การดูแลรักษาแผลเป็น

การรักษาแผลเป็น

เมื่อผิวหนังมีการฉีกขาดจากการมีบาดแผล ก็จะทำให้เกิดแผลเป็นได้ แผลเป็นมีหลายรูปแบบ อาจจะเป็นสีชมพูแดง หรือ สีดำคล้ำกว่าผิวปกติ อาจจะหนา เป็นมันเงา  ขึ้นอยู่กับตำแหน่งแผล ความลึก ความกว้าง การดูแลแผล  อายุ พันธุกรรม และลักษณะผิวพรรณของแต่ละบุคคล

แผลเป็น

1.แผลเป็นมีกี่ชนิด

แผลเป็น เป็นสิ่งหลงเหลืออยู่หลังกระบวนการรักษาแผลของร่างกาย แผลเป็นมีหลายรูปแบบ แต่แผลเป็นที่ถือว่าผิดปกติ แบ่งออกได้ 3 ลักษณะ คือ

  1. แผลเป็นที่โตนูน มี 2 แบบคือ

    1.1 Hypertrophic scar :

    เป็นลักษณะแผลเป็นที่โตนูน แต่ไม่เกินขอบเขตของแผลเดิม อาจมีอาการคันร่วมด้วย มักเกิดในตำแหน่งบริเวณข้อต่อหรือกลางหน้าอก มักพบได้บ่อยในช่วงระยะ 6 เดือนแรก หลังจากนั้นจะค่อยๆยุบตัวแบนราบลงและกลับเข้าสู่ปกติประมาณ 1 ปี หลังเกิดแผล มักเกิดได้ในบาดแผลขนาดใหญ่ ทีกินลึกถึงชั้นหนังแท้ การเรียงตัวของ collagen ขนานกับผิวหนังดีอยู่แต่มีปริมาณมากเกินไป

    hypertrophic scar
    hypertrophic scar

    1.2 Keloid คีลอยด์ :

    เป็นแผลเป็นที่โตนูน และขยายใหญ่เกินขอบเขตของแผลเดิมไปมาก มักเกิดในผู้ที่มีผิวสีเข้ม ตำแหน่งที่เกิดได้บ่อย คือ หัวไหล่ ติ่งหู และกลางหน้าอก จะไม่ยุบหายไปเอง จัดเป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง
    สาเหตุที่เกิดคีลอยด์เพราะ ในช่วงระหว่างการหายของแผลมีการจัดเรียงตัวที่ผิดปกติไม่เป็นระเบียบ ไม่ขนานไปกับชั้นผิวหนัง ของคอลลาเจนและมีการสร้างคอลลาเจนที่มากเกินปกติร่วมด้วย
    พันธุกรรมและฮอร์โมนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดคีลอยด์ด้วยอย่างมาก พบว่าหญิงตั้งครรภ์มีโอกาสเกิดแผลเป็นคีลอยด์มากกว่าหญิงทั่วไป และหญิงวัยทองมีโอกาสเป็นคีลอยด์น้อยลง

    คีลอยด์
    keloid

    2.  Depressed scar :แผลเป็นที่เป็นร่องและลึกบุ๋มลงไปใต้ผิวหนัง

     

    แผลเป็นหลุมลึก
    depressed scar

3. Scar contraction :แผลเป็นที่มีการหดรั้งร่วมด้วย และอาจดึงรั้งให้อวัยวะบริเวณแผลให้ผิดรูปได้

แผลเป็นแบบผังพืด
scar contraction

แผลเป็นทั้ง 3 ชนิด อาจจะมีผิวสีซีดที่เรียกว่า hypopigmentation หรือผิวสีเข้ม ที่เรียกว่า hyperpigmentation ได้

บริเวณที่เป็นแผลเป็นได้ง่ายและเห็นได้เด่นชัด ได้แก่ ใบหน้า หน้าอก ไหล่ และแผ่นหลัง  คนไข้จึงต้องการลดรอยแผลเป็นเพื่อให้ดูกลมกลืนกับผิวรอบข้าง  ซึ่งถ้าแผลเป็นมีขาดเล็ก ไม่รุนแรง คนไข้ก็สามารถดูแลรักษาเองได้ เช่นแผลเป็น hypertrophic scar

แต่หากเป็น แผลคีลอยด์ แผลเป็นชนิดที่2 depressed scar และ แผลเป็นชนิดที่ 3 scar contraction จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้การรักษา

แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : สาเหตุของร่องรอยแผลเป็น

2. การป้องกันการเกิดแผลเป็น

แนะนำให้ผู้ป่วยนวดแผลด้วยครีมวิตามิน อี(scar massage) ในช่วงระยะแรกๆที่แผลเริ่มหายใหม่ๆ  ให้นวดอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน  จะช่วยให้แผลลดการขยายตัวและนูนเกินได้  เนื่องจากเนื้อเยื่อแผลเป็นจะแข็งและนูน การนวดด้วยวิตามินอี ครีม เพื่อช่วยให้ความชุ่มชื้นกับเนื้อเยื่อแผลเป็น

วิธีการนวดแผลเป็น คือ ให้นวดด้วยครีมวิตามินอีหรือครีมบำรุงผิว  วางนิ้วกดลงบนแผลเป็นแล้วค่อยๆเคลื่อนที่เป็นวงกลม ช้าๆ และทำซ้ำไปให้ทั่วของรอยแผลเป็น ด้วยแรงกดพอสมควร แต่อย่ากดแรงเกินไป  นวดครั้งละ 5-10 นาที วันละ 2-3 ครั้ง ให้นวดต่อเนื่องจนแผลเป็นแบนราบและสีจางลง

การนวดแผลเป็น

แต่หากเป็นแผลที่มีขนาดใหญ่และกว้าง อาจต้องปรึกษาแพทย์เพื่อใช้วัสดุที่เรียกว่า pressure garment (ผ้ารัด) โดยอาจจำเป็นต้องสวมใส่เป็นระยะเวลา 6 เดือน- 1 ปี

 

สนใจอ่านวิธีดูแลแผล แนะนำเข้าไปอ่านรายละเอียดที่ : ดูแลแผลอย่างไรให้หายไวไม่ทิ้งรอยแผลเป็น

3. การรักษาแผลเป็น

ในทางการแพทย์ วิธีในการรักษาแผลเป็นมีหลายวิธี และการรักษาแผลเป็นให้ได้ผลดีจำเป็นต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำด้วย

แผลเป็นที่มีขนาดใหญ่และรุนแรง แพทย์จะใช้หลายวิธีร่วมกันในการรักษา ตั้งแต่ ฉีดสเตียรอยด์ ผ่าตัด ฉายรังสี ใช้เลเซอร์

ส่วนแผลเป็นที่ไม่รุนแรง มีขนาดเล็ก เราสามารถเรียนรู้วิธีการดูแลรักษา เพื่อลดรอยแผลเป็นได้ด้วยตัวเอง

  1. แผ่นซิลิโคน (silicone gel sheet)

ผลิตจากซิลิโคน มีลักษณะใสและนุ่ม เป็นตัวช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับแผลเป็น ลดการอักเสบของแผล ทำให้มีการสร้างคอลลาเจนที่พอดี ช่วยให้แผลแบนราบและอ่อนนุ่ม

วิธีนี้จะได้ผลดี ให้เริ่มใช้ตั้งแต่แผลเริ่มปิดสนิท ให้ปิดไว้ที่แผลวันละ 12-24 ชั่วโมง  ต่อเนื่องกันนาน 6 เดือน- 1 ปี โดยทุก 12 ชั่วโมงควรมีการล้างแผ่นเจลด้วยสบู่และน้ำวันละครั้ง  วิธีนี้จะช่วยยืดอายุการใช้งานแผ่นเจลได้จากปกติ 1 เดือน เป็น 1 เดือนครึ่ง-2 เดือนได้

วิธีใช้แผ่นซิลิโคน

  • ตัดแผ่นซิลิโคนให้มีขนาดและรูปร่างพอดีกับแผลเป็น
  • ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เป็นและเช็ดให้แห้ง
  • ปิดแผ่นซิลิโคนลงบนแผลเป็น และอาจใช้ผ้าเทปปิดทับอีกชั้นได้เพื่อป้องกันแผ่นเจลเลื่อนหลุดออก

มีข้อควรระวังอยู่บ้างใน คนไข้บางรายอาจพบการระคายเคือง เกิดผื่นแพ้บริเวณที่ติดแผ่นเจลได้บ้าง  ถ้าไม่รุนแรงใช้ต่อได้ แต่ถ้าแพ้รุนแรงอาจต้องเปลี่ยนไปใช้วิธีอื่นแทน

แผ่นเจลซิลิโคน
แผ่นซิลิโคนเจล

2. เจลซิลิโคน (silicone gel)

มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งเหลวคล้ายเจลลี่ ใสไม่มีสี  ทำมาจากซิลิโคน มีคุณสมบัติช่วยให้แผลแบนราบ ยุบตัวลง ลดความแดงของแผลได้ เหมือนการใช้แผ่นซิลิโคน แต่มีความสะดวกง่ายต่อการใช้มากกว่า เพราะสามารถทาเจล บริเวณใดของร่างกายก็ได้ ในขณะที่แผ่นเจลอาจมีข้อจำกัดในบางพื้นที่ของร่างกาย

วิธีใช้เจลซิลิโคน

  • ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เป็นและเช็ดให้แห้ง
  • ทาเจลลงบนแผล ไม่ต้องถูนวด ปล่อยทิ้งไว้สักพัก รอให้เจลแห้ง จึงใส่เสื้อผ้าทับได้

ใช้ทาวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น นานประมาณ 3-6 เดือน

เจลซิลิโคน

3. เทปปิดแผล (adhesive tape)

เทปปิดแผลทั้งแบบที่เป็นเนื้อกะดาษ และ เนื้อพลาสติค ก็สามารถช่วยลดรอยแผลเป็นได้โดยเพิ่มแรงกดทับบนแผลเป็น ส่งผลให้มีการลดการสร้างเส้นใยและคอลลาเจนที่มากเกินไปได้ ช่วยลดโอกาสที่แผลจะนูนและหนาขึ้น

วิธีนี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่แผลพึ่งเริ่มหายใหม่ๆ ให้ปิดไว้วันละ 16-20 ชั่วโมง ต่อเนื่องกัน 6 เดือน – 1 ปี  พบว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดี ไม่แพ้การใช้ซิลิโคน

วิธีใช้ไมโครพอร์เทปหรือทรานสพอร์เทป

  • ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่เป็นและเช็ดให้แห้ง
  • ปิดผ้าเทปลงบนแผลป็น เปลี่ยนทุก 1-5 วัน

มีข้อควรระวังเช่นเดียวกับการใช้แผ่นซิลิโคน ถ้าแพ้รุนแรงต้องเปลี่ยนวิธี

30 บาท68 บาท
This product has multiple variants. The options may be chosen on the product page

4. ยาฉีดสเตียรอยด์ (intralesional corticostearoid injection)

แพทย์จะฉีดคอร์ติโคสเตียรอยด์เข้าไปในชั้นหนังแท้ เพื่อลดการอักเสบ ทำไห้แผลแบนราบลง ตัวยาที่นิยมใช้คือ triamcinolone acetonide 10-40 mg./ml

วิธีการรักษาคือ แพทย์จะฉีดยาดังกล่าวเข้าไปในชั้นหนังแท้ เดือนละ 1 ครั้ง โดยมีการติดตามผลการรักษาหลังจากฉีดไปแล้ว 4 ครั้ง ถ้าไม่ตอบสนองต่อการรักษา แพทย์จะเปลี่ยนวิธีการรักษา

5. การผ่าตัด (Surgery)

แพทย์จะพิจารณาเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อวิธีอื่นไม่ได้ผล โดยนิยมใช้ควบคู่ไปกับวิธีอื่นๆ การผ่าตัดแผลมีหลายแบบ ถ้ามีขนาดใหญ่มากนัก อาจตัดออกทั้งหมดได้ แต่ถ้ามีขนาดใหญ่ อาจใช้วิธีการตัดแบบซิกแซก หรือตัดออกบางส่วน

6. Imiquimod 5 % cream

มีชื่อการค้าว่า AldaraR เป็นยา immune response modifier แพทย์จะแนะนำให้คนไข้ใช้หลังการผ่าตัดแผลเป็น

วิธีการใช้คือ ทาก่อนนอน วันเว้นวัน ติดต่อกัน 2 เดือน  พบว่าได้ผลดี และช่วยป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้ดี

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้ เช่น อาจทำให้สีผิวบริเวณที่ทายามีสีเข้มขึ้น และ ระคายเคืองได้บ้าง

7. Retinoic acid

มีกลไกช่วยลดการสร้างคอลลาเจน กระตุ้นการสร้างเซลล์ผิวหนังกำพร้า  วิธีการใช้คือ ทาวันละ 2 ครั้ง ติดต่อกัน 3 เดือน พบว่าช่วยลดขนาดของแผลเป็นได้

8. เจลสารสกัดจากหัวหอม (12 % onion extract gel)

สารสกัดจากหัวหอม ( Allium cepa) เข้มข้น 12 % มีคุณสมบัติลดความนูน ความแดง ของแผลเป็นได้ แต่ใช้ได้ผลดีในคนผิวเหลืองชาวเอเชียมากกว่าคนผิวขาว ชาวยุโรป

ส่วนประกอบสำคัญในสารสกัดหัวหอมใหญ่คือ สารกลุ่ม PHENOLIC ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ และ เป็น antioxidant จึงช่วยลดการสร้างเส้นใยพังผืดที่บาดแผลได้

9. สารสกัดจากบัวบก (Centella asiatica)

ส่วนประกอบสำคัญในบัวบก ได้แก่ สารกลุ่มไตรเทอปินอยด์ ไกลโคไซด์ (Triterpenoid glycoside) มีคุณสมบัติเป็นแอนตี้ออกซิเดชั่น (antioxidation) ช่วยลดความเสื่อมของเซลล์ และ ช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ทำให้แผลเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการหายของแผลเร็วขึ้น ทำให้การเป็นแผลเป็นน้อยลง

นอกจากนี้ยังช่วยให้เพิ่มการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยอีกด้วย ทำให้มีการนำออกซิเจนและสารอาหารมาเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น  จึงช่วยลดการอักเสบ บวมของแผลได้เร็วขึ้น

คอลลาเจน เป็นสารโปรตีนที่สำคัญของผิวหนัง ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างผิว ทำให้ผิวเต่งตึง  จะอยู่คู่กับโปรตีนอีกชนิดหนึ่งคือ อิลาสติน  ซึ่งทำหน้าที่ให้ผิวมีความยืดหยุ่น

ในสารสกัดบัวบก มีสารที่ชื่อ Asiaticoside ทำหน้าที่กระตุ้นให้มีการสร้างคอลลาเจนเพิ่มขึ้นที่บาดแผล

ปัจจุบันมีทั้งในรูปแบบเจล ครีม ทาภายนอก และ แบบรับประทานเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแคปซูลบัวบก

ใบบัวบกเป็นพืชที่พบได้โดยทั่วไปในที่ชื้นแฉะ ทั่วทุกภาคของไทย ถ้าสนใจต้องการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับบัวบก แนะนำอ่านเพิ่มเติมที่ : บัวบก สมุนไพรมากประโยชน์

สรุป

แผลเป็น เป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นหลังจากที่ผิวหนังฉีกขาด จะมีอาการรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ ขนาดและความลึกของแผล ขั้นตอนการดูแลรักษาแผล สำหรับแผลเป็นที่ไม่รุนแรง สามารถดูแลรักษาด้วยผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในร้านยาได้ และถ้าดูแลด้วยตัวเองแล้วเป็นระยะเวลา 3 เดือนไม่เห็นผลควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้การรักษาต่อไป

เอกสารอ้างอิง

  1. ภก.วิรัตน์ ทองรอด, การดูแลและรักษาแผลเป็น. หน่วยกิตการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชศาสตร์ ปี พ.ศ. 2560
  2. ดร.ภก.สุเมธ จงรุจิโรจน์, การรักษาแผลเป็นโดยการใช้สารสกัดจากหัวหอม.
  3. จันทรพร  ทองเอกแก้ว, บัวบกสมุนไพรมากประโยชน์ 

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า