มียาอะไรบ้างที่ใช้รักษาผู้ป่วยโรคติดยาสูบ

ยาช่วยเลิกบุหรี่

เนื่องจากโรคติดบุหรี่เป็นโรคเรื้อรังเหมือนโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคติดบุหรี่จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการรักษา คือเลิกสูบบุหรี่ได้และต้องไม่กลับไปสูบอีก

การรักษาจะประกอบไปด้วยการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนร่วมไปกับการทำพฤติกรรมบำบัดที่อยู่ภายใต้การดูแล ให้คำปรึกษา แนะนำ ติดตาม และประเมินผล โดยบุคลากรทางการแพทย์

สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคติดบุหรี่คือความตั้งใจและมุ่งมั่นของตัวผู้ป่วยเองที่จะเลิกสูบบุหรี่  ยาจะทำหน้าที่เป็นตัวช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น ผู้ป่วยไม่ต้องเครียดและทนทุกข์ทรมานในระหว่างการรักษามากเกินไป และเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าไม่ใช้ยา 2 เท่า และผลสำเร็จคงอยู่ได้นาน ไม่กลับไปสูบซ้ำได้นานขึ้น

การรักษาด้วยยาเลิกบุหรี่

สารบัญ

กลุ่มยาช่วยเลิกบุหรี่

ยาช่วยเลิกบุหรี่มี 2 กลุ่มคือ

  • กลุ่มยาที่มีส่วนผสมของนิโคติน
  • กลุ่มยาที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน

เนื่องจากยาเหล่านี้มีคุณสมบัติแตกต่างกัน ข้อจำกัด ข้อห้ามแตกต่างกัน การเลือกใช้ยาตัวไหนในการรักษาควรคำนึงถึงปัจจัยต่อไปนี้

  1. โรคประจำตัวของผู้ป่วย
  2. หน้าที่การงานและเศรษฐานะของผู้ป่วย
  3. ประวัติและประสบการณ์การเลิกบุหรี่ที่ผ่านมา
  4. ผลข้างเคียงของยาที่จะมีต่อผู้ป่วย

นอกจากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีองค์ประกอบสำคัญ ที่มีผลต่อการรักษาโรคติดบุหรี่ด้วยยาด้วยดังนี้

  • ต้องได้รับการให้คำแนะนำปรึกษาและดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ร่วมด้วยกับการใช้ยาอย่างเหมาะสมในการเลิกบุหรี่ เพราะการใช้ยาเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีการทำพฤติกรรมบำบัดร่วมด้วยนั้นไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มค่า
  • ใช้ยาในขนาดที่ถูกต้องและตามระยะเวลาที่กำหนด
  • ต้องเข้ารับการประเมินผลโดยบุคลากรทางการแพทย์หลังสิ้นสุดการรักษาด้วย

อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมบำบัด : การบำบัดโรคเสพยาสูบแบบไม่ใช้ยา

กลุ่มยารักษาที่มีส่วนผสมของนิโคติน (Nicotine Replcement Therapy)

หลักการของการใช้ยากลุ่มนี้คือ ปกติเวลาผู้ป่วยสูบบุหรี่ สารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่จะดูดซึมเข้าสู่เข้าสู่กระแสเลือดทันทีในปริมาณสูงมาก เมื่อผู้ป่วยหยุดสูบบุหรี่ สารนิโคตินในกระแสเลือดจะลดต่ำลงมากอย่างรวดเร็วเช่นกัน  ลักษณะเช่นนี้ที่ทำให้ผู้สูบบุหรี่เกิดการเสพติดสารนิโคตินและเมื่อหยุดสูบจะมีอาการถอนนิโคตินเกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยจะทนไม่ไหว ต้องกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ  การให้นิโคตินในระดับต่ำๆ จากยา จะไปช่วยลดอาการถอนโคตินลงได้

 การทำงานของยากลุ่มนิโคตินทดแทน คือ การให้นิโคตินทดแทนในปริมาณต่ำพอที่จะช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคติน  โดยสารนิโคตินจากยาจะมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือดอย่างช้าๆและค่อยลดลงอย่างช้าๆเช่นกัน  ลักษณะเช่นนี้ทำให้ไม่มีผลให้เกิดการเสพติดขึ้นเหมือนการได้รับนิโคตินจากบุหรี่

ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทยมียาในกลุ่มนิโคตินทดแทน 3 ชนิด คือ หมากฝรั่งนิโคติน (nicotin gum)  แผ่นแปะนิโคติน ( nicotin patch) และ สเปรย์นิโคติน (mouth spray nicotine)

หมากฝรั่งนิโคติน (nicotin gum)

ยากลุ่มนี้มีข้อดี คือ ออกฤทธิ์เร็ว โดยสารนิโคตินจากยาจะดูดซึมผ่านเยื่อบุช่องปากเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 20-30 นาที  แต่ก็มีข้อเสียที่ เวลาในการออกฤทธิ์สั้น ทำให้ต้องใช้ยาวันละหลายครั้งต่อวัน

หมากฝรั่งนิโคติน มี 2 ขนาดความแรง

  • ขนาดความแรง 2 มก./ชิ้น สำหรับรักษาผู้ป่วยที่สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน ใช้ได้ไม่เกินวันละ 30 ชิ้น โดยเคี้ยวทุก 1-2 ชั่วโมง
  • ขนาดความแรง 4 มก./ชิ้น สำหรับรักษาผู้ป่วยที่สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน ใช้ได้ไม่เกินวันละ  15 ชิ้นต่อวัน โดยเคี้ยวทุก 1-2 ชั่วโมง

คำแนะนำวิธีใช้ยาและเคี้ยวหมากฝรั่งที่ถูกต้อง :

  1. ต้องหยุดสูบบุหรี่ทันทีที่เริ่มใช้ยา
  2. เนื่องจากอาหาร เครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดเช่น กาแฟ น้ำส้ม น้ำอัดลม ผลไม้รสเปรี้ยว จะลดการดูดซึมนิโคติน จึงควรหลีกเลี่ยงการดื่มหรือรับประทานก่อนเคี้ยวหมากฝรั่ง 15 นาที
  3. ให้เคี้ยวหมากฝรั่งๆช้าๆ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการสะอึก และหลีกเลี่ยงการกลืนน้ำลายบ่อยระหว่างเคี้ยว เพื่อหลีกเลี่ยงอาการท้องอืด
  4. วิธีการใช้ยา คือ เคี้ยวหมากฝรั่งจนได้รสเผ็ดซ่าให้ดันและอมหมากฝรั่งไว้ที่กระพุ้งแก้ม จนรสเผ็ดซ่าหายไป จึงเคี้ยวใหม่ สลับกันไปจนครบ 20-30 นาทีต่อชิ้น
  5. ควรเคี้ยวหมากฝรั่งตามกำหนดระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง ไม่ใช่เคี้ยวเมื่อมีอาการอยากสูบบุหรี่ ยกเว้นใช้ควบคู่กับแผ่นแปะนิโคติน สามารถเคี้ยวเฉพาะเวลาที่อยากสูบบุหรี่ได้

ผลข้างเคียงของยาที่อาจพบได้ เช่น แผลในปาก สะอึก ปวดกราม ปวดแสบท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ

ข้อควรระวังการใช้ยา :

  • ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีปัญหาทางทันตกรรม เช่น ใส่ฟันปลอม
  • ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวานที่ยังคุมอาการไม่ได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจ

แผ่นแปะนิโคติน (nicotin patch)

การทำงานของยา คือ สารนิโคตินจะดูดซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดอย่างช้าๆ ใช้เวลา 4-9 ชั่วโมงจึงจะออกฤทธิ์ได้เต็มที่ และหลังจากนั้นจะมีระดับยาคงที่ยาวนานในกระแสเลือดตลอด 24 ชั่วโมง

ในประเทศไทย มีจำหน่าย 2 แบรนด์ คือ

1. NICOTINELL®patch

แผ่นยามี 3 ขนาดความแรงดังนี้

  1. ขนาด 17.5 มิลลิกรัม จะปลดปล่อยให้นิโคติน 7 มิลลิกรัม/วัน
  2. ขนาด 35 มิลลิกรัม จะปลดปล่อยให้นิโคติน 14 มิลลิกรัม/วัน
  3. ขนาด 52.5 มิลลิกรัม จะปลดปล่อยให้นิโคติน 21 มิลลิกรัม/วัน

การเลือกใช้และวิธีใช้แผ่นแปะในขนาดต่างๆ

  • สำหรับผู้สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน : ใน 2 เดือนแรกใช้แผ่นยาขนาด 35 มก.  และ เดือนสุดท้ายใช้แผ่นยาขนาด 17.5 มก.
  • สำหรับผู้สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน : ในเดือนที่ 1 ใช้แผ่นยาขนาด 52.5 มก. ,เดือนที่ 2 ใช้แผ่นยาขนาด 35 มก. และเดือนสุดท้ายใช้แผ่นยาขนาด 17.5 มก.

นิโคติเนลแผ่นแปะ

 

2.NICORETTE® invisipatch

แผ่นยามี 3 ขนาดความแรงดังนี้ 10,15,และ 25 มิลลิกรัม

การเลือกใช้และวิธีใช้แผ่นแปะในขนาดต่างๆ

  • สำหรับผู้สูบบุหรี่น้อยกว่า 20 มวนต่อวัน : ใน 2 เดือนแรกใช้แผ่นยาขนาด 15 มก. และ เดือนสุดท้ายใช้แผ่นยาขนาด 10 มก.
  • สำหรับผู้สูบบุหรี่มากกว่า 20 มวนต่อวัน : ใน 2 เดือนแรก ใช้แผ่นยาขนาด 25 มก. , 14 วันต่อมา ใช้แผ่นยาขนาด 15 มก. และ ใน 14 วันสุดท้ายใช้แผ่นยาขนาด 10 มก.

แผ่นแปะนิโคเร็ท

แผ่นแปะนิโคติน

คำแนะนำวิธีใช้ยาและแปะแผ่นยาที่ถูกต้อง

  1. บริเวณผิวหนังที่ติดแผ่นยาต้องไม่มีขนและบาดแผล เช่นที่ ลำคอ สะโพกหรือต้นแขนด้านนอก
  2. ควรติดแผ่นยาทุกวันในเวลาเดียวกัน แต่ให้เปลี่ยนสลับตำแหน่งที่แปะแผ่นยา เพื่อป้องกันการเกิดผื่นแพ้และผิวหนังอักเสบ
  3. หลีกเลี่ยงการทาครีมหรือโลชั่น บริเวณที่ต้องการแปะแผ่นยา เพราะจะทำให้ให้แผ่นยาติดผิวหนังได้ไม่ดี และอาจหลุดออกได้ง่าย
  4. เมื่อแปะแผ่นยาที่ผิวหนังแล้วให้กดแผ่นยาไว้สัก 10 วินาที เพื่อให้แผ่นติดผิวหนังได้แน่นขึ้น
  5. ให้แปะแผ่นยาตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ต้องดึงแผ่นยาแม้ในเวลาอาบน้ำ
  6. ถ้ามีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับหรือฝันร้ายให้ดึงแผ่นยาออกก่อนเข้านอนได้

ผลข้างเคียงของยาที่พบได้ : นอนไม่หลับ ฝันร้าย  ผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบ

ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้

  • ห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์และให้นมบุตร
  • หลีกเลี่ยงการใช้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน ที่ยังคุมอาการไม่ได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจ
  • แผ่นแปะนิโคตินไม่เหมาะกับผู้ที่ทำงานออกเหงื่อเยอะหรือทำงานในที่อากาศร้อนอบอ้าว

สเปรย์นิโคติน ( mouth spray nicotine)

กลไกการออกฤทธิ์ของนิโคตินแบบสเปรย์ มีหลักการเดียวกับหมากฝรั่งนิโคติน คือยาจะออกฤทธิ์ได้เร็ว สามารถลดอาการอยากสูบบุหรี่ได้ภายใน 30 นาที

บริเวณที่แนะนะให้ฉีดสเปรย์คือ ข้างกระพุ้งแก้ม และ ใต้โคนลิ้น เพราะเป็นบริเวณที่มีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก ช่วยให้ยาถูกดูดซึมได้เร็ว

ตัวอย่างยาที่มีจำหน่ายในประเทศไทย คือ Nicorette Quick Mist 1 spray มี นิโคติน 1 มก.

1 ขวดสามารถใช้ได้ 150 ครั้ง

 

วิธีการใช้

  • ช่วงที่ 1 สัปดาห์ที่ 1-6 : 
    พ่นยา 1-2 ครั้งตามเวลาที่สูบบุหรี่ปกติ หรือเมื่อมีความรู้สึกอยากบุหรี่ หากหลังจากสเปรย์ครั้งแรก แล้วไม่หายอยากภายใน 2 นาที ให้สเปรย์เพิ่มได้อีก 1 ที
    สามารถใช้ได้เท่ากับจำนวนการใช้บุหรี่ต่อวัน เช่น หากปกติสูบบุหรี่วันละ 15 มวน/วัน ผู้ป่วยควรพ่นยาครั้งละ 1-2 สเปรย์  ประมาณวันละ 15 ครั้งขึ้นไปต่อวัน

 

  • ช่วงที่ 2 สัปดาห์ที่ 7-9 : ค่อยๆลดจำนวนครั้งในการสเปรย์ต่อวันลงภายในสิ้นสัปดาห์ที่ 9 ควรลดจำนวนครั้งในการสเปรย์ลงเหลือครึ่งหนึ่งของช่วงที่ 1 ยกตัวอย่าง เช่น เคยต้องใช้ 15 ครั้งต่อวัน ควรเหลือ 7 ครั้งต่อวัน

 

  • ช่วงที่ 3 สัปดาห์ที่ 10-12 : ค่อยๆลดจำนวนครั้งในการสเปรย์ต่อวันลง จนกระทั่งสเปรย์ไม่เกิน 3 ครั้ง ต่อวันในสัปดาห์ที่ 12 จากนั้นหยุดยา เพื่อให้การเลิกบุหรี่สำเร็จ

 

  • สัปดาห์ที่ 12 : การใช้สเปรย์ภายหลังจากช่วงที่ 3 สามารถสเปรย์ได้ หากมีความรู้สึกอยากบุหรี่ และสามารถพ่นได้อีก 1 ที ถ้ายังไม่หายอยากบุหรี่
  • โดยทั่วไป ไม่แนะนำให้ใช้ยานานเกิน 6 เดือน

คำแนะนำพิเศษ 

บริเวณที่เหมาะสมสำหรับฉีดสปรย์คือ ใต้โคนลิ้นและกระพุ้งแก้ม หลังจากสเปรย์ยาแล้วไม่ควรกลืนน้ำลาย

 กลุ่มยารักษาที่ไม่มีส่วนผสมของนิโคติน (non-nicotine therapy)

ในประเทศไทย มียา 3 ตัวที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการติดนโคิน ดังนี้

  • QUOMEM® (ชื่อทางการค้า) : ตัวยาสำคัญคือ Bupropion Hcl
  • CHAMPIX® (ชื่อทางการค้า) :  ตัวยาสำคัญคือ Varenicline tartrate
  • CYTISINE GPO ® (ชื่อทางการค้า) : ตัวยาสำคัญ Cytisine 

1.Bupropion ( ชื่อการค้า : QUOMEM)

เดิมที่ในปี พ.ศ. 2532 ยาตัวนี้ถูกผลิตออกมาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า แต่พบว่ามีประสิทธิภาพช่วยในการรักษาภาวะเสพติดนิโคตินในบุหรี่ได้โดยบังเอิญ จึงได้นำมาใช้รักษาโรคติดบุหรี่อย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน  เป็นยาเม็ดขนาดความแรง 150 มิลลิกรัม

วิธีรับประทานยา

  • ห้ามหักหรือเคี้ยวเม็ดยา ต้องกลืนยาทั้งเม็ด เพราะยาถูกออกแบบมาให้ค่อยๆปลดปล่อยตัวยา การหักหรือเคี้ยวเม็ดยาจะทำให้การออกฤทธิ์ของยาเปลี่ยนไป เกิดผลข้างเคียงและไม่ได้ผลที่ดีในการักษา
  • 3 วันแรก ให้ทานยาวันละ 1 เม็ด
  • ตั้งแต่วันที่ 4 ให้ทานยาครั้งละ 1 เม็ด วันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 8 ชั่วโมง
  • ให้หยุดสูบบุหรี่โดยเด็ดขาดในวันที่ 8 ของการรักษาหรือกินยา
  • สามารถใช้ยาติดต่อกันได้นาน 3 เดือน

 

ผลข้างเคียงของยาที่พบบ่อย : ท้องผูก มีอาการชัก ปากแห้ง คอแห้ง  และ นอนไม่หลับ

ซึ่งสามารถแก้ไขได้ 2 วิธี

  • ให้รับประทานยา วันละ 1 เม็ดเท่านั้น เฉพาะในตอนเช้า เพราะในปัจจุบันมีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าขนาดยา 150 มก./วัน ก็เพียงพอต่อการรักษาได้แล้วและให้ผลการรักษาไม่แตกต่างจากการใช้ยาวันละ 2 เม็ด ห่างกัน 8 ชั่วโมง
  • ให้ปรับเวลาทานยา โดยมื้อที่ 2 ให้ทานยาเวลาไม่เกิน 17.00 น.

ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ :

  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์และให้นมบุตร

2.Valenicline (ชื่อการค้า : CHAMPIX)

ปกติเวลาผู้ป่วยสูบบุหรี่ สารเสพติดนิโคตินจะดูดซึมเข้ากระแสเลือดและผ่านเข้าสู่สมองอย่างรวดเร็ว ภายใน 2 นาที และไปจับกับ ตัวรับนิโคติน (alpha-4 beta-2 nicotinic receptor) มีผลให้เกิดการกระตุ้นสารที่ทำให้รู้สึกมีความสุข เรียกว่า โดพามีน (dopamine) ออกมาในปริมาณมากทันที และลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วเมื่อบุหรี่หมดมวน

ส่วนยา Varenicline มีการทำงานเป็น dual action คือมีการออกฤทธิ์ผ่าน 2 กลไก ดังนี้

  1. กลไกแรก ยาจะไปจับกับ alpha-4 beta-2 nicotinic receptor เช่นกัน แต่จะก่อให้เกิดระดับการกระตุ้นที่ต่ำกว่า สารนิโคติน โดยเมื่อจับกับตัวรับนิโคตินแล้ว จะทำให้มีการหลั่งสาร Dopamine ออกมาในปริมาณครึ่งหนึ่งของการจับด้วยนิโคติน และลักษณะการหลั่งสารโดปามีน จะเป็นค่อยๆเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆและลดลงอย่างช้าๆเช่นกัน ทำให้ช่วยบรรเทาอาการถอนนิโคตินได้โดยไม่ทำให้เสพติด

2. กลไกที่สอง ยาจะจับกับตัวรับนิโคตินนี้ไปตลอดและเพิ่มจำนวนการจับมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้มีตัวรับนิโคตินที่ว่าง น้อยลงเรื่อยๆจนไม่มีเลย ส่งผลให้สารเสพติดนิโคตินจากการสูบบุหรี่ไม่มีรีเซพเตอร์ให้จับและออกฤทธิ์ ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสูบบุหรี่แล้วไม่มีรสชาติ จนสามารถตัดใจเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น

 

ยา Varenicline  แบรนด์ CHAMPIX® มี 2 ขนาดความแรง คือ 0.5 มก. และ 1 มก. โดยในประเทศไทยมีขาย 2 รูปแบบ

  • ขนาดยา 1 มก. 1 กล่องบรรจุ 28 เม็ด
  • ขนาดกล่องบรรจุ ขนาดยา 0.5 มก. 11 เม็ด และ ขนาดยา 1 มก. 14 เม็ด

วิธีรับประทานยา

  1. ให้กำหนดวันเลิกสูบบุหรี่
  2. ให้เริ่มกินยาก่อนกำหนดวันเลิกสูบบุหรี่ 7-14 วัน
  3. 3 วันแรก กินยา 0.5 มก. วันละ 1 ครั้งหลังอาหารทันที
  4. 4 วันต่อมา กินยา 0.5 มก. วันละ 2 ครั้งหลังอาหารทันที
  5. วันต่อไป กินยา 1 มก. วันละ 1 ครั้ง หลังอาหารทันที สามารถใช้ยาได้นาน 3-6 เดือน มีข้อมูลการศึกษาว่า การใช้ยานาน 6 เดือนสามารถป้องกันการกลับไปสูบบุหรี่ใหม่ได้นานกว่าการใช้ยานาน 3 เดือน
  6. ห้ามเคี้ยวยาหรือหักแบ่งเม็ดยา และไม่ควรรับประทานยาก่อนนอน

 

ผลข้างเคียงของยา : คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืด ท้องผูก นอนไม่หลับ ฝันแปลกๆ

ข้อควรระวังและข้อห้ามใช้ :

  • เนื่องจากร่างกายมีการกำจัดยาตัวนี้ออกทางไต จึงควรใช้อย่างระมัดระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคไตวาย
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย
  • ห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามใช้ในสตรีตั้งครรภ์และให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคลมชักหรือโรคทางจิตเวช

3. Cytisine

cytisine เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์ที่สกัดได้จากต้นจามจุรีสีทอง ( Golden rain)  มีกลไกการออกฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเหมือนกับ Varennicline  คือ เป็น dual action  โดยจะทำให้มีการหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อว่า  โดพามีน ( dopamine) เช่นเดียวกับนิโคติน แต่จะมีปริมาณไม่สูง ทำให้ไม่เสพติดเหมือนนิโคติน   และ ทำให้ตัวรับสารนิโคตินลดลง ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่  ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดภายใน 15 นาที หลังรับประทาน 

ยา CYTISINE มีรูปแบบเป็นยาเม็ดแข็ง tablet  ขนาดความแรง 1.5 มก.ต่อเม็ด  ใน 1 กล่อง บรรจุ 100 เม็ด 

การใช้ยาและวิธีรับประทานยา : 

  • กินยาครั้งละ 2 เม็ด หลังอาหารทันที วันละ 3 ครั้ง เช้า เที่ยง เย็น เป็น เวลา 25 วัน
  • คนไข้ต้องหยุดสูบบุหรี่ ในวันที่ 5 ของการใช้ยา 

 สรรพคุณ : 

บรรเทาอาการถอนนิโคติน ช่วยผ่อนคลาย ทำให้ไม่เครียด ไม่หงุดหงิด

ผลข้างเคียง : 

  • ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย
  • ฝันแปลก

ข้อห้ามใช้ : 

  • ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
  • ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนแบบรุนแร
  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

สนใจอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  Cytisine สำหรับเลิกบุหรี่

การใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่มากกว่า 1 ชนิดร่วมกัน

เนื่องจากประสิทธิภาพของยาช่วยเลิกบุหรี่ทุกชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบันมีจำกัด จึงมีการนำยามาใช้ร่วมกันมากกว่า 1 ชนิด โดยมีความเชื่อว่าเมื่อใช้ยาที่มีกลไกการออกฤทธ์แตกต่างกัน มาใช้ร่วมกันจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ได้ดีขึ้น

แต่ในความเป็นจริง กลับพบว่า อัตราการเลิกบุหรี่สำเร็จไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณตามที่คาดหวัง และผลการรักษาไม่ได้ดีไปกว่าการใช้ยาตัวเดียวโดยลำพังเลย และตรงกันข้ามกลับทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยาเพิ่มขึ้น และ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้รับประโยชน์ใดใด

อย่างไรก็ตามยังมีการพิจารณาแนะนำให้ใช้ยาร่วมกัน 2 ชนิด รักษาผู้ป่วยที่เสพติดนิโคตินสูงมากๆและเคยรักษาด้วยยาชนิดเดียวแล้วไม่ประสบความสำเร็จในการรักษา โดยมีสูตรยาเพียง 2 ขนานเท่านั้นที่แนะนำให้ใช้ได้ และยังพอมีหลักฐานว่าได้ประโยชน์อยู่บ้าง

  1. แผ่นแปะนิโคตินร่วมกับหมากฝรั่งนิโคติน
  2. แผ่นแปะนิโคตินร่วมกับ QUOMEM® (Bupropion)

สรุป

หัวใจสำคัญในการรักษาผู้ป่วยโรคติดยาสูบให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความตั้งใจของตัวผู้ป่วยเองเป็นหลักก่อนเสมอ ยาช่วยเลิกบุหรี่จะป็นปัจจัยสนับสุนให้การเลิกบุหรี่ทำได้ง่ายขึ้นและเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จให้มากขึ้น ร่วมด้วยกับการทำพฤติกรรมบำบัดเสมอ เพราะว่าอย่าลืมว่าการใช้ยาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ประโยชน์และไม่คุ้มค่า

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า