อาการวิงเวียนศีรษะและยารักษา

อาการวิงเวียนศีรษะ

ลักษณะ อาการวิงเวียนศีรษะ คือ อาการมึนหัว รู้สึกมึนงง รู้สึกร่างกายลอยๆ โคลงเคลง ไม่มั่นคง หน้ามืด บ้านหมุน อาจรู้สึกเซ เดินเอียงไปด้านข้าง คล้ายจะหัวคะมำไปด้านหน้า หรือล้มไปด้านหลัง  พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ไม่ค่อยพบในเด็กเล็ก

โดยทั่วไปการทรงตัวของมนุษย์ จะเกี่ยวข้องกับอวัยวะ 3 ส่วนดังต่อไปนี้

  1. ระบบประสาทรับภาพของตา
  2. ระบบประสาทการทรงตัวที่หูชั้นใน
  3. ระบบรับสัญญาณที่ประสาทส่วนกลาง
ยารักษาอาการวิงเวียนศีรษะ

ประเภทของ อาการวิงเวียนศีรษะ

เราสามารถแยกอาการวิงเวียนศีรษะเป็น 2 กลุ่มดังนี้

  1. วิงเวียนศีรษะอย่างเดียว โดยไม่มีอาการบ้านหมุน ไม่คลื่นไส้อาจียน (dizziness)
  2. วิงเวียนศีรษะร่วมกับมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมด้วย(vertigo)

1. อาการวิงเวียนศีรษะ โดยไม่มีอาการบ้านหมุน ไม่คลื่นไส้ อาเจียน

คือ การที่รู้สึกสมองตื้อ ไม่แจ่มใส คล้ายคนพักผ่อนไม่เพียงพอ  มึนงง ตัวเบาๆ ลอยๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาการแบบนี้เกิดจากปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ มักเกิดในผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับ หลับยาก หลับๆตื่นๆ และผู้ที่มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน

การรักษาคือ ต้องรักษาที่ต้นเหตุของอาการ การพบแพทย์เพื่อรับประทานยาควบคุมความดันโลหิต หรือ ระดับน้ำตาลในเลือด ตลอดจน การทานยาช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น

2. อาการวิงเวียนศีรษะ ร่วมกับมีอาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน

ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียนขึ้นมาแบบเฉียบพลัน โดยสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของศีรษะ 

โรคที่เป็นสาเหตุให้มีอาการวิงเวียนลักษณะนี้ได้แก่

  1. โรคเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ ( Acute vestibular neuritis)
  2. โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ( Benign paroxysmal vertigo)
  3. โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere’s disease)
  4. โรคจากสมองส่วนกลาง

อาการวิงเวียนศีรษะ จากโรคเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ ( acute vestibular neuritis)

ระบบประสาทการทรงตัวอยู่ในส่วนของหูชั้นใน  ในหูชั้นใน มีส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ

  1. อวัยวะรูปก้นหอย มีเส้นประสาทส่วนการรับฟังเสียง ( cochlea)
  2. อวัยวะรูปห่วง 3 ห่วง มีเส้นประสาทส่วนรับรู้การทรงตัว ( semicircular canal)

ภายในอวัยวะห่วง 3 ห่วง มีน้ำหรือของเหลวอยู่ เรียกว่า “น้ำในหู″  ในสภาวะปกติเมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะ น้ำในหูจะไหลและส่งสัญญาณไปยังเส้นประสาทการทรงตัวทั้ง 2 ข้างพร้อมกัน  ทำให้เราสามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

อวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน

แต่ถ้าเส้นประสาทการทรงตัวบวม จะมีการทำงานที่ช้าลง ส่งผลให้การรับส่งสัญญาณของหู 2 ข้างเกิดขึ้นไม่พร้อมกัน  จึงทำให้เกิดการไม่สมดุลของการทรงตัว คนไข้จะรู้สึก

โคลงเคลง บ้านหมุนเมื่อขยับศีรษะ   จะมีอาการรุนแรงขึ้นตามความเร็วของการเคลื่อนไหวศีรษะ 

โดยอาการจะดีขึ้นหรือหายไปอย่างรวดเร็วภายใน 1 นาที  ถ้าคนไข้หยุดการเคลื่อนไหว แต่จะเริ่มมีการกลับเป็นใหม่ทันทีที่ขยับศีรษะอีก

ยิ่งถ้าผู้ป่วยมีการฝืนเคลื่อนไหวต่อ ทั้งที่มีอาการเวียนศีรษะอยู่  จะทำให้มีการส่งสัญญาณไปกระตุ้นศูนย์อาเจียนในสมอง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้นคือ เวียนหัว บ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน 

อาการคลื่นไส้ อาเจียจะค่อยๆดีขึ้นและหายไปได้ เมื่อคนไข้หลับตาและหยุดการเคลื่อนไหว ประมาณ 2 ชั่วโมงขึ้นไป

การรักษาโรคเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ :

เส้นประสาทแต่ละเส้นจะมีเส้นเลือดไปเลี้ยง  เมื่อเส้นประสาทบวมจะไปกดเส้นเลือดให้ตีบลง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงเซลล์ประสาทส่วนปลายลดลง ถ้าปล่อยให้มีการขาดเลือดเป็นระยะเวลานาน เซลล์ประสาทเหล่านี้บางส่วนจะตายไป 

ดังนั้น การรักษาจึงมีต้องลดการอักเสบบวมของเส้นประสาทให้หายเร็วที่สุด  โดยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้าเส้นเลือด เพื่อลดการบวมของเส้นประสาท แต่ถึงแม้ว่าเส้นประสาทจะหายบวมอักเสบแล้ว แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีการตายของเซลล์ประสาทบางส่วนไปแล้ว อาการวิงเวียนศีรษะจะไม่หายไปทันที ต้องใช้เวลา 1-3 เดือน จึงจะหายเป็นปกติได้

เนื่องจากว่า ระบบประสาทในหูข้างที่มีเซลล์ประสาทบางส่วนตายไปแล้ว จะทำให้การส่งสัญญาณไม่เท่ากับหูข้างที่ระบบประสาทปกติ   แต่โดยธรรมชาติร่างกายของคนเราจะมีการปรับสมดุลสัญญาณระบบประสาทการทรงตัวขึ้นมาใหม่อย่างช้าๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน  ในระหว่างนี้ ผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องทาน ยาแก้วิงเวียน ยาขยายเส้นเลือดในสมอง และ ยาบำรุงปลายประสาท ไปก่อน จนกว่าร่างกายจะปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่ได้

อาการวิงเวียนศีรษะ จากโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด ( benign paroxysmal vertigo)

พบได้บ่อยรองลงมาจากโรคเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ  และเป็นโรคที่มักเกิดตามหลังจากที่เส้นประสาทการทรงตัวอักเสบมาก่อนหน้านี้ 1-3 เดือน ซึ่งทำให้เซลล์ประสาทขาดเลือดและมีผลให้เยื่อบุแผ่นการทรงตัวที่มีหินปูนอยู่ด้านบนเริ่มมีการเสื่อมสภาพ

อาการเด่นของโรคนี้คือ จะมีอาการมึนงง เวียนศีรษะ เวลาขยับศีรษะอย่างเร็วไปในแนวใดแนวหนึ่งมากๆ  เป็นพิเศษ ไม่มีหูอื้อ ไม่มีเสียงดังในหู

สาเหตุเกิดจากมีชิ้นส่วนเล็กๆของหินปูนบนเยื่อบุแผ่นการทรงตัว (Otolitic membrane)  หลุดออกมาและลอยเข้าไปอยู่ในห่วง 3 ห่วงของหูชั้นใน ที่เรียกว่า semicircular canal  เมื่อขยับศีรษะ หินปูนจะลอยไปตามการไหลของน้ำในหู และไปกระตุ้นระบบประสาทการทรงตัว ให้ส่งสัญญาณประสาทมากกว่าหูอีกข้างหนึ่ง เกิดความไม่สมดุลขึ้นของสัญญาณประสาทการทรงตัว ผู้ป่วยจึงเกิดอาการมึนหัว บ้านหมุน โคลงเคลง โดยมักมีอาการปวดหัวหนักๆ ตื้อๆ ที่หน้าผาก หัวคิ้ว และท้ายทอยร่วมด้วย

โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด

การรักษาโรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด :

แพทย์จะทำการรักษาโดยการจัดท่าศีรษะ เพื่อให้ตะกอนหินปูนไหลออกมาจาก ห่วง 3 ห่วง semicular canal  เรียกวิธีกายภาพบำบัดแบบนี้ว่า Canalith repositioning therapy 

หลังจากทำการรักษาแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการวิงเวียน และ ปวดหัวตื้อๆ น้อยลง แต่จะไม่หายหมดไปในคราวเดียว เพราะอาจมีผงหินปูนเล็กๆ ลอยตัวหลงเหลืออยู่ แต่มันจะค่อยๆสลายตัวไปเองอย่างช้าๆ  ผู้ป่วยจะค่อยๆมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ จนหายในที่สุด

ซึ่งหลังจากรักษาแล้ว ในระหว่างที่รอผงหินปูนเล็กๆ สลายตัว แพทย์จะสอนให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดฝึกระบบประสาทการทรงตัว (Vestibular rehabilitation) ร่วมการรับประทาน ยาบรรเทาอาการ วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน  ปวดหัว ไปสักระยะ โดยทั่วไปประมาณ 1-3 เดือน

อาการวิงเวียนศีรษะ จากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน ( Meniere’s disease)

เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน โดยมีน้ำในหูชั้นในมากผิดปกติ จะเกิดกับหูข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น  เกิดจากสาเหตุใดยังไม่ทราบแน่ชัด

ผู้ป่วยจะมีอาการ 3-4 อย่างดังนี้

  • เวียนหัว เมื่อขยับหัว
  • การได้ยินหูข้างนั้นลดลง
  • มีเสียงดังในหูข้างนั้น
  • รู้สึกตื้อๆ ในหูข้างนั้น

อาการเหล่านี้จะเป็นเรื้อรัง เป็นๆหายๆ  และทำให้ประสาทหูด้านที่เป็นเสื่อมได้เมื่อระยะเวลาผ่านไป

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

การรักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน:

จะเป็นการรักษาตามอาการ โดยอาจให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดปริมาณน้ำในหูชั้นในลง

ร่วมการสอนให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีอาการน้อยลง เพื่อชะลอการเสื่อมของประสาทในช่องหู ดังนี้

  • งดครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • งดอาหารเค็ม
  • หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเรือ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ฝึกการเคลื่อนไหวตัวช้าๆ

ถึงแม้ว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด แต่อาการของผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยยา และการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง

อาการวิงเวียนศีรษะ จากโรคทางสมองส่วนกลาง

อาการวิงเวียนศีรษะ จะเกิดร่วมกับการมีการปวดแขน แขนขาอ่อนแรงซีกหนึ่ง หรือมีอาการเดินเซ

โดยอาการจะเป็นตลอดเวลา ไม่สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวศีรษะ การวินิจฉัยหาสาเหตุต้องตรวจ MRI และรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเท่านั้น

ยาที่ใช้บรรเทา อาการวิงเวียนศีรษะ

การรักษาและบรรเทาอาการวิงเวียน แพทย์จะใช้ยาหลายๆตัวประกอบกัน เพื่อให้ผลการรักษาที่ดี  ยาที่ใช้บรรเทาอาการมีหลายชนิด แต่แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆตามกลไกการออกฤทธิ์ได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamines)

เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Antivertigo drugs  ยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่

  • Dimenhydrinate
  • Betahistine
  • Cinnarizine
  • Flunarizine
  • diphenhydramine

ยาจะออกฤทธิ์โดยรักษาสมดุลในหูชั้นใน ( labylinth)  ช่วนรักษาสมดุลและการทรงตัวของผู้ป่วย ยามีผลข้างเคียงคือ ทำให้ง่วงซึมได้

2. ยาขยายหลอดเลือดส่วนปลายและยากระตุ้นสมอง ( Peripheral vasodilators & cerebal activator)

ยาที่อยู่ในกลุ่มนี้ บางตัวมีฤทธิ์ต้านฮีสตามีนด้วย เช่น

  • Nicergoline  ถ้ามีการใช้ยาขนาดสูง อาจมีผลข้างเคียงทำให้เลือดไหลออกง่าย คล้ายกับยาตระกูลแอสไพริน
  • Gingko biloba  หรือ สารสกัดจากใบแปะก๋วย  คุณสมบัติและผลข้างเคียงทำนองเดียวกับ nicergoline
  • Betahistine,cinnarizine,flunarizine  จะช่วยการไหลเวียนของเลือดในหูชั้นในดีขึ้น  ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้ มีฤทธิ์เป็นแอนตี้ฮีสตามีนร่วมด้วย

3. ยาคลายกังวล (Anxiolytic)

มีการนำยากลุ่มนี้มาใช้ช่วยบรรเทาอาการใน โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน และเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ แต่ใช้ในขนาดต่ำๆ เนื่องจากการใช้ขนาดสูง อาจทำให้ผู้ป่วยติดยาได้

ยาในกลุ่มนี้ที่นำมาใช้ได้แก่

  • Clonazepam
  • Diazepam
  • Lorazepam

สรุป

อาการวิงเวียนศีรษะ เป็นอาการที่แทบทุกคนเคยเป็นกับตัวเองมาบ้างแล้ว แต่ถ้ามีร่วมกับ อาการบ้านหมุน คลื่นไส้ อาเจียน และเป็นบ่อยๆ เป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นของโรคอื่นๆได้  ควรได้เข้ารับการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะการรักษาและคำแนะนำที่ถูกต้อง จะช่วยให้ปรับตัวได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

เอกสารอ้างอิง

  1. นพ. สุทธิศักดิ์ วุฒิพันธเรืองชัย, โรคเวียนศีรษะฉับพลัน. โรงพยาบาลนนทเวช
  2. พญ. ดลจิตต์ ทวีโชติภัทร์, เวียนศีรษะ บ้านหมุน สัญญารเตือนอันตรายกว่าที่คิด. โรงพยาบาลพญาไท
  3. รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน, โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด. คณะแพทย์ศิรฺราชพยาบาล
  4. รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน, น้ำในหูไม่เท่ากันจริงหรือ. คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล
  5. ยารักษาอาการเวียนศีรษะ บ้านหมุน. MIMS

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า