โครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน

รับยาใกล้บ้าน

สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มียุทธศาสตร์เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ในโรงพยาบาล จึงจัดทำโครงการรับยาใกล้บ้านขึ้น ชื่อเต็มๆ ของโครงการนี้คือ โครงการลดความแออัดของโรงพยาบาลโดยร้านยาแผนปัจจุบัน (ขย.1)

เป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการนำร้านยาเข้าสู่ ระบบหน่วยร่วมบริการระดับปฐมภูมิ  สืบเนื่องมาจากแนวคิดเรื่องการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้สามารถเชื่อมโยงภาคเอกชนและภาครัฐเข้าด้วยกันแบบไร้รอยต่อ

โครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน คือ โครงการตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่ต้องการลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาในโรงพยาบาล โดยให้มารับยาที่ร้านขายยาประเภท 1 และมี 3 หน่วยงานร่วมขับเคลื่อนนโยบายคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สภาเภสัชกรรม และ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน และเริ่มดำเนินงานตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2562

รับยาที่ร้านยา

ความเป็นมาของโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน

มีข้อมูลชัดเจนว่า ปัญหายาเหลือใช้ที่บ้าน เกิดขึ้นมากที่สุดในผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของโครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล รับยาใกล้บ้าน เพราะกลุ่มนี้จะมีนัดพบแพทย์และรับยาที่โรงพยาบาลครั้งละ 4-6 เดือน เพราะฉะนั้นไปแต่ละครั้งจึงได้รับยาจำนวนมาก ผู้ป่วยมักใช้ยาไม่ถูกวิธี  ใช้บ้างไม่ใช้บ้าง อาการของโรคก็จะไม่ดีขึ้น นำมาซึ่งการหยุดใช้ยากลายเป็นยาเหลือทิ้งที่บ้าน

ที่ห้องรับยา ในโรงพยาบาล เภสัชกรมีเวลาในการดูแลหรือพูดคุยกับผู้ป่วยจำกัด เพราะเวลาไม่พอ เนื่องจากการจะอธิบายและสอน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจทั้งเรื่องโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ การใช้ยามีประโยชน์อย่างไร การดูแลตัวเอง และอื่นๆจิปาถะ ไม่เพียงเท่านี้ ผู้ป่วยแต่ละคนก็มีพื้นฐานทั้งด้านการศึกษา สถานะความเป็นอยู่ ความเชื่อ ทัศนคติ ที่หลากหลาย เภสัชกรต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ด้วยจึงจะสามารถปรับการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลผล

บ่อยๆครั้งที่ผู้ป่วยเองก็มีข้อจำกัดในการเรียนรู้ เพราะทั้งอ่อนล้า เหน็ดเหนื่อยจากการรอพบพทย์ รอตรวจ การเดินทาง อีกทั้งไม่คุ้นเคยกับการใช้ยาแผนปัจจุบัน เห็นได้ชัดเลยว่า เวลา 10-15 นาที ที่พบเภสัชกรที่ห้องยาไม่เพียงพอแน่นอนต่อการสอนและโน้มน้าวให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญของการใช้ยาที่ถูกต้อง สมเหตุสมผล

มีการศึกษาพบว่า สาเหตุที่ทำให้ประชาชนส่วนหนึ่งเลือกมาซื้อยาที่ร้านยามากกว่าไปโรงพยาบาล คือ ไม่อยากเสียเวลาไป ไม่สะดวกในการเดินทาง ไม่มีคนช่วยพาไป และไม่มีค่าเดินทางไปโรงพยาบาล

มีหลักฐานชัดเจนว่า ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 40 มีปัญหาการใช้ยาที่บ้าน ปัญหาที่พบได้แก่ การใช้ยาไม่ถูกต้องตามแพทย์สั่ง ไม่สามารถใช้ยาที่มีเทคนิคการใช้ยุ่งยากให้วิธีด้วยตนเอง  เช่น ยาฉีด ยาพ่น   ผู้ป่วยมีการครอบครองยาเกินความจำเป็น  ส่งผลให้เกิดยาเหลือใช้ ยาเสื่อมสภาพ และยาหมดอายุที่บ้านจำนวนมาก  จากการประมาณการในระดับประเทศพบว่ามีมูลค่ายาเหลือใช้ที่บ้านเกิน 2,000 พันล้านบาท

ด้วยปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผลสะสมดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายต้องการลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาของผู้ป่วยที่โรงพยาบาล โดยให้มารับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันชั้น 1  คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงเห็นชอบด้วย  และขับเคลื่อนนโยบายนี้โดยร่วมกับ สภาเภสัชกรรม และ สมาคมเภสัชกรรมชุมชน (ประเทศไทย)

ข้อดีของการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน

  1. สะดวกไม่ต้องรอนาน
  2. เภสัชกรมีเวลาให้คำแนะนำ
  3. เพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยใช้ยาได้อย่างถูกต้อง
  4. เภสัชกรช่วยติดตามผลการรักษาได้ใกล้ชิดขึ้น
  5. เภสัชกรช่วยส่งเสริมความรู้ดูแลสุขภาพ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
  6. มีเภสัชประจำครอบครัว

คุณค่าของร้านยาต่อระบบสุขภาพ

  1. เพิ่มความปลอดภัยด้านยาให้ผู้ป่วย
  2. ส่งเสริมการทำงานเชิงสหวิชาชีพ
  3. แพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยมากขึ้น
  4. เพิ่มความพึงพอใจคนไข้ผู้มารับบริการ
  5. เพิ่มความพึงพอใจให้กลุ่มผู้ให้บริการ (บุคลากรสาธารณสุข)

เป้าหมายและรายละเอียดของโครงการรับยาใกล้บ้าน

นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องลดความแออัด ลดระยะเวลารอคอยรับยาที่โรงพยาบาล โดยให้มารับยาที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันประเภทที่ 1 ซึ่งสืบเนื่องมาจากปัญหาจากการใช้ยาที่บ้าน เช่นการใช้ยาไม่ถูกต้องตามแพทย์สั่ง การบริหารยาฉีด ยาพ่นด้วยตนเองไม่ถูกต้อง  ผู้ป่วยมีการครอบครองยาเกินความจำเป็น  กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงมีความเห็นชอบด้วย และได้ดำเนินการจัดตั้ง โครงการรับยาที่ร้านยาใกล่บ้านขึ้น

เป้าหมายของโครงการ

  1. เพิ่มความสะดวกแก่คนไข้ไม่ต้องเสียเวลารอคอยรับยาที่โรงพยาบาล
  2. ลดความแออัดในโรงพยาบาล
  3. ผู้ป่วยมีเวลาพูดคุยกับเภสัชกรมากขึ้น ทำให้มีความร่วมมือในการใช้ยาเพิ่มขึ้น
  4. เพิ่มการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ลดจำนวนยาเหลือใช้ที่บ้าน
  5. เพิ่มการเข้าถึงยาจำเป็นของผู้ป่วยอย่างปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ

เงื่อนไขด้านกลุ่มเป้าหมายที่สามารถใช้บริการได้

  1. ใช้สิทธิบัตรทอง
  2. ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช
  3. แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาได้
  4. ผู้ป่วยสมัครใจยินดีไปรับยาที่ร้านยาได้

เงื่อนไขด้านร้านยาที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

  1. เป็นร้านยา ขย.1 ที่ผ่าน GPP หรือร้านยาคุณภาพ สภาเภสัชกรรม
  2. เปิดบริการไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง และมีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติการตลอดเวลาทำการ
  3. เภสัชกรสมัครใจและพร้อมทำงานร่วมกับหน่วยบริการ

ขั้นตอนการรับยาใกล้บ้าน

ขั้นตอนที่ 1 . พบแพทย์ ตรวจวินิจฉัยโรค ประเมินความเหมาะสมในการรับยาที่ร้านยา

ขั้นตอนที่ 2. แจ้งความประสงค์ขอรับยาที่ร้านยา กรอกแสดงความยินยอมและเลือกร้านยาที่สะดวกไปรับยา

ขั้นตอนที่ 3. รับใบนัดหรือใบสั่งยา เพื่อนำไปรับยาที่ร้านยา

ขั้นตอนที่4. รับยาที่ร้านยาที่เลือก

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : คู่มือลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยา ขย.1

ร้านยาใกล้บ้าน
ลดการรอคอย

ความสัมพันธ์ของปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุสมผลกับโครงการรับยาใกล้บ้าน

ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก กระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดตั้งองค์กร เพื่อจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ โครงการลดความแออัดในโรงพยาบาล รับยาใกล้บ้าน เป็นกลไกเล็กๆส่วนหนึ่งที่ใช้จัดการปัญหานี้

องค์การอนามัยโลกระบุว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของการใช้ยาเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม และมีนโยบายการใช้ยาอย่างสมเหตุผล ( rational drug use)  ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 โดยได้ให้คำจัดความว่า ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพ โดยใช้ยาในขนาดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ด้วยระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสม และมีค่าใช้จ่ายต่อชุมชนและผู้ป่วยน้อยที่สุด

Patients receive medications appropriate to their clinical needs , in dose that meet their own individual requirements, for an adequate period of time , and at the lowest cost to them and their community.”

สำหรับในประเทศไทยได้นำมาดำเนินการภายใต้ ยุทธศาสตร์พัฒนาระบบยาแห่งชาติปี พ.ศ. 2551 แต่เริ่มอย่างเป็นรูปธรรมจริงจัง ในปี พ.ศ. 2555 และได้ขยายความการใช้ยาสมเหตุสมผลเพิ่มเติม และนิยามใหม่ดังนี้

  • การใช้ยาโดยมีข้อบ่งชี้ เป็นยาที่มีคุณภาพ มีประสิทธิผลจริง สนับสนุนด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้
  • ให้ประโยชน์ทางคลินิกเหนือกว่าความเสี่ยงจากการใช้ยาอย่างชัดเจน
  • มีราคาเหมาะสม คุ้มค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข
  • ไม่เป็นการใช้ยาซ้ำซ้อน คำนึงถึงปัญหาเชื้อดื้อยา
  • เป็นการใช้ยาในกรอบบัญชียาอย่างเป็นขั้นตอนตามแนวทางพิจารณาการใช้ยา
  • โดยใช้ยาในขนาดที่พอเหมาะกับผู้รับบริการในแต่ละกรณี ด้วยวิธีการให้ยาและความถี่ในการให้ยาที่ถูกต้องตามหลักเภสัชคลินิก ด้วยระยะเวลาการรักษาที่เหมาะสม
  • ผู้รับบริการให้การยอมรับและสามารถใช้ยาดังกล่าวได้อย่างถูกต้องและต่อเนื่อง
  • กองทุนในระบบประกันสุขภาพหรือระบบสวัสดิการสามารถเบิกจ่ายยานั้นได้อย่างยั่งยืน
  • เป็นการใช้ยาที่ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อให้ผู้รับบริการทุกคนสามารถใช้ยานั้นได้อย่างเท่าเทียมกันและไม่ถูกปฏิเสธยาที่สมควรได้รับ

ซึ่งการให้คำจำกัดความนี้สอดคล้องกับหลักการสาธารณสุขมูลฐานและนโยบายด้านระบบสุขภาพของไทย

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : บทบาทเภสัชกรกับระบบสุขภาพของประเทศไทย

กลยุทธการแก้ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล

การส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ให้เกิดผลสำเร็จในวงกว้างจำเป็นต้องดำเนินการใน 3 ส่วนไปพร้อมๆกัน ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ต้นน้ำ คือ บริษัทยา หรือผู้ผลิตยา

กลางน้ำ คือ สถานบริการสุขภาพและผู้สั่งใช้ยา ได้แก่ แพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์ พยาบาล และ สัตว์แพทย์

ปลายน้ำ คือ ภาคประชาสังคม

โดยได้กำหนดกลยุทธการดำเนินงานไว้ 7 ด้าน

  1. พัฒนาระบบการกำกับดูแลให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
  2. พัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ
  3. พัฒนากลไกและเครื่องมือสนับสนุนให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
  4. สร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุผล
  5. การส่งเสริมการผลิตและประกันคุณภาพยาชื่อสามัญ
  6. การพัฒนาระบบและกลไกป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาต้านจุลชีพและการดื้อยาของเชื้อก่อโรค
  7. การส่งเสริมจริยธรรมผู้สั่งใช้ยาและยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม

การดำเนินงานจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มโรค 6 ประเภทที่พบบ่อยในเวชปฏิบัติคือ

  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคข้อเสื่อม/เกาต์
  • โรคไตเรื้อรัง
  • โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง/โรคหืด

นอกจากนี้ การดำเนินงานยังเน้นการดูแลการใช้ยาในประชาชนกลุ่มเปราะบาง 6 กลุ่ม

  • ผู้สูงอายุ
  • สตรีตั้งครรภ์
  • สตรีให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยเด็ก
  • ผู้ป่วยโรคตับ
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ : ปัญหาการใช้ยาไม่สมเหตุผล

สรุป

ปัญหาผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด ที่รักษาในโรงพยาบาลภาครัฐและไม่สามารถควบคุมอาการได้  เป็นเพราะผู้ป่วยเหล่านี้ต้องอาศัยการสื่อสารเป็นตัวกลางในการปรับพฤติกรรมสุขภาพร่วมด้วย จึงจะสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายการรักษา ดังนั้นเห็นได้ชัดว่าการจัดระบบให้ผู้ป่วยมารับยาที่ร้านยาใกล้บ้านเป็นคำตอบที่ตรงจุด เพราะการแก้ปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สำเร็จในอนาคตอันใกล้

การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care)

การบริบาลทางเภสัชกรรม หมายถึง ความรับผิดชอบของเภสัชกรโดยตรงที่มีต่อการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ถูกต้องตามที่ต้องการและเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ผลการรักษาที่ถูกต้องคือ

  • หายจากโรค
  • บำบัดหรือบรรเทาอาการโรค 
  • ชะลอหรือยับยั้งการดำเนินของโรค
  • ป้องกันโรค

โดยเภสัชกรจะปฏิบัติงานร่วมกับบุคคลากรทางการแพทย์ทางสาธาณสุขอื่นๆ เรียกว่า ทีมสหสาขาวิชาชีพและมีหน้าที่หลักในการค้นหา แก้ไข และป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยา ตลอดจนติดตามประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาด้วยยา เพื่อให้เกิดระบบยาที่มีคุณภาพและปลอดภัยสูงสุด

สินค้าแนะนำ

แผนที่ที่ตั้งร้าน

ที่ตั้งร้านยา

ร้านยาของเรา

พันธมิตรของเรา

บริษัทยาที่เป็นพันธมิตรสนับสนุนเรา

DKSH
ZPL
BIOPHARM
สยามฟาร์มา
ยูเนี่ยน
อ้วยอัน
วิทยาศรม
ทรูไลน์เมด
บริษัทชุมชน
สมุนไพรไทย
tnp

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะสำหรับการวิเคราะห์และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะของผู้ใช้งาน

บันทึกการตั้งค่า