ทำไมจึงต้องรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่

Tobacco dependence

มติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า แต่ละประเทศควรลดการสูบบุหรี่ลงให้ได้ร้อยละ 30 ในปี พ.ศ.2568 แต่ปัจจุบันนี้ประเทศไทยมีอัตราการลดสูบบุหรี่ได้ไม่เกินร้อยละ 0.5 เท่านั้น ด้วยเหตุนี้วงการแพทย์ไทยจึงต้องมีการรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่

การเลิกสูบบุหรี่ทำได้ยาก เนื่องจากสิ่งตามมาคืออาการถอนยาที่เกิดขึ้นภายใน 4-6 ชั่วโมงหลังหยุดสูบบุหรี่  ดังนั้นการเลิกสูบบุหรี่ด้วยวิธีการหักดิบนั้นโอกาสประสพความสำเร็จน้อยมาก เกือบ 90% กลับไปสูบใหม่ภายใน 1 สัปดาห์

โรคหัวใจเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย โดยส่วนใหญ่เป็นเส้นเลือดหัวใจตีบที่เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญ   เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่ และก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ จะทำให้ไขมันไม่ดีในเลือดสูงขึ้น เกล็ดเลือดเกาะติดกันง่ายขึ้น ทำให้เส้นเลือดค่อยๆตีบลง

หัวใจขาดเลือด

สารบัญ

1.โรคเสพยาสูบ ( Tobacco dependence)

ในปี ค.ศ.2000 ทางสำนักงานนายแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกาและองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การสูบบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังอย่างหนึ่ง และให้ชื่อโรคนี้ว่า โรคเสพยาสูบ โดยมีรหัส ICD-10 เป็น F17

ICD-10 ย่อมาจาก International statistical classification of diseases and related health problems,10th revision

บุหรี่ในที่นี้ รวมถึง ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกประเภท ประกอบด้วย บุหรี่ซิกาแรตต์จากโรงงาน ยาเส้น บุหรี่มวนเองทุกชนิด และไปป์

การจัดให้การสูบบุหรี่เป็นโรคเรื้อรัง เพื่อช่วยให้แพทย์และบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ มีความเข้าใจธรรมชาติและการดำเนินของโรคที่เรื้อรัง เป็นๆหายๆ ได้ดียิ่งขึ้น

จากการสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2550 พบว่า มีคนไทยที่อายุเกิน 15 ปีและสูบบุหรี่อยู่มากถึง 11 ล้านคน ในจำนวนนี้ 9.5 ล้านคนสูบบุหรี่เป็นประจำ และอีก 1 ล้านคนเศษสูบบุหรี่เป็นครั้งคราว

แนวโน้มจากการคาดการณ์การบริโภคยาสูบของประชากรไทย โดยศุนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ พบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ถึง ปีพ.ศ. 2568  อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะลดลงเฉลี่ยปีละ 0.23%  และจะมีผู้สูบบุหรี่เท่ากับ 10.5 ล้านคน ในปี พ.ศ.2568  ซึ่งลดลงน้อยกว่าเป้าหมาย ของมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าแต่ละประเทศควรลดการสูบบุหรี่ลงให้ได้ 30% ในปีพ.ศ.2568

หากประเทศไทยต้องการให้มีจำนวนผู้สูบบุหรี่ลดเหลือ 9 ล้านคน ในปี พ.ศ.2568 จะต้องทำให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลง 0.44% ซึ่งเป็นอัตราการลดที่น้อยมาก (ยังไม่ถึง 0.50%) เชื่อกันว่าสาเหตุมาจากการที่เรายังไม่มีบริการช่วยเลิกบุหรี่อย่างเป็นระบบและมีไม่ทั่วถึงในตลอดเวลาที่ผ่านมา

และด้วยสาเหตุดังที่ได้กล่าวข้างต้น ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการช่วยเลิกบุหรี่และยาช่วยเลิกบุหรี่ได้อย่างแท้จริง  ประชากรไทยจำนวนมากจึงเลือกที่จะเลิกบุหรี่ด้วยตนเอง (แบบหักดิบ) ซึ่งมีอัตราความสำเร็จต่ำและมีโอกาสกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำได้มากเมื่อเปรียบเทียบกับการได้รับการบำบัดรักษาโดยแพทย์หรือบุคลากรวิชาชีพสุขภาพ

อาการของโรคเสพยาสูบ

โรคเสพยาสูบ หมายถึง โรคเรื้อรังอย่างหนึ่งที่สัมพันธ์กับการใช้บุหรี่ ประกอบด้วย อาการดื้อนิโคตินและอาการถอนนิโคติน

อาการดื้อนิโคติน (Nicotin tolerance) คือ ผู้เสพนิโคตินมีความต้องการนิโคตินเพิ่มมากขึ้น หลังจากเสพไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้สมองสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ  ซึ่งเป็นผลจากการที่มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง

อาการถอนนิโคติน (Nicotin withdrawal) คือ อาการที่เกิดขึ้นหลังจากมีการเลิกใช้นิโคติน เช่น หงุดหงิด วิตกกังวล อารมณ์เสีย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิ อ่อนแรง หิวบ่อย  ซึ่งทำให้ผู้สูบบุหรี่ไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ แม้จะรู้ว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

โรคติดบุหรี่

การวินิจฉัยโรคเสพยาสูบตามเกณฑ์ของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน DSM-IV : The diagnostic and statistical manual of mental disorder  ผู้ป่วยจะมีต้องมีอาการอย่างน้อย 3 ใน 7 ข้อต่อไปนี้ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

  1. มีอาการดื้อต่อนิโคติน ต้องการนิโคตินปริมาณมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลต่อร่างกายตามที่ต้องการ
  2. มีอาการแสดงทางร่างกายเมื่อขาดนิโคติน
  3. มีการใช้นิโคตินมากขึ้นและนานขึ้นกว่าที่ตั้งใจ
  4. ไม่สามารถลด ควบคุมการหยุดการใช้นิโคตินทั้งที่ต้องการหยุด
  5. ใช้เวลามากไปกับกิจกรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งนิโคติน เช่น การสูบบุหรี่ต่อเนื่องหลายมวน
  6. ลดหรือเลิกการเข้าร่วมกิจกรรมทุกชนิดเนื่องจากการเสพนิโคติน
  7. ยังคงใช้สารนิโคติน แม้จะมีปัญหาทางสุขภาพและจิตใจ

ภาวะเสพติดบุหรี่ แบ่งเป็น 3 ประเภท

  • ภาวะเสพติดทางร่างกาย (Physiological  dependence)  : เนื่องจากนิโคตินจะส่งผลต่อสมองโดยตรง  ทำให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนและสารสื่อประสาทต่างๆ ที่มีผลทำให้รู้สึกเคลิ้ม เป็นสุข กระปรี้กระเปล่าและทำงานได้
    เมื่อสูบบุหรี่ไปนานๆ จะทำให้ร่างกายทนต่อผลของนิโคตินในปริมาณเท่าเดิม นั่นคือหากต้องการผลของนิโคตินต่อร่างกายเหมือนที่เคยได้รับ จะต้องเพิ่มปริมาณนิโคตินมากขึ้นเพื่อจะได้ผลต่อร่างกายเท่าเดิม ทำให้ผู้ป่วยต้องสูบบุหรี่ปริมาณเพิ่มขึ้น
  • ภาวะเสพติดทางจิตใจ (Psychological dependence) : เป็นการสูบจากทัศนคติ ความเชื่อ ความรู้สึกต่อการสูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่จะรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ลดความกระวนกระวายใจ และสามารถจัดการกับความรู้สึกไม่ดีได้
  • ภาวะเสพติดทางสังคมหรือนิสัยความเคยชิน ( Socio-culture ) : การสูบจากนิสัยความเคยชิน  เช่น การสูบบุหรี่หลังอาหาร หรือ การสูบบุหรี่เพราะอยากให้มือทำอะไรบ้าง การสูบจากการที่อยู่ในครอบครัวที่มีผู้สูบบุหรี่ สูบเพราะไปงานเลี้ยงสังสรรค์กับเพื่อนที่สูบบุหรี่
หยุดการใช้บุหรี่

2.ผลกระทบจากโรคเสพยาสูบ

การที่ประชากรของประเทศใดก็ตามเป็นโรคติดบุหรี่ จะก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศมาก เพราะมันไม่ได้ส่งผลต่อตัวผู้สูบบุหรี่เองเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อผู้คนรอบข้างและสิ่งแวดล้อมด้วย

2.1 ผลกระทบต่อร่างกายผู้สูบบุหรี่ :

  • เนื่องจากในบุหรี่ 1 มวน เมื่อมีการเผาไหม้ จะทำให้เกิดสารเคมีมากกว่า 4000 ชนิด มากกว่าร้อยชนิดมีผลต่อการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และกว่า 60 ชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง

สารพิษที่สำคัญในควันบุหรี่ ได้แก่

-นิโคติน (nicotin ) : เป็นของเหลวคล้ายน้ำมัน ใสไม่มีสี ทำให้เสพติดและเส้นเลือดหัวใจตีบ

-ทาร์ (Tar) : เป็นละอองเหลวเหนียว สีน้ำตาลคล้ายน้ำมันดิน จะไปจับอยู่ที่ปอด ทำให้เยื่อบุหลอดลมไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ปกติ

-คาร์บอนมอนอกไซด์ (carbon monoxide): เป็นก๊าซชนิดเดียวกับที่พ่นออกจากท่อไอเสียรถยนต์ ก๊าซนี้จะไปขัดขวางการลำเลียงออกซิเจนของเม็ดเลือดแดง ทำให้ผู้สูบบุหรี่ได้รับออกซิเจนน้อยลงประมาณ 10-15% ผลที่ตามมาคือ หัวใจจะต้องเต้นเร็วขึ้นและทำงานหนักขึ้น

-ไฮโดรเจนไดออกไซด์ (hydrogen dioxide) : เป็นก๊าซพิษที่ทำให้เกิดอาการไอ  มีเสมหะ หลอดลมอักเสบ

-ไนโตรเจนไดออกไซด์ ( nitrogen dioxide) : เป็นสาเหตุของโรคถุงลมโป่งพอง เพราะไปทำลายเยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลม

-แอมโมเนีย (ammonia) , ไซยาไนด์(cyanide), ฟอร์มัลดีไฮด์ (formaldehyde) , สารปรุงแต่งกลิ่น รส อื่นๆ  ซึ่งล้วนเป็นพิษต่อเซลล์ร่างกาย

ควันบุหรี่

ด้วยเหตุนี้การสูบบุหรี่จึงเป็นสาเหตุของโรคสำคัญๆ  3 โรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคมะเร็งปอด และ โรคถุงลมโป่งพอง เรียงลำดับตามการทำให้เสียชีวิตจากเร็วที่สุดไปหาช้าที่สุด

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะทำให้หัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยโรคนี้จะเกิดอาการอย่างเฉียบพลันอาจถึงขึ้นหัวใจวายได้ในที่สุด โดยไม่มีอาการบ่งบอกล่วงหน้า โรคจะดำเนินไปอย่างเงียบๆ  ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตกะทันหัน

มะเร็ง

โรคมะเร็งปอด จะมีชีวิตอยู่ได้หลังจากเริ่มมีอาการโดยเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน และร้อยละ 80 จะเสียชีวิตภายใน 1 ปี แม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างดี จะมีอัตรารอดชีวิตร้อยละ 2 เท่านั้น

การเกิดโรคมะเร็งปอดระยะแรกจะไม่มีอาการ เมื่อไรที่มีอาการแสดงว่าโรคเป็นมากแล้วอาการที่พบคือ ไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะมีเลือดปน น้ำหนักลด อ่อนเพลีย มีไข้เล็กน้อย เจ็บหน้าอก  ซึ่งเป็นอาการร่วมของโรคต่างๆ ได้หลายชนิด จึงมักทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์ช้าและการวินิจฉัยโรคล่าช้า

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งปอดในระยะที่เป็นมากแล้ว จะมีอาการไอเป็นเลือด น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว ปวดกระดูกซี่โครง ไหปลาร้า หรือสะบ้า อาจมีอาการหอบเหนื่อย บวมบริเวณหน้า คอ แขน และอกส่วนบน  กลืนอาหารลำบากไม่สามารถกลั้นปัสสาวะและอุจจาระได้

ถุงลมโป่งพอง

โรคถุงลมโป่งพอง ที่มีอาการระยะสุดท้ายร้อยละ 70 จะเสียชีวิตภายใน 10 ปี โดยจะทุกข์ทรมานจากอาการเหนื่อยหอบจนกว่าจะเสียชีวิต
ตามปกติพื้นที่ในปอดจะมีขนาด 100 ตารางหลา และมีถุงลมเล็กๆกระจายอยู่เต็มทั่วปอดเพื่อทำหน้าที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย

สารไนโตรเจนไดออกไซด์ในควันบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อในปอดและถุงลม ให้ฉีกขาด และรวมตัวกันกลายเป็นถุงลมที่มีขนาดใหญ่ขึ้น กลายเป็นโรคถุงลมโป่งพอง

ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะทำให้พื้นที่ผิวเนื้อเยื่อภายในปอดซึ่งเป็นที่รับออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย มีขนาดเล็กลง จึงต้องหายใจเร็วขึ้นเพื่อให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายเพียงพอ  ผู้ป่วยจึงแสดงอาการเหนื่อยหอบตลอดเวลา

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ผลกระทบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่

2.2 ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม:

-ควันบุหรี่เป็นมลพิษทางอากาศอย่างหนึ่ง และทำให้ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

– การทำไร่ยาสูบ ทำให้ป่าไม้รอบข้างดูดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ลดลง

-สารก้นกรองบุหรี่ ทำมาจาก เซลลูโลสอะซิเตต ซึ่งเป็นพลาสติกที่ต้องใช้เวลาย่อยสลาย 10-15 ปี

– ควันบุหรี่ที่ผู้สูบบุหรี่พ่นออกมาสู่สิ่งแวดล้อม เรียกว่าควันบุหี่มือสอง จะมีปริมาณนิโคตินเพิ่มเป็น 2 เท่า  แอมโมเนียเพิ่มขึ้น 73 เท่า และ ทาร์เพิ่มขึ้น 5 เท่า  สามารถทำให้คนรอบข้างได้รับพิษของควันบุหรี่ไปด้วย

-ควันบุหรี่ที่ออกมาจากลมหายใจของผู้สูบบุหรี่ หรือที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า ผม ผิว เล็บ ของผู้ที่สูบบุหรี่ เรียกว่าควันบุหรี่มือสาม จะมีสารพิษเช่น ไฮโดรเจนไซด์ยาไนด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ แอมโมเนีย ตะกั่ว  ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็กๆ ที่อยู่ในความปกครองของผู้สูบบุหรี่ เพราะช่วงของการพัฒนาการ เด็กจะมีการเลีย อม  เคี้ยว กัดเล่น

เด็กมีมวลร่างกายที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ อัตราการเผาผลาญอาหารสูงกว่า มีการหายใจที่เร็วกว่า ทำให้สารพิษเข้าสู่ร่างกายและทำร้ายร่างกายเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า

ศึกษาเพิ่มเติมที่ : งานวิจัยเรื่องบุหรี่

3.คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับบุหรี่

  • นิโคตินในบุหรี่มีอันตรายจริงหรือ ?

ตอบ :  นิโคติน เป็นสารพิษตามธรรมชาติที่พบในใบยาสูบเท่านั้น หากได้รับปริมาณ 60 มิลลิกรัม ในครั้งเดียว จะทำให้กล้ามเนื้อกระบังลมเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ทันที

ในบุหรี่ 1 มวนมีนิโคติน 1 มก. แต่เหตุที่ผู้สูบบุหรี่ไม่เสียชีวิตทันที เพราะสูบเข้าไปทีละเล็กที่ละน้อย และร่างกายเผาผลาญนิโคตินที่รับไปได้เร็วมาก และขับออกจากร่างกายตลอดเวลา ทำให้ระดับนิโคตินในร่างกายไม่สูงพอที่จะทำให้ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตในทันที

นิโคตินเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง เพราะเมื่อระดับนิโคตินในเลือดลดลง จะกระตุ้นให้เกิดการอยากสูบบุหรี่มวนต่อๆไป

  • สูบบุหรี่มีก้นกรอง ปลอดภัยกว่าใช่หรือไม่ ?

ตอบ: การสูบบุหรี่ก้นกรองอาจลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดลงได้บ้าง  แต่โอกาสเกิดโรคหัวใจและถุงลมโป่งพองไม่ได้ลดลง  อย่างไรก็ตามผู้สูบบุหรี่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดเท่ากับผู้ไม่สูบบุหรี่ 6 เท่าครึ่ง

  • บุหรี่ชนิดไลท์ (light) หรือ ไมลด์ (mild) มีอันตรายน้อยกว่าจริงไหม ?

ตอบ : ทาร์ คือส่วนที่ทำให้เกิดมะเร็ง บุหรี่ที่มีทาร์และนิโคตินต่ำ บริษัทผู้ผลิตจะต้องเติมสารปรุงแต่งรสจำนวนมากเพื่อให้รสชาติบุหรี่ยังคงน่าสูบเหมือนเดิม  สารที่เติมเข้าไปหลายชนิดยังไม่ทราบเกิดผลกระทบต่อร่างกายอย่างไร

จากการศึกษาพบว่า ผู้สูบบุหรี่ชนิดนี้ จะเพิ่มจำนวนมวนบุหรี่มากขึ้นและสูบลึกกว่าเดิม  เพื่อให้ได้ระดับนิโคตินตามที่ร่างกายต้องการเท่าเดิม

  • ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ มีผลกระทบต่างจากผู้ชายอย่างไร ?

ตอบ :  ผู้หญิงที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้หญิงที่ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ทำให้ภูมิต้านทานลดลง โดยปกติผู้หญิงมีโอกาสติดเชื้อไวรัส HPV (human papillomavirus) ที่ทำให้เป็นมะเร็งปากมดลูกมากกว่าผู้ชาย  การสูบบุหรี่จะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อสูงมากขึ้น

ในผู้หญิงตั้งครรภ์ ถ้าสูบบุหรี่ เด็กในครรภ์จะได้รับผลกระทบจากที่นิโคตินทำให้เส้นเลือดบริเวณรกหดตัว  ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ทำให้เลือดที่จะไปเลี้ยงทารกมีออกซิเจนลดลง ดังนั้นเด็กจะได้รับเลือดและออกซิเจนน้อยลง ทำให้ตัวเล็ก พัฒนาการสมองไม่สมบูรณ์

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสตั้งครรภ์ยาก และหมดประจำเดือนเร็วด้วย

  • จริงหรือไม่ที่การสูบบุหรี่ทำให้หายเครียดหรือทำให้สมองแล่น?

ตอบ : สำหรับผู้ที่เสพติดบุหรี่แล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะนิโคตินเป็นสารเสพติดที่มีฤทธิ์กระตุ้นสมองอย่างแรงในระยะแรก ทำให้ผู้สูบบุหรี่รู้สึกผ่อนคลาย

หลังจากนั้นนิโคตินจะกดสมอง ระยะนี้ผู้สูบบุหรี่จะเริ่มคิดอะไรช้าลง คิดไม่ออก  ต้องจุดบุหรี่สูบใหม่เพื่อกระตุ้นสมองอีกครั้งหนึ่ง  เป็นวัฎจักรเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

แต่สำหรับผู้ไม่สูบบุหรี่แล้ว การที่จะต้องใช้นิโคตินกระตุ้นสมอง เพื่อให้ทำงานได้นั้นไม่มีความจำเป็นใดๆเลย

และโดยสถิติแล้วผู้ที่ทำงานเป็นผู้บริหาร หรือผู้ที่ต้องใช้สมองทำงานมีอัตราการสูบบุหรี่ต่ำที่สุดในทุกสังคม  ตรงกันข้ามอัตราการสูบบุหรี่จะสูงในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และผู้มีการศึกษาน้อย

แสดงว่าความสามารถในการคิดไม่จำเป็นต้องใช้นิโคติน ยกเว้นผู้ที่ติดบุหรี่

อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : 50 คำถามสำหรับผู้สูบบุหรี่

สรุป

เป็นมติเอกฉันท์แล้วในรัฐบาลทั่วโลก ที่จะต้องรณรงค์เรื่องการไม่สูบบุหรี่ ด้วยหลักฐานข้อเท็จจริงที่ชัดเจนแล้วว่า การสูบบุหรี่เป็นภัยต่อสังคมและความมั่นคงของประเทศชาติ เพราะนอกจากจะทำให้คุณภาพประชากรในประเทศนั้นๆด้อยลงยังก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาอีกด้วยอย่างมากมาย

การรณรงค์ให้เลิกใช้ยาสูบ จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคเสพยาสูบและยาช่วยรักษาได้เพิ่มขึ้น

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า