ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ และเป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ เป็นผลจากการใช้ยาที่ไม่ใช่ผลการรักษาตามที่ผู้สั่งใช้ยาและผู้ใช้ยาต้องการให้เกิดขึ้น เรียกว่าเป็นอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาหรือการแพ้ยา
โดยผลหรืออาการที่เกิดขึ้นมีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรง เมื่อหยุดใช้ยาอาการก็จะหายไปได้เอง หรืออาจจะรุนแรงจนต้องพบแพทย์เพื่อให้การรักษา หรือบางครั้งก็อาจจะมีผลที่รุนแรงจนทำให้ผู้ที่ได้รับยาพิการหรือเสียชีวิตได้
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา คือ การตอบสนองที่ไม่พึงประสงค์ของร่างกายต่อยา หลังจากการใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ไม่ใช่ผลการรักษาตามข้อบ่งใช้ เป็นอันตรายและมิได้จงใจให้เกิดขึ้นซึ่งจะรวมถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยาด้วย
สารบัญ
ลักษณะของอาการแพ้ยา
ในทางการแพทย์จะแยกความแตกต่างของการแพ้ยาออกจากผลข้างเคียงจากยาโดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
- อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่คาดการณ์ได้ว่าจะเกิด มีความสัมพันธ์กับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยา จัดเป็นผลข้างเคียงจากยา ซึ่งพบได้บ่อบถึง 80 %
มักพบบ่อยในกรณี คนไข้ใช้ยาเกินขนาดที่กำหนดไว้ การเกิดจากทานยาหลายชนิดแล้วเกิดปัญหายาตีกัน ตลอดจนใช้ยาในขนาดรักษา ในบางครั้งก็สามารถได้รับผลข้างเคียงจากยาได้ แต่โดยส่วนมากสามารถหลีกเลี่ยงการแพ้ยาได้ โดยใช้ยาตามคำแนะนำที่ถูกต้อง - อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่คาดการณ์ไม่ได้และเกิดจากการใช้ยาในขนาดการรักษาปกติ ไม่มีความสัมพันธิ์กับฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยา จัดเป็นการแพ้ยา พบได้ไม่บ่อย ประมาณ 20 %
การแพ้ยาเกิดขึ้นได้กับทุกระบบของร่างกาย ตั้งแต่ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 หู ตา คอ จมูก ผิวหนัง ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ประมาณครึ่งหนึ่งของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาจะเกิดที่ระบบผิวหนังมากที่สุด
โดยทั่วไปเราสามารถจำแนกการแพ้ยาออกเป็น 2 ลักษณะตามระยะเวลาของการเกิดอาการ
- การแพ้ยาชนิดเฉียบพลัน (immediate reaction) คือ มีอาการแสดงหลังจากการใช้ยาภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งจะเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากระบบภูมิต้านทานภายในร่างกายผู้ใช้ยา ซึ่งจะพบได้ตั้งได้ตั้งแต่อาการไม่รุนแรง แค่มีผื่นคันลมพิษ ไปจนถึงรุนแรงขั้นเกิดอาการช๊อคได้
- การแพ้ยาชนิดไม่เฉียบพลัน (non-immediate reaction) คือ มีอาการแสดงหลังจากได้รับยานานกว่า 1 ชั่วโมง บางครั้งอาจมีอาการหลังได้รับยาไปแล้วถึง 6 สัปดาห์ ซึ่งมีได้ตั้งแต่อาการไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงมากถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้
อาการไม่พึงประสงค์จากยาทางผิวหนัง
ผิวหนังเป็นอวัยวะที่มีโอกาสเกิดอาการไม่พึงประสงค์มากที่สุด เห็นได้ง่ายและชัดเจน อาการแสดงมีตั้งแต่ไม่รุนแรง แค่หยุดยาที่เป็นสาเหตุหรือรับประทานยาแก้แพ้ก็หายได้ แต่บางรายผื่นแพ้อาจมีลักษณะแปลกๆเกิดร่วมกับอาการแทรกซ้อนในระบบต่างๆของร่างกายจนอาจทำให้มีอาการรุนแรงจนเสียชิวิตได้
หน้าที่ของผิวหนัง นอกจากปกคลุมร่างกายทำให้เกิดความสวยงามแล้ว ยังมีหน้าที่อื่นๆที่สำคัญ เช่น ควบคุมการระบายความร้อนของร่างกาย สร้างวิตามินดี และที่สำคัญมีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยามีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ซึ่งเป็นผลจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ผลลัพธ์จึงแสดงออกมาที่ระบบผิวหนัง โดยปรากฏเป็นผื่นแพ้ยา ซึ่งสอดคล้องกับว่าปรากฎการณ์อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่ผิวหนังจะพบมากและบ่อยที่สุด
การแพ้ยาในระบบทางเดินอาหาร
เกิดขึ้นได้ประมาณ 40 % ของการแพ้ยาทั้งหมด เช่น คลื่นไส้อาเจียน แผลในปาก ท้องเสีย ท้องผูก กลืนลำบาก ปวดท้องแสบท้อง
ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ทางระบบทางเดินอาหาร เช่น ยารักษาโรคเก๊าท์ โคลชิซิน colchicine ทำให้มีอาการถ่ายเหลวได้ ยาแก้ปวด ไอบูโปรเฟน ibuprofen ไดโคลฟีแนค diclofenac ทำให้มีอาการปวดแสบท้องได้
การแพ้ยาในระบบทางเดินหายใจ
เกิดขึ้นได้ไม่บ่อย อาการแพ้ ได้แก่ ไอ หืดหอบจากการหดเกร็งของหลอดลม มีตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรงต้องได้รับการรักษา ยาที่อาจทำให้เกิดอาการไอ เช่น ยาลดความดัน อีนาลาพริล Enalapril ยาที่อาจทำให้เกิดอาการหืดหอบ เช่น แอสไพลิน Aspirin
การแพ้ยาที่มีความผิดปกติต่อระบบการมองเห็น (ตา)
พบได้น้อย อาการแพ้ที่เกิดขึ้นกับตาเช่น รู้สึกคันตา ตาบวม ตาแห้ง ตาสู้แสงไม่ได้ ความดันลูกตาเพิ่ม ตาบอดสี ต้อหิน ตาบอด เป็นต้น
ยาที่ทำให้มีอาการแพ้ที่เกิดขึ้นกับตาได้ เช่น ยารักษามาลาเรีย คลอโรควิน chloroquine อาจทำให้ตาบอดสีได้ ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ดิจอกซิน digoxin อาจทำให้ตาบอดได้ ยาแก้แพ้ เทอร์ฟีนาดีน terfenadine อาจทำให้ตาเบลอได้ ยารักษาสิว ไอโซเตตริโนอิน isotretinoin ทำให้ตาแห้งเป็นต้น
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : Adverse Drug Events
การแพ้ยาเกิดขึ้นได้อย่างไร
กลไกการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา มีทั้งที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
อาการแพ้ยาที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน
- จะไม่ค่อยรุนแรงมาก
- พบได้บ่อย
- สามารถป้องกันได้ ถ้าผู้สั่งใช้ยามีความรู้เกี่ยวกับยาที่ใช้และผู้ป่วยได้รับคำแนะนำการใช้อย่างถูกต้อง
- มักเกิดจากฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของยาตัวนั้นเอง
- อาจเกิดจากความผิดปกติของร่างกายผู้ใช้ยาเอง
- อาการมักจะหายได้เองหลังหยุดใช้ยาที่แพ้
โดยปกติภายหลังจากได้รับยาแล้วร่างกายก็จะมีวิธีการกำจัดยานั้นออกจากร่างกาย ส่วนมากจะอาศัยการขับถ่ายออกทางปัสสาวะโดยผ่านทางไต หรือการขับถ่ายออกทางอุจจาระโดยผ่านทางตับ
ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคไตวาย จะมีการขับยาบางชนิดออกจากร่างกายได้ช้ากว่าคนปกติ เช่น ยารักษาโรคหัวใจ ดิจ๊อกซิน digoxin , ยาปฏิชีวนะกลุ่ม อะมิโนไกลโคไซด์ aminoglycoside
ผู้ป่วยโรคตับ จะมีการขับถ่ายยารักษาโรคลมชัก เช่น บาร์บิตูเรต barbiturate ฟีไนโตอิน phenytoin และ ยารักษาเชื้อรา คีโตโคนาโซล ketoconazole ไอตร้าโคนาโซล itraconazole ออกจากร่างกายได้ช้ากว่าปกติ
อันตรายจากการแพ้ยาเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าหากมีการปรับลดขนาดของยาลงจนไม่เกิดอาการที่เป็นพิษจากยา ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับไต หรือ ตับ ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรที่เชี่ยวชาญก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
แต่มีการพ้ยาบางกรณีที่เราป้องกันไม่ได้ คือ การแพ้ยาที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรมของผู้ป่วยเอง เช่นผู้ที่มีความบกพร่องของเอนไซม์ G-6-PD ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำให้ผนังเม็ดเลือดแดงแข็งแรง เมื่อได้รับยาปฏิชีวนะ กลุ่มซัลฟา sulfa จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกง่าย มีอาการซีด อ่อนเพลีย ปัสสาวะมีสีเข้ม ผู้ป่วยกลุ่มนี้จึงมีข้อห้ามใช้ยาในกลุ่มซัลฟาทุกชนิด
ผู้ป่วยที่มีความบกพร่องขาดเอนไซม์ epoxide hydrolase เมื่อได้รับยากันชัก Phenytoin จะทำให้มีไข้ หน้าบวม ต่อมน้ำเหลืองโต ตับอักเสบ ไตอักเสบ และมีผื่นแดงตามตัว ทางการแพทย์เรียกว่า hypersensitivity reaction syndrome เป็นต้น
อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีหน้าที่ตรวจจับสารแปลกปลอมหรือเชื้อโรคและกำจัดออกไป ปกติระบบภูมิคุ้มกันจะไม่ต่อต้านยา แต่ในผู้ป่วยบางคน ระบบภูมิคุ้มกันจะมองยาว่ายาเป็นสารแปลกปลอม ร่างกายจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านและหาทางกำจัดยาออกจากร่างกาย ผลจากปฏิกิริยานี้ทำให้เกิดอาการแพ้ยานั่นเอง
ปัจจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- ลักษณะโครงสร้างทางโมเลกุลของยา ยาที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่มีโอกาสกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันมากกว่าขนาดโมเลกุลเล็ก
- ความแตกต่างของระบบกำจัดยาออกจากร่างกายของผู้ป่วย
- การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกัน
การแพ้ยาพบได้น้อยในเด็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากระบบภูมคุ้มกันของเด็กที่ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ หรือการเสื่อมสภาพลงเมื่ออายุมากขึ้น
เพศหญิงมีโอกาสเกิดการแพ้ยาได้มากกว่าเพศชาย ผู้ป่วยโรคเอดส์ AIDS(ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง) และ โรคภูมิแพ้ตนเอง SLE มีโอกาสแพ้ยาสูงมากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ 10 เท่า
กลไกการเกิดการแพ้ยา
ปฏิกิริยาระบบภูมิคุ้มกันต่อต้านยา ซึ่งทำให้เกิดการแพ้ยาขึ้นแบ่งเป็น 4 กลไกดังนี้
- แบบที่หนึ่งปฏิกิริยาเฉียบพลัน (immediate type hypersensitivity reaction)ลมพิษ เป็นตัวอย่างของปฏิกิริยาแบบที่หนึ่ง เกิดจากแอนตี้บอดี้ antibody IgE ซึ่งจำเพาะกับยานั้นอยู่ก่อนแล้ว และจับอยู่ที่ผิวเซลล์ที่ชื่อ mast cell หรือ basophil เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย ก็จะไปจับกับ IgE ดังกล่าวจะมีผลระตุ้น mast cell หรือ basophil ให้หลั่งสารก่อการแพ้ที่ชื่อ histamine ออกมา
2. แบบที่สองปฏิกิริยาที่ระบบภูมิคุ้มกันของเราทำลายอวัยวะของตัวเราเอง เช่น เม็ดเลือดแดง เกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาว หัวใจ เส้นประสาท กล้ามเนื้อ แต่จะไม่เกิดกับระบบผิวหนัง โดยกลไกที่ยาไปเปลี่ยนแปลงผิวของเซลล์และแอนติบอดี้เข้ามาโจมตีทำลายเซลล์อีกที เช่น ภาวะเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยา quinidine หรือ ยารวมกับแอนติบอดี้ก่อนเข้าจู่โจมทำลายเซลล์ เช่น ภาวะโลหิตจางจากเม็ดเลือดแดงถูกทำลาย จากยา methyldopa
3. แบบที่สามปฏิกิริยาที่ยาจับกับแอนติบอดี้เกิดเป็นสารประกอบใหม่เรียกว่า immune complex และไปจับกับผนังเส้นเลือด กระตุ้นให้มีกระบวนการอักเสบเกิดขึ้นเพื่อทำลายเส้นเลือด อาการแพ้ที่เกิดขึ้นให้เห็นคือ ผื่นเส้นเลือดอักเสบ เส้นประสาทอักเสบ ไขข้ออักเสบ
4. แบบที่สี่ปฏิกิริยาที่เกิดจากเม็ดเลือดขาวชื่อ T-lymphocyte กลไกคือ เมื่อได้รับยาที่แพ้เป็นครั้งแรกจะยังไม่ปรากฏอาการ แต่จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้าง T-lymphocyte ขึ้นมา เม็ดเลือดขาวที่ถูกสร้างขึ้นมา จะจดจำยาที่กระตุ้นได้อย่างแม่นยำตลอดไป และจะกระจายตัวอยู่ทั่วร่างกายโดยเฉพาะที่ผิวหนัง เมื่อเรารับยาตัวเดิมเข้าไปซ้ำอีกครั้ง ตัว T-lymphocyte จะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบเกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังขึ้น
ปฏิกิริยาชนิดนี้มักเกิดจากการได้รับยาหรือสารเคมี ที่มีการสัมผัสผิวหนังโดยตรงทางการแพทย์เรียกว่า ผื่นแพ้สัมผัส
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : Drug Hypersensitivity Reactions
ข้อควรปฏิบัติเมื่อสงสัยว่าแพ้ยา
- ให้หยุดยาที่สงสัยว่าแพ้ทันที
- หากอาการแพ้ยาไม่รุนแรง สามารถดูแลตัวเองตามอาการที่เกิดขึ้นได้ เช่น มีผื่นคัน สามารถทายาคาลาไมน์หรือทานยาแก้แพ้ได้ มีไข้ ให้ทานยาลดไข้ พาราเซตตามอล
- แต่หากพบว่าอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้นรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เช่น หายใจติดขัดลำบาก ท้องเสียรุนแรง
สรุป
ยาเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้จำเป็นต้องใช้เพื่อการดำรงชีวิตให้ยืนยาว นอกจากยาจะออกฤทธิ์เพื่อการรักษาอาการเจ็บป่วยแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่งบ่อยครั้งยาก็ทำให้เกิด อาการไม่พึงประสงค์หรือการแพ้ยาได้เช่นกัน ดังนั้นการใช้ยาให้ปลอดภัยต้องมีการเรียนรู้การใช้ยาให้ถูกต้อง เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากยา
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
fixomull
สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกเด็กเล็ก
INNAQUA
เซรั่มแก้ผมร่วงฮีรูดอยด์
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา