การกำจัดยาออกจากร่างกาย

การขับถ่ายยา

การกำจัดยาออกจากร่างกายทางไต จะมีทั้งอยู่ในรูปแบบเดิมและเมตาโบไลท์ของยา

กระบวนกำจัดของเสียและยาออกจากร่างกาย มีทั้งรูปของแข็ง ของเหลว และแก๊ส ดังนี้

  • รูปแบบของเหลว : มีกลไกกำจัดอยู่หลายทางทาง คือ ทางไตในรูปแบบน้ำปัสสาวะ และ ทางผิวหนังในรูปแบบของเหงื่อ และทางน้ำนม ยาที่ถูกขับออกในรูปแบบนี้จะเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลเล็กๆ
    สารประกอบหรือยาที่ละลายได้ดีในไขมัน มีฤทธิ์เป็นด่างรวมถึงพวกโลหะหนัก จะถูกขับออกทางน้ำนมได้ดี เนื่องจากน้ำนมมีความเป็นกรดอ่อนๆ
  • รูปแบบของแข็ง : มีกลไกกำจัดทางน้ำดี ผ่านลำไส้ และ ถูกขับถ่ายในรูปอุจจาระ ผ่านทางทวารหนัก ยาที่ถูกขับออกในรูปแบบนี้จะเป็นสารประกอบที่มีโมเลกุลใหญ่
  • รูปแบบแก๊ส : มีกลไกกำจัดออกทางปอด ออกมาพร้อมลมหายใจ ยาที่จะถูกขับออกทางนี้ต้องเป็นยาที่อยู่ในรูปแบบแก๊สหรือระเหยได้ที่อุณหภูมิร่างกาย เช่น แอลกอฮอลล์ ยาดมสลบ

ไตมนุษย์ 

สารบัญ

ไตเกี่ยวข้องกับยาอย่างไร

อวัยวะที่ทำหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกายในรูปปัสสาวะ คือไต  ยาที่ถูกกำจัดออกทางไตมีอยู่ 2 รูปแบบคือ ส่วนที่เป็นพิษต่อร่างกาย และ ส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายแต่มีมากเกินความต้องการ ยาที่จะขับออกทางไตจะต้องถูกเปลี่ยนแปลงให้อยู่ในสภาพที่ละลายน้ำได้จึงจะถูกกำจัดออกทางน้ำปัสสาวะ

การกำจัดยาส่วนเกินออกจากร่างกายผ่านทางไต จะมีปัจจัยต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้องต่อผลการขับถ่ายยาของไต  ดังนี้

  1. การกรองผ่านหน่วยไต ( Glomerular filtration)
  2. ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านไต
  3. ความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ
  4. กระบวนการดูดกลับโดยท่อไต (Reabsorbtion)

โดยปัจจัยเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงผันแปรตลอดเวลาตามช่วงเวลาระหว่างวัน และจะมีการทำงานและปริมาณที่มากในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน กล่าวคือ การทำงานของไตในช่วงเช้ากลางวันดีกว่าช่วงกลางคืน  ทำให้ในช่วงกลางคืนมีการผลิตและขับถ่ายปัสสาวะน้อยกว่ากลางวัน และปัสสาวะมีค่าความเป็นด่างมากกว่าในช่วงกลางวัน

พีเอชของปัสสาวะ

การแปรผันของปัจจัยเหล่านี้ ทำให้มีผลต่อการกำจัดยาหรือขับถ่ายยาออกจากร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น

  • ยาที่ละลายน้ำได้ดีจะถูกกำจัดออกมามากในช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน
  • ยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะถูกขับออกในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน เพราะปัสสาวะในช่วงกลางคืนมีฤทธิ์เป็นด่างมากขึ้น

กล่าวได้ว่า คุณสมบัติของยาเองก็มีผลต่อการบริหารยาในทางการแพทย์ ดังนั้นการรับประทานยาตัวเดียวกันในช่วงเวลาต่างกันจะส่งผลต่อการออกฤทธิ์และการกำจัดยาที่ต่างกัน

อ้างอิงจาก : บทความวิชาการศึกษาต่อเนื่องทางเภสัชจลศาสตร์ เรื่อง หลักการพื้นฐานทางกาลเภสัชจลนศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายยาออกจากร่างกาย เขียนโดย กรัณฑ์รัตน์ ทิวถนอม ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

การประยุกต์ใช้เรื่องการขับถ่ายยาออกจากร่างกายกับเวลาในกินยา

ตามหลักการแพทย์แผนจีนเรื่อง นาฬิกาชีวิต หรือ นาฬิกาชีวภาพ คือ การทำงานของร่างกายในช่วงเวลาระหว่างวัน อวัยวะต่างๆในร่างกายจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนการทำงานตามช่วงเวลาระหว่างวัน เช่น

  • ช่วงเช้า เป็นเวลาทำงานของ ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ม้าม
  • ช่วงกลางวัน เป็นเวลาทำงานของ หัวใจ ลำไส้เล็ก กระเพาะปัสสาวะ
  • ช่วงเย็น เป็นเวลาทำงานของของ ไต กล้ามเนื้อหัวใจ ต่อมไทรอยด์
  • ช่วงดึก เป็นเวลาทำงานของถุงน้ำดี

ยกตัวอย่างให้พอเข้าใจได้ กลุ่มยาที่มีนำมาทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แก่

  1. กลุ่มยา NSAID ที่มีฤทธิ์แก้ปวด ต้านการอักเสบ เช่น พบว่าการใช้ยาในตอนเช้าและเที่ยง จะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบได้ดีกว่า  เพราะมีปริมาณยาในกระแสเลือดมาก ยามีคุณสมบัติเป็นกรดอ่อน จึงถูกขับออกจากร่างกายน้อยในช่วงเช้า กลางวัน ที่ปัสสาวะมีความเป็นกรดเหมือนกัน แต่ถ้าให้ยาในช่วงเย็น และกลางคืน ยาจะถูกขับออกจากร่างกายในปริมาณมาก ทำให้ฤทธิ์ต้านอักเสบของยาลดลง เพราะช่วงเย็นและกลางคืนปสสาวะมีความเป็นด่างมากขึ้น
  2. กลุ่มยารักษาโรคความดัน ที่มีคุณสมบัติละลายในไขมันได้ดี จะลดความดันได้ดีกว่าเมื่อรับประทานในช่วงเช้า เพราะยาถูกขับออกน้อยกว่าช่วงกลางคืน
  3. ยาปฏิชีวนะ กลุ่ม Aminoglycoside จะมีความปลอดภัยจากพิษของยา เมื่อให้ยาในช่วงเช้า เพราะมีอัตราการกำจัดยาสูงในช่วงเช้า จึงมีข้อแนะนำให้ใช้ยากลุ่มนี้ในตอนเช้า

หน่วยไต

4. ยาปฏิชีวนะ ciprofloxacin ที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ แนะนำให้ทานช่วงเช้า กลางวัน เพราะยาจะถูกขับออกทางไตมากในช่วงเช้า กลางวัน ทำให้มีปริมาณยาในปัสสาวะสูงกว่าในช่วงกลางคืน ซึ่งทำให้ได้ผลการรักษาดี

5. ยาลดกรด famoptidine ควรรับประทานช่วงเย็นหรือก่อนนอน เพราะในช่วงเวลานี้จะมีการหลั่งกรดมากกว่าช่วงกลางวัน

6.ยารักษาโรคหอบหืด Theophylline ควรรับประทานช่วงกลางคืนก่อนนอน เพราะปอดมีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ ไรฝุ่น ในช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน และพบว่าระดับความเข้มข้นของยาในเลือดจะสูงมากกว่าในช่วงกลางคืน และ เวลาที่ยามีความเข้มข้นสูงจะสั้นกว่าในช่วงกลางวัน ทำให้ป้องกันพิษจากยาได้ เนื่องจากยามีช่วงความปลอดภัย (therapeutic index)แคบ

กายวิภาคของไต

ไตเป็นอวัยวะทำหน้าที่คล้ายเครื่องกรอง  โดยจะกรองของเสียออกจากเลือด มีรูปร่างคล้ายถั่ว อยู่ในช่องท้อง ใต้ชายโครง ระดับเอว มี 2 ข้าง ซ้ายและขวา  ไตด้านขวาจะอยู่ต่ำกว่าไตด้านซ้าย กว้างประมาณ 6 เซนติเมตร ยาว 11 เซนติเมตร และหนา 3 เซนติเมตร

ไตแต่ละข้างจะมีหน่วยไต (nephron)อยู่ประมาณ 1 ล้านหน่วย ทำงานเป็นอิสระต่อกัน ทำหน้าที่กรองน้ำเลือด ปรับส่วนประกอบและความเข้มข้นของน้ำปัสสาวะ ปัสสาวะที่ผลิตได้จากแต่ละหน่วยไตจะไหลรวมกันสู่ หลอดไต กรวยไต และท่อไต ตามลำดับ ไปสะสมรวมกันอยู่ที่กระเพาะปัสสาวะเพื่อรอการขับทิ้งออกจากร่างกาย

หน้าที่ของไต

  1. กรองน้ำ และ กำจัดของเสียรวมทั้งสารพิษออกจากร่างกาย
  2. ควบคุมสมดุลน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย ตลอดจนควบคุมสภาวะกรด-ด่างในเลือด
  3. สร้างฮอร์โมน Erythropoietin เพื่อสร้างเม็ดเลือดแดงและวิตามินดีที่เกี่ยวข้องกับกระดูก
  4. กำจัดสารพิษและยาส่วนเกินออกจากร่างกาย

กายวิภาคของไต

โรคไตเรื้อรัง ( Chronic kidney disease)

เป็นภาวะที่ไตถูกทำลาย มีผลทำให้ความสามารถของไตในการทำงานลดลง

ระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการ หลายคนอาจไม่ทราบว่าตนเป็นโรคไตเรื้อรัง ถ้าไม่ได้มีการตรวจเลือดหรือปัสสาวะ  แต่เมื่อไตทำงานเสื่อมลงจนเหลือหน่วยไตน้อยลง ก็จะมีอาการจากของเสียคั่งในกระแสเลือด

การตรวจพบและได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ อาจทำให้โรคไตคงตัวและหายได้ หากปล่อยไว้นานไม่รักษาจนไตวาย ซึ่งเป็นภาวะที่ไตจะไม่สามารถทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป จำเป็นต้องได้รับการรักษาเช่น ฟอกไต หรือ เปลี่ยนไต

อาการของโรคไตเรื้อรัง

  • ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
  • ขาบวมและกดบุ๋ม เกิดจากมีเกลือและน้ำคั่งในร่างกาย หรือมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะมาก หากบวมมากจะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยจากน้ำคั่งในปอด เป็นอันตรายมาก
  • ความดันโลหิตสูง
  • คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย
  • คันตามร่างกาย ผมร่วง
  • ในเพศหญิงอาจมีอาการขาดประจำเดือนและไม่สามารถตั้งครรภ์ได้
  • ในเพศชายจะมีความรู้สึกทางเพศลดลงและการสร้างอสุจิลดลง

อาการไตวายระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารไม่ได้จนมีภาวะขาดสารอาหาร ความดันโลหิตสูง โลหิตจาง เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สะอึก บวม หอบเหนื่อยจากการคั่งของกรดในร่างกาย ซึม และ ชักได้

โรคไตเสื่อม

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไตเรื้อรัง ได้แก่

  • โรคเบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • อายุมาก
  • มีภาวะอ้วน
  • สูบบุหรี่

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ควรได้รับการตรวจคัดกรองโรคไตดังนี้

  1. วัดความดันโลหิตสูง
  2. ตรวจหาโปรตีนในปัสสาวะ ซึ่งโดยปกติโปรตีนจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่ร่างกาย เมื่อไตไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะมีโปรตีนรั่วออกมากับปัสสาวะ
  3. ตรวจเลือดหาค่าการรั่วของเม็ดเลือดแดง
  4. ตรวจอัลตราซาวด์ดูขนาดของไต ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง จะมีขนาดของไตเล็กลง

โรคไตเรื้อรัง แบ่งเป็น 5 ระยะ

โดยแบ่งตามระดับการกรองของไต เรียกว่า eGFR ( estimated Glomerular Filtration Rate) คือ ปริมาณเลือดที่ไหลผ่านตัวกรองของไตใน 1 นาที มีหน่วยเป็น มล./นาที/1.73 ตร.ม.

ระยะของโรคไตเรื้อรัง eGFR(ml/min/1.73 ตร.ม.) ภาวะการทำงานของไต
1 <90 อัตราการกรองปกติ มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
2 60-90 อัตราการกรองลดลงเล็กน้อย มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ
3a 45-59 อัตราการกรองลดลงเล็กน้อยถึงปานกลาง
3b 30-44 อัตราการกรองลดลงปานกลางถึงมาก
4 15-29 อัตราการกรองลดลงมาก
5 <15 ไตวายระยะสุดท้าย

ไตเสื่อม

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : โรคไตเรื้อรังไม่ยากเกินเข้าใจ

วิธีการดูแลไต

  1. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย เพื่อช่วยให้ไตไม่ต้องทำงานหนัก เพราะไม่ต้องกรองน้ำเลือดที่ข้นหนืด คำแนะนำคือ 8-10 แก้ว หรือ ประมาณ 2 ลิตร/วัน
  2. ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์
  3. หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มจัด
  4. ใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอย่างสมเหตุสมผล ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนการใช้ถ้าเป็นไปได้

สมุนไพรหรืออาหารต้องห้ามในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

  • ยาหอมและยากษัยเส้นที่ส่วนผสมของไคร้เครือและการบูร
  • ยาดำ
  • มะเฟือง โกฏน้ำเต้า ลูกเนียง สะตอ
  • น้ำผักชี น้ำลูกยอ
  1. หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกบริเวณสีข้าง ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ไตวางตัวอยู่

สีข้าง

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมดูแลไตอย่างไรให้อยู่กับเราไปนานๆ

สรุป

การกำจัดยาออกจากร่างกาย เป็นขบวนการหนึ่งในเภสัชจลน์ศาสตร์ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานบริบาลเภสัชกรรมได้ เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดโดยเกิดอาการไม่พึงประสงค์น้อยที่สุด เช่นการให้ยาต้านการอักเสบกลุ่ม NSAID ควรให้ในตอนกลางวัน  การให้ยาลดความดันโลหิตควรให้ตอนเช้า เป็นต้น

 

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า