6 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์

กัญชา

มนุษย์นำพืชสมุนไพรมาใช้ประโยชน์มานานนับพันปี ทั้งในพิธีกรรมทางศาสนาใช้ประกอบอาหาร นำเส้นใยมาใช้ทำเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ไม่นานมานี้มีการนำพืชกัญชามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์มากขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยและข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนว่ากัญชาสามารถนํามาใช้รักษาโรคบางโรคได้จริง ทำให้การใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ถูกกฎหมายในหลายๆประเทศรวมถึงประเทศไทยด้วย ดังนั้นบทความนี้จึงขอกล่าวถึง 6 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์

กัญชา คือ พืชล้มลุกจำพวกหญ้า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannnabis sativa L. ต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต  ใบแตกเป็นแฉก มี  5-8 แฉกในก้านเดียวกัน ริมใบทุกแฉกมีลักษณะเป็นจักๆ ออกดอกตามง่ามกิ่งก้าน

อภัยกัญช์

สารบัญ

กฎหมายกัญชา

กัญชาจัดเป็นยาเสพติดหรือไม่ ?

ในอดีตทุกๆส่วนของ  “กัญชา” ไม่ว่าจะเป็น ใบ ดอก ยอดผล ลำต้น เมล็ดและราก จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ผู้ใดที่เสพ ผลิต นำเข้า ส่งออก ครอบครองหรือจำหน่าย ที่ไม่ได้รับข้อยกเว้นก็จะมีโทษทางกฎหมาย แต่ในปัจจุบันเพื่อให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะประโยชน์ทางการแพทย์จึงได้มีการปลดล็อคหรือเปลี่ยนแปลงชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ในส่วนของกัญชา ดังนี้

  1. ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน รากของกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติด
  2. สารสกัด CBD และต้องมีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติด

โดยได้ลงในราชกิจจานุเบกษา พ.ศ.2563 แล้วและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ในส่วนของช่อดอกกัญชาและเมล็ดยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 รวมไปถึงน้ำมันกัญชาที่องค์การเภสัชกรรมผลิตซึ่งมีทั้งหมด 3 สูตรก็ยังจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ประชาชนไม่สามารถซื้อได้ด้วยตนเอง ต้องสั่งจ่ายผ่านแพทย์และเภสัชกรที่ผ่านการอบรมแล้วเท่านั้น

 

สารสกัดน้ำมันกัญชา

 

สารสกัดน้ำมันกัญชา

 

สารสกัดน้ำมันกัญชา

 

เราสามารถปลูก ผลิต  นำเข้า ส่งออก มีไว้ในครอบครองหรือจำหน่ายกัญชาได้หรือไม่ ?

ในเมื่อมีการปลดล็อคกัญชาบางส่วนออกจากยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ดังนั้นอาจมีคำถามขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนี้แล้วประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชาได้หรือไม่

กฎหมายในปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้ประชาชนทั่วไปปลูกกัญชาได้ โดยผู้ที่สามารถปลูกกัญชาได้จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องตามที่กฎหมายกำหนด
  2. แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ชั้นหนึ่ง เภสัชกร แพทย์แผนไทย
    แพทย์แผนไทยประยุกต์และหมอพื้นบ้าน
  3. สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีการสอนทางการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือสหกรณ์การเกษตร โดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

โดยการปลูกนั้นจะต้องเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนาเท่านั้น โดยตัองยื่นคำขออนุญาต ณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข

สำหรับประชาชนทั่วไป ถึงแม้ยังไม่ได้มีการอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปปลูกกัญชาได้เอง แต่สามารถรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือสหกรณ์การเกษตรโดยร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขออนุญาตปลูกกัญชาได้ ทั้งนี้ กรณีปลูกกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดต้องระวางโทษ  จำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ส่วนการ ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครอง ใช้หลักการเดียวกันกับการปลูกคือผู้ขออนุญาตจะต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดและทำเพื่อประโยชน์ทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วยหรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะต้องได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาตเท่านั้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม :
กองควบคุมวัตถุเสพติดกัญชา กระทรวงสาธารณสุข
ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชาทางการแพทย์

ยาศุขไสยาศน์
ยาแก้ลมแก้เส้น

สาเหตุที่กัญชาถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์

ทำไมกัญชาถึงถูกนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์?

ประมาณ 2-3 ปีให้หลังหลายๆคนคงจะเคยได้ยินข่าวว่ากัญชาสามารถนำมารักษาโรคได้และถือเป็นประเด็นร้อนในวงการแพทย์ ซึ่งอาจทำให้เกิดความสงสัยได้ว่าเหตุใด กัญชา ที่เป็นยาเสพติดถึงถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ในปัจจุบัน เหตุผลก็คือในกัญชาจะมีสารสำคัญที่เรียกว่า แคนนาบินอยด์ (cannabinoid) ซึ่งมีหลายชนิด แต่มีเพียง  2 ชนิดหลักที่มีคุณสมบัติทางการแพทย์ คือ CBD และ THC

THC จะจับกับตัวรับ cannabinoid ในร่างกายซึ่งมีอยู่ 2 ชนิดหลักคือ CB1 และ CB2 โดย CB1 จะพบมากที่ระบบประสาทส่วนกลาง  ทำให้มันไปออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทโดยการกระตุ้น กดและหลอนประสาทซึ่งเป็นตัวที่สะท้อนกลไกการเกิดการเมากัญชา ในขณะที่ CB2 จะพบที่เนื้อเยื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนั้นจึงมีผลต่อ ความอยากอาหาร การย่อยอาหาร อารมณ์ ความรู้สึก ความจำ การเรียนรู้ และพฤติกรรม

ในทางกลับกัน CBD มีความสามารถในการจับกับ CB1 และ CB2  ได้เพียงเล็กน้อยและมีลักษณะเป็นตัวยับยั้ง ( negative allosteric modulator) ของ CB1  ทำให้สามารถลดอาการปวด อาการอักเสบ และลดความกังวลได้

ดังนั้นการค้นพบกลไกการออกฤทธิ์ของสาร THC และ CBD ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เป็นจุดเริ่มต้นของการนำมาวิจัยเพื่อประโยชน์ในการรักษาอาการหรือโรคต่างๆในปัจจุบัน

ข้อบ่งใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา

กัญชาสามารถนำมารักษาโรคอะไรได้บ้าง ?

หลังจากมีแนวโน้มในการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น ทำให้มีกระแสข่าวต่างๆทั้งในอินเตอร์เน็ตหรือการบอกเล่าปากต่อปากว่ากัญชาสามารถรักษาโรคได้มากมายนับไม่ถ้วน ทำให้ใครหลายคนอาจมีข้อสงสัยและความสับสนได้ว่า ตกลงแล้วกัญชาสามารถใช้รักษาโรคอะไรได้บ้าง
แพทยสภาและกระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ระบุเพียง 4 กลุ่มโรคหรือภาวะอาการเท่านั้น ที่มีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนชัดเจนว่าสามารถใช้กัญชารักษาแล้วได้ผลจริงและมีผลิตภัณฑ์ออกมาในการรักษาโรคต่างๆเหล่านี้ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งได้แก่

        1.โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักดื้อต่อยารักษา

มีการศึกษาทางคลินิกของสารสกัดกัญชาที่มีชื่อว่า Epidolex® ซึ่งมี CBD เป็นสารสำคัญ พบว่าสามารถใช้รักษาอาการชักแบบควบคุมไม่ได้ด้วยยา  เช่น การชักแบบ Dravet และ Lennox-Gastaut Syndromes ได้ และได้รับการอนุมัติโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (U.S. FDA) ให้สามารถใช้ในการรักษาอาการชักทั้ง 2 ชนิดดังกล่าวได้

 

epidiolex

   

    2.ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนจากยาเคมีบำบัดที่รักษาด้วยวิธีมาตรฐานไม่ได้ผล

มีการศึกษาพบว่า สาร Nabilone และ Dronabinol เป็นสารสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธ์ของสาร THC  มีประสิทธิภาพในการลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดได้ดีกว่าและเทียบเท่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่ในขณะนั้น  ดังนั้นสารทั้งสองชนิดจึงได้รับการอนุมัติให้ขายในประเทศอเมริกาและแคนาดาในชื่อการค้า Cesamet® และ Marinol®ตามลำดับ

 

Marinol

 

cesamet

   

    3.ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (spasticity) ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis)

มีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับยาที่มีส่วนผสมของ THC และ CBD ในอัตราส่วน 1 ต่อ 0.5 สามารถช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวดและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้ โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่ร้ายแรง จึงได้มีการอนุมัติตำรับยาทั้งสองชนิดนี้ (Sativex® อัตราส่วนของ THC:CBD เท่ากับ 1:0.9) ให้สามารถสั่งจ่ายได้ในประเทศ แคนาดา อังกฤษ และ อเมริกา

 

sativex

   

    4.ภาวะปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไม่ได้ผล (intractable neuropathic pain)

สารในกลุ่ม cannabinoid ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ THC สามารถใช้ลดอาการปวดแบบฉับพลัน และแบบเรื้อรัง (Acute และ Chronic Pain)  ซึ่งได้มีการทดลองทางคลินิกและพบว่าสาร THC ในขนาด 2.5 หรือ 2.7 มิลลิกรัม สามารถช่วยลดอาการปวดเรื้อรัง (Central Neuropathic Pain) และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถนอนหลับได้เพิ่มขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามกัญชาจะไม่ได้ถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกแรกในการรักษาแต่จะใช้เมื่อดื้อต่อยาหรือยาที่มีอยู่ไม่ได้ประสิทธิภาพ

ส่วนการรักษาโรคหรือภาวะอื่นๆ พบว่ากัญชาน่าจะได้ประโยชน์ในการควบคุมอาการแต่ยังมีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนในประเด็นความปลอดภัยและประสิทธิผลที่จำกัดหรืออาจมีประโยชน์ในการรักษาแต่ยังขาดข้อมูลจากงานวิจัยสนับสนุนที่ชัดเจนเพียงพอในด้านความปลอดภัยและประสิทธิผลซึ่งต้องศึกษาวิจัยในหลอดทดลองและสัตว์ทดลองก่อนนำมาศึกษาวิจัยในมนุษย์

สุดท้ายนี้สิ่งสำคัญที่สุดในการใช้กัญชาทางการแพทย์ คือ จะต้องมีการสั่งใช้หรือสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกร ที่ผ่านการอบรมหลักสูตรการใช้กัญชาทางการแพทย์ และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขเพื่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วย

ชาสมุนไพรกัญชา

ผลข้างเคียงผลิตภัณฑ์กัญชา

อันตรายจากการใช้กัญชาทางการแพทย์มีอะไรบ้าง ?

การใช้กัญชาในทางการแพทย์นอกจากจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคต่างๆแล้ว  มันยังมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้เหมือนยารักษาโรคทั่วไปเช่นกัน โดยผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นและข้อควรระวังจากการใช้กัญชาหรือสารสกัดจากกัญชา มีดังนี้

ผลข้างเคียงในระยะสั้น ได้แก่ ความผิดปกติในการใส่ใจและสมาธิ  เวียนศีรษะหรือมึนศีรษะ ง่วงนอนมากผิดปกติ เห็นภาพหลอนหรือหูแว่ว ความผิดปกติในการตัดสินใจและการควบคุมการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้ออ่อนล้า เพลียง่าย สูญเสียการทรงตัว คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง หรือท้องผูก ภาวะซึมเศร้าหรือทำให้เกิดโรคจิต

ผลข้างเคียงในระยะยาว   ได้แก่ มีผลเสียต่อความจำระยะยาว การวางแผน และ ความสามารถในการตัดสินใจ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

ผลของกัญชาหรือสารสกัดจากกัญชาในผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม ได้แก่

  1. ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี เนื่องจากจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสมอง ทำให้ไอคิวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ความจำลดลง การใส่ใจและสมาธิลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
  2. ผู้สูงอายุ เนื่องจากจะมีผลต่อการเดินและการทรงตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม รบกวนความจำระยะสั้นและการตอบสนองทางอารมณ์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด กล้ามเนื้อหัวใจตาย หัวใจเต้นผิดจังหวะและเสียชีวิตกะทันหัน
  3. ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เนื่องจากกัญชาจะทาให้อาการทางจิตเป็นมากขึ้นและมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่า การใช้กัญชาจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย จึงไม่ควรใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต รวมทั้งผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวที่มีอาการป่วยด้วยโรคทางจิต
  4. ผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากมีผลต่อระบบการทำงานของหัวใจและทำให้มีการหดตัวของหลอดเลือดและมีข้อมูลว่ากัญชาเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  5. หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร เพราะจะมีผลต่อเด็กใน ครรภ์และทำให้พัฒนาการช้า

ยาที่อาจเกิดอันตรกิริยาร่วมกับสารสกัดกัญชา

      เนื่องจาก THC และ CBD จะถูกกำจัดผ่านตับเป็นหลัก ดังนั้นยาใดที่มีการกำจัดหรือผ่านกระบวนการในตับ อาจทำให้ระดับยาเปลี่ยนแปลงได้ เช่น

  1. ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดวาร์ฟาริน (warfarin) เนื่องจากสารจากกัญชาจะทำให้ระดับยาวาร์ฟารินเพิ่มขึ้นทำให้เกิดเลือดออกที่อาจเป็นอันตรายได้
  2.  ยาต้านเกล็ดเลือด เนื่องจากสารสกัดจากกัญชามีผลยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกผิดปกติได้
  3. ยากันชัก เนื่องจากสารสกัดจากกัญชาจะไปเพิ่มระดับยากันชักบางชนิด ทำให้เกิดภาวะเป็นพิษจากระดับยาที่สูงเกินไปหรืออาจทำให้มีการทำงานของตับผิดปกติได้
  4. ยาต้านซึมเศร้าบางกลุ่ม เนื่องจากสารสกัดจากกัญชาจะทำให้มีระดับยาต้านซึมเศร้าสูงขึ้นเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอารมณ์ที่ผิดปกติมากขึ้น

อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชาในประเทศไทย
ภายหลังการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี ได้รวบรวมข้อมูลของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา ระหว่างเดือนมกราคม 2561 ถึง พฤษภาคม 2562 ในผู้ป่วยจำนวน 302 ราย พบว่า อาการไม่พึงประสงค์ที่พบมากเป็นอันดับแรก คือ ใจเต้นเร็ว 133 ราย อันดับสอง คือ ใจสั่นและความดันโลหิตสูง 110 ราย อันดับสาม คือ มึนศีรษะ จำนวน 106 ราย และอันดับสี่ คือ คลื่นไส้อาเจียน 86 ราย

ยาศุขไสยาศน์
ยาแก้ลมแก้เส้น

ผู้สนใจใช้ผลิตภัณฑ์กัญชา

หากมีความสนใจต้องการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคต้องทำอย่างไร ?

ผู้ป่วยที่ประสงค์จะใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เพื่อรักษาโรค สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชา ที่มีบริการการรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์ ภายใต้การดูแลของแพทย์ที่ผ่านการอบรมจากกระทรวงสาธารณสุข โดยสามารถตรวจสอบได้จาก http://cannabis.fda.moph.go.th/ หรือ http://www.medcannabis.go.th/clinic

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์แล้ว แพทย์จะพิจารณาถึงความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายที่จะใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์เพื่อรักษาโรค

สรุป

จากการค้นพบสารสำคัญในกัญชาที่สามารถนำมารักษาโรคบางโรคได้จริง ปัจจุบันจึงมีการนำกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ทั่วโลก ทำให้กฎหมายกัญชาในหลายๆประเทศถูกปลดล็อค แต่ทั้งนี้ควรพึงตระหนักไว้เสมอว่านอกจากกัญชาจะมีประโยชน์แล้ว มันยังมีอันตรายทำให้เกิดผลข้างเคียงในผู้ป่วยบางคนได้ ดังนั้นควรใช้อย่างระมัดระวังและอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์และเภสัชกรเสมอ

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า