การใช้ยาถ่ายพยาธิ จะต้องเลือกใช้ให้ตรงกับชนิดของพยาธิที่อยู่ในร่างกาย พยาธิจัดเป็นปรสิต (parasite) ความหมายคือ เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์และสัตว์ คอยแย่งอาหาร หรือดูดเลือด และมักจะทำให้เกิดอันตรายต่อคนและสัตว์ตามอวัยวะต่างๆที่มันอาศัยอยู่ ทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร ทรุดโทรม และอาจมีอาการแพ้ต่อสารที่ขับออกมาจากตัวพยาธิ
โรคพยาธิเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วโลก ในแต่ละประเทศก็จะมีชนิดของพยาธิที่แตกต่างกันออกไป แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย โรคพยาธิที่สำคัญและพบได้บ่อยคือ พยาธิที่มีวงจรชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในดิน เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิแส้ม้า พยาธิปากขอ เป็นต้น.
พยาธิเข้าสู่ร่างกายคนได้อย่างไร
พยาธิสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้หลายทาง เช่น
1.ทางปาก :
ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของ ไข่หรือตัวอ่อนของพยาธิ เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิเข็มหมุด พยาธิตัวตืด และ พยาธิใบไม้
2. ไชเข้าทางผิวหนัง :
ได้แก่ การเดินเท้าเปล่าบนพื้นดินหรือการใช้มือเปล่าหยิบจับเนื้อดิบ เช่น พยาธิปากขอ พยาธิสตรองจิรอยด์ พยาธิตัวจี๊ด
3. ทางหายใจ :
ได้แก่ การสูดดมไข่พยาธิที่ลอยอยู่ในอากาศ เช่น ไข่พยาธิเข็มหมุด
4. ทางเพศสัมพันธ์ :
ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ เช่น เชื้อ Trichomonas vaginilis ซึ่งเป็นโปรโตซัวชนิดหนึ่ง
อาหารแบบใดที่มักพบพยาธิ
1. พยาธิใบไม้ในตับ :
พบในอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดที่ไม่สุก เช่น ปลาร้าดิบ ส้มปลา
2. พยาธิตัวตืด :
พบในเนื้อหมู เนื้อวัว ที่ปรุงไม่สุก สามารถมองเห็นตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด เป็นลักษณะเม็ดสาคู หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาดจะมีไข่พยาธิปนเปื้อน
3. พยาธิไส้เดือนและพยาธิแส้ม้า :
พบในผัก ผลไม้ที่ล้างไม่สะอาด อาหารที่มีแมลงวันตอม หรืกการหยิบของที่ตกบนพื้นดินเข้าปาก
4. พยาธิตัวจี๊ด :
พบในเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก เช่น ปลา ไก่ กบ เป็นต้น
ชนิดของพยาธิ
พยาธิที่ก่อโรคในคน มี 3 กลุ่ม
1. กลุ่มพยาธิตัวกลม (Nematodes) :
รูปร่างทรงกระบอก หัวท้ายเรียวแหลม ลำตัวไม่แบ่งเป็นปล้อง ได้แก่
- พยาธิไส้เดือน (roundworm)
- พยาธิเส้นด้าย (threadworm)
- พยาธิปากขอ (hookworm)
- พยาธิตัวจี๊ด ( gnathostome spinigerum)
- พยาธิแส้ม้า (trichuris trichiuria)
- พยาธิสตรองจิลอยด์ (strongylodies stercaralis)
2. กลุ่มพยาธิตัวแบน ( Cestode หรือ Tapeworm):
มีลำตัวแบนและแบ่งเป็นปล้องๆ ได้แก่
- พยาธิตืดหมู ( Taenia solium)
- พยาธิตืดวัว (Taenia saginata)
3. กลุ่มพยาธิใบไม้ ( Trematoes หรือ Fluke)
มีลำตัวแบนและไม่แบ่งเป็นปล้องๆ ได้แก่
- พยาธิใบไม้ในเลือด ( Schisotoma species)
- พยาธิใบไม้ในตับ ( Opisthorchis viverrine)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ โรคพยาธิ
อาการของโรคพยาธิ
โดยทั่วไปมักไม่แสดงอาการผิดปกติอย่างชัดเจน ถ้ามีจำนวนพยาธิไม่มาก และอาการจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ชนิด จำนวน ขนาด ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ และ ตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่ อาการจะแสดงแตกต่างกันไปตามชนิดพยาธิ
1. ชนิดพยาธิที่อาศัยอยู่ในลำไส้
เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ พยาธิเส้นด้าย พยาธิแส้ม้า ผู้ป่วยอาจมีอาการ ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด น้ำหนักลด คันรอบทวารหนัก เป็นผื่นลมพิษ
2. ชนิดของพยาธิที่ไชตามใต้ผิวหนัง
เช่น พยาธิตัวจี๊ด ผู้ป่วยมักมีอาการ ผื่นคันที่ผิวหนัง มีก้อนบวมแดง ตึง ปวด คัน เคลื่อนย้ายที่ได้ กดแล้วไม่บุ๋ม
3. ชนิดของพยาธิที่ไชไปตามอวัยวะต่างๆ
เช่น พยาธิใบไม้ในตับ : ผู้ป่วยอาจมีอาการ ปวดท้องใต้ชายโครงขวา จุกแน่นลิ้นปี่ ตัวเหลือง ตาเหลือง
พยาธิใบไม้ในปอด : ผู้ป่วยอาจมีอาการ ไอมีเสมหะ สีเหลือง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก
วิธีป้องกันไม่ให้พยาธิเข้าสู่ร่างกาย
- เลือกซื้ออาหารที่สดใหม่สะอาด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ต้องไม่มีลักษณะเป็นเม็ดสาคูปนเปื้อน
- ไม่หยิบของที่ตกพื้นแล้วเข้าปาก
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ หรือ สุกๆดิบๆ เช่นการบีบมะนาวลงบนเนื้อสัตว์ เป็นเพียงการทำให้เนื้อสัตว์เปลี่ยนสีเท่านั้น ไม่ได้ทำให้เนื้อสัตว์สุกแต่อย่างใด
- การรับประทานผักสด จะต้องล้างผักด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง
- ล้างมือให้สะอาดก่อนทำอาหารและรับประทานอาหาร
ยาถ่ายพยาธิ ในร้านยา
1. Mebendazole : มีเบนดาโซล
ออกฤทธิ์โดยกลไกที่ทำให้พยาธิขาดพลังงานที่จะใช้ในการดำรงชีวิตและสืบพันธ์ ทำให้พยาธิไม่สามารถเคลื่อนที่ได้และตายในที่สุด เป็นยาที่มีประสิทธิภาพการรักษาหายสูงถึงร้อยละ 95 ตัวอย่างยาที่มีขายในท้องตลาด เช่น ฟูกาคาร์ ,เบนด้า 500 อาการหรือผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังรับประทานยา อาจมีอาการปวดท้อง ท้องเสีย
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยา
- คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยา
- ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคตับ ถ้าต้องใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เพราะทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ การทำงานของตับผิดปกติ
- ห้ามใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่1 คือ อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ 1-3 เดือน
- ระมัดระวังในหญิงให้นมบุตร
- ไม่แนะนำการใช้ยาในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
2. Albendazole : อัลเบนดาโซล
มีกลไกการออกฤทธ์เหมือนกับ Mebendazole เป็นยาที่มีประสิทธิภาพการรักษาหายสูงถึงร้อยละ 80 ตัวอย่างยาที่มีขายในท้องตลาด เช่น เซนเทล ( zentel) , อัลเบน ( Alben)
อาการหรือผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังรับประทานยา
- ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
- ผมร่วง
- เมื่อใช้ต่อเนื่องนาน อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ การทำงานของตับผิดปกติ
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยา
- ระมัดระวังการใช้ยาในผู้ที่เป็นโรคตับและลมชัก
- ห้ามใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสที่1 คือ อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ 1-3 เดือน
- ระมัดระวังในหญิงให้นมบุตร
- ถ้าใช้รักษาโรคพยาธิชนิดที่อยู่ในลำไส้ ให้รับประทานยาตอนท้องว่างหรือก่อนนอน
- ถ้าใช้รักษาโรคพยาธิชนิดที่อยู่ในเนื้อเยื่อเช่นใต้ผิวหนัง ให้รับประทานยาหลังอาหารทันที และถ้าเป็นไปได้ให้เป็นมื้อที่มีอาหารไขมันสูง
3. Niclosamide : นิโคลซาไมด์
ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิตัวตืด กลไกการออกฤทธิ์ของยาคือขัดขวางขบวนการสร้างพลังงานในการดำรงชีวิตและสืบพันธุ์ทำให้พยาธิตายในที่สุด
ตัวอย่างยาที่มีขายในท้องตลาด ได้แก่ โยมีซาน (Yomesan) เซนด้า (Zenda)
อาการหรือผลข้างเคียงที่อาจพบหลังรับประทานยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้
- เคี้ยวยาให้ละเอียดก่อนกลืน
- ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3-7 วัน หลังรับประทานยา
- รับประทานยาตอนท้องว่างช่วงเช้า หลังรับประทานยา 2 ชั่วโมง ให้ทานยาระบาย มะขามแขก หรือ bisacodyl ตามเพื่อกำจัดพยาธิตัวเต็มวัยและไข่พยาธิไม่ให้ย้อนกลับขึ้นมาในลำไส้ เพราะอาจทำให้ตัวอ่อนพยาธิที่ออกจากไข่ ชอนไชไปฝังตัวที่อวัยวะต่างๆ ซึ่งจะเห็นเป็นลักษณะเม็ดสาคู ( cysticercosis)
4. Praziquantel : พลาซิควอนเทล
ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิใบไม้และพยาธิตัวตืด ออกฤทธ์โดยทำให้กล้ามเนื้อของพยาธิอ่อนแรง ตัวอย่างยาที่มีขายในท้องตลาด เช่น พราควานเทล ( Praquantel), พอนเทล ( Pontel)
กรณีพยาธิตัวตืด Praziquantel จะข้อดีกว่า Niclosamide คือไม่ทำให้ปล้องสลายตัว ดังนั้น พยาธิจะออกมาเป็นตัว เหมาะกับพยาธิตัวตืดหมู เพื่อป้องกันปล้องแตก ลดความเสี่ยงในการเกิด Cysticercosis
อาการหรือผลข้างเคียงที่อาจพบหลังรับประทานยา
- ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ผื่นคัน
- ง่วงนอน
คำแนะนำและข้อควรระวังในการใช้ยา
- ห้ามเคี้ยวยา เพื่อป้องกันรสขมจากยา
- รับประทานยาหลังอาหารทันที เพื่อป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน มวนท้อง
- ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3-7 วัน หลังรับประทานยา
- ระมัดระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- ห้ามใช้ในเด็กอายุน้อยกว่า 4 ปี
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ยาถ่ายพาธิตัวกลมและตัวตืด
วิธีใช้ ยาถ่ายพยาธิ
สำหรับวิธีรับประทาน ขนาด ระยะเวลา ในการใช้ยาแต่ละชนิด จะมีความแตกต่างกันไปสำหรับโรคพยาธิแต่ละชนิด ขนาดยา Albendazole และ Mebendazole ในผู้ใหญ่และเด็กมากว่า 2 ปี ใช้ขนาดเดียวกัน แต่สำหรับ Nicloosamide และ Praziquantel ขนาดยาที่ใช้ในเด็กลัผู้ใหญ่จะแตกต่างกัน และ มีเรื่องของน้ำหนักตัวคนไข้เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นก่อนใช้ยาควรขอคำแนะนำปรึกษาจากเภสัชกรเสมอ
หลังจากใช้ยาถ่ายพยาธิแล้ว หากไม่หายหรือยังมีอาการ สามารถให้ยาถ่ายพยาธิซ้ำได้ใน 3 สัปดาห์ถัดมา
ปกติแล้วผลข้างเคียงจากยาถ่ายพยาธิจะค่อนข้างพบน้อยมาก และส่วนใหญ่ อาการที่เกิดขึ้นมักดีขึ้นได้เอง ภายใน 48 ชั่วโมง อย่างไรก็ตามแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการต่อไปนี้
- อาการแพ้ยา เช่น ผื่นลมพิษ หายใจไม่ออก
- อาการแสดงถึงความผิดปกติของตับ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องส่วนบน เบื่ออาหาร ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะสีเข้มขึ้น เป็นต้น
- อาการแสดงถึงภาวะไขกระดูกถูกกด เช่นไข้ เจ็บคอ มีรอยช้ำ เลือดออกง่าย อ่อนแรง เพลีย ไม่สบาย
สรุป
ในปัจจุบันโรคพยาธิยังคงพบได้ทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท แม้ว่าจะมีอุบัติการณ์ที่ลดลงมากแล้วก็ตาม ดังนั้นยาถ่ายพยาธิจึงยังคงมีความจำเป็นในทางการแพทย์ โรคพยาธิเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขสักษณะของบุคคล เช่น เรื่องการล้างมือก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง ล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำ ตัดเล็บให้สั้น เพื่อป้องกันการนำไข่พยาธิเข้าสู่ร่างกาย การรับประทานอาหารปรุงสุกโดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ล้างผักให้สะอาดก่อนนำมารับประทาน การใส่รองเท้าเวลาออกนอกบ้าน ป้องกันพยาธิที่อาศัยอยู่ในดินชอนไชเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่กับการทานยารักษาโรคพยาธิ และจะเป็นการป้องกันไม่ให้ติดพยาธิซ้ำอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- ภญ.สาวิตตรี เหล่าไพบูลย์กุล,ภญ. วรัชยา ช่วยกาญจน์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ . การรักษาพยาธิชนิดที่ติดต่อทางดินที่พบบ่อย. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์.
- ภก. ดร. สันทัด จันทร์ประภาพ, โรคพยาธิและยาถ่ายพยาธิ. ภาควิชาเภสัชวิทยาและสรีรวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ศูนย์การศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์.
- รศ.ภญ. สุณี เลิศสินอุดม, การบริบาลเภสัชกรรมสำหรับอาการจากพยาธิในร้านยา. ภาควิชาเภสัชกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ สภาเภสัชกรรม
- สิ่งน่ารู้เกี่ยวกับโรคพยาธิ, โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
- ผศ.พญ. แสงศุลี ธรรมเกสร, ยาถ่ายจำเป็นต้องกินหรือไม่.
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
fixomull
สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกเด็กเล็ก
INNAQUA
เซรั่มแก้ผมร่วงฮีรูดอยด์
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา