การกำจัดยาออกจากร่างกายทางไต จะมีทั้งอยู่ในรูปแบบเดิมและเมตาโบไลท์ของยา
กระบวนกำจัดของเสียและยาออกจากร่างกาย มีทั้งรูปของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ดังนี้
- รูปแบบของเหลว : มีกลไกกำจัดอยู่หลายทางทาง คือ ทางไตในรูปแบบน้ำปัสสาวะ และ ทางผิวหนังในรูปแบบของเหงื่อ และทางน้ำนม ยาที่ถูกขับออกในรูปแบบนี้จะเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลเล็กๆ
สารประกอบหรือยาที่ละลายได้ดีในไขมัน มีฤทธิ์เป็นด่างรวมถึงพวกโลหะหนัก จะถูกขับออกทางน้ำนมได้ดี เนื่องจากน้ำนมมีความเป็นกรดอ่อนๆ
- รูปแบบของแข็ง : มีกลไกกำจัดทางน้ำดี ผ่านลำไส้ และ ถูกขับถ่ายในรูปอุจจาระ ผ่านทางทวารหนัก ยาที่ถูกขับออกในรูปแบบนี้จะเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลใหญ่
- รูปแบบแก๊ส : มีกลไกกำจัดออกทางปอด ออกมาพร้อมลมหายใจ ยาที่จะถูกขับออกทางนี้ต้องเป็นยาที่อยู่ในรูปแบบแก๊สหรือระเหยได้ที่อุณหภูมิร่างกาย เช่น แอลกอฮอลล์ ยาดมสลบ
สารบัญ
- ไตเกี่ยวข้องกับยาอย่างไร
- การประยุกต์ใช้การขับถ่ายยาออกจากร่างกายกับการกินยา
- กายวิภาคของไต
- โรคไตเรื้อรัง
- วิธีการดูแลไต
- สรุป
ไตเกี่ยวข้องกับยาอย่างไร
อวัยวะที่ทำหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกายในรูปปัสสาวะ คือไต ยาที่ถูกกำจัดออกทางไตมีอยู่ 2 รูปแบบคือ ส่วนที่เป็นพิษต่อร่างกาย และ ส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแต่มีมากเกินความต้องการ ยาที่จะขับออกทางไตจะต้องถูกเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในสภาพที่ละลายน้ำได้จึงจะถูกกำจัดออกทางน้ำปัสสาวะ
การกำจัดยาส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านทางไต จะมีปัจจัยต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องต่อผลการขับถ่ายยาของไต ดังนี้
- การกรองผ่านหน่วยไต ( Glomerular filtration)
- ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านไต
- ความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ
- กระบวนการดูดกลับโดยท่อไต (Reabsorbtion)
โดยปัจจัยเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงผันแปรตลอดเวลาตามช่วงเวลาระหว่างวัน และจะมีการทำงานและปริมาณที่มากในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน กล่าวคือ การทำงานของไตในช่วงเช้ากลางวันดีกว่าช่วงกลางคืน ทำให้ในช่วงกลางคืนมีการผลิตและขับถ่ายปัสสาวะน้อยกว่ากลางวัน และปัสสาวะมีค่าความเป็นด่างมากกว่าในช่วงกลางวัน
การแปรผันของปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มีผลต่อการกำจัดยาหรือขับถ่ายยาออกจากร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น
- ยาที่ละลายน้ำได้ดีจะถูกกำจัดออกมามากในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน
- ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะถูกขับออกในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เพราะปัสสาวะในช่วงกลางคืนมีฤทธิ์เป็นด่างมากขึ้น
กล่าวได้ว่า คุณสมบัติของยาเองก็มีผลต่อการบริหารยาในทางการแพทย์ ดังนั้นการรับประทานยาตัวเดียวกันในช่วงเวลาต่างกันจะส่งผลต่อการออกฤทธิ์และการกำจัดยาที่ต่างกัน
อ้างอิงจาก : บทความวิชาการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชจลศาสตร์ เรื่อง หลักการพื้นฐานทางกาลเภสัชจลนศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายยาออกจากร่างกาย เขียนโดย กรัณฑ์รัตน์ ทิวถนอม ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
การประยุกต์ใช้เรื่องการขับถ่ายยาออกจากร่างกายกับเวลาในกินยา
ตามหลักการแพทย์แผนจีนเรื่อง นาฬิกาชีวิต หรือ นาฬิกาชีวภาพ คือ การทำงานของร่างกายในช่วงเวลาระหว่างวัน อวัยวะต่างๆในร่างกายจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงานตามช่วงเวลาระหว่างวัน เช่น
- ช่วงเช้า เป็นเวลาทำงานของ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ม้าม
- ช่วงกลางวัน เป็นเวลาทำงานของ หัวใจ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ
- ช่วงเย็น เป็นเวลาทำงานของของ ไต กล้ามเนื้อหัวใจ ต่อมไทรอยด์
- ช่วงดึก เป็นเวลาทำงานของถุงน้ำดี
ยกตัวอย่างให้พอเข้าใจได้ กลุ่มยาที่มีนำมาทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แก่
- กลุ่มยา NSAID ที่มีฤทธิ์แก้ปวด ต้านการอักเสบ เช่น พบว่าการใช้ยาในตอนเช้าและเที่ยง จะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีกว่า เพราะมีปริมาณยาในกระแสเลือดมาก ยามีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน จึงถูกขับออกจากร่างกายน้อยในช่วงเช้า กลางวัน ที่ปัสสาวะมีความเป็นกรดเหมือนกัน แต่ถ้าให้ยาในช่วงเย็น และกลางคืน ยาจะถูกขับออกจากร่างกายในปริมาณมาก ทำให้ฤทธิ์ต้านอักเสบของยาลดลง เพราะช่วงเย็นและกลางคืนปสสาวะมีความเป็นด่างมากขึ้น
- กลุ่มยารักษาโรคความดัน ที่มีคุณสมบัติละลายในไขมันได้ดี จะลดความดันได้ดีกว่าเมื่อรับประทานในช่วงเช้า เพราะยาถูกขับออกน้อยกว่าช่วงกลางคืน
- ยาปฏิชีวนะ กลุ่ม Aminoglycoside จะมีความปลอดภัยจากพิษของยา เมื่อให้ยาในช่วงเช้า เพราะมีอัตราการกำจัดยาสูงในช่วงเช้า จึงมีข้อแนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้ในตอนเช้า
4. ยาปฏิชีวนะ ciprofloxacin ที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แนะนำให้ทานช่วงเช้า กลางวัน เพราะยาจะถูกขับออกทางไตมากในช่วงเช้า กลางวัน ทำให้มีปริมาณยาในปัสสาวะสูงกว่าในช่วงกลางคืน ซึ่งทำให้ได้ผลการรักษาดี
5. ยาลดกรด famoptidine ควรรับประทานช่วงเย็นหรือก่อนนอน เพราะในช่วงเวลานี้จะมีการหลั่งกรดมากกว่าช่วงกลางวัน
6.ยารักษาโรคหอบหืด Theophylline ควรรับประทานช่วงกลางคืนก่อนนอน เพราะปอดมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ ไรฝุ่น ในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน และพบว่าระดับความเข้มข้นของยาในเลือดจะสูงมากกว่าในช่วงกลางคืน และ เวลาที่ยามีความเข้มข้นสูงจะสั้นกว่าในช่วงกลางวัน ทำให้ป้องกันพิษจากยาได้ เนื่องจากยามีช่วงความปลอดภัย (therapeutic index)แคบ
กายวิภาคของไต
ไตเป็นอวัยวะทำหน้าที่คล้ายเครื่องกรอง โดยจะกรองของเสียออกจากเลือด มีรูปร่างคล้ายถั่ว อยู่ในช่องท้อง ใต้ชายโครง ระดับเอว มี 2 ข้าง ซ้ายและขวา ไตด้านขวาจะอยู่ต่ำกว่าไตด้านซ้าย กว้างประมาณ 6 เซนติเมตร ยาว 11 เซนติเมตร และหนา 3 เซนติเมตร
ไตแต่ละข้างจะมีหน่วยไต (nephron)อยู่ประมาณ 1 ล้านหน่วย ทำงานเป็นอิสระต่อกัน ทำหน้าที่กรองน้ำเลือด ปรับส่วนประกอบและความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ ปัสสาวะที่ผลิตได้จากแต่ละหน่วยไตจะไหลรวมกันสู่ หลอดไต กรวยไต และท่อไต ตามลำดับ ไปสะสมรวมกันอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะเพื่อรอการขับทิ้งออกจากร่างกาย
หน้าที่ของไต
- กรองน้ำ และ กำจัดของเสียรวมทั้งสารพิษออกจากร่างกาย
- ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ตลอดจนควบคุมสภาวะกรด-ด่างในเลือด
- สร้างฮอร์โมน Erythropoietin เพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงและวิตามินดีที่เกี่ยวข้องกับกระดูก
- กำจัดสารพิษและยาส่วนเกินออกจากร่างกาย
โรคไตเรื้อรัง ( Chronic kidney disease)
เป็นภาวะที่ไตถูกทำลาย มีผลทำให้ความสามารถของไตในการทำงานลดลง
ระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ หลายคนอาจไม่ทราบว่าตนเป็นโรคไตเรื้อรัง ถ้าไม่ได้มีการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ แต่เมื่อไตทำงานเสื่อมลงจนเหลือหน่วยไตน้อยลง ก็จะมีอาการจากของเสียคั่งในกระแสเลือด
การตรวจพบและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อาจทำให้โรคไตคงตัวและหายได้ หากปล่อยไว้นานไม่รักษาจนไตวาย ซึ่งเป็นภาวะที่ไตจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป จำเป็นต้องได้รับการรักษาเช่น ฟอกไต หรือ เปลี่ยนไต
อาการของโรคไตเรื้อรัง
- ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
- ขาบวมและกดบุ๋ม เกิดจากมีเกลือและน้ำคั่งในร่างกาย หรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะมาก หากบวมมากจะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยจากน้ำคั่งในปอด เป็นอันตรายมาก
- ความดันโลหิตสูง
- คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
- คันตามร่างกาย ผมร่วง
- ในเพศหญิงอาจมีอาการขาดประจำเดือนและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
- ในเพศชายจะมีความรู้สึกทางเพศลดลงและการสร้างอสุจิลดลง
อาการไตวายระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารไม่ได้จนมีภาวะขาดสารอาหาร ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สะอึก บวม หอบเหนื่อยจากการคั่งของกรดในร่างกาย ซึม และ ชักได้
ปัจจัยเสี่ยงของโรคไตเรื้อรัง ได้แก่
- โรคเบาหวาน
- ความดันโลหิตสูง
- อายุมาก
- มีภาวะอ้วน
- สูบบุหรี่
ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตดังนี้
- วัดความดันโลหิตสูง
- ตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งโดยปกติโปรตีนจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะมีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ
- ตรวจเลือดหาค่าการรั่วของเม็ดเลือดแดง
- ตรวจอัลตราซาวด์ดูขนาดของไต ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จะมีขนาดของไตเล็กลง
โรคไตเรื้อรัง แบ่งเป็น 5 ระยะ
โดยแบ่งตามระดับการกรองของไต เรียกว่า eGFR ( estimated Glomerular Filtration Rate) คือ ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตใน 1 นาที มีหน่วยเป็น มล./นาที/1.73 ตร.ม.
ระยะของโรคไตเรื้อรัง | eGFR(ml/min/1.73 ตร.ม.) | ภาวะการทำงานของไต |
1 | <90 | อัตราการกรองปกติ มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ |
2 | 60-90 | อัตราการกรองลดลงเล็กน้อย มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ |
3a | 45-59 | อัตราการกรองลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง |
3b | 30-44 | อัตราการกรองลดลงปานกลางถึงมาก |
4 | 15-29 | อัตราการกรองลดลงมาก |
5 | <15 | ไตวายระยะสุดท้าย |
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : โรคไตเรื้อรังไม่ยากเกินเข้าใจ
วิธีการดูแลไต
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อช่วยให้ไตไม่ต้องทำงานหนัก เพราะไม่ต้องกรองน้ำเลือดที่ข้นหนืด คำแนะนำคือ 8-10 แก้ว หรือ ประมาณ 2 ลิตร/วัน
- ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
- หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด
- ใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างสมเหตุสมผล ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ถ้าเป็นไปได้
สมุนไพรหรืออาหารต้องห้ามในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
- ยาหอมและยากษัยเส้นที่ส่วนผสมของไคร้เครือและการบูร
- ยาดำ
- มะเฟือง โกฏน้ำเต้า ลูกเนียง สะตอ
- น้ำผักชี น้ำลูกยอ
- หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกบริเวณสีข้าง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไตวางตัวอยู่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ดูแลไตอย่างไรให้อยู่กับเราไปนานๆ
สรุป
การกำจัดยาออกจากร่างกาย เป็นขบวนการหนึ่งในเภสัชจลน์ศาสตร์ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานบริบาลเภสัชกรรมได้ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดโดยเกิดอาการไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด เช่นการให้ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAID ควรให้ในตอนกลางวัน การให้ยาลดความดันโลหิตควรให้ตอนเช้า เป็นต้น
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
fixomull
สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกเด็กเล็ก
INNAQUA
เซรั่มแก้ผมร่วงฮีรูดอยด์
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา