พอจะนึกออกกันบ้างไหมคะ เวลาเข้าไปร้านยาหรือร้านขายยา เราจะพบเห็นได้ว่ายามีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาผง ยาน้ำใน ยาน้ำแบบข้น ยาครีม ยาขี้ผึ้ง เป็นต้น เคยนึกสงสัยไหมว่าทำไมถึงต้องมีการทำยาออกมาหลายรูปแบบ
สารบัญ
เหตุผลที่ต้องมียาหลายรูปแบบ
เหตุผลที่ต้องมีการทำยาออกมาในรูปแบบต่างๆหลายรูปแบบ เพราะว่าในยาเหล่านี้มีองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นตัวยาสำคัญ และ ส่วนที่เป็นตัวยาไม่สำคัญ
การที่จะนำส่งยาเข้าสู่ร่างกาย ต้องมีการออกแบบรูปแบบยาเตรียมขึ้นมา โดยการคำนึงถึงคุณสมบัติของส่วนที่เป็นตัวยาสำคัญในประเด็นต่อไปนี้
- คุณสมบัติทางเคมีของยา
- กลไกการออกฤทธิ์ของยา
- ความคงตัวของยา
- ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยา
- ผลข้างเคียงของยา
การเลือกผลิตยาออกมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มีจุดมุ่งหมายเพื่อ
- เพื่อให้ได้รูปแบบยาที่จะให้ประโยชน์ในการรักษามากที่สุด
- เพื่อให้ได้รูปแบบยาที่คงตัวมากที่สุด ป้องกันการสลายตัวโดยน้ำย่อยในระบบทางเดินอาหารและสภาพแวดล้อม เช่น แสง ความชื้น
- เพื่อให้ได้รูปแบบยาที่มีปริมาณตัวยาสำคัญในขนาดที่ถูกต้อง ปลอดภัยในการใช้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้น้อยที่สุด หรือ ถ้าเกิดอันตรายขึ้นมาต้องแก้ไขได้
- เพื่อกลบรสตัวยาสำคัญ หรือแต่งรสยาให้ทานได้ง่าย
- เพื่อให้ได้รูปแบบยาที่สะดวกต่อการใช้ การเก็บรักษา และการขนส่ง
การแบ่งประเภทรูปแบบยา
รูปแบบยาเตรียม (dosage form) แบ่งเป็น 4 รูปแบบหลัก
- รูปแบบของแข็ง ( solid) ยกตัวอย่าง เช่น
- ยาเม็ดแข็งใช้กลืน (tablet)
- ยาเม็ดแบบเคี้ยวได้ (chewable tablet)
- ยาแคปซูล (capsule)
- ยาแคปซูลไข่ปลา (pellet)
- ยาเม็ดฟู่ (effervescent tablet)
- ยาอม ( lozenges)
- ยาอมใต้ลิ้น(sublingual tablet)และยาอมข้างกระพุ้งแก้ม (buccal tablet)
- ยาเหน็บช่องคลอด(vaginal tablet)และยาเหน็บทวาร (suppository)
- ยาผง (powder)
- รูปแบบของเหลว (liquid) ยกตัวอย่าง เช่น
- ยาน้ำเชื่อมใส (syrup)
- ยาน้ำเชื่อมข้นแขวนตะกอน (suspension)
- ยาหยอดตาล้างตา (eye drop) ยาหยอดหู (ear drop)ยาหยอดจมูก (nasol drop)/พ่นจมูก (nasol spray)
- ยาฉีด (injection)
- รูปแบบของกึ่งแข็งกึ่งเหลว (semisolid) ยกตัวอย่าง เช่น
- ยาครีม (cream)
- ยาขึ้ผึ้ง (ointment)
- ยาเพสต์ เช่น ยาสีฟัน ยาป้ายแผลในปาก (paste)
- ยาเจล (gel)
- รูปแบบก๊าซ (gas) ยกตัวอย่าง เช่น
- ยาพ่นภายนอก (aerosol)
- ยาพ่นภายใน (inhaler)
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : Pharmaceutical dosage form
วิธีการใช้ยาเตรียมรูปแบบต่างๆ
ยาเม็ดแข็งใช้กลืน : เป็นรูปแบบยาที่ผลิตง่ายที่สุดและราคาประหยัด เป็นที่นิยม เป็นยาที่มีการใช้มากที่สุด การทานยาเม็ดชนิดนี้ ควรดื่มน้ำตามแล้วกลืน ไม่ควรกลืนยาโดยไม่ดื่มน้ำตาม จะทำให้กลืนยาก ติดคอ เป็นอันตรายได้ และ จะทำให้ยาแตกตัวและละลายได้ช้าลง
ยาเม็ดเคี้ยว : เป็นยาที่ไม่เหมาะกับผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาเรื่องฟันที่ไม่แข็งแรงและอาจมีไม่ครบทุกซี่ในช่องปาก ยาชนิดนี้จะมีรสชาติดีจาก สารแต่งรสให้หวานเย็น ชื่อว่า ซอร์บิทอล หรือ แมนนิทอล การใช้ยารูปแบบนี้ ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนพร้อมดื่มน้ำตามด้วย เพราะจุดประสงค์ของการเตรียมยาในรูปแบบนี้คือต้องการให้ยาออกฤทธิ์เร็ว ด้วยการแตกตัวและละลายเร็ว เพื่อที่จะได้ออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว
ยาเม็ดฟู่ : การใช้ยาต้องนำยาไปละลายในน้ำก่อน รอจนฟองฟู่ละลายหมด จึงทานยาได้ ยารุปแบบนี้ จะชื้นและเสื่อมสภาพง่าย ดังนั้นการเก็บรักษายาต้องระวังไม่ให้แผงบรรจุยาฉีกขาด หรือปิดภาชนะบรรุยาให้แน่นทุกครั้งหลังเปิดใช้ ลักษณะของยารูปแบบนี้คือ เมื่อหย่อนยาลงในน้ำ เม็ดยาจะถูกทำให้แตกตัวและละลายอย่างรวดเร็วด้วยฟองก๊าซในเม็ดยา
เหตุผลที่มีการเลือกทำยาเตรียมในรูปแบบนี้ มีดังนี้
- ตัวยาสำคัญจะถูกทำลายได้จากกรดในกระเพาะ การทำให้ยาแตกตัวด้วยฟองก๊าซ และอยู่ในรูปสารละลายเป็นด่าง จะช่วยลดการทำลายยาในกระเพาะ
- ต้องใช้ปริมาณตัวยาสำคัญมากในยา 1 เม็ด ทำให้ยามีเม็ดใหญ่ กลืนได้ยากลำบาก การทำเป็นเม็ดฟู่ จะช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น
- ตัวยาสำคัญ เมื่อแตกตัวในกระเพาะ จะปล่อยฟองก๊าซออกมามาก ทำให้เมื่อทานยาแล้วเกิดผลข้างเคียง ท้องอืด แน่นท้อง การทำให้ยาแตกัวปล่อยฟองก๊าซออกมาก่อนทาน จะช่วยลดผลข้างเคียงลงได้
- ยาที่มีข้อบ่งชี้ใช้ในผู้สูงอายุ ซึ่งความเป็นกรดในกระเพาะลดน้อยลง แต่ยาต้องใช้ความเป็นกรดสูงในกระเพาะเพื่อให้ยาแตกตัวและละลาย การเตรียมยาในรูปแบบนี้จะช่วยลดผลข้างเคียงจากยาได้
ยาอมใต้ลิ้นและยาอมข้างกระพุ้งแก้ม : ยาที่ถูกเตรียมในรูปแบบนี้ จะละลายตัวภายในปาก และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดผ่านเยื่อบุในช่องปากเข้าสู่หลอดเลือดใต้ลิ้น หรือหลอดเลือดฝอยข้างกระพุ้งแก้ม การอมยาใต้ลิ้นจะทำให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้เร็วกว่าอมข้างกระพุ้งแก้ม
การอมยาใต้ลิ้นที่ถูกต้อง คือ ระหว่างอมยา ไม่ควรกลืนหรือบ้วนน้ำลายทิ้ง เพราะจะทำให้ยาถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้น้อยลง เพราะฉนั้นเวลาอมยา อย่าขยับปากหรือเคลื่อนไหวลิ้นไปมา พยายามให้ปากนิ่งที่สุด
เหตุผลที่เลือกเตรียมยาในรูปแบบนี้ เพื่อต้องการให้ยาออกฤทธิ์อย่างรวดเร็วที่สุดหลังแตกตัวและละลาย สามารถถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดทันที โดยไม่ต้องผ่านการเปลี่ยนสภาพที่ตับอีกเพราะจะไม่ทันการ ตัวอย่างยาเตรียมรูปแบบนี้ เช่น ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ isordril sublingual tab 5 mg. เป็นยาช่วยชีวิตที่ผู้เป็นโรคหัวใจต้องพกติดตัวไว้
ดังนั้นการกลืนยาอมใต้ลิ้น จะทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยา เพราะกว่ายาจะออกฤทธิ์ ต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงยาหลายขั้นตอน กินเวลานาน ซึ่งอาจไม่ทันการ
ยาแคปซูลไข่ปลา : ยาแคปซูลที่ข้างในมีตัวยาที่เป็นแบบไข่ปลา เราเรียกเม็ดกลมไข่ปลานี้ว่า เพลเลต( pellet ) ยารูปแบบนี้เป็นยาเม็ดออกฤทธิ์นานกว่ายาเม็ดรูปแบบของแข็งประเภทอื่นๆ และการทานยาห้ามแบ่งเม็ดยา ห้ามบดเคี้ยว มีข้อสังเกตง่ายๆ ยาเตรียมรูปแบบนี้ จะมีอักษรย่อ ภาษาอังกฤษตามหลังชื่อยา ว่า DM, GP, DA, PSE, SR, SA, CR/CRT, LA,MR,TD/TR,XL,XR/ER, contin เป็นต้น
เหตุผลที่มีการเตรียมยารูปแบบนี้ เพื่อให้มีการปลดปล่อยตัวยาสำคัญในเม็ดยาออกมาที่ละน้อยๆ สม่ำเสมอ เป็นเวลานาน ทำให้สะดวกในการทาน เพราะสามารถทานได้ วันละ 1-2 ครั้งได้ เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดผลข้างเคียงจากยา
ยาเหน็บทวารหนัก/ยาเหน็บช่องคลอด : ยาเตรียมรูปแบบนี้ ตัวยาสำคัญจะกระจายตัวอยู่ในเบสที่เรียกว่า ยาพื้น เมื่อสอดยาเข้าไป ยาพื้นจะค่อยๆ ละลาย ตัวยาสำคัญจะค่อยๆกระจายตัวออกมาสู่เยื่อเมือก เพื่อออกฤทธิ์
การใช้ยาเหน็บทวารหนัก คือสอดแท่งยาเข้าไปพ้นปากทวารหนัก 1 นิ้วข้อมือก็พอ ดังนั้นส่วนที่เป็นยาพื้นจะใช้ไขมันที่ละลายได้ง่าย เพื่อให้ใช้เวลาละลายไม่นานหลังเหน็บยา
เนื่องจากประเทศไทยอากาศร้อนชื้น การใช้และการเก็บรักษายาเหน็บทวาร ควรแช่ตู้เย็นไว้ โดยเฉพาะก่อนนำมาใช้เหน็บในช่องทวาร ต้องให้เม็ดยาแข็งพอ ที่จะนำมาสอดได้โดยแท่งยาไม่หักระหว่างใช้สอด
ตรงกันข้ามกันกับการใช้ยาเหน็บช่องคลอด การสอดจะต้องให้ลึกถึงตำแหน่งมดลูก ยาพื้นต้องอยู่ในรูปแบบที่แข็งพอจะเข้าไปถึงตำแห่งเป้าหมายโดยไม่หักหรือละลายเสียก่อน
เนื่องจากแท่งยาเหน็บจะถูกเตรียมมาในสภาพที่แข็งมากพอ จึงสามารถเก็บรักษายาเหน็บช่องคลอดไว้ได้ที่อุณหภูมิห้องได้ แต่การใช้เพื่อในสามารถสอดยาง่ายและเม็ดยาแตกตัวและละลายให้ตัวยาสำคัญถูกปลดปล่อยออกมา ต้องนำเม็ดยาจุ่มน้ำสะอาดให้มีความลื่นและชื้นเล็กน้อยก่อนใช้สอด
ยารูปแบบกึ่งแข็งกึ่งเหลว
ยาครีมและยาเจล : ครีมจะดูดซึมเข้าสู่ผิวหนังได้ดีกว่าเจล เพราะมีส่วนประกอบของที่เป็นไขมันมากกว่า ในชั้นผิวหนังมีส่วนของโครงสร้างที่เป็นไขมัน ดังนั้นยาที่ละลายในไขมันจึงถูกดูดซึมได้มากกว่า
ในแต่ละตำแหน่งของผิวหนัง มีปริมาณไขมันไม่เท่ากัน โครงสร้างไขมันใต้ผิวหนังมีปริมาณมากน้อยเรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อยดังนี้
- เยื่อบุช่องปาก
- หนังตา
- หน้าอก
- ต้นแขน ต้นขา
- แขน ขา
- หลังมือ หลังเท้า
- ฝ่ามือ ฝ่าเท้า
- โคนเล็บ มีต่อมไขมันอยู่น้อยที่สุด ยาถูกดูดซึมยากที่สุดบริเวณนี้
อย่างไรก็ตาม ยาเจล จะรักษาคุณภาพตัวยาสำคัญได้ดีกว่า ทาแล้วมีความระคายเคืองต่อผิวน้อยกว่า ล้างน้ำออกง่าย ไม่ติดเสื้อผ้าเหมือนยาครีม
ยาขี้ผึ้ง : ตัวยาสำคัญถูกดูดซึมเข้าผิวหนังได้ดีกว่ายาครีม แต่มีข้อเสียเรื่องทาแล้วจะเหนียวเหนอะหนะ ดังนั้นการใช้จึงควรใช้ยาปริมาณน้อย ต้องทาถูนวดให้ยาซึมให้มากที่สุด และใช้วันละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว
ยารูปแบบแผ่นแปะ : จัดอยู่นรูปแบบกึ่งกึ่งหลว จุดประสงค์ของการเตรียมในรูปแบบนี้เพื่อ
- ไม่ต้องการให้ตัวยาสำคัญผ่านตับ หรือ ไต
- การหยุดให้ยาทำได้ง่าย เพียงแค่ดึงแผ่นแปะออก
- สามารถทดแทนยารูปแบบกินได้ กรณีคนไข้มีปัญหาเรื่องการกลืนยา หรือทดแทนรูปแบบฉีดได้ เพื่อลดความเจ็บปวด
วิธีการใช้แผ่นแปะที่ถูกต้อง ควรปฏิบัติดังนี้
- เลือกบริเวณที่ไม่มีขน หรือมีขนน้อย เช่น หลัง ต้นแขนด้านนอก หน้าท้อง ต้นขา แต่หากจำเป็นต้องแปะบริเวณที่มีขน ไม่ควรโกนขนแต่ให้เล็มขนให้สั้นที่สุด
- ก่อนแปะแผ่นยาผิวหนังบริเวณนั้นควรแห้งและสะอาด หลังแปะแผ่นยาแล้วควรลูบและกดแผ่นแปะทิ้งไว้สัก 30 วินาที เพื่อให้แผ่นติดแน่นไม่เลื่อนหลุดง่าย
- เวลาอาบน้ำ ไม่ต้องดึงแผ่นแปะออก
- ไม่ทาครีม โลชั่น บริเวณที่ต่องการแปะแผ่นยา เพราะจะทำให้แผ่นยาติดผิวหนังได้ไม่ทน
- ระยะเวลาการแปะแผ่นยาแต่ละชนิดจะมีกำหนดไว้ ควรใช้ตามที่ระบุไว้ในฉลากยาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดี ไม่เกิดพิษหรือผลข้างเคียงจากยา
- หากมีคราบกาวของแผ่นแปะติดบนผิวหนัง สามารถใช้น้ำมันทาตัวเด็ก baby oil เช็ดออกได้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : สาระ-ปันยา
สรุป
การที่จะผลิตยาออกมาในรูปแบบใดนั้น นอกจากต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของตัวยาสำคัญแล้ว ยังต้องคิดถึงการนำยาไปใช้ด้วยว่าต้องการให้ยาเข้าไปในร่างกายทางไหนจึงเหมาะสมที่สุด เช่น ทางปาก ทางผิวหนัง ทางทวารหนัก ทางช่องคลอด ทางปอด ทางตา หู คอ จมูก หรือ ทางหลอดเลือด เป็นต้น และที่สำคัญ ยาในแต่ละรูปแบบ มีเทคนิควิธีกี่ใช้ที่เฉพาะ การจะใช้ให้ถูกต้อง ได้ประโยชน์คุ้มค่า หลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากการใช้ยา ควรขอคำแนะนำจากเภสัชกรที่ท่านไว้วางใจทุกครั้ง
การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)
การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ
โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด
สินค้าแนะนำ
fixomull
สเปรย์น้ำเกลือพ่นจมูกเด็กเล็ก
INNAQUA
เซรั่มแก้ผมร่วงฮีรูดอยด์
แผนที่ที่ตั้งร้าน
ร้านยาของเรา
วิวร้านกลางวัน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
วิวภายในร้าน
เภสัชกรเหลียน
พนักงานผู้ช่วยนูรีดา
พันธมิตรของเรา
บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา