทั่วร่างกาย โดยการฉีดหรือผสมหยดยาเข้าไปทางหลอดเลือด ซึ่งตัวยาจะผ่านเข้าไปในระบบไหลเวียนเลือดและเข้าสู่เซลล์มะเร็งทางเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง

  1. การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง (targeted therapy)

เป็นวิธีการที่มีเป้าหมายเพื่อยับยั้งโปรตีนซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการควบคุมกลไกการเกิดมะเร็ง โดยการรับประทานยา มีผลข้างเคียงน้อยและได้ผลดีในผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษา

  1. การรักษาแบบผสมผสาน

เป็นการใช้หลายๆวิธีร่วมกัน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาวิธีแรก

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : โรคมะเร็งปอด

วิธีการเลิกสูบบุหรี่

โรคถุงลมโป่งพอง

เป็นโรคที่เนื้อปอดค่อยๆเสื่อมสมรรถภาพ จากการได้รับควันบุหรี่   โดยปกติพื้นที่ปอดจะมีถุงลมเล็กๆกระจายอยู่เต็มทั่วปอด เพื่อทำหน้าที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย

ในควันบุหรี่มีก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อในปอดและถุงลมให้ฉีกขาดที่ละน้อยและรวมตัวกันเป็นถุงลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้พื้นผิวที่จะรับออกซิเจนน้อยลง จึงต้องหายใจเร็วขึ้นเพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพียงพอ เกิดเป็นโรคถุงลมโป่งพอง

ถุงลมโป่งพอง

ในรายที่เป็นมากจะไม่สามารถทำงานได้หรือทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติเพราะเหนื่อยมาก จนต้องนอนอยู่กับที่และรับออกซิเจนช่วยตลอดเวลา และจะทรมานจากการเหนื่อยหอบจนกว่าจะเสียชีวิต เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานเป็นเวลานานกว่าจะเสียชีวิต

อาการของโรคถุงลมโป่งพอง

  • มีอาการเหนื่อยเวลาออกแรงทำงานหนัก ถ้าเป็นมากในขณะพักก็มีอาการเหนื่อยได้
  • มีอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะหรือไม่มีก็ได้ มักมีอาการตอนเช้า

สาเหตุหลักๆของโรคนี้คือ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด นอกจากนี้ยังเกิดจากการสูดดมสิ่งที่เป็นพิษ เช่น ไอเสีย ฝุ่น สารเคมี เป็นระยะเวลานานๆ

การรักษาโรคถุงลมโป่งพอง

เนื่องจากโรคเกิดจากการมีหดเกร็งของกล้ามเนื้อเยื่อบุหลอดลม และ เสมหะในหลอดลม  ยาที่ใช้มี 5 ประเภทได้แก่

  1. ยาลดการอักเสบ
  2. ยาขยายหลอดลม
  3. ยาละลายเสมหะ
  4. ยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ
  5. การให้ออกซิเจนที่บ้านตามความจำเป็น

ให้ออกซิเจน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : โรคถุงลมโป่งพอง

ผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่นๆ

การสูบบุหรี่อาจมีผลต่อสุขภาพด้านอื่นๆได้อีกด้วย เช่น

  • ผมร่วง มีแผลในปาก
  • ผื่นขึ้นที่ใบหน้า หนังศีรษะและมือ
โรคตาต้อกระจก
  • ต้อกระจก คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นต้อกระจกมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ 40 เท่า
  • ผลต่อสุขภาพช่องปาก มีโอกาสเกิดโรคมะเร็งในช่องปากและเหงือก โดยควันบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อที่ยึดระหว่างเหงือกและฟัน ทำให้เหงือกร่น และเกิดการเสียวฟันได้ นอกจากนี้จะเกิดกลิ่นปาก มีคราบบุหรี่ติดที่เหงือกและฟัน
  • เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ติดเชื้อโรคที่ชื่อ pyroli ก่อให้เกิดแผลในกระเพาะ
  • ผิวหนังเหี่ยวย่น เนื่องจากการขาดวิตามิน และการสูบบุหรี่ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ผิวหนังลดลง ผิวจึงแห้ง หยาบ และมีริ้วรอย
  • กระดูกพรุน การสูบบุหรี่ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลงและหักง่าย
  • มีภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ การสูบบุหรี่ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงองคชาติได้น้อยลง เกิดความบกพร่องด้านการแข็งตัวได้ นอกจากนี้ยังทำให้เชื้อสุจิผิดปกติได้
  • ในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ยังทำให้เกิดปัญหาการมีบุตรยาก เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์และคลอดบุตรได้

สรุป

บุหรี่ นับเป็นสิ่งเสพติดเพียงชนิดเดียวในปัจจุบันที่ยังมีการซื้อขายและเสพกันอย่างถูกกฎหมาย คนไทยจำนวนมากยังคงสูบบุหรี่แม้จะทราบดีถึงพิษภัยอันสืบเนื่องมาจากบุหรี่เป็นอย่างดี  ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ถึงวันละ 13,700 คนหรือชั่วโมงละ 570 คน สำหรับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากบุหรี่วันละ 142 คน ถึงแม้ว่าเราจะมีการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่กันอย่างจริงจังมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แต่ยังไม่ประสพผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า