โดยทั่วไป การดูแลรักษาโรคติดบุหรี่ให้ได้ผลสูงสุด ต้องอาศัยหลายแนวทาง คือทั้งแบบไม่ใช้ยาที่เรียกว่า พฤติกรรมบำบัด และแบบที่ใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ ร่วมกันเสมอเพื่อให้ได้อัตราความสำเร็จสูงสุดคือประมาณ 30-40 เปอร์เซ็นต์
การรักษาด้วยแนวทางใดแนวทางหนึ่งเพียงอย่างเดียวนั้นมีโอกาสสำเร็จน้อยกว่าการใช้หลายๆแนวทางร่วมกันอย่างชัดเจน กระบวนการให้คำแนะนำปรึกษาเพื่อการเลิกบุหรี่โดยบุคลากรทางการแพทย์จึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากไม่น้อยไปกว่าความตั้งใจมุ่งมั่นของตัวผู้ป่วยเอง
สารบัญ
แนวทางการบำบัดรักษาโรคติดบุหรี่แบบไม่ใช้ยา
กระบวนการให้บริการเลิกบุหรี่ มีหลักการที่สำคัญคือ ต้องประเมินผู้สูบบุหรี่ว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใด เพื่อที่ผู้ดูแลจะจัดการเรื่องการตั้งเป้าหมายร่วมกับผู้ป่วยและวางแผนวิธีการรักษาให้เหมาะสมกับผู้รับบริการแต่ละคน
แนวทางการรักษา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงปัญหาการเสพติดนิโคตินและวิธีการรับมือกับอาการถอนนิโคติน ซึ่งมีขั้นตอนประกอบด้วย :-
- แนวทางการบำบัดผู้ป่วยติดบุหรี่ด้วยเทคนิค 5A
- การประเมินความพร้อมในการเลิกสูบบุหรี่ของผู้ป่วย
- การวางแผนการเลิกบุหรี่ด้วยเทคนิค STAR
- การสร้างแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ด้วยเทคนิค 5R
- การป้องกันการกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ ด้วยเทคนิค 5D
แนวทางการบำบัดด้วยเทคนิค 5A
เทคนิค 5A คือ
- Ask : การถามและบันทึกประวัติการเสพผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกชนิด
- Advise : การแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ทุกชนิดโดยเด็ดขาด
- Assess : การประเมินความรุนแรงในการติดบุหรี่และความตั้งใจในการเลิกสูบ
- Assist : การช่วยเหลือและบำบัดอย่างเหมาะสมเพื่อให้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ
- Arrange : การติดตามผลการบำบัดของผู้ป่วยทุกราย
1.ASK : –
คือ การสอบถามสถานะของการเสพยาสูบทุกชนิดของผู้ที่เข้ามารับบริการที่สถานบริการสุขภาพทุกระดับ ทุกแผนก และบุคคลในครอบครัวทุกราย โดยบันทึกข้อมูลนี้ลงในเวชระเบียนของผู้ป่วยด้วย เช่น ยังสูบบุหรี่อยู่ เคยสูบบุหรี่แต่เลิกสูบมาแล้วนานเท่าใด หรือไม่เคยสูบบุหรี่เลย
2.Advise :-
คือ การแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด ด้วยการสื่อสารเป็นภาษาพูดที่ชัดเจน ตรงประเด็น และเหมาะสมกับปัญหาของผู้ป่วยแต่ละราย
3.Assess :-
การประเมินเกี่ยวกับแรงจูงใจหรือความพร้อม ความตั้งใจ ของผู้ป่วยในการเลิกสูบบุหรี่ และ ประเมินความรุนแรงในการเสพติดบุหรี่
- การประเมินความพร้อมของผู้ป่วยในการเลิกบุหรี่โดยใช้ ทฤษฎีขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ( The transtheoretical model or stage of change)
ทำได้ 2 วิธี ดังนี้
1.1 ใช้คำถาม 2 ข้อ
คำถามที่ 1 คุณวางแผนที่จะเลิกบุหรี่ในอีก 6 เดือนข้างหน้าใช่หรือไม่?
- ตอบว่า ไม่ใช่ แสดงว่า ผู้ป่วยอยู่ในขั้นไม่สนใจและไม่พร้อมเลิกบุหรี่(precontemplation)
- ตอบว่า ใช่ ให้ดูคำถามข้อที่ 2
คำถามที่ 2 คุณวางแผนที่จะเลิกบุหรี่ในอีก 1 เดือนข้างหน้าใช่หรือไม่ ?
- ตอบว่า ไม่ใช่ แสดงว่า ผู้ป่วยอยู่ในขั้นลังเลใจ (contemplation)
- ตอบว่า ใช่ แสดงว่า ผู้ป่วยอยู่ในขั้นพร้อมจะเลิกบุหรี่ (preparation)
ตารางขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม
1.2 ใช้บันไดความพร้อมเลิกบุหรี่ ( The readiness to quit ladder)
ใหผู้ป่วยเลือกข้อที่ตรงกับความคิดของตัวเองมากที่สุด เพียงข้อเดียว
ตารางบันไดความพร้อมเลิกบุหรี่
2.ประเมินความรุนแรงของการเสพติดบุหรี่ โดยใช้ FTND หรือ HIS
- FTND : Fagerstrom test level of nicotine dependence
- HIS : Heaviness of Smoking index
ซึ่งจะเป็นการวัดระดับการเสพติดนิโคติน เพื่อประเมินว่า ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างไรจึงจะเหมาะสม
การแปลผลคะแนนประเมินการเสพติดนิโคติน เป็นดังนี้
0-3 คะแนน : ติดนิโคตินระดับต่ำ
4-6 คะแนน : ติดนิโคตินระดับปานกลาง
7-10 คะแนน : ติดนิโคตินระดับสูง
ตาราง FTND
ตาราง HSI
สนใจอ่านเพิ่มเติมที่ : การเลิกสูบบุหรี่
4.Assist :-
ขั้นตอนการช่วยเหลือและบำบัดนี้ จะแบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ เพื่อการดูแลให้เหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คือ
กลุ่มที่ 1 คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินแล้วว่า อยู่ในขั้นตัดสินใจและเตรียมพร้อมเลิกบุหรี่ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลด้วยเทคนิค STAR
กลุ่มที่ 2 คือผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินแล้วว่า ยังอยู่ในช่วงไม่สนใจและยังลังเลไม่ตัดสินใจเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการดูแลด้วยเทคนิค 5R
เทคนิค STAR
การดูแลผู้ป่วยกลุ่มที่ผู้ป่วยที่มีตัดสินใจและมีความพร้อมในการเลิกสูบบุหรี่ บุคลากรทางการแพทย์ จะยึดหลักการรักษาเบื้องต้น ดังนี้
- เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้ร่วมวางแผนการรักษาโรคติดบุหรี่กับผู้ดูแล เพื่อให้การบำบัดเกิดประสิทธฺภาพสูงสุด
- ผู้ดูแลจะกำหนดวันเลิกสูบบุหรี่ที่แน่นอนในการเลิกสูบบุหรี่เด็ดขาดร่วมกับผู้ป่วย และอธิบายขั้นตอนการบำบัดรักษา ตลอดจนเป้าหมายการรักษาให้ผู้ป่วยเข้าใจและรับทราบ
- ลักษณะของแผนบำบัด ต้องมีลักษณะที่สามารถปฏิบัติได้จริงทั้งผู้ป่วยและผู้บำบัด
ขั้นตอนนี้ ผู้รักษาจะใช้เทคนิค ที่เรียกว่า STAR ความหมายคือ :-
- S : set a target quit date = เลือกวัน
ข้อนี้สำคัญที่สุด คือจะต้องมีการกำหนดวันเลิกสูบบุหรี่ภายใน ไม่เกิน 1-2 สัปดาห์หลังผู้ป่วยตัดสินใจรักษา หรือสูงสุดต้องไม่เกิน 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะต้องมีส่วนร่วมด้วย
หลังจากนั้นผู้ดูแลจะเสนอแผนการค่อยๆ ลดจำนวนการสูบบุหรี่ลงเรื่อยๆ จนเป็น 0 ในวันที่กำหนดงดสูบโดยเด็ดขาด
ไม่แนะนำให้ใช้การหยุดสูบทันทีเมื่อถึงกำหนดวันเลิกสูบบุหรี่ เพราะมีการศึกษาแล้วว่ามีโอกาสล้มเหลวสูงมาก
- T : Tell family and other = ลั่นวาจา
ผู้ดูแล จะแนะนำให้ผู้ป่วยบอกกล่าว คนในครอบครัว เพื่อน ๆ ผู้ร่วมงาน หรือ คนอื่นๆรอบข้างว่ากำลังรักษาโรคติดบุหรี่อยู่ ชี้แจงให้คนรอบข้างเข้าใจพร้อมขอกำลังใจและการสนับสนุนจากทุกๆคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในครอบครัว
- A : Anticipate challenges = พร้อมลงมือ
ขั้นตอนนี้ ผู้ดูแลจะเป็นผู้จัดการความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย เมื่อหยุดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด คือการวางแผนรับมือกับอาการถอนนิโคติน ซึ่งจะรุนแรงมากในช่วง 3 วันแรกของการหยุดสูบและจะยังคงมีอาการต่อไปอีกนาน 3-4 สัปดาห์
การเสพติดนิโคตินเป็นอุปสรรคหลักในการเลิกสูบบุหรี่ อาการถอนนิโคตินที่เกิดขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยกระสับกระส่าย รู้สึกไม่สบาย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิในการทำงาน
ในขั้นตอนนี้ผู้ดูแลจะสอนผู้ป่วยฝึกการใช้ แผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่เรียกว่า เทคนิค 5D เมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ ซึ่งสามารถใช้ไปจนถึงขั้นตอนป้องกันการกลับไปสูบบุหรี่ซำ้ใหม่ได้
- R: Remove all tobacco-related products = ละทิ้งอุปกรณ์
ผู้ดูแล จะบอกกล่าวให้ ผู้ป่วยจัดการกำจัดบุหรี่ ยาสูบทุกชนิด รวมทั้งหมากพลู และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ทั้งหมด รวมถึงการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นในการสูบบุหรี่ เช่น ไปยังสถานที่ที่เคยสูบบุหรี่ประจำ การดื่มสุรา แอลกอฮอล์
สนใจอ่านรายละเอียด : การเตรียมตัวเลิกบุหรี่
เทคนิค 5 R
สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่มีความพร้อมเต็มที่ในการเลิกสูบบุหรี่ บุคลากรทางการแพทย์จะติดตามให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ ผลดีของการไม่สูบบุหรี่ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจและให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยว่า การเลิกสูบบุหรี่สามารถประสบความสำเร็จได้ถ้าตั้งใจมุ่งมั่น เรียกการบำบัดนี้ว่า การใช้เทคนิค 5R
- Relevance :
การชี้ให้เห็นว่าการสูบบุหรี่ เป็นปัญหาและมีความสัมพันธ์กับปัญหาทางสุขภาพของตัวผู้ป่วยเอง เช่น ฟันผุ แผลในกระเพาะอาหาร ผิวเหี่ยวย่น เป็นต้น - Risks :
การเน้นย้ำถึงผลเสียจากการสูบบุหรี่ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงผลที่จะเกิดแก่คนรอบข้างด้วย
ผลเสียระยะสั้น เช่น หายใจไม่เต็มอิ่ม
ผลเสียระยะยาว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง
ผลของควันบุหรี่มือสองต่อคนในครอบครัว โดยเฉพาะเด็กๆในบ้านจะมีโอกาสติดเชื้อทางเดินหายใจมากขึ้น - Rewards :
การเน้นย้ำถึงผลดีที่ได้จากการเลิกสูบบุหรี่ โดยเฉพาะสิ่งดีๆที่ผู้ป่วยจะได้รับ เช่น บุคคลิกภาพที่ดูดีขึ้น เป็นแบบอย่างที่ดีต่อลูก ประหยัดค่าใช้จ่ายมีเงินเก็บมากขึ้น - Roadblock :
การกระตุ้นให้ผู้ป่วยระบุหาสาเหตุที่เป็นอุปสรรคต่อการเลิกสูบบุหรี่ พร้อมทั้งช่วยหาแนวทางแก้ไขร่วมกับผู้ป่วย เช่น เคยพยายามเลิกแล้วแต่ไม่สำเร็จเพราะไม่มีคนสนับสนุน กังวลเรื่องน้ำหนักตัว เป็นต้น - Repetition :
การติดตาม สอบถาม ทุกครั้งที่ได้พบผู้ป่วย ถึงความพร้อมในการตัดสินใจเลิกสูบบุหรี่
สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ผลกระทบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่
5.Arrange :-
ขั้นตอนการติดตามผลการักษา ผู้ดูแลจะมีการนัดติดตามผลเป็นขั้นตอนดังนี้
– ครั้งแรกภายใน 2 สัปดาห์ จากนั้น 2-4 สัปดาห์ ใน 3 เดือนแรกของการรักษา
– จากนั้น จะนัดติดตาม 1-2 เดือน จนครบ 6 เดือน ของการรักษา
– และนัดติดตามอย่างห่างๆ จนกว่าจะครบ 1 ปี
ที่สำคัญมากคือ ผู้ดูแลจะมีการใช้เครื่องตรวจวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจ หรือ การตรวจวัดระดับสารโคตินีนในปัสสาวะหรือน้ำลาย เพื่อยืนยันผลการรักษาว่าประสบความสำเร็จหรือไม่มากน้อยระดับไหน เพื่อปรับการวางแผนช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถูกต้องเหมาะสมกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยแต่ละราย
โดยทั่วไป จะพบว่ามีลักษณะผู้ป่วยแบ่งเป็น 3 กลุ่มดังนี้
- ผู้ป่วยที่ประสบความสำเร็จในการเลิกสูบบุหรี่
- ผู้ป่วยที่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จ
- ผู้ป่วยที่กลับไปสูบบุหรี่ซ้ำใหม่
ซึ่งผู้ดูแลจะวางแนวทางการรักษาใหม่ ที่เหมาะสมในแต่ละกรณี
เทคนิค 5 D
การเสพติดนิโคตินเป็นอุปสรรคหลักในการเลิกสูบบุหรี่ อาการถอนนิโคตินที่เกิดขึ้น จะทำให้ผู้ป่วยกระสับกระส่าย รู้สึกไม่สบาย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิในการทำงาน
ในขั้นตอนช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาดนี้ ผู้ดูแลจะสอนผู้ป่วยฝึกการใช้ แผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ที่เรียกว่า เทคนิค 5D เมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ ซึ่งเทคนิคนี้ใช้ไปจนถึงขั้นตอนติดตามผู้ป่วยที่มีการกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ
เทคนิค 5D คือ ข้อปฏิบัติเมื่อรู้สึกอยากสูบบุหรี่
- Delay : ให้หาวิธียืดหรือเลื่อนเวลาการสูบออกไปก่อน เช่น นับเลข 1-10 ,ล้างหน้า,แปรงฟัน บ้วนปาก,เคี้ยวผลไม้รสเปรี้ยว
2. Deep Breath : การหายใจเข้า-ออก ลึกๆและช้าๆ จำนวน 5-10 ครั้ง จะช่วยให้ผ่อนคลาย
3. Drink water : ดื่มน้ำช้าๆ จิบน้ำบ่อยๆ หรือ ล้างหน้าทันที เมื่อรู้สึกหงุดหงิด กระวนกระวายใจ
4.Do something else : ทำกิจกรรมอย่างอื่นที่ชอบหรือสนใจเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ออกกำลังกาย ปลูกต้นไม้ ดูหนัง ฟังเพลง
5.Destination / Discuss : ให้คิดตระหนักถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ หรือการพูดคุยกับคนที่ไว้วางใจ เพื่อสร้างกำลังใจ
สนใจอ่านเพิ่มเติมที่ : การบำบัดโรคเสพยาสูบ
สรุป
การรักษาโรคเสพยาสูบแบบไม่ใช้ยา ผู้ดูแลจะเปรียบเสมือนผู้จัดการช่วยชี้แนะให้ผู้ป่วยเข้าใจกลวิธีในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเอาชนะอาการถอนนิโคติน ทำให้ผู้ป่วยเห็นทางออกที่ถูกต้อง เห็นผลได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องทนทุกข์ทรมานและเสียเวลาจากการลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
ฟิกซูโมลใสกันน้ำ (หนัก 60 กรัม)
ไบโอซิงค์ (หนัก 150 กรัม)
หน้ากาก 3M (หนัก 10 กรัม)
แนคลอง (หนัก 20 กรัม)
กระชายขาวแคปซูล (หนัก 50 กรัม)
ยาเบญจกูล (หนัก 50 กรัม)
สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูก (หนัก 90-150 กรัม)
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา