การแพ้เกิดจาก การที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารเคมีในอาหารและยา ดังนั้นถ้าเป็นสารเคมีชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในอาหารหรือยา ในคนๆเดียวกัน การตอบสนองต่อสิ่งที่แพ้จะแสดงอาการแพ้เดียวกัน
อาการแพ้เกิดขึ้นได้ทุกระบบของร่างกาย เช่น
ทางผิวหนัง : ลมพิษ ผื่นคัน ปากบวม คัน
ทางเดินอาหาร : ถ่ายเหลว อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง
ทางเดินหายใจ : คันคอ ไอ หายใจติดขัด หอบเหนื่อย
ทางหลอดเลือดหัวใจ : ความดันต่ำ หน้ามืด เป็นลม
ข้อแนะนำ หากมีอาการแพ้เกิดขึ้น ให้ลองทบทวนหาสาเหตุปัจจัยรอบข้างดูว่า แพ้อาหารหรือแพ้ยา ถ้าค่อนข้างมั่นใจว่าแพ้ยา ควรหาโอกาสพบเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำ แต่หากอาการรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
สารบัญ
- การแพ้อาหารเกิดจากอะไร
- ถ้าแพ้อาหารทะเลจะแพ้ยาด้วยไหม
- ถ้าแพ้ไอโอดีน อาการจะต่างจากแพ้อาหารทะเลอย่างไร
- ถ้าแพ้ยาฆ่าเชื้อที่มีไอโอดีน จะรับประทานเกลือที่มีไอโอดีนได้หรือไม่
- โรคประจำตัวมีผลต่อยาที่ใช้อย่างไร
- การป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายจากการแพ้ยาหรืออาหาร ควรทำอย่างไร
- สรุป
การแพ้อาหารเกิดจากอะไร
การแพ้อาหาร คือ ปฏิกิริยาเกี่ยวข้องกับกลไกระบบภูมิต้านทาน เมื่อร่างกายได้รับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ระบบภูมิต้านทานจะสร้างแอนติบอดี้ชื่อ อิมมูโนโกลบูลิน อี (Immunoglobulin E , IgE) ออกมาซึ่งจำเพาะกับอาหารชนิดนั้น โดย IgE จะอยู่บนผิวเซลล์ที่ชื่อว่า mast cell
เมื่อมีการรับประทานอาหาชนิดนั้นเข้าไปซ้ำ มันจะถูกจับกับ IgE ที่ถูกสร้างไว้ และเกิดกระตุ้นให้ mast cell หลั่งสารฮีสตามีน histamine ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้น
การสร้าง IgE มีเงื่อนไขเกี่ยวข้อง คือ
- พันธุกรรม
- ปัจจัยทางสรีระและสุขภาพตอนที่รับประทานอาหารชนิดนั้นๆ (ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ มีโอกาสแพ้อาหารได้มากกว่าคนทั่วไป)
- การออกกำลังกาย มีข้อสันนิษฐานว่า เพราะการออกกำลังกายจะกระตุ้นให้มีการหลั่งฮีสตามีนมากขึ้น ดังนั้นแนะนำว่า ควรเว้นระยะห่างระหว่างการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง
ลักษณะการแพ้อาหาร
- อาการแพ้เฉียบพลัน เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร 1 นาที- 1 ชั่วโมง อาหารที่ทำให้แพ้แบบนี้ คือ อาหารทะเล
อาการที่พบ คันคอ ปาก จมูก และ ตา ปากบวม หนังตาบวม ลมพิษพุพอง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หมดสติ เป็นต้น เมื่อพบผู้เกิดอาการเช่นนี้ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- อาการแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ จะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร 1-24 ชั่วโมง อาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ลักษณะนี้ ได้แก่ ไข่ นม ข้าวสาลี ถั่ว เป็นต้น
อาการที่พบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ลมพิษพุพอง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ เป็นต้น
- การเพิ่งเกิดอาการแพ้อาหารที่เมื่อก่อนเคยกินได้มาตลอด มีโอกาสเป็นไปได้ไหม
สามารถเกิดขึ้นได้ โดยอาจเกิดจากเหตุผลต่อไปนี้
- สุขภาพของร่างกายที่เปลี่ยนไป ทำให้ร่างกายเริ่มมีการสร้างสารแอนติบอดี้ต่อต้านสิ่งใหม่ๆขึ้นมาภายหลัง
- อาจเป็นอาการที่คล้ายกับการแพ้อาหารมากจนแยกไม่ออก โดยสาเหตุที่แท้จริงแล้วถ้าตรวจร่างกายอย่างละเอียด อาจไม่ใช่อาการแพ้อาหาร
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : การแพ้อาหาร
ถ้าแพ้อาหารทะเลจะแพ้ยาไหม
การแพ้อาหารทะเล เกิดจากการแพ้โปรตีนจากเปลือกสัตว์เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอย หรือโปรตีนที่อยู่ในเนื้อปลา ไม่ได้เกิดจากการแพ้ธาตุไอโอดีน
ดังนั้น คนที่แพ้อาหารทะเลสามารถใช้ยาที่มีไอโอดีนผสมอยู่ได้ เช่น ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชื่อ อะมิโอดาโรน (amiodalone) ยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ โพแทสเซียม ไอโอไดด์ (potassium iodide) สารทึบแสงที่ใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยา
การแพ้อาหารทะเลจะรวมความถึงการแพ้อาหารทะเลประเภทปลาทะเลด้วย แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่แพ้อาหารทะเลประเภทกุ้ง ปลาหมึก หอย จะต้องแพ้ปลาทะเลด้วย เพราะว่า การแพ้กุ้ง ปลาหมึก หอย คือแพ้โปรตีนที่อยู่ในเปลือกของมัน แต่การแพ้ปลา จะเป็นการแพ้โปรตีนในกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน แต่ในบางครั้งบางคนก็อาจแพ้ทั้งสองประเภทร่วมกันได้
ปัจจุบันในทางการแพทย์มีการนำเปลือกของสัตว์ทะเลเหล่านี้มาใช้อย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น
- ยากลูโคซามีน (glucosamine) สกัดมาจากเปลือกสัตว์ทะเล กุ้ง ปู เป็นยาที่ใช้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ช่วยเพิ่มน้ำไขข้อ ดังนั้นผู้ที่แพ้อาหารทะเลจำพวกนี้จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทลดน้ำหนักที่มีสารไคโตซานเป็นส่วนประกอบ ใช้สำหรับดักจับไขมันในอาหาร ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการนำมาใช้ในเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางสำหรับผู้ที่มีผิวมันอีกด้วย ไคโซซานเป็นสารโพลิเมอร์ชีวภาพที่สกัดจากไคติน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเปลือกสัตว์ทะเล
นอกจากนี้ยังมีการใช้ไคโตซานในวัสดุการแพทย์ ที่ใช้ห้ามเลือด และพลาสเตอร์ยาอีกด้วย
ในทางการเกษตร มีการนำไคโตซานมาเคลือบผลไม้ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและใช้ในการเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของผักอีกด้วย
อย่างไรก็ตามยังไม่ปรากฏรายงานที่ชัดเจน ว่าผู้ที่แพ้อาหารทะเล เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไคซิน หรือคีโตซาน จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ด้วยหรือไม่
ถ้าแพ้ไอโอดีน อาการจะต่างจากแพ้อาหารทะเลอย่างไร
การแพ้ไอโอดีนจริงๆ ในปัจจุบันยืนยันว่าพบน้อยมาก มักเป็นการแพ้ส่วนประกอบอื่นๆที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ไม่ได้เป็นการแพ้ไอโอดีนโมเลกุลเดี่ยวๆ และขอย้ำว่าการแพ้อาหารทะเลไม่เกี่ยวข้องกับการที่จะแพ้ไอโอดีน
แม้ว่าจะเคยมีรายงานอยู่บ้างว่า มีผู้ที่ฉีดสารทึบแสงที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบในการถ่ายภาพรังสี มีอาการได้ตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก จนถึงช็อคหมดสติ
แต่ก็มีข้อมูลที่เชื่อถือได้มากกว่า ไม่น่าจะเกิดจากการแพ้สารไอโอดีนโดยตรง แต่เป็นการแพ้ส่วนประกอบอื่นๆ ในสารทึบแสงมากกว่า เพราะพบว่าอุบัติการณ์การแพ้สารทึบแสงที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบไม่แตกต่างจากการแพ้สารทึบแสงที่ไม่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ
อีกหนึ่งรายงานที่เคยปรากฏพบว่า ผู้ที่แพ้อาหารทะเลมีแนวโน้มที่จะแพ้ไอโอดีนมากกว่าคนทั่วไปร้อยละ 5 แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายต่ออะไรก็ตามหรือผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็มักมีความเสี่ยงที่จะแพ้สารอื่นๆมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่แพ้อยู่แล้ว
ถ้าแพ้ยาฆ่าเชื้อที่มีไอโอดีน จะรับประทานเกลือที่มีไอโอดีนได้หรือไม่
เบตาดีน เป็นสารละลายของยาที่เรียกว่า โพวิโดนไอโอดีน หากทายาดังกล่าวแล้วเกิดอาการแพ้ ผื่นคัน เป็นตุ่มน้ำใส อาจบอกได้ว่าแพ้ยาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีน แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าแพ้ไอโอดีนโดยตรง
มีการทำการศึกษาทดลอง ในผู้ป่วย 10 รายที่แพ้ยาฆ่าเชื้อโพวิโดน ไอโอดีน ปรากฏว่า มีเพียง 1 รายที่ยืนยันโดยการทดสอบทางผิวหนัง ว่าเป็นการแพ้ไอโอดีนจริง นอกนั้นเป็นการแพ้ส่วนประกอบที่เป็นสารละลายในยา
แต่ไม่เคยมีรายงานการแพ้เกลือที่มีการเติมสารไอโอไดด์(เกลือไอโอดีน)เลย ดังนั้นผู้ที่แพ้ยาฆ่าเชื้อโพวิโดน ไอโอดีน จึงสามารถกินเกลือไอโอดีนได้ตามปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องงดหรือหลีกเลี่ยง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : สาระ-ปันยา
โรคประจำตัวมีผลต่อยาที่ใช้อย่างไร
ยาบางชนิดมีผลให้โรคประจำตัวกำเริบ ยกตัวอย่างเช่น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัว หอบ หืด ถ้าได้รับยาลดความดันกลุ่มที่มีชื่อว่า เบต้าบล๊อคเกอร์ (betablocker) เช่น โพรพาโนรอล (propranolol) ซึ่งมีผลทางเภสัชวิทยาทำให้หลอดลมหดตัว อาจทำให้หอบหืดกำเริบได้
นอกจากนี้ ยาลดไข้ แก้ปวดแอสไพริน มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ทำให้หลอดลมตีบแคบลงเช่นกัน จึงควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวกระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ควรใช้ยากลุ่มแก้ปวด ลดไข้ กล้ามเนื้อและข้อ อักเสบ ด้วยความระมัดระวัง เพราะมีผลข้างเคียงระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ก่อนใช้ยาประเภทนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
- ผู้ป่วยโรคไต มีความจำเป็นต้องปรับลดขนาดยาและ ติดตามผลการใช้ยาหลายๆชนิดอย่างใกล้ชิด เช่นการใช้สารทึบแสงในผู้ป่วยโรคไต อาจเกิดอันตรายได้ง่ายกว่าผู้ป่วยที่ภาวะการทำงานของไตปกติ
การป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายจากการแพ้ยาหรืออาหาร ควรทำอย่างไร
การแพ้ยาและอาการข้างเคียงของการใช้ยา มีที่มาของการเกิดต่างกัน
การแพ้ยา คือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้โดยคาดการณ์ไม่ได้ เพราะไม่มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับกลไกการออกฤทธิ์ของยา แต่เป็นเรื่องของร่างกายที่ตอบสนองต่อสารเคมีในอาหารและยาเองและเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลนั้นๆ และบ่อยครั้งมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่าอาการข้างเคียงจากยา
หากผู้ป่วยเคยได้รับยาขนานใดขนานหนึ่ง แล้วเกิดอาการแพ้รุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากได้รับตัวเดียวกันซ้ำเข้าไป จะเป็นอันตรายรุนแรงมากขึ้น อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการข้างเคียงของยา คือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยคาดการณ์ได้ว่าจะเกิด เพราะมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์ของยา เช่น ยาแก้แพ้ อาจทำให้ง่วงนอน ซึม ปากแห้ง คอแห้ง เพราะยาสามารถดูดซึมผ่านเข้าสู่สมองได้ หรือ ยาแก้ปวดกล้ามเนื้ออักเสบ ที่ออกฤทธิ์ลดการสร้างเยื่อเมือกเคลือบกระเพาะ ประกอบกับตัวยาเองมีความเป็นกรด จึงอาจทำให้ปวดแสบท้องได้
ดังนั้น เมื่อการแพ้ยาเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ จึงมีข้อแนะนำสำหรับคนทั่วไปดังนี้
- ควรมีหมายเลขโทรศัพท์โรงพยาบาล หน่วยพยาบาล แพทย์ เภสัชกร ที่ใช้บริการอยู่เป็นประจำ พกไว้ติดตัวเสมอ
- ทุกครั้งที่สงสัยว่าแพ้ยา หรืออาหาร ให้จดจำไว้ และควรโทรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อขอคำแนะนำ หรือถ้าอาการรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาล
- เมื่อไปใช้บริการทางการแพทย์ที่หน่วยงานใดก็ตาม ควรให้ข้อมูลโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาหรืออาหารแก่ แพทย์ เภสัชกร และบุคคลากรทางการแพทย์ทุกครั้ง แนะนำว่าควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้อยู่เสมอ
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชุด หรือซื้อยาใช้เองจากแหล่งจำหย่ายยาที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ได้มาตรฐาน พึงระลึกไว้อยู่เสมอว่า “แพ้ยาซ้ำ อาจตายได้”
- เมื่อต้องใช้บริการจากร้านยา ควรถามหาเภสัชกรทุกครั้ง เพราะจะช่วยให้ได้รับอันตรายจากการใช้ยาลดลง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : บริบาลเภสัชกรรมในร้านยา
สรุป
หากสงสัยว่ามีอาการแพ้เกิดขึ้น ไม่ว่าจากอาหารหรือยา ควรตระหนักและลองนึกทบทวนดูว่ามีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ให้จดจำและควรบันทึกไว้ก่อน เมื่อต้องไปใช้บริการทางการแพทย์ ควรให้ข้อมูลอาการแพ้ทั้งจากอาหารและยา ตลอดจนโรคประจำตัวด้วยเสมอ เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย ไม่แพ้ยาซ้ำ
ส่วนความเชื่อที่ว่า ผู้ที่แพ้อาหารทะเลจะเกิดอาการแพ้ต่อไอโอดีนหรือสารทึบรังสีนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ผู้ที่แพ้อาหารทะเล สามารถกินเกลือไอโอดีนและใช้ยาที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบได้ตามปกติไม่ต้องเป็นกังวล
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
fixomull
สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกเด็กเล็ก
INNAQUA
เซรั่มแก้ผมร่วงฮีรูดอยด์
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา