นอนไม่หลับสัมพันธ์กับการทำงานของสมองอย่างไร

นอนไม่หลับ

มนุษย์เราใช้เวลา 1 ใน 3 ของแต่ละวันเป็นเรื่องการพักผ่อนนอนหลับ นั่นคือประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน การนอนหลับเป็นสิ่งจำเป็นต่อสุขภาพ แต่ในปัจจุบันปัญหาการนอนไม่หลับ (insomnia) ได้กลายเป็นปัญหาที่พบบ่อยเพิ่มขึ้น เนื่องจากรูปแบบการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความเครียดสูง และเพศหญิง ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบทั้งต่อร่างกายและสมอง  

โรคนอนไม่หลับ (insomnia) คือ โรคที่มีความผิดปกติของการเริ่มนอนหลับ ระยะเวลาการนอนหลับ หรือมีการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพ แม้จะมีระยะเวลาการนอนที่เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง

สารสื่อประสาทในสมองที่เกี่ยวข้องกับวงจรการนอนหลับและตื่น ได้แก่ acetylcholine, dopamine,norepinephrine,serotonin, melatonin,orexin และ GABA

สารบัญ

การนอนหลับถูกควบคุมโดยสมองส่วนใด

อาการนอนไม่หลับเกี่ยวข้องกับการทำงานของคลื่นสมอง ในแต่ละส่วนของสมอง จะมีการแบ่งหน้าที่ควบคุมระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย โดยสมองที่มีส่วนสัมพันธ์กับการนอนหลับ คือ

  • ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) อยู่ในสมองส่วนหน้า (Forebrain) เป็นศูนย์กลางของระบบประสาทอัติโนมัติ ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือดและความต้องการพื้นฐานของร่างกาย เช่น น้ำ อาหาร การนอนหลับพักผ่อน รวมถึงการสร้างและควบคุมฮอร์โมนต่างๆ
  • ก้านสมอง (Brain Stem) ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน Midbrain , Pons, Medulla oblongata  ส่วนของก้านสมองจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ควบคุมการนอนหลับ ความรู้สึกตื่นตัว และ ความมีสติสัมปชัญญะ

ก้านสมอง

การนอนหลับนั้นไม่ใช่ภาวะที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่มันภาวะที่ร่างกายก่อขึ้นมาอย่างตั้งใจ การทำงานของสมองในเรื่องการควบคุมการรู้สึกตัวหรือการตื่น เรียกว่า Reticular Activating System

กลไกการทำงานคือ รับกระแสประสาทมาจาก อวัยวะต่างๆ เช่น ผิวกาย กล้ามเนื้อ ตา แล้วส่งกระแสประสาทไปสู่ส่วนต่างๆของสมองทั้งหมด เพื่อกระตุ้นให้มีการรู้สึกทั่วตัวพร้อมกัน   สรุปคือระบบการปลุกให้ตื่นเกิดจากการรับสัญญานต่างๆจากระบบสัมผัสรอบๆตัวเรา

สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : นอนไม่หลับส่งผลต่อสมองอย่างไร

คลื่นไฟฟ้าของสมอง

การทำงานของเซลล์สมองจะเกิดคลื่นไฟฟ้า แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ด้วยกันคือ

  1. คลื่นเบต้า (Beta waves) เป็นคลื่นชนิดความถี่ 14-30 Hz.เป็นคลื่นสมองที่มีความถี่มากที่สุด เนื่องจากสมองกำลังถูกใช้งาน รับ-ส่ง ข้อมูลพร้อมประสาทสัมผัสทั้งหมดของมนุษย์ในการทำกิจกรรมต่างๆ ยิ่งกิจกรรมมีความซับซ้อนและต้องใช้ความคิดเยอะ คลื่นความถี่ไฟฟ้าสมองจะยิ่งสูงตามไปด้วย
  2. คลื่นอัลฟ่า (Alpha waves) เป็นคลื่นชนิดความถี่ 8-13 Hz. จะเกิดขึ้นเมื่อคนเรารู้สึกสงบและผ่อนคลาย สภาวะนี้สมองสามารถรับรู้ข้อมูล เรียนรู้และจดจำดี พบได้ในผู้ที่มีสมาธิดี มีความสุข เรียกได้ว่าเป็นสภาวะที่จิตมีประสิทธิภาพสูง
  3. คลื่นธีต้า (Theta waves) เป็นคลื่นชนิดความถี่ 4-7 Hz. เป็นการเข้าถึงและเรียกความทรงจำระยะยาวได้ดี คลื่นสมองสภาวะนี้เป็นคลื่นสมองที่สะท้อนการทำงานของจิตใต้สำนึก
  4. คลื่นเดลต้า (Delta waves) เป็นคลื่นชนิดความถี่ต่ำกว่า 4 Hz. จะเกิดขึ้นในขณะที่คนเรานอนหลับ สมองทำงานตามความจำเป็น แต่กระบวนการของจิตใต้สำนึกจะจัดเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องทดแทน ถือเป็นช่วงที่ร่างกายกำลังพักผ่อนอย่างเต็มที่ หลับลึกโดยไม่มีความฝัน

คลื่นไฟฟ้าสมอง

วงจรการนอนหลับปกติของคน

แบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้

  1. ช่วงหลับธรรมดา (Non-Rapid Eye Movement Sleep หรือ Non-REM Sleep) แบ่งออกเป็น 3 ระยะ
  • ระยะที่ 1 (stage 1) : เริ่มง่วง เป็นช่วงที่คนเราจะเริ่มนอนหลับ โดยทั่วไปจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ  ในระยะนี้สมองจะเริ่มทำงานช้าลง ถ้าถูกปลุกให้ตื่นในระยะนี้ เราจะไม่งัวเงียหรืออาจจะรู้สึกว่ายังไม่ได้นอน  บางทีอาจมีการกรอกตาไปมาช้าๆได้
    บางคนอาจเคยเจอปรากฏการณ์ ตกใตตื่น (Hypnic Jerk) เช่นการรู้สึกเหมือนกำลังจะตกจากที่สูง  หรือได้ยินหรือเห็นอะไรบางอย่าง (Hypnagogic Hallucination) ทำให้สะดุ้งตัวตื่นขึ้นมา  ซึ่งการนอนในระยะนี้ไม่ค่อยส่งผลต่อร่างกายมากนัก
  • ระยะที่ 2 (stage 2) : ช่วงผล็อยหลับหรือเคลิ้มหลับ เป็นช่วงรอยต่อระหว่างเริ่มหลับไปยังหลับลึก ในระยะนี้หัวใจจะเริ่มเต้นช้าลง โดยอัตราการเต้นของหัวใจลดลงเหลือประมาณ 60 ครั้งต่อนาที อุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตจะลดลง ปกติในช่วงนี้จะใช้เวลามากกว่า 50% ของการนอน ซึ่งการนอนในระยะนี้จะส่งผลต่อร่างกายทั้งกระตุ้นความจำระยะสั้น รวมถึงเพิ่มสมาธิได้
  • ระยะที่ 3 (stage 3 ) : ช่วงหลับลึก ในระยะนี้ร่างกายจะเริ่มไม่ตอบสนองต่อสิ่งเร้าภายนอก ถ้าถูกปลุกในช่วงนี้จะงัวเงียมาก ร่างกายจะอยู่ในภาวะพักผ่อนมากที่สุด โกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) จะหลั่งออกมาในระยะนี้
  1. ช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement Sleep หรือ REM Sleep)

เป็นช่วงการนอนอีกระยะหนึ่งที่สำคัญ การนอนหลับในช่วงนี้จะมีการเคลื่อนไหวหรือกรอกตาไปมาอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อน แต่สมองจะยังตื่นตัวอยู่หรือทำงานใกล้เคียงกับตอนที่เราตื่นอยู่  การนอนหลับในระยะนี้จะช่วยเรื่องความทรงจำ การเรียนรู้ถาวร และการสร้างจินตนาการ

วงจรการนอนหลับ

นอนหลับดี

การทำงานของวงจรการนอนหลับ

ในขณะที่เรานอนนั้น เมื่อเราเริ่มหลับ เราจะเข้าสู่ระยะ Non-REM ระยะที่ 1และค่อยๆเข้าสู่ระยะ2,3 ตามลำดับอย่างช้าๆ ถอยกลับมาเข้าสู่ระยะ Non-Rem จาก 3ไประยะที่ 2,1  จากนั้นจึงเข้าสู่ระยะ REM แล้วจึงกลับเข้าสู่ระยะ Non-REM ระยะที่ 1,2,3 ใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการเริ่มรอบใหม่ของวงจรการนอนหลับ

จากจุดเริ่มต้นของ REM ไปสู่จุดเริ่มต้นของ REM อีกรอบหนึ่ง จะเรียกว่า รอบการนอน (sleep cycle) ซึ่ง 1 รอบการนอนนั้นใช้เวลาประมาณ 90 นาที ซึ่งประกอบไปด้วยช่วง Non-REM ประมาณ 80 นาที  ช่วง REM ประมาณ 10 นาที ในหนึ่งคืนของการนอน ควรจะมีจำนวนรอบการนอนประมาณ 3-6 รอบ จึงจะถือว่าเป็นการนอนที่ดีและมีประสิทธิภาพ

วงจรการนอนหลับ

ยิ่งรอบของการนอนดำเนินการไปมากเท่าไหร่ ระยะเวลาในช่วงการหลับลึกคือ  slow wave sleep ก็จะยิ่งสั้นลงเท่านั้น ตรงกันข้าม REM Sleep จะยิ่งนานขึ้น เรื่อยๆ  เราจะหลับครบทั้ง 3 ขั้นตอนในช่วงต้นของการหลับ ส่วนในช่วงใกล้ตื่นอาจเหลือเพียงขั้นตอนที่ 1 ทั้งหมดนี้จะเกี่ยวข้องกับคลื่นไฟฟ้าของสมอง

นอกจากนี้ในร่างกายของคนเรายังมีกระบวนการควบคุมการหลับและตื่นให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายนอกอยู่ 2 กระบวนการคือ

  • Process C : ระบบนาฬิกาชีวภาพ (circadian clock) ระบบนี้จะถูกกระตุ้นด้วยแสงสว่าง ทำให้ร่างกายตื่นตัว เพราะจะไปยับยั้งการหลั่งเมลาโตนิน (melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้ง่วงนอน และกระตุ้น โดพามีน(dopamine), อะเซทติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว. 
    พอตกกลางคืนไม่มีแสงสว่าง ระบบ Process C จะไม่ถูกกระตุ้น ร่างกายจะมีการหลั่งสารเมลาโตนินออกมา ทำให้คนเรารู้สึกง่วงนอน
  • Process S : ระบบส่งเสริมการนอนหลับ ( sleep homeostasis process) การทำงานของระบบนี้คือ เปลี่ยน ATP (adenosine triphosphate) ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการใช้พลังงานของร่างกายในช่วงกลางวันให้เป็น อะดีโนซีน  (adenosine) และเมื่อมีการสะสมสารตัวนี้มากขึ้นถึงจุดอิ่มตัว จะทำให้คนเรารู้สึกง่วงนอน ซึ่งมักเป็นช่วงเย็นหรือค่ำ 
    ในระหว่างที่นอนหลับ อะดีโนซีน จะค่อยๆสลายตัว และเมื่อหลับอย่างเพียงพอสารตัวนี้จะลดลงเหลือน้อยมากเป็นผลทำให้คนเราตื่นขึ้นมาในตอนเช้า 

รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ทำความรู้จัก Sleep stageและ Sleep cycle

อาการนอนไม่หลับ แบ่งเป็น 4 ประเภท

  1. นอนหลับยาก
  2. ตื่นตอนกลางคืน
  3. ตื่นนอนเช้ากว่าปกติ
  4. รู้สึกไม่สดชื่นหลังตื่นนอน

อาการนอนไม่หลับสามารถแบ่งตามระยะเวลาของอาการได้ เช่น

  • อาการนอนไม่หลับชั่วคราว พบได้ในคนปกติที่เกิดความเครียดเฉียบพลัน  หรือการเปลี่ยนตารางเวลาหลับนอนทันที  มักมีอาการเพียง 2-3 วัน
  • อาการนอนไม่หลับระยะสั้น มักสัมพันธ์กับเรื่องครอบครัว การงาน ความเจ็บป่วย ความสมดุลของฮอร์โมน อาจมีอาการได้นานติดต่อกันถึง 3 สัปดาห์
  • อาการนอนไม่หลับระยะยาวหรือเรื้อรัง มักสัมพันธ์กับโรคทางจิตเวช  การใช้ยาเสพติด  โรคทางการนอนหลับ เช่น sleep apnea, periodic limb movement disorder, delayed sleep phase syndrome.

นอนหลับยาก

ดังนั้นเรื่องการนอนต้องคำนึงถึงปัจจัย 2 ประการ

  1. ชั่วโมงการนอน ถ้าจะให้เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้ 7-8 ชั่วโมง ในขณะที่สำหรับเด็ก ต้องการชั่วโมงการนอน 11-13 ชั่วโมง จึงจะเหมาะสม
  2. คุณภาพการหลับ การหลับอย่างมีคุณภาพ คือ ครบวงจรทุกระยะการหลับ ทั้งหลับตื้น หลับลึก และหลับฝัน เพราะมีความสัมพันธ์กัน
นอนหลับเต็มอิ่ม

ผลกระทบต่อสุขภาพจากการนอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับหรือนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ก่อให้เกิดภาวะความผิดปกติของร่างกายมากมาย เช่น

  • ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง โดยการอดนอนจะทำให้ระบบภูมคุ้มกันของร่างกายทำงานหนักขึ้น คือจะมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้นและสลายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ความสามารถของร่างกายในการต้านทานเชื้อแบคทีเรียละไวรัสเสียไป
  • ระบบจัดเก็บความทรงจำหรือระบบประสาทจะมีประสิทธิภาพลดลง โดยอวัยวะที่สำคัญคือ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) จะทำหน้าที่ถ่ายโอนข้อมูลที่เรียนรู้ในระหว่างวันเข้าสู่ความทรงจำระยะยาว ซึ่งอวัยวะชิ้นนี้จะทำงานตอนที่เรานอนหลับเท่านั้นและจะทำงานได้ดี หากร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

สับสน

  • อารมณ์เครียด และเปลี่ยนแปลงได้ง่ายโดยไม่มีเหตุผล มีอาการง่วงนอนหรือรู้สึกไม่สดชื่นตลอดทั้งวัน
  • ระบบย่อยผิดปกติ โดยต้องใช้เวลามากขึ้นถึง 40 % เพื่อจัดการกับระดับน้ำตาลในเลือด หลังรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต และการมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นนานๆ จะทำให้แก่เร็ว
  • การอดนอนนาน 1 สัปดาห์ หรือนอนวันละ 4 ชั่วโมง ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นในการควบคุมปริมาณกล้ามเนื้อและไขมันน้อยลง ร่างกายจะสะสมไขมันมากขึ้น
  • การนอนไม่ถึง 8 ชั่วโมง ร่างกายจะผลิตสารเลปติน (Leptin) น้อยลง ซึ่งสารตัวนี้มีบทบาทช่วยควบคุมความอยากอาหาร ดังนั้นเราจะมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น เมื่อเราอดนอน  ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาน้ำหนักเกินตามมาได้

อยากอาหาร

  • สูญเสียโอกาสที่ร่างกายจะผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ในขณะหลับ ซึ่งโกรทฮอร์โมนจะทำให้เราดูอ่อนเยาว์ โดยการสร้างสมดุลระบบการเผาผลาญอาหาร และช่วยซ่อมแซมเซลล์ต่างๆ ดังนั้น หากขาดฮอร์โมนชนิดนี้จะทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น
  • สารเมลาโตนินเป็นที่มีบทบาทในการปกป้องเซลล์ผิวหนังจากอนุมูลอิสระต่างๆ และจะถูกสร้างมากที่สุดในเวลากลางคืนขณะที่เรานอนหลับ ดังนั้นถ้าเราอดนอน การสร้างสารนี้จะลดลง ส่งผลให้เกิดการอักเสบหรือภูมิแพ้ผิวหนังได้ง่ายขึ้น

ผิวพรรณไม่ดี

การรักษาอาการนอนไม่หลับ

การรักษาอาการนอนไม่หลับมีหลายวิธี ซึ่งอาจต้องใช้ร่วมกัน ดังนี้

  1. การปรับพฤติกรรม เช่น การสร้างสมดุลฮอร์โมน ด้วยการ สวดมนต์ อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ ฟังเพลง อุณหภูมิห้องไม่เกิน 27 องศาเซลเซียส
  2. การปรับสภาพแวดล้อมของห้องนอนให้เหมาะสมแก่การนอนหลับ เช่น แสงไฟ
  3. การใช้ยานอนหลับ
  4. การใช้สารจากธรรมชาติ เช่น เมลาโตนิน (melatonin ) ยาสมุนไพร อภัยบี ที่มีส่วนประกอบของ ดอกบัวแดง ใบบัวบก และ พริกไทย ตำรัยยาแผนไทยศุขไสยาศน์ สมุนไพรไทย ใบขี้เหล็ก (baracol)  สมุนไพรต่างประเทศ รากวาเลอเรียน และ เซนต์ จอห์น เวอร์ท หรือ  น้ำมันนวดสมุนไพร กลิ่นเลมอน ยูคาลิปตัส

สวดมนต์

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ยานอนหลับและสารช่วยให้หลับ

เมลาโตนิน (melatonin)

คือ ฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างจากต่อมไพเนียล (pineal gland) ในสมอง โดยมีหน้าที่ควบคุมการนอนและเป็นนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythm)ของมนุษย์

โดยปกติสมองจะผลิตฮอร์โมนเมลาโทนินออกมาในช่วงเวลาประมาณ 3 ทุ่ม และจะยังคงอยู่ในกระแสเลือดเป็นเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ก่อนที่จะค่อยๆลดลงพร้อมๆกับการเพิ่มของแสงอาทิตย์ จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 9 โมงเช้า ระดับเมลาโตนินในร่างกายจะลดต่ำลงจนวัดระดับไม่ได้

นอกจากนี้มีการศึกษาทางคลินิก พบว่า ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเมลาโตนิน น้อยลง จึงทำให้พบภาวการณ์นอนหลับยากในผู้สูงอายุ (aged-related sleep)

โครงสร้างทางเคมีเมลาโตนิน

ในปัจจุบันเราสามารถผลิตเมลาโตนินด้วนวิธีการสังเคราะห์ได้ และมีการนำมาใช้ประโยชน์ดังนี้

  • รักษาอาการนอนหลับยากในผู้สูงอายุ
  • รักษาอาการนอนไม่หลับจากการเปลี่ยนเวลานอนหรือ เจ็ทแลค (jet lag)
  • ช่วยให้คนที่ทำงานเป็นกะ (shift work) นอนหลับได้ง่ายขึ้น
  • รักษาอาการนอนหลับผิดเวลา (delayed sleep phase syndrome) คือ ไม่สามารถนอนหลับก่อนเวลาตีสองได้

ควรรับประทานเมลาโทนิน ก่อนนอน 1-2 ชั่วโมง  หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหลังรับประทานยา

ยังไม่มีงานวิจัยรองรับความปลอดภัยในการใช้ในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร อย่างไรก็ตามเมลาโทนินเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยในการใช้ตามขนาดที่ระบุ คือ 2-3 มก./วัน และไม่พบอาการถอนยาเมื่อหยุดใช้ยา

อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ของยาเมลาโทนิน เช่น ง่วงซึม ปวดหัว

เมลาโทนินที่มีจำหน่ายในประเทศไทย เป็นรูปแบบเม็ดยาออกฤทธิ์เนิ่น ขนาดความแรง 2 มก./เม็ด  ซึ่งหลังรับประทาน ยาจะจะค่อยๆปลดปล่อยตัวยาสำคัญออกมาทีละน้อย  และสามารถเลียนแบบการหลั่งของเมลาโทนินตามธรรมชาติของร่างกายได้ดี  สามารถรับประทานยาได้ติดต่อกันสูงสุด 13 สัปดาห์.

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : เมลาโทนินคืออะไร

ใบขี้เหล็ก( baracol)

แนะนำให้รับประทานในรูปแบบอาหารจะปลอดภัยที่สุด เนื่องจากการนำใบขี้เหล็กไปตากแห้งแล้วอัดเม็ดหรือบรรจุแคปซูล นำมารับประทานอาจจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบได้ จากสารบาราคอลในใบขี้เหล็กได้

การนำใบขี้เหล็กมารับประทานอย่างปลอดภัย ต้องเลือกใบเพสลาดหรือ ตั้งแต่ยอดอ่อนถึงใบกลาง นำไปต้มในน้ำเดือด แล้วเทน้ำทิ้ง 2-3 น้ำ จึงค่อยนำมาปรุงอาหารรับประทาน

ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการและยา ห้ามจำหน่ายใบขี้เหล็กในรูปสมุนไพรเดี่ยว เพื่อใช้เป็นยานอนหลับหรือช่วยให้นอนหลับ แต่อนุญาตให้ผลิตใบขี้เหล็กแคปซูลแบบผสมกับตัวยาสมุนไพรอื่นๆ เพื่อป้องกันการเป็นพิษต่อตับจากสารบาราคอล

สมุนไพรอภัยบี

โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้เก็บรวบรวมข้อมูลตำรับบัวพื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี พบว่าตำรับกลีบบัวแดงที่มีส่วนประกอบของ บัวหลวงสีแดง (Nelumbo nucifera Gaertn.) ,บัวบก (Centella asiatica (L.)Urb.) และ พริกไทย (Piper nigrum L.)  ในสัดส่วนปริมาณเท่าๆกัน มีสรรพคุณช่วยให้นอนหลับ แก้ลมที่ค้างในศีรษะ ทำให้สดชื่นหลังตื่นนอน 

อภัยบี

ยาศุขไสยาศน์

ยาศุขไสยาศน์มีสรรพคุณช่วยให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น ทำให้หลับได้เร็วขึ้น นานขึ้น  และไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงซึมเวลากลางวัน ผู้ป่วยสามารถลดการใช้ยานอนหลับลงได้

เป็นตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ร้อยละ 15.38  โดยในตำรับยามีสมุนไพรประกอบอยู่ 12 ตัวดังนี้

  1. ใบกัญชา 12   ส่วน
  2. การบูร 1    ส่วน
  3. ใบสะเดา 2    ส่วน
  4. สหัสคุณเทศ 3 ส่วน
  5. สมุลแว้ง 4   ส่วน
  6. เทียนดำ 5    ส่วน
  7. โกศกระดูก 6 ส่วน
  8. ลูกจันทน์ 7    ส่วน
  9. ดอกบุนนาค 8   ส่วน
  10. พริกไท 9 ส่วน
  11. ขิงแห้ง 10 ส่วน
  12. ดีปลี 11 ส่วน

มีหลักฐานทางวิชาการระบุว่า สารแคนนาบินอยด์ที่พบในกัญชา ช่วยทำให้เข้าสู่การนอนหลับได้เร็วขึ้น ระยะเวลาในการนอนหลับเพิ่มมากขึ้น  และลดฝันร้ายได้

นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรตัวอื่นๆ ในตำรับที่ช่วยส่งเสริมการนอนหลับ เช่น พริกไทย ขิง ดีปลี ช่วยทำให้เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น เนื่องจากมีฤทธิ์ร้อน

ผลข้างเคียงที่พบได้บ้างจากการใช้ยาศุขไสยาศน์ คือ ระคายเคืองท้องบ้าง เนื่องจากมีขิงและพริกไทผสมอยู่ในตำรับ

รากวาเลอเรียน (Valerian)

มีชื่อทางวิทยาศาสตร์คือ  Valeriana officinalis. เป็นหนึ่งในสมุนไพรที่มีการใช้เพื่อช่วยการนอนหลับที่ไม่รุนแรงในผู้ใหญ่  โดยมีประโยชน์ช่วยให้ง่วงนอนเร็วขึ้นและหลับสนิทขึ้น.

กลไกการออกฤทธิ์คือ ช่วยยับยั้งการสลายตัวของสาร GABA ในสมอง  โดยสาร GABA มีคุณสมบัติเป็นตัวช่วยเหนี่ยวนำการนอนหลับ  (sleep promoting neurotransmitter ) 

ผลข้างเคียงของวาเลอเรียน ที่พบได้บ้างเล็กน้อยแต่ไม่เป็นอันตราย เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง อาจทำให้ค่าเอนไซม์ตับสูงขึ้นบ้าง แต่จะกลับปกติเมื่อหยุดใช้ยา

ผลิตภัณฑ์รากวาเลอเรียนที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ได้แก่ Valian-X    วิธีรับประทานคือ 1-2 แคปซูลก่อนนอน 30-60 นาที

 

เซนต์ จอห์น เวอร์ท ( St. John’s wort )

เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมมากในทวีปยุโรปและสหรัฐอเมริกา ในการักษาโรคซึมเศร้าและบรรเทาอาการนอนไม่หลับในระดับน้อยถึงปานกลาง  

มีการใช้สมุนไพรตัวนี้มานานกว่า 2,000 ปีแล้ว สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ในเซนต์ จอห์น เวอร์ทคือ hypericin ซึ่งสารตัวนี้จะทำให้สารสื่อประสาทกลุ่ม MAOs เช่น ซีโรโตนิน (serotonin),โดพามีน (dopamine),นอร์อีพิเนฟฟรีน (norepinephrine) มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นที่ปลายประสาท ส่งผลให้ร่างกายมีความผ่อนคลาย มีความเครียดลดลง 

นอกจากนี้ ไฮเปอริซินยังมีส่วนช่วยป้องกันการดูดกลับของสารสื่อประสาท Serotonin บริเวณรอยต่อเซลล์ประสาท ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความกังวลใจ

ดังนั้นจึงเหมาะกับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับอันเนื่องมาจากความเครียดเป็นหลัก แต่ต้องระมัดระวังการใช้ในผู้หญิงที่ทานยาคุมกำเนิด เพราะ St. John wort มีผลลดฤทธิ์ยาคุมกำเนิดได้ และเคยมีรายงานทำให้มีประจำเดือนกระปริดกระปรอยได้ 

เซนต์ จอห์น เวอร์ท
ดอกเซนต์จอห์นเวอร์ท

เทคนิคในการช่วยให้นอนหลับสบาย

  1. จัดตารางเวลาการนอนให้เหมาะสมและเป็นเวลา เวลาที่แนะนำให้เข้านอนไม่ควรจะเกิน 4 ทุ่มของแต่ละคืน
  2. สร้างบรรยากาศในห้องนอนให้เหมาะสม เช่น ห้องนอนควรจะเงียบ ไม่มีเสียงรบกวน อุณหภูมิห้องต้องเย็นพอดีและควรปิดไฟให้มืด
  3. ควรเลือกหมอนและเตียงนอนให้เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย รวมทั้งหมั่นเปลี่ยนผ้าปูที่นอนปลอกหมอนบ่อยๆ เพื่อช่วยลดการสะสมฝุ่นและไรฝุ่น จะช่วยให้หลับสบายขึ้น
  4. หากิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายร่างกายก่อนนอน เช่น การอาบน้ำอุ่น ฟังเพลงจังหวะสบายๆ หรือการนั่งสมาธิ ซึ่งช่วยให้ร่างกายหลั่งสารเอ็นโดรฟิน (endorphine) ออกมา ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายและช่วยให้นอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น
  5. ท่านอนหงายเป็นท่านอนที่ดีต่อสุขภาพเพราะเป็นท่านอนที่ไม่มีอะไรมากดทับหน้าอก ช่วยให้ระบบทางเดินหายใจทำงานได้อย่างคล่องตัวที่สุด เมื่อนอนหงายกระดูกสันหลังจะได้รับการรองรับจากที่นอนทำให้สามารถวางตัวอยู่ในแนวธรรมชาติได้ดีที่สุด นอกจากนี้ท่านอนหงายจะช่วยให้หลีกเลี่ยงการเกิดริ้วรอยบนใบหน้าได้ดีที่สุด เพราะการนอนตะแคงหรือการนอนคว่ำนานๆ จะทำให้เกิดแรงกดทับซึ่งก่อให้เกิดริ้วรอยบนใบหน้า
  6. กดจุดบริเวณใบหน้าก่อนนอนด้วยการใช้ปลายนิ้วนวดวนเป็นวงกลมไปเรื่อยๆ ตามหัวคิ้ว ขมับ ร่องจมูก คาง และมุมปาก ช่วยให้การนอนหลับสบายและหลับสนิทขึ้น
  7. กลิ่นของน้ำมันหอมระเหย ได้แก่ น้ำมันหอมระเหยจากลาเวนเดอร์ ยูคาลิปตัส และ Lemom balm จะช่วยให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลายและช่วยให้การนอนหลับสบายยิ่งขึ้น
  8. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ หรือ น้ำอัดลม เพราะคาเฟอีนจะกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว ทำให้นอนหลับยาก จึงแนะนำให้ดื่มชาคาโมมายล์อุ่นๆ หรือนมอุ่นๆ ก่อนนอน เพื่อช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น แต่ไม่ควรดื่มน้ำมากๆก่อนนอน เพราะอาจทำให้ต้องตื่นเข้าห้องน้ำบ่อยๆ
  9. การรับประทานอาหารจำพวก มันเทศ เผือก กลอย ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และผลิตภัณฑ์โฮลเกรนต่างๆ ช่วยให้ร่างกายผลิตสารเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้นอนหลับสบาย

สนใจอ่านเพิ่มเติมที่ : นอนอย่างไรให้สุขภาพดี 

สรุป

ร่างกายของคนเราทุกคนต้องนอนหลับพักผ่อนตามตารางของนาฬิกาชีวิต เป็นกลไกที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมอง ที่ร่างกายเราสร้างขึ้นมาอย่างจงใจเพื่อความอยู่รอดของชีวิต
การแก้ไขปัญหาอาการนอนไม่หลับ มีทั้งแบบไม่ใช้ยาและใช้ยาช่วย หากจำเป็นต้องใช้ยานอนหลับ  เภสัชกรสามารถช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยานอนหลับอย่างปลอดภัยได้คะ หากมีโรคที่ทำให้มีผลต่อการนอนหลับควรปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุด

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า