ผนังด้านในช่องคลอดมีเซลล์เยื่อเมือกทำหน้าที่คอยสร้างน้ำเมือก ที่เรียกว่า ตกขาวหรือระดูขาว (leukorrhea or vaginal discharge) มีลักษณะเป็นของเหลว ใสหรือขุ่นก็ได้ อาจคล้ายน้ำแป้ง หรือ แป้งเปียก ปกติไม่มีกลิ่น หรืออาจมีกลิ่นคาวเล็กน้อย ทำหน้าที่ช่วยหล่อลื่นช่องคลอด กำจัดสิ่งแปลกปลอม ฆ่าเชื้อโรค และปรับสภาพความป็นกรดด่างในช่องคลอดให้สมดุล
ผู้หญิงทุกคนมีตกขาวเป็นเรื่องปกติ ช่วงเด็กอาจมีปริมาณเพียงเล็กน้อย เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยที่มีประจำเดือน จะมีปริมาณมากขึ้น บางช่วงอาจมีตกขาวมากกว่าปกติ เช่น ช่วงตั้งครรภ์ เวลาที่มีการกระตุ้นทางเพศ หลังมีกิจกรรมทางเพศ การใช้ยาคุมบางชนิด และระดูขาวจะลดน้อยลงจนถึงไม่มีเลยในช่วงวัยสูงอายุ
อย่างไรก็ตามเราสามารถแบ่งตกขาวออกเป็น 2 ประเภทคือ
- ตกขาวปกติ ( Physiologic vaginal discharge) : มีลักษณะเป็นของเหลว ใส ไม่มีสีหรือสีขาวขุ่น ไม่มีกลิ่น
- ตกขาวผิดปกติ ( Pathologic vaginal discharge) : เกิดจากช่องคลอดอักเสบ มีทั้งแบบ ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ
ประเภทของตกขาวผิดปกติ
ภายในช่องคลอดจะมีเชื้อแบคทีเรียทั้งชนิดดี เรียกว่า aerobes และชนิดก่อโรค เรียกว่า anaerobes
ในสภาวะปกติ เชื้อที่พบมากที่สุดคือ Lactobacillus acidophilus เป็นเชื้อแบคทีเรียชนิดดี ทำหน้าที่รักษาสมดุลในช่องคลอด โดยจะย่อยสลายสารที่สะสมอยู่ที่เยื่อบุช่องคลอด ไกลโคเจน (glycogen) เกิดเป็นกรดแลคติก แอซิด ( lactic acid) ทำให้สภาวะภายในช่องคลอดเป็นกรด มีค่า pH ประมาณ 3.8-4.2 ซึ่งทำให้เชื้อแบคที่เรียก่อโรค anaerobes ไม่สามารถเจริญเติบโตเพิ่มจำนวนขึ้นได้ ถ้าสมดุลตรงนี้เสียไป จะทำให้เกิดช่องคลอดอักเสบ และมีตกขาวที่ผิดปกติตามมา โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้
- Atrophic vaginitis : ตกขาวที่เกิดจากการที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดน้อยลง ทำให้มีการสะสมไกลโคเจนที่เยื่อบุเซลล์ผนังช่องคลอดน้อยลง ประกอบกับผนังช่องคลอดเริ่มบางลง และแห้ง ทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอด พบได้ในผู้หญิงวัยทอง และช่วงหลังคลอดบุตร
- Irritant vaginitis : ตกขาวที่เกิดจากการแพ้สิ่งแปลกปลอมจากภายนอก เช่น สบู่ ผ้าอนามัย ซึ่งในเด็กผู้หญิงบางคน ที่มีสุขอนามัยไม่ถูกต้อง อาจพบว่าจะมีตกขาวชนิดนี้ได้
- Infectious vaginitis : ตกขาวที่เกิดจากการติดเชื้อโรค แบ่งย่อยเป็น 3 ชนิด
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย Bacterial vaginosis : พบได้บ่อยที่สุด
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา Vulvovaginal Candidiasis : พบได้บ่อยเป็นอันดับรองลงมา
- ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อพยาธิโปรโตซัว Trichomonas vaginitis : พบได้ไม่บ่อยนัก
การรักษาอาการตกขาวจาก Atrophic และ Irritant vaginitis
เป็นการอักเสบที่เกิดจากการเสียสมดุลในช่องคลอด ทำให้ความเป็นกรดลดน้อยลง มีสภาวะ pH สูงขึ้นมากกว่า 4.5 คือมีความเป็นด่างมากขึ้น ทำให้แบคทีเรียชนิดไม่ดี Anaerobes เพิ่มจำนวนมากขึ้น เกิดระดูขาวที่มีกลิ่นและสีผิดปกติ อาจมีปัสสาวะแสบขัดร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
การรักษาจะมีเป้าหมายปรับสมดุลภายในช่องคลอดให้กลับมาสู่สภาวะเป็นกรดตามเดิม โดยการใช้ผลิตภัณฑ์เจลสำหรับสอดช่องคลอดที่มีส่วนประกอบสำคัญคือ Lactic acid และ Glycogen
ปัจจุบันในประเทศไทยมีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้จำหน่ายอยู่ 2 แบรนด์ คือ Balance Activ และ Canesbalance โดย 1 กล่องจะมี 7 หลอด
- วิธีใช้เพื่อรักษา : ใช้ครั้งละ 1 หลอด วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน เป็นเวลา 7 วัน
- วิธีใช้เพื่อป้องกัน : ใช้ครั้งละ 1 หลอด วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน หลังมีประจำเดือน เป็นเวลา 2-3 วัน
นอกจากนี้ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ชำระล้างบริเวณปากช่องคลอดที่เหมาะสม ก็มีส่วนช่วยป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะเสียสมดุลภายในช่องคลอดด้วย สามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ Saugella
โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย(Bacterial vaginosis)
สาเหตุเกิดจาก มีการเพิ่มจำนวนของแบคทีเรียชนิดไม่ดี ANAEROBES จำนวนมากไปแทนที่ แบคทีเรียชนิดดีประจำถิ่น Lactobacillus acidophilus
แบคทีเรียก่อโรค ได้แก่ Gardnerella vaginolis., Mycoplasma hominis, Prevotella species, Porphyromonas species, Bacteroides species.
พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคนี้ได้แก่ :-
- การสวนล้างช่องคลอด
- การใช้ยาปฏิชีวนะแบบไม่สมเหตุผล
- การมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้งหรือการมีคู่นอนหลายคน
ผู้หญิงส่วนใหญ่ประมาณ 50-75 เปอร์เซ็นต์ ที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการผิดปกติใดใด แต่รายที่แสดงอาการ จะพบว่ามีตกขาวที่หลั่งออกมามีสีขาวเทา สีเหลือง หรือสีเขียว เกาะเคลือบติดแน่นที่ปากช่องคลอด มีกลิ่นอับหรือกลิ่นคาวปลา มักมีกลิ่นที่รุนแรงขึ้นหลังมีเพศสัมพันธ์ เนื่องจากน้ำอสุจิมีฤทธิ์เป็นด่าง เมื่อไปทำปฏิกิริยากับสารคัดหลั่งในช่องคลอดที่มีฤทธิ์เป็นกรด จะทำให้เกิดสารประกอบที่เรียกว่า aromatic amines เป็นสาเหตุให้เกิดกลิ่นที่รุนแรงขึ้น
โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา ( Vulvovaginal candidiasis )
สาเหตุเกิดจากมีการเพิ่มจำนวนของเชื้อราตระกูล Candida อย่างมากมายไปแทนที่แบคทีเรียชนิดดีประจำถิ่น Lactobacillus acidophilus
โรคนี้แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี่ :-
- โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อราแบบไม่ซับซ้อน : เชื้อที่ก่อโรคคือ Candida albican อาการของโรคจะไม่รุนแรงตอบสนองต่อการรักษาได้ดี เกิดขึ้นได้ในคนปกติ
- โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อราแบบซับซ้อน : เชื้อก่อโรคคือ Candida glabata , Candida tropicalis อาการของโรคจะค่อนข้างมาก มีการบวมแดงของอวัยวะเพศ กลับเป็นซ้ำได้บ่อย ประมาณ 4 ครั้งต่อปี การรักษาจะต้องใช้ยาและเวลานานขึ้น มักพบการติดเชื้อในคนที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
พฤติกรรมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคนี้ได้แก่ :-
- ความอับชื้น อาจเกิดจากชุดชั้นในที่รัดรูป ระบายอากาศไม่ดี เปียกชื้น
- โรคเบาหวาน โรคเอดส์ การใช้ยาสเตียรอยด์
- การใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง
- การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่สมเหตุผล
อาการแสดงของโรคนี้คือ ตกขาวมีลักษณะเป็นตะกอนนม หรือ แป้งเปียก มีอาการคันมากบริเวณอวัยวะเพศและภายในช่องคลอด อาจมีปัสสาวะแสบขัด เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
โรคช่องคลอดอักเสบจากเชื้อโปรโตซัว(Trichomonas vaginitis)
จัดเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากการติดเชื้อ Trichomonas vaginalis เป็นเชื้อโรคชนิด anaerobes ติดต่อโดยการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อนี้อยู่ แต่เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อย
มักแสดงอาการในผู้หญิง แต่ในผู้ชายจะไม่แสดงอาการใดใด แต่การรักษาต้องรักษาคู่นอนด้วย
อาการที่แสดง คือ ตกขาวเป็นสีเหลือง เขียว เทา เป็นฟอง มีกลิ่นเหม็น ผนังช่องคลอดและปากมดลูกมีอาการบวมแดง มีจุดเลือดออกคล้ายผิวสตรอเบอรี่ ปัสสาวะแสบขัด เจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
โรคช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อหลายชนิด (Mixed vaginitis)
เป็นการอักเสบของช่องคลอดที่เกิดจากการติดเชื้ออย่างน้อย 2 ชนิด พบได้ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์
ส่วนใหญ่ที่พบคือ การติดเชื้อแบคทีเรียร่วมกับเชื้อรามากที่สุด รองลงมาคือการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมกับเชื้อโปรโตซัว ส่วนการติดเชื้อราร่วมกับเชื้อโปรโตซัว พบได้น้อย
การติดเชื้อร่วมกันหลายๆชนิดมักมีการกลับเป็นซ้ำค่อนข้างสูงกว่าการติดเชื้อชนิดเดียว หากคู่นอนมีอาการผิดปกติร่วมด้วยควรให้การรักษาคู่นอนด้วย
การรักษาช่องคลอดอักเสบโดยใช้ยาเหน็บช่องคลอดที่มีตัวยา metronidazole และ miconazole
ในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าเชื้อโรคทั้งแบคทีเรีย รา และโปรโตซัว มีการดื้อยาเหน็บช่องคลอดรุ่นเก่าๆ เพิ่มขึ้น
การรักษาด้วยยาเหน็บช่องคลอดเป็นการรักษาเฉพาะที่ตรงจุดที่มีการติดเชื้อ ให้ผลการรักษาที่ดีเทียบเท่ากับยากิน และสามารถหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายท้อง ลิ้นรู้สึกรับรสเฝื่อน เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ วิงเวียน จากการรักษาแบบใช้ยากินได้
ยาสอดช่องคลอดที่ประกอบด้วยตัวยาสำคัญ metrontdazole 750 mg + miconazole 200 mg. ออกฤทธิ์กว้างครอบคลุมทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และ เชื้อพยาธิโปรโตซัว จึงใช้รักษาโรคช่องคลอดอักเสบได้ทุกชนิด
miconazole เป็นยาต้านเชื้อราที่ออกฤทธิ์กว้างและมีปัญหาการดื้อยาต่ำกว่าตัวอื่นๆในกลุ่มเดียวกัน เพราะยาออกฤทธิ์เป็น fungicidal(ฆ่าเชื้อรา )ในขณะที่ตัวยารักษาเชื้อราตัวอื่นๆออกฤทธิ์เป็น fungistatic (ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อรา )
metronidazole เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อเชื้อแบคทีเรียและโปรโตซัว ในรูปแบบยารับประทานมักมีผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายท้อง การรับรสที่ลิ้นผิดปกติ เบื่ออาหาร ปวดศีรษะ วิงเวียน แต่ในรูปแบบยาสอดช่องคลอดจะมีระดับยาในเลือดต่ำ จึงไม่ทำห้เกิดผลข้างเคียงเหมือนรูปแบบยากิน
ผลข้างเคียงที่อาจพบในยาสอดช่องคลอดชนิดนี้ มักเป็นอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรงและเกิดเฉพาะที่ เช่น ระคายเคือง คัน แสบร้อนในช่องคลอด
วิธีใช้ยาเหน็บช่องคลอด Metronidazole+Miconazole
แบ่งเป็น 2 กรณี
1. กรณีใช้รักษา : ให้ใช้ยาเหน็บช่องคลอด ครั้งละ 1 แท่ง วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนาน 7 วัน
2. กรณีป้องกันกลับเป็นซ้ำ : ให้ใช้ยาเหน็บข่องคลอด ครั้งละ 1 แท่ง วันละ 1 ครั้ง สัปดาห์ละ 2 ครั้ง นาน 3 เดือน
ข้อดีของการใช้ยาเหน็บช่องคลอดสูตรผสมตัวยา 2 ชนิด
- มีตัวยาสำคัญ 2 ชนิด ที่สามารถใช้รักษาครอบคลุมอาการตกขาวจากช่องคลอดอักเสบติดเชื้อทั้ง 3 ชนิดคือเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และ เชื้อพยาธิโปรโตซัว ได้ผลดีกว่ายาเหน็บช่องคลอดตัวอื่นๆและยังสามารถป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ด้วย
- ใช้สอดช่องคลอดได้เลย ไม่จำเป็นต้องจุ่มน้ำก่อนสอดและไม่ต้องเก็บยาในตู้เย็น โดยสามารถเก็บยาที่อุณหภูมิไม่เกิน 30 องศาเซลเซียสได้ เนื่องจากยามีขี้ผึ้ง Witepsol S55 เป็นส่วนประกอบ มีคุณสมบัติเป็น hard fat
- สามารถใช้ในหญิงตั้งครรภ์ตลอดช่วงอายุครรภ์อย่างปลอดภัย แต่เนื่องจากเป็นยาใหม่ และมีข้อมูลจำกัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา โดยเฉพาะช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆที่มีอาการคล้ายช่องคลอดอักเสบ
ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการตกขาวเป็นลักษณะมูกปนหนอง ปัสสาวะบ่อย แสบขัด ปวดหน่วงหัวหน่าว คล้ายอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ถ้ามีประวัติเคยมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัยร่วมด้วย และไม่ตอบสนองการรักษาด้วยยารักษาช่องคลอดอักเสบ ควรคิดถึงโรคหนองใน ซึ่งอาจจะเป็นโรคหนองในแท้ (Gonorrhoea) หรือโรคหนองในเทียม ( Non-gonococcal Urethritis) ก็ได้ ซึ่งเกิดจาการติดเชื้อ Neisseria gonorrhoeae
การดูแลตนเองในช่วงระหว่างที่มีตกขาวผิดปกติ
- ใช้ยาที่ได้รับจากแพทย์หรือเภสัชกรให้ครบตามกำหนด
- ถ้าแพทย์นัดติดตามอาการ ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- รักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอกให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ อย่าให้อับชื้น
- งดการมีเพศสัมพันธจนกว่าจะรักษาหาย ถ้าจำเป็นควรให้ฝ่าชายใช้ถุงยางอนามัย
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะถ้ารักษาโดยใช้ยากิน อาจเกิดการตีกันกับยา ทำให้มีอาการปวดเมื่อยตัว หน้าแดง ใจสั่น
- ถ้ามีอาการตกขาวกลับเป็นซ้ำบ่อยๆ เกิน 3-4 ครั้งต่อปี ควรรีบไปปรึกษาแพทย์
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีอาการตกขาว ควรควบคุมโรคหรือระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี
- หลีกเลี่ยงการเกาบริเวณช่องคลอดที่มีอาการคัน
- หลีกเลี่ยงการสวมกางเกงหรือชุดชั้นในรัดรูป
การป้องกันอาการตกขาว
- ควรทำความสะอาดห้องน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรคในห้องน้ำ
- การใช้ห้องน้ำสาธารณะ ควรทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ก่อนการใช้งานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- รักษาความสะอาดของช่องคลอดและอวัยวะเพศให้สะอาดอยู่เสมอ ควรเลือกใช้สบู่ล้างที่ใช้เฉพาะสำหรับจุดซ่อนเร้น แต่ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดหรือใช้น้ำยาดับกลิ่น
- ไม่ปล่อยให้ช่องคลอดอับชื้น เพราะจะทำให้ติดเชื้อราได้ เมื่อรู้สึกร้อนหรืออับชื้นบริเวณปากช่องคลอด ให้รีบทำความสะอาดและเปลี่ยนชุดชั้นในที่สะอาดแทนถ้าทำได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัยแผ่นบางติดต่อกันทุกวัน เพราะทำให้อับชื้นและเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และไม่ควรใช้ผ้าอนามัยที่มีน้ำหอม เพื่อป้องกันการแพ้ ระคายเคือง
- ไม่ควรมีคู่นอนหลายคน และควรให้ฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ถ้าเคยมีอาการตกขาวที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรให้คู่นอนได้รับการรักษาด้วยพร้อมกัน เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
- ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่สมเหตุผล
- โรคเบาหวานที่ควบคุมระดับนำ้ตาลในเลือดได้ไม่ดี จะทำให้เกิดอาการตกขาวจากโรคช่องคลอดอักเสบติดเชื้อได้
สรุป
อาการตกขาวเป็นอาการที่พบได้บ่อย ๆ ในผู้หญิง โดยเฉพาะในวัยเจริญพันธุ์ มีทั้งแบบที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ แต่ที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งในปัจจุบันพบการดื้อยาของเชื้อมากขึ้น การใช้ยาเหน็บที่มีตัวยา Metronidazole 750 mg.+Miconazole 200 mg. จะให้ประสิทธิภาพการรักษาที่ดีกว่ายารุ่นเก่า และลดการกลับเป็นซ้ำได้ดี อย่างไรก็ตามถ้ามีตกขาวที่มีสีและกลิ่นผิดปกติร่วมกับอาการปัสสาวะแสบขัด ปวดหน่วงๆท้องน้อย อาจจะต้องคิดถึงการติดเชื้อที่เกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย
เอกสารอ้างอิง
- ดร.ภญ. สุคนธา หาสาสน์ศรี, การรักษาช่องคลอดอักเสบโดยใช้ยาเหน็บช่องคลอดที่ประกอบด้วย Metronidazole และ Miconazole , วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต.
- รศ.ภญ. วรรณคล เชื้อมงคล , การรักษาช่องคลอดอักเสบิดเชื้อในร้านยา , คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ .
- ภก. พีระพงศ์ เหลืองอิงคะสุต , การบริบาลสำหรับอาการตกขาวในร้านยา, คู่มือเภสัชกรชุมชนในการดูแลอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในร้านยา, หน้า 127-142. กันยายน 2535
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
fixomull
สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกเด็กเล็ก
INNAQUA
เซรั่มแก้ผมร่วงฮีรูดอยด์
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา