การใช้สมุนไพรไทยดูแลภาวะลองโควิด

สมุนไพรไทยรักษาลองโควิด

มีคนจำนวนหนึ่ง มากกว่าร้อยละ 50 จะมีอาการผิดปกติที่หลงเหลืออยู่หลังหายป่วยจากการติดเชื้อ covid -19  ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่แข็งแรง และไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ซึ่งถ้าไม่รุนแรง สามารถใช้สมุนไพรดูแลสุขภาพได้ เพราะผู้ป่วยมักมีอาการยาวนานมากกว่า 4 สัปดาห์ ถึง 12 สัปดาห์  โดยสามารถเกิดได้ทุกระบบของร่างกายตั้งแต่ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด  ระบบผิวหนัง และ ระบบสุขภาพจิต

ลองโควิด

1.อาการ Long covid

หมายถึง อาการผิดปกติที่พบหลังจากการรักษาภาวะติดเชื้อ COVID-19 หายดีแล้ว อาจเรียกว่า Post Covid condition ,Post Covid syndrome. ซึ่งมักมีอาการอยู่นานถึง 1-3 เดือน จะพบได้มากในกลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ มีโรคประจำตัว เพศหญิงพบได้มากกว่าเพศชาย และผู้ป่วยที่เชื้อมีการทำลายระบบทางเดินหายใจจนทำให้มีอาการรุนแรงในช่วงที่มีการติดเชื้อ

สาเหตุมาจากในช่วงระหว่างที่มีการติดเชื้อไวรัส   ภูมิต้านทานของร่างกายมีการตอบสนองต่อการอักเสบติดเชื้อที่มากเกินไปจนส่งผลกระทบต่อเซลล์ของตัวผู้ป่วยเองด้วย นอกจากนี้ ตัวไวรัส COVID-19 ยังไปทำลายระบบสมดุลไมโครไบโอม ( Microbiome)หรือระบบนิเวศน์ที่ดีของจุลลินทรีย์ในร่างกายส่งทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย  ตลอดจนการมีชิ้นส่วนของไวรัสที่ถูกกำจัดไม่หมด ยังหลงเหลืออยู่ภายในร่างกายเองด้วย

ภาวะลองโควิด

ภาวะนี้ก่อให้เกิดผลกระทบทั่วร่างกาย โดยสามารถแบ่งออกได้ 6 ระบบดังนี้

  1. ระบบทางเดินหายใจ :

    ผู้ป่วยจะมีอาการไอเรื้อรัง และไอมากขึ้นเวลาที่หายใจเข้า แนะนำให้พบแพทย์ทันที ถ้ามีอาการไอและเสมหะมาก ไข้สูง หอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส เนื่องมาจากเชื้อไวรัสได้มีการแพร่กระจายเข้าไปในเซลล์ประสาทดมกลิ่นในโพรงจมูก อาการสูญเสียการรับกลิ่นจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 1 เดือน และหายเป็นปกติภายใน 2 เดือน ส่วนอาการลิ้นไม่รับรสจะหายช้ากว่าเล็กน้อย โดยอาการทั้งหมดนี้อาจจะไม่กลับมาเป็นปกติ 100 % ในช่วงแรก แต่จะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ และกลับมาเป็นปกติในที่สุด

ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองและฟื้นฟูสุขภาพได้โดย ฝึกดมกลิ่น (olfactory training)  เพื่อช่วยให้อาการกลับมาดีขึ้นโดยเร็ว  โดยการดมกลิ่นอ่อนๆ เช่น น้ำหอม สบู่ ไม่แนะนำให้ดมกลิ่นแอลกอฮอล์ แอมโมเนีย หรือของที่มีกลิ่นแรงๆ เนื่องจากกลิ่นดังกล่าวสามารถเข้าไปทำลายเซลล์เยื่อบุทางเดินหายใจและระบบประสาทการรับกลิ่นได้

เช่นเดียวกับการฟื้นฟูของระบบประสาทการรับรส ไม่ควรรับประทานอาหารรสจัดเช่น เคี้ยวพริก เพราะจะไปทำลายเซลล์ประสาทและยิ่งทำให้หายช้าลงด้วย

2.ระบบสุขภาพ:

ผู้ป่วยมีอาการนอนหลับยาก หลับไม่สนิท

3ระบบประสาท :

ผู้ป่วยจะมีอาการหลงลืม ไม่มีสมาธิ ที่เรียกว่า Brain fog

4.ระบบทั่วไปของร่างกาย :

ผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เกิดจากเชื้อไวรัสไปกระตุ้นสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบทั่วทั้งร่างกาย ทำให้มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ตัวบวม ผู้ป่วยจะเหนื่อยง่าย รู้สึกร่างกายไม่แข็งแรง ซึ่งอาการควรจะค่อยๆดีขึ้นภายใน 1 เดือน แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 เดือน ควรพบแพทย์เพื่อหาภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่น

5.ระบบผิวหนัง :

ที่พบบ่อยคือ ผมร่วง เพราะเชื้อไวรัสเข้าไปให้เซลล์รากผมมีการอักเสบและถูกทำลาย ทำให้เส้นผมถูกกระตุ้นให้หลุดร่วงเร็วกว่าปกติ และในผู้ป่วยบางราย อาจมีผื่นคันเรื้อรังได้

6.ระบบหัวใจและหลอดเลือด :

เช่น เส้นเลือดสมองตีบ หรือ แตก เจ็บหน้าอก

ถ้าต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม แนะนำให้อ่านที่นี่คะ การดูแลภาวะ long covid

2.การใช้สมุนไพรเสริมการรักษาอาการ Long COVID -19

บางครั้งแม้ว่าเราจะดูแลร่างกายอย่างดี เราก็ยังมีโอกาสเจ็บป่วยได้ สมุนไพรมีบทบาทช่วยส่งเสริมสุขภาพในหลายด้าน เช่น

  • เสริมภูมิคุ้มกันหรือปรับภูมิคุ้มกัน
  • บำรุงปอด
  • บรรเทาอาการหวัด เช่น ไข้ ไอ หวัด เจ็บคอ คัดจมูก
  • ช่วยขับของเสีย ขับเสมหะ ขับเหงื่อ
  • ต้านไวรัส

โดยปกติอาการไข้ ไอ เป็นกลไกธรรมชาติของร่างกายเพื่อกำจัดเชื้อ อุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มขึ้น ช่วยทำให้สภาพแวดล้อมของร่างกายไม่เอื้อต่อการอยู่รอดของเชื้อ  การเป็นหวัดระยะแรก เชื้อไวรัสยังไม่ลงปอด ร่างกายสามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้โดยง่าย การใช้สมุนไพรรับประทานที่ช่วยขับเหงื่อ จะช่วยลดไข้และช่วยส่งเสริมกลไกของร่างกายในการขับเชื้อโรคให้ออกจากร่างกาย

 

สมุนไพรไทย

3.สมุนไพรที่ช่วยบรรเทาอาการไอจาก Long COVID 19

สมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยฟื้นฟูปอด โดยทำให้ร่างกายดูดซับออกซิเจนได้มากขึ้น สามารถบรรเทาอาการหายใจสั้น หายใจถี่ เหนื่อยหอบ ได้แก่

กระชายดำ

เป็นพืชวงศ์เดียวกับ กระชาย ข่า ขิง ขมิ้น มีชื่อภาษาอังกฤษว่า black ginger เนื่องจากมีลักษณะเหง้าคล้ายขิง แต่เนื้อในออกสีม่วงดำ  ชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Kaemferia parviflora Wall.ex Baker

สารสำคัญในกระชายดำได้แก่ น้ำมันหอมระเหย สารฟลาโวนอยด์ มีฤทธิ์เพิ่มการไหลเวียนเลือด  ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว จึงช่วยเพิ่มการไหลเวียนดูดซับออกซิเจนให้ดีขึ้นได้

กระชายดำ
กระชายดำ

เห็ดหลินจือ

ในประเทศไทยเรียกว่า เห็ดหมื่นปี มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Lacquered mushroom ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ganoderma lucidum (Fr.) Karst.จัดเป็นราชาแห่งสมุนไพรจีน

สารสำคัญในเห็ดหลินจือ ได้แก่ สารกลุ่ม Polysaccharides,สารกลุ่มTriterpenoids,สารกลุ่ม Sterols,สารกลุ่ม fatty acid และสารกลุ่ม glycoprotein. ซึ่งจะพบในส่วนสปอร์มากกว่าส่วนดอก และสปอร์ที่กระเทาะเปลือกหุ้มออกจะออกฤทธิ์ทางยาได้ดีกว่าสปอร์ที่ไม่กระเทาะเปลือกหุ้มออก

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสาระสำคัญเหล่านี้คือ ต้านการอักเสบ ต้านการออกซิเดชั่น โดยเฉพาะสารที่ชื่อ Germanium ในเห็ดหลินจือมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนโลหิต จึงช่วยให้มีร่างกายสามารถดูดซับออกซิเจนได้ดีขึ้น

เห็ดหลินจือ
เห็ดหลินจือ

4.สมุนไพรบรรเทาอาการอ่อนเพลีย

ตำรับประเภทยาหอม หรือ ยาลม สามารถช่วยลดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า แน่นหน้าอก ช่วยทำให้สดชื่น ผ่อนคลาย ลดอาการวิตกกังวล

ในทางการแพทย์แผนไทย ตำรับยาหอม เป็นยาที่ใช้บำรุงหัวใจ หมายถึงช่วยปรับการทำงานของลมที่เคลื่อนไหวทั่วร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อจิตใจ อารมณ์ความรู้สึก การหมุนเวียนของเลือด เรียกว่าลมกองละเอียด

ยาหอมบางชนิดใช้แก้ปัญหาที่เกิดจากลมกองหยาบ ซึ่งหมายถึง ลมที่อยู่ภายในทางเดินอาหาร  และทำให้เกิดอาการจุกเสียด

ตำรับยาหอม ประกอบด้วยสมุนไพรจำนวนมาก ใช้เพื่อปรับการทำงานของ ธาตุลม ไฟ น้ำ ให้เข้าสู่สมดุล

ตำรับยาหอมที่รู้จักและมีการใช้กันมาก มี 4 ตำรับ คือ ยาหอมเทพจิตร  ยาหอมทิพโอสถ ยาหอมอินทจักร และ ยาหอมนวโกฐ   แต่ที่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยกลุ่มอาการลองโควิด คือ ตำรับยาหอมเทพจิตร  มีสรรพคุณ แก้ลมกองละเอียด ได้แก่ อาการหน้ามืด ตาลาย สวิงสวาย (อาการที่รู้สึกใจหวิววิงเวียน คลื่นไส้ ตาพร่าจะเป็นลม) ใจสั่น และบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น

ยาหอมเทพจิตร

ประกอบด้วยตัวยา 48 ชนิด ตัวยาหลักคือดอกมะลิ ซึ่งมีน้ำหนักครึ่งหนึ่งของน้ำหนักยา มีสรรพคุณบำรุงจิตใจให้ชุ่มชื้น และเปลือกส้ม 8 ชนิดรวม 56 ส่วนใน 368 ส่วนของทั้งตำรับ มีสรรพคุณแก้ลม วิงเวียน หน้ามืด ตาลาย คลายวิตกกังวล

สูตรยาหอมเทพจิตร

ตัวยาสำคัญ:
1. ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง ดอกบัวขม ดอกบัวเผื่อน หนักสิ่งละ 4 กรัม ดอกมะลิ หนัก 183 กรัม
2. ผิวมะกรูด ผิวมะงั่ว ผิวมะนาว ผิวส้มตรังกานูหรือส้มจุก ผิวส้มจีน ผิวส้มโอ ผิวส้มเขียวหวาน หนักสิ่งละ 4 กรัม ผิวส้มซ่า หนัก 28 กรัม
3. โกฐสอ โกฐเขมา โกฐหัวบัว โกฐเชียง โกฐจุฬาลัมพา โกฐกระดูก โกศก้านพร้าว โกฐพุงปลา โกฐชฎามังสี หนักสิ่งละ 4 กรัม
4. เทียนดำ เทียนแดง เทียนขาว เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน เทียนเยาวพาณี เทียนสัตตบุษย์ เทียนเกล็ดหอย เทียนตากบ หนักสิ่งละ 4 กรัม
5. ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ ลูกกระวาน ดอกกานพลู แก่นจันทน์แดง แก่นจันทน์ขาวหรือ แก่นจันทน์ชะม กฤษณา กระลำพัก ขอนดอก เปลือกชะลูด เปลือกอบเชย หัวเปราะหอม รากแฝกหอม หนักสิ่งละ 2 กรัม
6. พิมเสน หนัก 4 กรัม การบูร หนัก 1 กรัม

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ : บัญชียาหลักแห่งชาติ

5. สมุนไพรช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ

ผู้ป่วยบางคนหลังหายป่วยจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 จะมีอาการนอนหลับยาก หลับไม่สนิท มึนงง เวียนศีรษะ ไม่มีสมาธิ

สมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ช่วยบรรเทาอาการและเสริมการรักษาอาการด้านระบบประสาทและสุขภาพจิตได้แก่

แป๊ะก๋วย

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Ginkgo biloba Linn. เป็นพืชพื้นเมืองของจีนและญี่ปุ่น  ชาวจีนนิยมรับประทานเมล็ดแป๊ะก๋วย  ในตำรายาจีน ใช้รักษาโรคหอบหืด หลอดลมอักเสบ แก้ไอ ขับปัสสาวะ

สารสกัดใบแป๊ะก๋วย มีสารประกอบเคมีที่มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา 2 กลุ่มคือ

  1. Flavonoids เช่นkaempferol,quercetine,isohamnetine
  2. Terpenes เช่น ginkgolide A ,B,C  และ bilobalide เป็นต้น

การสกัดสารสำคัญออกมาต้องผ่านขบวานการหลายขั้นตอนเพื่อกำจัดส่วนที่เป็นสารพิษ คือ ginkgolic acid ออกไปก่อนนำมาใช้  โดย WHO กำหนดระดับความปลอดภัยไว้ที่ระดับน้อยกว่า 5 ppm

ยาเตรียมจากใบแป๊ะก๋วย มีคุณสมบัติรักษาโรคในผู้สูงอายุที่เกิดจากการไหลเวียนของเลือดไปที่อวัยวะส่วนปลายและสมองผิดปกติ ซึ่งผู้ป่วยมักมีอาการ วิงเวียนศีรษะ หูอื้อ ความจำเสื่อม

ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ได้ให้การยอมรับและนำยาที่เตรียมจากสารสกัดใบแป๊ะก๋วยมารักษาโรคสมองเสื่อม ในขนาดยา 120-240 มก. ต่อวัน  โดยได้ผ่านการพิสูจน์ทางคลินิกแล้วว่าได้ผลดี

ยาตำรับไทย อภัยบี

 เป็นตำรับยาที่ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ เตรียมจากสมุนไพร 3 ตัว ในปริมาณสัดส่วนเท่าๆกัน คือ

  • กลีบบัวหลวงสีแดง (Nelumbo nucifera Gaerten)
  • บัวบก( Centella asiatica (L.) Urb.)
  • เมล็ดพริกไทย (Piper nigrum L.)ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับ

วิธีรับประทานครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า เย็น หรือ 2 เม็ดก่อนนอน โดยมีการศึกษาพบว่าช่วยให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้นในทุกด้าน ตั้งแต่หลับได้เร็วขึ้น ระยะเวลาการนอนหลับยาวนานขึ้น และหลับได้สนิทมากขึ้น

นอกจากนี้ยังใช้แก้ลมที่ค้างในศีรษะ บรรเทาอาการปวดศรีษะ เครียด และหลงลืมได้ด้วยโดยการศึกษาพบว่า ยาอภัยบีมีกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาดังนี้

  • สามารถยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Acetylcholinesterase
  • ยับยั้งการเกาะกลุ่มกันของโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์ 1-42
  • ป้องกันเซลล์ประสาทจากการถูกทำลายโดยพิษของโปรตีนเบต้าอะไมลอยด์1-42
  • ปกป้องเซลล์ประสาทจากภาวะ oxitative stress ที่เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อม

6.สมุนไพรบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

มีผู้ป่วยบางกลุ่มมีอาการทางระบบทั่วไปเช่น อาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดข้อ ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถใช้สมุนไพรเช่น ขมิ้นชัน เถาวัลย์เปรียง และตำรับยาสหัสธารา รักษาได้

ขมิ้นชัน

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma longo L. อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae  สารสำคัญที่พบในขมิ้น มี 2 กลุ่มคือ น้ำมันหอมระเหย(essential oil) และสารเคอร์คูมินอยด์ (curcuminoids) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบและฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ

ในประเทศอินเดียมีการใช้ผงขมิ้นผสมกับน้ำมะนาวพอกเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ บวม เคล็ดขัดยอก  สอดคล้องกับการศึกษาในประเทศไทยที่มีการใช้ขมิ้นชันรักษาอาการปวดจากโรคข้อเสื่อม โดยใช้ในขนาด 500 มก. วันละ 4 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกันนาน 6 สัปดาห์ ให้ผลการรักษาเทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน

เถาวัลย์เปรียง

มีชื่อทางวิทยาศ่าสตร์ว่า Derris scandens (Roxb.) Benth.  สารออกฤทธิ์สำคัญในเถาวัลย์เปรียงได้แก่

  • isoflavone glycoside
  • 3-ary-4-hydroxycoumarins
  • lupeol
  • taraxerol,
  • b-sitosterol

ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบตามข้อ  เทียบเท่ายาแผนปัจจุบัน ในการรักษาโรคปวดหลังส่วนล่างและปวดจากข้อเสื่อม

ตำรับยาสหัสธารา

ประกอบด้วยสมุนไพร 21 ชนิด  ได้แก่

1.โกฐพุงปลา

2.โกฐก้านพร้าว

  1. โกฐเขมา

4.เทียนสัตตบุษย์

  1. เทียนขาว

6.โกฐกักกา

7.เทียนดำ

  1. รากจิงจ้อใหญ่

9.มหาหิงค์

  1. เทียนตาตั๊กแตน

11.เทียนแดง

12.เนื้อลูกจันทน์

13.ดอกจันทน์

  1. การบูร

15.หัสคุณ

16.ตองแตก

17.ว่านน้ำ

18.ดอกดีปลี

  1. เนื้อลูกสมอไทย

20.รากเจตมูลเพลิงแดง

21.พริกไทยอ่อน

สรรพคุณคล้ายกับเถาวัลย์เปรียง แต่จะมีจุดเด่นเรื่องขับลมในเส้นเอ็น ลดการอักเสบในข้อ

7.สมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการจมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส

อาการบกพร่องของประสาทสัมผัส เรื่องการรับกลิ่นและรสที่เปลี่ยนไปจะค่อยๆดีขึ้นเองได้ การใช้สมุนไพรเช่น จันทน์ลีลา จะช่วยให้หายกลับเป็นปกติเร็วขึ้น

ตำรับยาจันทน์ลีลา

มีสมุนไพร 9 ชนิด ในผงยา 99 กรัม ประกอบด้วย โกฐสอ  โกฐเขมา  โกฐจุฬาลัมพา แก่นจันทน์ขาว แก่นจันทน์แดง ลูกกระดอม เถาบอระเพ็ด รากปลาไหลเผือก สัดส่วน 12 กรัมเท่าๆกัน และพิมเสน  3 กรัม

จันทน์ลีลา
สมุนไพร 9 ชนิด
  • โกฐสอ มีชื่อวิทยาศาสตร์ Angelica dahurica (Fisch. Ex Hoffm.) Benth.&Hook. F .ex Franch.&Sav. มีรสยาขม มัน สรรพคุณลดไข้ แก้ไอ แก้หืด
  • โกฐเขมา มีชื่อวิทยาศาสตร์ Atractylodes lancea (Thunb.) DC.รสยาร้อน สรรพคุณ แก้โรคเข้าข้อ ยาบำรุงธาตู ยาขับปัสสาวะ ระงับอาการหอบ แก้หวัดคัดจมูก แก้ไข้ แก้เหงื่อออกมาก
  • โกฐจุฬาลัมภามี ชื่อวิทยาศาสตร์ Artemisia annua L. รสยาสุขุมร้อน ยาขับเหงื่อ
  • จันทน์แดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Pterocarpus santalinus L.f. รสยาขมเย็น บำรุงหัวใจ แก้อาการปวดบวม
  • จันทน์ขาว ชื่อวิทยาศาสตร์ Santalum album L. รสยาเผ็ดหวาน สรรพคุณ บำรุงประสาท แก้กระหายน้ำ ขับพยาธิ
  • ลูกกระดอม ชื่อวิทยาศาสตร์ Gymnopetalum Chinese (Lour.) Merr. ยาขม บำรุงธาตุ เจริญอาหาร
  • เถาบอระเพ็ด ชื่อวิทยาศาสตร์ Tinospora crispa (L.) Hook. F.&Thomson รสยาขม แก้โลหิตพิการ
  • รากปลาไหลเผือก ชื่อวิทยาศาสตร์ Eurycoma longifolia Jack รสยาขม แก้ไข้ แก้พิษฝี

8.สมุนไพรที่ใช้บรรเทาอาการผื่นคัน

ตำรับยาห้าราก

ได้รับการจดทะเบียนเป็นยาจากสมุนไพร ในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีสรรพคุณช่วยกระทุ้งพิษไข้ออกผื่นที่ตกค้างในร่างกาย มีชื่ออื่นๆเช่น ยาเบญจโลกวิเชียร ยาแก้วห้าดวง ยาเพชรสว่าง  ประกอบด้วยสมุนไพร 5 ชนิด. ในอัตาส่วนเท่าๆกัน ได้แก่

  1. คนทา ( Harrisonia perforate (Blanco) Merr.)
  2. ชิงซี่ (Capparis micracantha DC.)
  3. เท้ายายม่อม (Clerodendrum indicum (L.) Kuntze)
  4. มะเดื่อชุมพร ( Ficus racemasa L.)
  5. ย่านาง ( Tiliacora triandra (Colebr.) Diels)
ห้าราก
ตำรับยาห้าราก

มีการศึกษาฤทธิ์ลดอาการแพ้ ผลการศึกษาพบว่าให้ผลดีกว่า CPM. Chlorpheniramine  และมีการศึกษาการนำมาใช้เป็นยาทาภายนอกเพื่อบรรเทาอาการผดผื่นคันตามผิวหนัง โดยการนำผงยามาละลายกับน้ำต้มสุก ทาบริเวณผดผื่นคัน พบว่าได้ผลดี

สรุป

ผู้ป่วยที่เคยป่วยติดเชื้อไวรัส SARS-CoV 2 ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลังหายป่วย เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลยและควรใส่ใจดูแล ฟื้นฟูสุขภาพให้กลับมาแข็งแรงสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด โดยถ้าอาการไม่รุนแรงในเบื้องต้น สามารถใช้สมุนไพรควบคู่กับการดูแลด้านโภชนาการและการออกกำลังกายที่เหมาะสม นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ  แต่หากมีอาการผิดปกติรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า