เนื่องจากโรคติดบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังเหมือนโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคติดบุหรี่จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการรักษา คือเลิกสูบบุหรี่ได้และต้องไม่กลับไปสูบอีก
การรักษาจะประกอบไปด้วยการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนร่วมไปกับการทำพฤติกรรมบำบัดที่อยู่ภายใต้การดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ ติดตาม และประเมินผล โดยบุคลากรทางการแพทย์
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคติดบุหรี่คือความตั้งใจและมุ่งมั่นของตัวผู้ป่วยเองที่จะเลิกสูบบุหรี่ ยาจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้ป่วยไม่ต้องเครียดและทนทุกข์ทรมานในระหว่างการรักษามากเกินไป และเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าไม่ใช้ยา 2 เท่า และผลสำเร็จคงอยู่ได้นาน ไม่กลับไปสูบซ้ำได้นานขึ้น
สารบัญ
กลุ่มยาช่วยเลิกบุหรี่
ยาช่วยเลิกบุหรี่มี 2 กลุ่มคือ
- กลุ่มยาที่มีส่วนผสมของนิโคติน
- กลุ่มยาที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน
เนื่องจากยาเหล่านี้มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ข้อจำกัด ข้อห้ามแตกต่างกัน การเลือกใช้ยาตัวไหนในการรักษาควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้
- โรคประจำตัวของผู้ป่วย
- หน้าที่การงานและเศรษฐานะของผู้ป่วย
- ประวัติและประสบการณ์การเลิกบุหรี่ที่ผ่านมา
- ผลข้างเคียงของยาที่จะมีต่อผู้ป่วย
นอกจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีองค์ประกอบสำคัญ ที่มีผลต่อการรักษาโรคติดบุหรี่ด้วยยาด้วยดังนี้
- ต้องได้รับการให้คำแนะนำปรึกษาและดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ร่วมด้วยกับการใช้ยาอย่างเหมาะสมในการเลิกบุหรี่ เพราะการใช้ยาเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการทำพฤติกรรมบำบัดร่วมด้วยนั้นไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มค่า
- ใช้ยาในขนาดที่ถูกต้องและตามระยะเวลาที่กำหนด
- ต้องเข้ารับการประเมินผลโดยบุคลากรทางการแพทย์หลังสิ้นสุดการรักษาด้วย
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมบำบัด : การบำบัดโรคเสพยาสูบแบบไม่ใช้ยา
กลุ่มยารักษาที่มีส่วนผสมของนิโคติน (Nicotine Replcement Therapy)
หลักการของการใช้ยากลุ่มนี้คือ ปกติเวลาผู้ป่วยสูบบุหรี่ สารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่จะดูดซึมเข้าสู่เข้าสู่กระแสเลือดทันทีในปริมาณสูงมาก เมื่อผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่ สารนิโคตินในกระแสเลือดจะลดต่ำลงมากอย่างรวดเร็วเช่นกัน ลักษณะเช่นนี้ที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่เกิดการเสพติดสารนิโคตินและเมื่อหยุดสูบจะมีอาการถอนนิโคตินเกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะทนไม่ไหว ต้องกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ การให้นิโคตินในระดับต่ำๆ จากยา จะไปช่วยลดอาการถอนโคตินลงได้
การทำงานของยากลุ่มนิโคตินทดแทน คือ การให้นิโคตินทดแทนในปริมาณต่ำพอที่จะช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคติน โดยสารนิโคตินจากยาจะมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือดอย่างช้าๆและค่อยลดลงอย่างช้าๆเช่นกัน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ไม่มีผลให้เกิดการเสพติดขึ้นเหมือนการได้รับนิโคตินจากบุหรี่
ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทยมียาในกลุ่มนิโคตินทดแทน 3 ชนิด คือ หมากฝรั่งนิโคติน (nicotin gum) แผ่นแปะนิโคติน ( nicotin patch) และ สเปรย์นิโคติน (mouth spray nicotine)
หมากฝรั่งนิโคติน (nicotin gum)
ยากลุ่มนี้มีข้อดี คือ ออกฤทธิ์เร็ว โดยสารนิโคตินจากยาจะดูดซึมผ่านเยื่อบุช่องปากเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 20-30 นาที แต่ก็มีข้อเสียที่ เวลาในการออกฤทธิ์สั้น ทำให้ต้องใช้ยาวันละหลายครั้งต่อวัน
หมากฝรั่งนิโคติน มี 2 ขนาดความแรง
- ขนาดความแรง 2 มก./ชิ้น สำหรับรักษาผู้ป่วยที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน ใช้ได้ไม่เกินวันละ 30 ชิ้น โดยเคี้ยวทุก 1-2 ชั่วโมง
- ขนาดความแรง 4 มก./ชิ้น สำหรับรักษาผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน ใช้ได้ไม่เกินวันละ 15 ชิ้นต่อวัน โดยเคี้ยวทุก 1-2 ชั่วโมง
คำแนะนำวิธีใช้ยาและเคี้ยวหมากฝรั่งที่ถูกต้อง :
- ต้องหยุดสูบบุหรี่ทันทีที่เริ่มใช้ยา
- เนื่องจากอาหาร เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดเช่น กาแฟ น้ำส้ม น้ำอัดลม ผลไม้รสเปรี้ยว จะลดการดูดซึมนิโคติน จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานก่อนเคี้ยวหมากฝรั่ง 15 นาที
- ให้เคี้ยวหมากฝรั่งๆช้าๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการสะอึก และหลีกเลี่ยงการกลืนน้ำลายบ่อยระหว่างเคี้ยว เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องอืด
- วิธีการใช้ยา คือ เคี้ยวหมากฝรั่งจนได้รสเผ็ดซ่าให้ดันและอมหมากฝรั่งไว้ที่กระพุ้งแก้ม จนรสเผ็ดซ่าหายไป จึงเคี้ยวใหม่ สลับกันไปจนครบ 20-30 นาทีต่อชิ้น
- ควรเคี้ยวหมากฝรั่งตามกำหนดระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง ไม่ใช่เคี้ยวเมื่อมีอาการอยากสูบบุหรี่ ยกเว้นใช้ควบคู่กับแผ่นแปะนิโคติน สามารถเคี้ยวเฉพาะเวลาที่อยากสูบบุหรี่ได้
ผลข้างเคียงของยาที่อาจพบได้ เช่น แผลในปาก สะอึก ปวดกราม ปวดแสบท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ
ข้อควรระวังการใช้ยา :
- ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีปัญหาทางทันตกรรม เช่น ใส่ฟันปลอม
- ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานที่ยังคุมอาการไม่ได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจ
แผ่นแปะนิโคติน (nicotin patch)
การทำงานของยา คือ สารนิโคตินจะดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ ใช้เวลา 4-9 ชั่วโมงจึงจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่ และหลังจากนั้นจะมีระดับยาคงที่ยาวนานในกระแสเลือดตลอด 24 ชั่วโมง
ในประเทศไทย มีจำหน่าย 2 แบรนด์ คือ
- NICOTINELL® patch
- NICORETTE® invisipatch
1. NICOTINELL®patch
แผ่นยามี 3 ขนาดความแรงดังนี้
- ขนาด 17.5 มิลลิกรัม จะปลดปล่อยให้นิโคติน 7 มิลลิกรัม/วัน
- ขนาด 35 มิลลิกรัม จะปลดปล่อยให้นิโคติน 14 มิลลิกรัม/วัน
- ขนาด 52.5 มิลลิกรัม จะปลดปล่อยให้นิโคติน 21 มิลลิกรัม/วัน
การเลือกใช้และวิธีใช้แผ่นแปะในขนาดต่างๆ
- สำหรับผู้สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน : ใน 2 เดือนแรกใช้แผ่นยาขนาด 35 มก. และ เดือนสุดท้ายใช้แผ่นยาขนาด 17.5 มก.
- สำหรับผู้สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน : ในเดือนที่ 1 ใช้แผ่นยาขนาด 52.5 มก. ,เดือนที่ 2 ใช้แผ่นยาขนาด 35 มก. และเดือนสุดท้ายใช้แผ่นยาขนาด 17.5 มก.
2.NICORETTE® invisipatch
แผ่นยามี 3 ขนาดความแรงดังนี้ 10,15,และ 25 มิลลิกรัม
การเลือกใช้และวิธีใช้แผ่นแปะในขนาดต่างๆ
- สำหรับผู้สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน : ใน 2 เดือนแรกใช้แผ่นยาขนาด 15 มก. และ เดือนสุดท้ายใช้แผ่นยาขนาด 10 มก.
- สำหรับผู้สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน : ใน 2 เดือนแรก ใช้แผ่นยาขนาด 25 มก. , 14 วันต่อมา ใช้แผ่นยาขนาด 15 มก. และ ใน 14 วันสุดท้ายใช้แผ่นยาขนาด 10 มก.
คำแนะนำวิธีใช้ยาและแปะแผ่นยาที่ถูกต้อง
- บริเวณผิวหนังที่ติดแผ่นยาต้องไม่มีขนและบาดแผล เช่นที่ ลำคอ สะโพกหรือต้นแขนด้านนอก
- ควรติดแผ่นยาทุกวันในเวลาเดียวกัน แต่ให้เปลี่ยนสลับตำแหน่งที่แปะแผ่นยา เพื่อป้องกันการเกิดผื่นแพ้และผิวหนังอักเสบ
- หลีกเลี่ยงการทาครีมหรือโลชั่น บริเวณที่ต้องการแปะแผ่นยา เพราะจะทำให้ให้แผ่นยาติดผิวหนังได้ไม่ดี และอาจหลุดออกได้ง่าย
- เมื่อแปะแผ่นยาที่ผิวหนังแล้วให้กดแผ่นยาไว้สัก 10 วินาที เพื่อให้แผ่นติดผิวหนังได้แน่นขึ้น
- ให้แปะแผ่นยาตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ต้องดึงแผ่นยาแม้ในเวลาอาบน้ำ
- ถ้ามีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับหรือฝันร้ายให้ดึงแผ่นยาออกก่อนเข้านอนได้
ผลข้างเคียงของยาที่พบได้ : นอนไม่หลับ ฝันร้าย ผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบ
ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้
- ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร
- หลีกเลี่ยงการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน ที่ยังคุมอาการไม่ได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจ
- แผ่นแปะนิโคตินไม่เหมาะกับผู้ที่ทำงานออกเหงื่อเยอะหรือทำงานในที่อากาศร้อนอบอ้าว
สเปรย์นิโคติน ( mouth spray nicotine)
กลไกการออกฤทธิ์ของนิโคตินแบบสเปรย์ มีหลักการเดียวกับหมากฝรั่งนิโคติน คือยาจะออกฤทธิ์ได้เร็ว สามารถลดอาการอยากสูบบุหรี่ได้ภายใน 30 นาที
บริเวณที่แนะนะให้ฉีดสเปรย์คือ ข้างกระพุ้งแก้ม และ ใต้โคนลิ้น เพราะเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก ช่วยให้ยาถูกดูดซึมได้เร็ว
ตัวอย่างยาที่มีจำหน่ายในประเทศไทย คือ Nicorette Quick Mist 1 spray มี นิโคติน 1 มก.
1 ขวดสามารถใช้ได้ 150 ครั้ง
วิธีการใช้
- ช่วงที่ 1 สัปดาห์ที่ 1-6 :
พ่นยา 1-2 ครั้งตามเวลาที่สูบบุหรี่ปกติ หรือเมื่อมีความรู้สึกอยากบุหรี่ หากหลังจากสเปรย์ครั้งแรก แล้วไม่หายอยากภายใน 2 นาที ให้สเปรย์เพิ่มได้อีก 1 ที
สามารถใช้ได้เท่ากับจำนวนการใช้บุหรี่ต่อวัน เช่น หากปกติสูบบุหรี่วันละ 15 มวน/วัน ผู้ป่วยควรพ่นยาครั้งละ 1-2 สเปรย์ ประมาณวันละ 15 ครั้งขึ้นไปต่อวัน
- ช่วงที่ 2 สัปดาห์ที่ 7-9 : ค่อยๆลดจำนวนครั้งในการสเปรย์ต่อวันลงภายในสิ้นสัปดาห์ที่ 9 ควรลดจำนวนครั้งในการสเปรย์ลงเหลือครึ่งหนึ่งของช่วงที่ 1 ยกตัวอย่าง เช่น เคยต้องใช้ 15 ครั้งต่อวัน ควรเหลือ 7 ครั้งต่อวัน
- ช่วงที่ 3 สัปดาห์ที่ 10-12 : ค่อยๆลดจำนวนครั้งในการสเปรย์ต่อวันลง จนกระทั่งสเปรย์ไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อวันในสัปดาห์ที่ 12 จากนั้นหยุดยา เพื่อให้การเลิกบุหรี่สำเร็จ
- สัปดาห์ที่ 12 : การใช้สเปรย์ภายหลังจากช่วงที่ 3 สามารถสเปรย์ได้ หากมีความรู้สึกอยากบุหรี่ และสามารถพ่นได้อีก 1 ที ถ้ายังไม่หายอยากบุหรี่
- โดยทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้ยานานเกิน 6 เดือน
คำแนะนำพิเศษ
บริเวณที่เหมาะสมสำหรับฉีดสปรย์คือ ใต้โคนลิ้นและกระพุ้งแก้ม หลังจากสเปรย์ยาแล้วไม่ควรกลืนน้ำลาย
กลุ่มยารักษาที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน (non-nicotine therapy)
ในประเทศไทย มียา 3 ตัวที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการติดนโคิน ดังนี้
- QUOMEM® (ชื่อทางการค้า) : ตัวยาสำคัญคือ Bupropion Hcl
- CHAMPIX® (ชื่อทางการค้า) : ตัวยาสำคัญคือ Varenicline tartrate
- CYTISINE GPO ® (ชื่อทางการค้า) : ตัวยาสำคัญ Cytisine
1.Bupropion ( ชื่อการค้า : QUOMEM)
เดิมที่ในปี พ.ศ. 2532 ยาตัวนี้ถูกผลิตออกมาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า แต่พบว่ามีประสิทธิภาพช่วยในการรักษาภาวะเสพติดนิโคตินในบุหรี่ได้โดยบังเอิญ จึงได้นำมาใช้รักษาโรคติดบุหรี่อย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน เป็นยาเม็ดขนาดความแรง 150 มิลลิกรัม
วิธีรับประทานยา
- ห้ามหักหรือเคี้ยวเม็ดยา ต้องกลืนยาทั้งเม็ด เพราะยาถูกออกแบบมาให้ค่อยๆปลดปล่อยตัวยา การหักหรือเคี้ยวเม็ดยาจะทำให้การออกฤทธิ์ของยาเปลี่ยนไป เกิดผลข้างเคียงและไม่ได้ผลที่ดีในการักษา
- 3 วันแรก ให้ทานยาวันละ 1 เม็ด
- ตั้งแต่วันที่ 4 ให้ทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 8 ชั่วโมง
- ให้หยุดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาดในวันที่ 8 ของการรักษาหรือกินยา
- สามารถใช้ยาติดต่อกันได้นาน 3 เดือน
ผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อย : ท้องผูก มีอาการชัก ปากแห้ง คอแห้ง และ นอนไม่หลับ
ซึ่งสามารถแก้ไขได้ 2 วิธี
- ให้รับประทานยา วันละ 1 เม็ดเท่านั้น เฉพาะในตอนเช้า เพราะในปัจจุบันมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าขนาดยา 150 มก./วัน ก็เพียงพอต่อการรักษาได้แล้วและให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากการใช้ยาวันละ 2 เม็ด ห่างกัน 8 ชั่วโมง
- ให้ปรับเวลาทานยา โดยมื้อที่ 2 ให้ทานยาเวลาไม่เกิน 17.00 น.
ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ :
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคลมชัก
- ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร
2.Valenicline (ชื่อการค้า : CHAMPIX)
ปกติเวลาผู้ป่วยสูบบุหรี่ สารเสพติดนิโคตินจะดูดซึมเข้ากระแสเลือดและผ่านเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็ว ภายใน 2 นาที และไปจับกับ ตัวรับนิโคติน (alpha-4 beta-2 nicotinic receptor) มีผลให้เกิดการกระตุ้นสารที่ทำให้รู้สึกมีความสุข เรียกว่า โดพามีน (dopamine) ออกมาในปริมาณมากทันที และลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วเมื่อบุหรี่หมดมวน
ส่วนยา Varenicline มีการทำงานเป็น dual action คือมีการออกฤทธิ์ผ่าน 2 กลไก ดังนี้
- กลไกแรก ยาจะไปจับกับ alpha-4 beta-2 nicotinic receptor เช่นกัน แต่จะก่อให้เกิดระดับการกระตุ้นที่ต่ำกว่า สารนิโคติน โดยเมื่อจับกับตัวรับนิโคตินแล้ว จะทำให้มีการหลั่งสาร Dopamine ออกมาในปริมาณครึ่งหนึ่งของการจับด้วยนิโคติน และลักษณะการหลั่งสารโดปามีน จะเป็นค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆและลดลงอย่างช้าๆเช่นกัน ทำให้ช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคตินได้โดยไม่ทำให้เสพติด
2. กลไกที่สอง ยาจะจับกับตัวรับนิโคตินนี้ไปตลอดและเพิ่มจำนวนการจับมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีตัวรับนิโคตินที่ว่าง น้อยลงเรื่อยๆจนไม่มีเลย ส่งผลให้สารเสพติดนิโคตินจากการสูบบุหรี่ไม่มีรีเซพเตอร์ให้จับและออกฤทธิ์ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสูบบุหรี่แล้วไม่มีรสชาติ จนสามารถตัดใจเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
ยา Varenicline แบรนด์ CHAMPIX® มี 2 ขนาดความแรง คือ 0.5 มก. และ 1 มก. โดยในประเทศไทยมีขาย 2 รูปแบบ
- ขนาดยา 1 มก. 1 กล่องบรรจุ 28 เม็ด
- ขนาดกล่องบรรจุ ขนาดยา 0.5 มก. 11 เม็ด และ ขนาดยา 1 มก. 14 เม็ด
วิธีรับประทานยา
- ให้กำหนดวันเลิกสูบบุหรี่
- ให้เริ่มกินยาก่อนกำหนดวันเลิกสูบบุหรี่ 7-14 วัน
- 3 วันแรก กินยา 0.5 มก. วันละ 1 ครั้งหลังอาหารทันที
- 4 วันต่อมา กินยา 0.5 มก. วันละ 2 ครั้งหลังอาหารทันที
- วันต่อไป กินยา 1 มก. วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารทันที สามารถใช้ยาได้นาน 3-6 เดือน มีข้อมูลการศึกษาว่า การใช้ยานาน 6 เดือนสามารถป้องกันการกลับไปสูบบุหรี่ใหม่ได้นานกว่าการใช้ยานาน 3 เดือน
- ห้ามเคี้ยวยาหรือหักแบ่งเม็ดยา และไม่ควรรับประทานยาก่อนนอน
ผลข้างเคียงของยา : คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก นอนไม่หลับ ฝันแปลกๆ
ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ :
- เนื่องจากร่างกายมีการกำจัดยาตัวนี้ออกทางไต จึงควรใช้อย่างระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคไตวาย
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย
- ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
- ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคลมชักหรือโรคทางจิตเวช
3. Cytisine
cytisine เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์ที่สกัดได้จากต้นจามจุรีสีทอง ( Golden rain) มีกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเหมือนกับ Varennicline คือ เป็น dual action โดยจะทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า โดพามีน ( dopamine) เช่นเดียวกับนิโคติน แต่จะมีปริมาณไม่สูง ทำให้ไม่เสพติดเหมือนนิโคติน และ ทำให้ตัวรับสารนิโคตินลดลง ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่ ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 15 นาที หลังรับประทาน
ยา CYTISINE มีรูปแบบเป็นยาเม็ดแข็ง tablet ขนาดความแรง 1.5 มก.ต่อเม็ด ใน 1 กล่อง บรรจุ 100 เม็ด
การใช้ยาและวิธีรับประทานยา :
- กินยาครั้งละ 2 เม็ด หลังอาหารทันที วันละ 3 ครั้ง เช้า เที่ยง เย็น เป็น เวลา 25 วัน
- คนไข้ต้องหยุดสูบบุหรี่ ในวันที่ 5 ของการใช้ยา
สรรพคุณ :
บรรเทาอาการถอนนิโคติน ช่วยผ่อนคลาย ทำให้ไม่เครียด ไม่หงุดหงิด
ผลข้างเคียง :
- ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย
- ฝันแปลก
ข้อห้ามใช้ :
- ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนแบบรุนแร
- ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Cytisine สำหรับเลิกบุหรี่
การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่มากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน
เนื่องจากประสิทธิภาพของยาช่วยเลิกบุหรี่ทุกชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบันมีจำกัด จึงมีการนำยามาใช้ร่วมกันมากกว่า 1 ชนิด โดยมีความเชื่อว่าเมื่อใช้ยาที่มีกลไกการออกฤทธ์แตกต่างกัน มาใช้ร่วมกันจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ได้ดีขึ้น
แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่า อัตราการเลิกบุหรี่สำเร็จไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณตามที่คาดหวัง และผลการรักษาไม่ได้ดีไปกว่าการใช้ยาตัวเดียวโดยลำพังเลย และตรงกันข้ามกลับทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเพิ่มขึ้น และ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้รับประโยชน์ใดใด
อย่างไรก็ตามยังมีการพิจารณาแนะนำให้ใช้ยาร่วมกัน 2 ชนิด รักษาผู้ป่วยที่เสพติดนิโคตินสูงมากๆและเคยรักษาด้วยยาชนิดเดียวแล้วไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา โดยมีสูตรยาเพียง 2 ขนานเท่านั้นที่แนะนำให้ใช้ได้ และยังพอมีหลักฐานว่าได้ประโยชน์อยู่บ้าง
- แผ่นแปะนิโคตินร่วมกับหมากฝรั่งนิโคติน
- แผ่นแปะนิโคตินร่วมกับ QUOMEM® (Bupropion)
สรุป
หัวใจสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคติดยาสูบให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความตั้งใจของตัวผู้ป่วยเองเป็นหลักก่อนเสมอ ยาช่วยเลิกบุหรี่จะป็นปัจจัยสนับสุนให้การเลิกบุหรี่ทำได้ง่ายขึ้นและเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จให้มากขึ้น ร่วมด้วยกับการทำพฤติกรรมบำบัดเสมอ เพราะว่าอย่าลืมว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มค่า
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
fixomull
สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกเด็กเล็ก
INNAQUA
เซรั่มแก้ผมร่วงฮีรูดอยด์
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา