แพ้อาหารต่างจากแพ้ยาอย่างไร

แพ้อาหาร

การแพ้เกิดจาก การที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารเคมีในอาหารและยา ดังนั้นถ้าเป็นสารเคมีชนิดเดียวกัน ไม่ว่าจะอยู่ในอาหารหรือยา ในคนๆเดียวกัน  การตอบสนองต่อสิ่งที่แพ้จะแสดงอาการแพ้เดียวกัน

อาการแพ้เกิดขึ้นได้ทุกระบบของร่างกาย เช่น

ทางผิวหนัง : ลมพิษ ผื่นคัน ปากบวม คัน

ทางเดินอาหาร : ถ่ายเหลว อาเจียน คลื่นไส้ ปวดท้อง

ทางเดินหายใจ : คันคอ ไอ หายใจติดขัด หอบเหนื่อย

ทางหลอดเลือดหัวใจ : ความดันต่ำ หน้ามืด เป็นลม

ข้อแนะนำ หากมีอาการแพ้เกิดขึ้น ให้ลองทบทวนหาสาเหตุปัจจัยรอบข้างดูว่า แพ้อาหารหรือแพ้ยา ถ้าค่อนข้างมั่นใจว่าแพ้ยา ควรหาโอกาสพบเภสัชกรเพื่อขอคำแนะนำ  แต่หากอาการรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที

 

ภูมิต้านทาน

สารบัญ

การแพ้อาหารเกิดจากอะไร

การแพ้อาหาร คือ ปฏิกิริยาเกี่ยวข้องกับกลไกระบบภูมิต้านทาน  เมื่อร่างกายได้รับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ระบบภูมิต้านทานจะสร้างแอนติบอดี้ชื่อ อิมมูโนโกลบูลิน อี (Immunoglobulin E , IgE)  ออกมาซึ่งจำเพาะกับอาหารชนิดนั้น โดย IgE จะอยู่บนผิวเซลล์ที่ชื่อว่า mast cell

แอนติบอดี้

เมื่อมีการรับประทานอาหาชนิดนั้นเข้าไปซ้ำ มันจะถูกจับกับ IgE ที่ถูกสร้างไว้ และเกิดกระตุ้นให้   mast cell หลั่งสารฮีสตามีน histamine ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้มีอาการแพ้เกิดขึ้น

การสร้าง IgE  มีเงื่อนไขเกี่ยวข้อง คือ

  1. พันธุกรรม
  2. ปัจจัยทางสรีระและสุขภาพตอนที่รับประทานอาหารชนิดนั้นๆ (ผู้ที่มีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้ มีโอกาสแพ้อาหารได้มากกว่าคนทั่วไป)
  3. การออกกำลังกาย มีข้อสันนิษฐานว่า เพราะการออกกำลังกายจะกระตุ้นให้มีการหลั่งฮีสตามีนมากขึ้น ดังนั้นแนะนำว่า ควรเว้นระยะห่างระหว่างการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายให้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง

ลักษณะการแพ้อาหาร

  1. อาการแพ้เฉียบพลัน เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร 1 นาที- 1 ชั่วโมง อาหารที่ทำให้แพ้แบบนี้ คือ อาหารทะเล
    อาการที่พบ คันคอ ปาก จมูก และ ตา ปากบวม หนังตาบวม ลมพิษพุพอง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หมดสติ เป็นต้น เมื่อพบผู้เกิดอาการเช่นนี้ให้นำส่งโรงพยาบาลทันที เพราะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

สัตว์ทะเล

 

  1. อาการแพ้ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ จะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหาร 1-24 ชั่วโมง อาหารที่ทำให้เกิดการแพ้ลักษณะนี้ ได้แก่ ไข่ นม ข้าวสาลี ถั่ว เป็นต้น
    อาการที่พบ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ลมพิษพุพอง ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ เป็นต้น

 

อาหารแพ้ง่าย

 

  • การเพิ่งเกิดอาการแพ้อาหารที่เมื่อก่อนเคยกินได้มาตลอด มีโอกาสเป็นไปได้ไหม

สามารถเกิดขึ้นได้ โดยอาจเกิดจากเหตุผลต่อไปนี้

  • สุขภาพของร่างกายที่เปลี่ยนไป ทำให้ร่างกายเริ่มมีการสร้างสารแอนติบอดี้ต่อต้านสิ่งใหม่ๆขึ้นมาภายหลัง
  • อาจเป็นอาการที่คล้ายกับการแพ้อาหารมากจนแยกไม่ออก โดยสาเหตุที่แท้จริงแล้วถ้าตรวจร่างกายอย่างละเอียด อาจไม่ใช่อาการแพ้อาหาร

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : การแพ้อาหาร

ถ้าแพ้อาหารทะเลจะแพ้ยาไหม

การแพ้อาหารทะเล เกิดจากการแพ้โปรตีนจากเปลือกสัตว์เช่น กุ้ง ปลาหมึก หอย หรือโปรตีนที่อยู่ในเนื้อปลา ไม่ได้เกิดจากการแพ้ธาตุไอโอดีน

ดังนั้น คนที่แพ้อาหารทะเลสามารถใช้ยาที่มีไอโอดีนผสมอยู่ได้ เช่น ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะชื่อ อะมิโอดาโรน (amiodalone)  ยารักษาโรคไทรอยด์เป็นพิษ โพแทสเซียม ไอโอไดด์ (potassium iodide)  สารทึบแสงที่ใช้ในการตรวจทางรังสีวิทยา

การแพ้อาหารทะเลจะรวมความถึงการแพ้อาหารทะเลประเภทปลาทะเลด้วย  แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่แพ้อาหารทะเลประเภทกุ้ง ปลาหมึก หอย จะต้องแพ้ปลาทะเลด้วย เพราะว่า การแพ้กุ้ง ปลาหมึก หอย คือแพ้โปรตีนที่อยู่ในเปลือกของมัน  แต่การแพ้ปลา จะเป็นการแพ้โปรตีนในกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน  แต่ในบางครั้งบางคนก็อาจแพ้ทั้งสองประเภทร่วมกันได้

 

ควบคุมน้ำหนัก

 

ปัจจุบันในทางการแพทย์มีการนำเปลือกของสัตว์ทะเลเหล่านี้มาใช้อย่างกว้างขวาง ยกตัวอย่างเช่น

  1. ยากลูโคซามีน (glucosamine) สกัดมาจากเปลือกสัตว์ทะเล กุ้ง ปู เป็นยาที่ใช้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ช่วยเพิ่มน้ำไขข้อ  ดังนั้นผู้ที่แพ้อาหารทะเลจำพวกนี้จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทลดน้ำหนักที่มีสารไคโตซานเป็นส่วนประกอบ ใช้สำหรับดักจับไขมันในอาหาร ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการนำมาใช้ในเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางสำหรับผู้ที่มีผิวมันอีกด้วย ไคโซซานเป็นสารโพลิเมอร์ชีวภาพที่สกัดจากไคติน ซึ่งเป็นโครงสร้างของเปลือกสัตว์ทะเล

นอกจากนี้ยังมีการใช้ไคโตซานในวัสดุการแพทย์ ที่ใช้ห้ามเลือด และพลาสเตอร์ยาอีกด้วย

ในทางการเกษตร มีการนำไคโตซานมาเคลือบผลไม้ เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาและใช้ในการเป็นสารเร่งการเจริญเติบโตของผักอีกด้วย

อย่างไรก็ตามยังไม่ปรากฏรายงานที่ชัดเจน ว่าผู้ที่แพ้อาหารทะเล เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของไคซิน หรือคีโตซาน จะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ด้วยหรือไม่

ถ้าแพ้ไอโอดีน อาการจะต่างจากแพ้อาหารทะเลอย่างไร

การแพ้ไอโอดีนจริงๆ ในปัจจุบันยืนยันว่าพบน้อยมาก มักเป็นการแพ้ส่วนประกอบอื่นๆที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ ไม่ได้เป็นการแพ้ไอโอดีนโมเลกุลเดี่ยวๆ  และขอย้ำว่าการแพ้อาหารทะเลไม่เกี่ยวข้องกับการที่จะแพ้ไอโอดีน

แม้ว่าจะเคยมีรายงานอยู่บ้างว่า มีผู้ที่ฉีดสารทึบแสงที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบในการถ่ายภาพรังสี มีอาการได้ตั้งแต่คลื่นไส้ อาเจียน หายใจลำบาก จนถึงช็อคหมดสติ

แต่ก็มีข้อมูลที่เชื่อถือได้มากกว่า ไม่น่าจะเกิดจากการแพ้สารไอโอดีนโดยตรง แต่เป็นการแพ้ส่วนประกอบอื่นๆ ในสารทึบแสงมากกว่า  เพราะพบว่าอุบัติการณ์การแพ้สารทึบแสงที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบไม่แตกต่างจากการแพ้สารทึบแสงที่ไม่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบ

อีกหนึ่งรายงานที่เคยปรากฏพบว่า ผู้ที่แพ้อาหารทะเลมีแนวโน้มที่จะแพ้ไอโอดีนมากกว่าคนทั่วไปร้อยละ 5  แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้ที่มีอาการแพ้ง่ายต่ออะไรก็ตามหรือผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ก็มักมีความเสี่ยงที่จะแพ้สารอื่นๆมากกว่าคนทั่วไปที่ไม่แพ้อยู่แล้ว

ถ้าแพ้ยาฆ่าเชื้อที่มีไอโอดีน จะรับประทานเกลือที่มีไอโอดีนได้หรือไม่

เบตาดีน เป็นสารละลายของยาที่เรียกว่า โพวิโดนไอโอดีน  หากทายาดังกล่าวแล้วเกิดอาการแพ้ ผื่นคัน เป็นตุ่มน้ำใส อาจบอกได้ว่าแพ้ยาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีน  แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าแพ้ไอโอดีนโดยตรง

มีการทำการศึกษาทดลอง ในผู้ป่วย 10 รายที่แพ้ยาฆ่าเชื้อโพวิโดน ไอโอดีน ปรากฏว่า มีเพียง 1 รายที่ยืนยันโดยการทดสอบทางผิวหนัง ว่าเป็นการแพ้ไอโอดีนจริง นอกนั้นเป็นการแพ้ส่วนประกอบที่เป็นสารละลายในยา

แต่ไม่เคยมีรายงานการแพ้เกลือที่มีการเติมสารไอโอไดด์(เกลือไอโอดีน)เลย  ดังนั้นผู้ที่แพ้ยาฆ่าเชื้อโพวิโดน ไอโอดีน จึงสามารถกินเกลือไอโอดีนได้ตามปกติ ไม่มีความจำเป็นต้องงดหรือหลีกเลี่ยง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : สาระ-ปันยา

 

เกลือไอโอดีน

โรคประจำตัวมีผลต่อยาที่ใช้อย่างไร

ยาบางชนิดมีผลให้โรคประจำตัวกำเริบ ยกตัวอย่างเช่น

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว หอบ หืด ถ้าได้รับยาลดความดันกลุ่มที่มีชื่อว่า เบต้าบล๊อคเกอร์ (betablocker) เช่น  โพรพาโนรอล (propranolol) ซึ่งมีผลทางเภสัชวิทยาทำให้หลอดลมหดตัว อาจทำให้หอบหืดกำเริบได้
    นอกจากนี้ ยาลดไข้ แก้ปวดแอสไพริน มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ทำให้หลอดลมตีบแคบลงเช่นกัน จึงควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด
  • ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวกระเพาะอาหารลำไส้อักเสบ ควรใช้ยากลุ่มแก้ปวด ลดไข้ กล้ามเนื้อและข้อ อักเสบ ด้วยความระมัดระวัง เพราะมีผลข้างเคียงระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร ก่อนใช้ยาประเภทนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • ผู้ป่วยโรคไต มีความจำเป็นต้องปรับลดขนาดยาและ ติดตามผลการใช้ยาหลายๆชนิดอย่างใกล้ชิด   เช่นการใช้สารทึบแสงในผู้ป่วยโรคไต อาจเกิดอันตรายได้ง่ายกว่าผู้ป่วยที่ภาวะการทำงานของไตปกติ

การป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายจากการแพ้ยาหรืออาหาร ควรทำอย่างไร

การแพ้ยาและอาการข้างเคียงของการใช้ยา มีที่มาของการเกิดต่างกัน

การแพ้ยา คือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นได้โดยคาดการณ์ไม่ได้ เพราะไม่มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับกลไกการออกฤทธิ์ของยา  แต่เป็นเรื่องของร่างกายที่ตอบสนองต่อสารเคมีในอาหารและยาเองและเป็นเรื่องเฉพาะบุคคลนั้นๆ และบ่อยครั้งมีอาการแสดงที่รุนแรงกว่าอาการข้างเคียงจากยา

หากผู้ป่วยเคยได้รับยาขนานใดขนานหนึ่ง แล้วเกิดอาการแพ้รุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากได้รับตัวเดียวกันซ้ำเข้าไป จะเป็นอันตรายรุนแรงมากขึ้น อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการข้างเคียงของยา คือ ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นโดยคาดการณ์ได้ว่าจะเกิด เพราะมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับการออกฤทธิ์ของยา  เช่น ยาแก้แพ้ อาจทำให้ง่วงนอน ซึม ปากแห้ง คอแห้ง เพราะยาสามารถดูดซึมผ่านเข้าสู่สมองได้  หรือ ยาแก้ปวดกล้ามเนื้ออักเสบ ที่ออกฤทธิ์ลดการสร้างเยื่อเมือกเคลือบกระเพาะ ประกอบกับตัวยาเองมีความเป็นกรด  จึงอาจทำให้ปวดแสบท้องได้

ดังนั้น เมื่อการแพ้ยาเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ จึงมีข้อแนะนำสำหรับคนทั่วไปดังนี้

  1. ควรมีหมายเลขโทรศัพท์โรงพยาบาล หน่วยพยาบาล แพทย์ เภสัชกร ที่ใช้บริการอยู่เป็นประจำ พกไว้ติดตัวเสมอ
  2. ทุกครั้งที่สงสัยว่าแพ้ยา หรืออาหาร ให้จดจำไว้ และควรโทรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อขอคำแนะนำ หรือถ้าอาการรุนแรง ควรรีบไปโรงพยาบาล
  3. เมื่อไปใช้บริการทางการแพทย์ที่หน่วยงานใดก็ตาม ควรให้ข้อมูลโรคประจำตัว ประวัติการแพ้ยาหรืออาหารแก่ แพทย์ เภสัชกร และบุคคลากรทางการแพทย์ทุกครั้ง แนะนำว่าควรพกบัตรแพ้ยาติดตัวไว้อยู่เสมอ
  4. ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาชุด หรือซื้อยาใช้เองจากแหล่งจำหย่ายยาที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่ได้มาตรฐาน พึงระลึกไว้อยู่เสมอว่า “แพ้ยาซ้ำ อาจตายได้”
  5. เมื่อต้องใช้บริการจากร้านยา ควรถามหาเภสัชกรทุกครั้ง เพราะจะช่วยให้ได้รับอันตรายจากการใช้ยาลดลง

 

สมุดสุขภาพ

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : บริบาลเภสัชกรรมในร้านยา

สรุป

หากสงสัยว่ามีอาการแพ้เกิดขึ้น ไม่ว่าจากอาหารหรือยา ควรตระหนักและลองนึกทบทวนดูว่ามีปัจจัยใดที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ให้จดจำและควรบันทึกไว้ก่อน เมื่อต้องไปใช้บริการทางการแพทย์ ควรให้ข้อมูลอาการแพ้ทั้งจากอาหารและยา ตลอดจนโรคประจำตัวด้วยเสมอ เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย ไม่แพ้ยาซ้ำ

ส่วนความเชื่อที่ว่า ผู้ที่แพ้อาหารทะเลจะเกิดอาการแพ้ต่อไอโอดีนหรือสารทึบรังสีนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ผู้ที่แพ้อาหารทะเล สามารถกินเกลือไอโอดีนและใช้ยาที่มีไอโอดีนเป็นส่วนประกอบได้ตามปกติไม่ต้องเป็นกังวล

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า