มีการสนับสนุนให้สตรีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพราะได้ประโยชน์มากมายทั้งในด้านสารอาหารที่มีคุณค่าและให้ผลดีต่อสุขภาพกายใจทั้งของแม่และเด็ก ปกติระยะเวลาให้นมจะใช้เวลานานประมาณ 3-6 เดือน เพราะฉะนั้น การใช้ยาของคุณแม่ในช่วงนี้จึงต้องมีความตระหนักถึงความปลอดภัยทั้งต่อตัวแม่เองและเด็กที่ดื่มนมแม่ด้วย
สารบัญ
- ทำไมควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
- การจัดกลุ่มความเสี่ยงที่ยาอาจส่งผลต่อทารกจากการดื่มนมแม่
- ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณยาในน้ำนมแม่
- ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผลเสียต่อทารกเมื่อดื่มนมแม่ที่มียาเจือปนอยู่
- หลักการทั่วไปในการใช้ยาสำหรับแม่ที่ให้นมลูก
- สรุป
ทำไมควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับเด็กทารกตั้งแต่แรกเกิด ประโยชน์ของนมแม่มีดังนี้
- มีสารอาหารครบถ้วนและมีฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก
- นมแม่ย่อยและดูดซึมง่าย ลดอาการท้องอืดโคลิกและอาการท้องผูก
- น้ำนมแม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค โดยเฉพาะน้ำนมช่วงแรกหลังคลอดที่เรียกว่า colostrum มีหลักฐานยืนยันว่านมแม่ช่วยลดการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจและหูชั้นกลางอักเสบ ลดการติดเชื้อของทางเดินอาหาร มีปัญหาฟันผุน้อย ลดอัตราการตายของทารกได้
- นมแม่ช่วยป้องกันการแพ้โปรตีนและป้องกันโรคภูมิแพ้ ลดอาการผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้และโรคหอบหืด โดยเฉพาะในเด็กที่มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว
- น้ำนมแม่มีกรดไขมันจำเป็น DHA ที่ช่วยการเจริญเติบโตของระบบประสาทและสมอง มีหลักฐานยืนยันว่าเด็กที่ดื่มนมแม่มีความสามารถด้านสติปัญญาและความเฉลียวฉลาด (ไอคิว)มากกว่าเด็กที่ดื่มนมชง
- การดื่มนมจากเต้านมมารดา เด็กจะได้รับการโอบกอดจากแม่ไว้ในวงแขนและทรวงอก เป็นการสร้างพันธะทางใจ สร้างความอบอุ่น ความผูกพันระหว่างแม่และลูกที่เกิดขึ้นซ้ำๆและต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กมีสุขภาวะทางจิตและมีการปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีเมื่อโตขึ้น
- มีการศึกษาพบว่า ทารกที่ดื่มนมแม่ช่วยลดอัตราการเกิดโรคอ้วน โรคเบาหวานและโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะยาวได้
นอกจากนี้การที่มารดาให้นมบุตร ยังส่งผลดีต่อตัวเองด้วย ได้แก่
- ช่วยให้มดลูกคืนสภาพเร็ว
- ช่วยให้น้ำหนักลดลงได้เร็ว เนื่องจากมีการกระตุ้นการสร้างฮออร์โมนที่ลดการสะสมไขมัน ทำให้มารดามีรูปร่างดี
- การให้นมแม่เป็นการคุมกำเนิดตามธรรมชาติได้ประมาณ 70 วัน นับจากหลังคลอดและยังช่วยให้มารดาไม่ขาดธาตุเหล็ก เพระมีระยะเวลาปลอดประจำเดือนนานขึ้น
- ลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งรังไข่
- เกิดความรักและความผูกพันระหว่างมารดาและทารก ช่วยลดภาวะซึมเศร้าหลังคลอดในมารดา
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : นมแม่มีประโยชน์อย่างไร
การจัดกลุ่มความเสี่ยงที่ยาอาจส่งผลต่อทารกจากการดื่มนมแม่
องค์การอนามัยโลกจัดยาไว้ 5 กลุ่มความเสี่ยง
- ยาที่สามารถให้แก่สตรีให้นมบุตรได้อย่างปลอดภัย (compatible with breast feeding) หมายถึง ยาที่ไม่มีข้อห้ามในการใช้สำหรับสตรีให้นมบุตร
- ยาที่สามารถให้แก่สตรีให้นมบุตรได้แต่ต้องคอยเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ในทารก (compatible but monitor infant for side effect) หมายถึง ยาที่หากแม่มีความจำเป็นต้องใช้ ให้หยุดการให้นมบุตรชั่วคราว ในช่วงที่แม่ใช้ยา
- ยาที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีให้นมบุตร (avoid if possible ,monitor infant for side effect) หมายถึง ยาที่จะใช้ในกรณีจำเป็นเท่านั้น และแม่ต้องหยุดให้นมบุตรในระหว่างใช้ยา
- ยาที่รบกวนการหลั่งน้ำนมและควรหลีกเลี่ยงการใช้ ( avoid if possible, may inhibit lactation) หากแม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นการหลั่งน้ำนม
- ยาที่ห้ามใช้ (avoid ) หมายถึง ยาที่ออกมากับน้ำนมแม่ในปริมาณที่เป็นอันตรายต่อทารกได้
ดังนั้นในทางการบริบาลเภสัชกรรมแก่สตรีให้นมบุตร เภสัชกรจะพิจารณาเงื่อนไข 3 ประเด็นหลักๆ ดังนี้
- ยาถูกขับออกทางน้ำนมหรือไม่ ถ้าถูกขับออกทางน้ำนม ปริมาณมากหรือน้อยแค่ไหน
- ยาที่ถูกขับออกมาทางน้ำนมมีผลกระทบอย่างไรต่อทารกที่ดื่มนมแม่
- ยามีผลต่อการสร้างหรือหลั่งน้ำนมหรือไม่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ค่าน้ำนม การใช้ยาในมารดาให้นมลูก
ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณยาในน้ำนมแม่
ปริมาณยาที่ขับออกมาจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้
- คุณสมบัติทางเคมีของยา : ยาที่มีน้ำหนักโมเลกุลน้อย ยาที่จับกับโปรตีนในพลาสมาได้น้อย ยาที่ละลายในไขมันได้ดี ยาที่มีความเป็นด่างอ่อน จะถูกขับออกทางน้ำนมได้มาก
- ปริมาณของยาที่แม่ได้รับ : การได้รับยาในขนาดยาสูงๆเพิ่มโอกาสที่ยาจะถูกขับออกทางน้ำนมได้มากขึ้น
- คุณภาพน้ำนม : น้ำนมแม่ในช่วงแรกๆจะมีไขมันน้อยกว่าน้ำนมแม่ให้ช่วงท้ายๆ ดังนั้นโอกาสที่จะพบยาในน้ำนมแม่จึงมักพบปัญหาในช่วงท้ายๆของการให้นม
- ระยะเวลา : ระดับยาในน้ำนมสัมพันธ์กับระดับยาในเลือด ช่วงแรกๆของการกินยาจะมีระดับยาในเลือดสูง ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำ กรณีที่แม่ต้องกินยาในระหว่างให้นมบุตร ควรให้นมลูกก่อนกินยา หรือ ให้นมลูกหลังกินยาไปแล้ว 3 ชั่วโมงขึ้นไป เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีปริมาณยาในเลือดต่ำมาก
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผลเสียต่อทารกเมื่อดื่มนมแม่ที่มียาเจือปนอยู่
ยาที่ถูกขับออกทางน้ำนมจะส่งผลเสียต่อทารกมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปัจจัยเหล่านี้
- ปริมาณยาในน้ำนม : ยิ่งมีปริมาณมากยิ่งเป็นผลเสียต่อทารก
- ชนิดของยาที่แม่ได้รับ : การแสดงผลของยาในแม่และเด็กจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- การดูดซึมยาจากทางเดินอาหารของทารก : อัตราการดูดซึมยาในทารกจะต่ำ เนื่องจากระบบทางเดินอาหารยังไม่ถูกพัฒนาให้สมบูรณ์ นอกจากนี้ยาที่จับกับแคลเซียมในน้ำนมจะไม่ดูดซึมจากทางเดินอาหารในทารก
- พันธุกรรมในทารก : พันธุกรรมมีผลต่อปริมาณยาในร่างกายและการแสดงฤทธิ์ของยา ถ้ามีเอนไซม์ที่เปลี่ยนแปลงยาบกพร่อง จะทำให้ยาถูกเปลี่ยนแปลง(metabolism)น้อยลง ระดับยาในเลือดจะสูง กว่าที่ควรจะเป็น อาจจก่อให้เกิดอันตรายได้
- อายุทารก : ทารกที่มีอายุน้อยจะมีอัตราการกำจัดยาต่ำกว่าทารกที่มีอายุมาก ดังนั้นแม่ที่มีทารกคลอดก่อนกำหนดหรือทารกอายุน้อยต้องระมัดระวังการใช้ยาให้มาก
หลักการทั่วไปในการใช้ยาสำหรับแม่ที่ให้นมลูก
- ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษาความเจ็บป่วยและต้องได้รับยา ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วยว่าให้นมลูกอยู่
- เวลาที่เหมาะสมที่สุดในการให้นมลูกในระหว่างใช้ยา คือ ก่อนกินยา หรือหลังกินยาไปแล้ว 3 ชั่วโมงขึ้นไป
- ควรบีบน้ำนมในช่วงแรกทิ้งก่อนสักเล็กน้อย ก่อนให้ลูกดูดนมจากเต้า
- โดยทั่วไปการเลือกใช้ยาที่สามารถทานวันละ 1-2 ครั้งต่อวันได้จะดีกว่าการที่ต้องทานยา 3-4 ครั้งต่อวัน
- การใช้ยาที่มีขนาดยาต่ำที่สุดที่ให้ผลการรักษา และใช้เป็นระยะเวลาสั้นที่สุด
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ยังไม่มีข้อมูลความปลอดภัยมากพอในทารก ควรเลือกใช้ยาที่มีการรับรองจากผู้ผลิตว่าปลอดภัยต่อทารก
- ควรตระเตรียมอุปกรณ์สำหรับปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกดื่ม เผื่อไว้ในกรณีไม่สามารถให้นมลูกจากเต้าได้
- การใช้ยาในรูปแบบยาใช้ภายนอกหรือใช้เฉพาะที่ได้จะมีความเหมาะสมกว่าการใช้ยาในรูปแบบการกิน
- อย่าเป็นกังวลมากเกินไป เพราะยาส่วนใหญ่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยต่อทารกที่ดื่มนมแม่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ใช้ยาอย่างไรให้ลูกน้อยปลอดภัยในช่วงแม่ให้นมลูก
สรุป
การได้รับยาของแม่ในระหว่างให้นมลูก มีประเด็นที่ต้องคำนึงถึง คือ 1.ยาถูกขับออกทางน้ำนมหรือไม่ 2.ทารกจะได้รับผลกระทบอย่างไรจากนมแม่ที่เจือปนยานั้นๆอยู่ และ 3. ยานั้นมีผลต่อการสร้างหรือหลั่งน้ำนมหรือไม่ ดังนั้น ผู้ที่จะให้คำแนะนำได้ดีที่สุดแก่คุณแม่ให้นมลูกคือบุคคลากรทางการแพทย์ ตั้งแต่ แพทย์ พยาบาล และเภสัชกรที่รู้เรื่องยาและส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่ายที่สุด
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
fixomull
INNAQUA
เซรั่มแก้ผมร่วงฮีรูดอยด์
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา